เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
ถึงเขาคนนั้นครั้งเริ่มรู้จักคำว่ารัก: ค้นความทรงจำของหัวใจใน Call Me By Your Name
  • You’re going to love who you love. Being careful won’t solve anything.

    เธอจะรักคนที่เธอรัก ระวังหัวใจไปก็ใช่เปล่า

    --My Sunshine Away,  M.O. Walsh



    ไม่เสียดายที่เคยได้รู้สึก.


    ดู Call Me By Your Name (2017) แล้วอึนๆ มึนๆ ในหัว


    ไม่ได้ฟูมฟายร้องไห้น้ำตาอาบแก้มด้วยถูกกระตุ้นถึงรักแรกเหมือนที่คาด


    จนจับปากกาเมจิกตรงโถงนอกโรง House เตรียมจะเขียนความรู้สึกต่อหนังนั่นแหละ คำถึงหลั่งไหลพรั่งพรูมา 



    นี่หนังทำ slow burn กับหัวใจเราขนาดนี้เลยหรอ


    ที่ร้ายคือคนชอบเขียนอย่างเราหากินกับความรู้สึก แรงล่องหนกุมเกาะสิ่งที่หัวใจผ่านมาแต่ละครั้ง 

    แวะเวียนกลับหาฉากเหล่านั้น เธอ และ เขาผู้นั้น เวลากลั่นกรองถ้อยคำเพื่อการสร้างโลกในจินตนาการ

    จึงไม่มีทางที่เราจะลืมกองความรู้สึกในห้องเก็บของ ณ มุมในสุดของหัวใจ


    ลองคิดว่าแยกจากมันสำเร็จแล้ว ลองเชื่อว่าประตูหัวใจใส่กลอนปิดสนิท

    ให้โดนสะกิดนึกถึงความรู้สึกที่เคยมี ความเจ็บปวด ว่างเปล่า เปลวไฟที่เคยคุกกรุ่น และความเปลี่ยนแปลงที่ทำทุกสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมกลับเป็นดังเดิม


    ความคิดก็วิ่งวนกลับไป

    คุ้ยกล่องในห้องนั้นให้แหลกกระจาย เหมือนไม่เคยจัดเก็บแต่ตอนแรก


    Call Me By Your Name (2017) คือหนังเศร้าสำหรับเรา หนังที่ไม่ว่าจะเตรียมต้วและเผื่อใจมาแต่ต้นอย่างไร หัวใจก็หน่วงหนักเหมือนถูกผลักลงบ่อแห่งความทรงจำนั้นอีกครั้ง

    หนังที่เฝ้าดูความรักของคนสองคนเริ่มต้น ฟักตัว และเฟื่องฟู ทั้งรู้ถึงเวลาที่จำกัดและอนาคต--เหตุการณ์หลังวันเวลาแห่งความสุข--อันเปิดกว้างและไม่แน่นอน 

    หนังที่ฉายเรื่องราวในช่วงเวลาสั้นๆ กับคนๆหนึ่ง ในชีวิตที่เคยผ่านมา ตรึงเราอยู่กับเส้นขึ้น--ลงของความสัมพันธ์คนสองคนตั้งแต่ต้นจนจบม้วนอย่างถอนตัว หลบสายตา ถอดหัวใจไม่ได้ 


    "Better now?" สองคำสั้นๆ ที่ทำหัวใจพองโต

    เชื่อว่าหากหัวใจได้ลองรักแล้ว ไม่มีใครที่จะไม่เคยรู้สึกเช่นนี้


    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังทั้งหมด / บางส่วนจากหนังสือ

    (SPOILER ALERT!) 


    What If I Grow to Hate Him? :  แรกพบ

    "แสงแดด" คือคำแรกที่คุณสอง สยมภู มุขดีพร้อม ผู้กำกับภาพของหนัง นึกถึงเมื่ออ่านนิยายของอังเดร อซิแมนก่อนเปิดกล้อง แม้ตัวนิยายและหนังเล่าเรื่องในฤดูร้อน ความรู้สึกที่เกิดจากการอ่านความคิดของเอลลิโอ และติดตามความรักของคนทั้งสองก็ทำให้หัวใจอบอุ่น วาบหวาม และรู้สึกพิเศษเหมือนได้อาบไอร้อนของแดดที่สาดส่องอย่างเต็มที่ในเวลาสั้นๆ ของแต่ละปีในอีกซีกโลกฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือ เวลาที่รู้กันดีอยู่ว่าต้องรอคอยการกลับมา เมื่อความหนาวเย็นเข้ามาแทนที่ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับความรักอันรวดเร็วหากลึกซึ้งของหนุ่มทั้งสอง



    และไม่น่าแปลกใจเลย ที่ชื่อ "เอลลิโอ" (อิตาเลียน, สแปนิช; Elio) จะแผลงมาจากชื่อกรีกของเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์อย่าง เฮลิโอส (Helios) ตั้งแต่แรกเห็นและจนหนังจบ ปฎิเสธไม่ได้ว่าเอลลิโอ คือ 'พระอาทิตย์' ที่แผ่ 'แสงแดด' ให้ความอบอุ่นและพลังเหลือเฟือของเด็กหนุ่มวัยแรกรุ่น คอยขับเคลื่อนเรื่องราวในฉากต่างๆ ไปกับคำพูด สีหน้า และท่าทางของเขา (จะกล่าวชื่นชมรายละเอียดในการแสดงของทิโมธีอย่างไรคงไม่เคยพอ)

    เราเริ่มต้นหน้าร้อนด้วยคำพูดสั้นๆของเอลลิโอที่ประกาศการมาถึงของโอลิเวอร์

    และพึ่งพิงความอุ่นของเตาผิงเมื่อหน้าร้อนในใจของเด็กหนุ่มหมดสิ้นลง ชั่วโมงบินของพระอาทิตย์ในหน้าหนาวถูกจำกัด และน้ำตาอาบสองแก้มขณะพระอาทิตย์ค่อยๆมอดแสงในยามค่ำก่อนอาหารเย็น



    เอลลิโอเรียกโอลิเวอร์ล้อๆ ตั้งแต่ยังไม่เคยเจอเขาว่า (ในหนังสือ เอลลิโอสารภาพกับคนรักภายหลังว่า เขาจงใจโน้มน้าวให้พ่อกับแม่เลือกโอลิเวอร์แทนผู้สมัครรายอื่น -- "I made sure they picked you.") "ผู้บุกรุก!" ("ursuper!") แต่ชื่อ "โอลิเวอร์" (Oliver) ในการแปลตามภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และละตินแผลงมาจาก 'ต้นมะกอก' (Olive) ที่หมายถึง "สันติภาพและมิตรไมตรี" แค่ความหมายก็สื่อถึงความเป็นมิตรของผู้ชายขึ้อาย(แต่ไว้ท่า)คนนี้แล้ว 

    ความหมายที่เราชอบมากๆ (และตรงกับบริบทของนิยายและหนังมากกว่า) คือความหมายตามภาษานอซ (Nordic; ทางยุโรปภาคเหนือ) และอเมริกัน: "แสดงความรักใคร่และเสน่หา" (affectionate) พ่อ la muvi star นักศึกษาปริญญาเอกผมบลอนด์ที่หล่อเหลาดังดาราอเมริกันคนนี้ มีเสน่ห์ดึงดูดเขากันไปทั้งเมือง และทุกสัมผัสระหว่างเขากับเอลลิโอ โดยเฉพาะฉากนวดเท้ายามเอลลิโอไม่สบาย ทำให้เรารู้สึกถึงความรักใคร่และเสน่หาที่โอลิเวอร์มีต่อคนรักจริงๆ 



    (**ส่วนเรื่อง 'การเรียกชื่อ'  และ 'ชื่อที่เสียงคล้องจองกัน' เราจะกล่าวถึงในภายหลังของบทความค่ะ)


     "พระอาทิตย์" และ "ความรักใคร่เสน่หา" หลอมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในโลกฤดูร้อนปี 1983 ของ Call Me By Your Name ที่กล้องของคุณสยมภูพาคนดูเข้าไปเริงร่า และพักผ่อนในแสงแดดอย่างแนบเนียน ราวเราเป็นแขกที่มองไม่เห็นของครอบครัวเพริ์ลแมน เรารักในความใส่ใจและความสัมพันธ์ที่คุณสยมภูมีต่อหนัง ด้วยการถ่ายทำจาก "การเข้าไปในรายละเอียดของโลกนั้น" รู้สึกทึ่งและรักหนังมากขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่า 'ความรู้สึก' ที่เรารู้สึกเหลือล้นจากหนังนั้น มาจาก "ความรู้สึกที่เรารู้สึกจริงๆ กับสถานที่จริงๆ การดึงวิญญาณของตรงนั้นออกมา" ของคุณสยมภู  

    เป็นการถ่ายทอด 'ความรู้สึก' จากคนหลังกล้อง สู่คนดูผ่านหนังที่โลดแล่นและเล่นกับ 'ความรู้สึก' ของตัวละคร จนทำให้บุคคลที่สามในโลกของหนังอย่างเราๆ ซึมซับความรู้สึกอย่างเต็มอิ่ม 



    ต้องขอบคุณทีมงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะผู้กำกับอย่างลูก้า กัวดานีโญ่ และคุณสยมภู ที่บรรจงสร้างโลกในหนังขึ้นมา  สิ่งเดียวที่คุณสยมภูต้องการทำคือสร้างเวที (stage) เพื่อให้นักแสดงปลดปล่อยพลังออกมา ("release their energy.") เวทีที่ทำให้เราโชคดีได้เฝ้ามอง 'ความรักใคร่เสน่หาในพระอาทิตย์' ตลอดฤดูร้อนในอิตาลีเหนือ


    แรกพบเอลลิโอและโอลิเวอร์ยังเพิ่งเริ่มทำความรู้จัก เราสังเกตเห็นเอลลิโอสวมเสื้อยืดตัวเดียวกันในมื้อเช้าแรกของโอลิเวอร์ เมื่อเริ่มคุยกันดีๆเป็นครั้งแรก และในฉากสำคัญตอนท้ายที่คุยกับพ่อตัวเอง ศ. เพริ์ลแมนเป็นคนแนะนำให้ทั้งคู่รู้จักกัน เอ่ยปากออกเสียงชื่อสองชื่อในประโยคเดียวกันให้เราได้ยินเป็นครั้งแรกของหนัง เขายังเป็นคนแนะนำสวนของอเนลล่า ภรรยา โดยเริ่มที่ 'เพสคา' (Pesca) หรือ 'พีช' ผลไม้ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักครั้งนี้อย่างที่รู้ๆกัน 

    ศ. เพริ์ลแมนมองความขึ้อายของโอลิเวอร์ออก และเดาว่าเอลลิโอจะชอบเขาเสียอีก ทั้งที่ลูกชายตัวดีก็ปากแข็งโต้ว่า ตัวเองอาจเกลียดเขา ความรู้สึกขัดแย้งสองฝ่ายที่จริงๆแล้ว ต่อสู้กันอยู่ในหัวใจและความคิดของคนที่เพิ่งเริ่มรู้สึก 'อะไรๆ' ต่ออีกฝ่ายเป็นครั้งแรก ความรู้สึกที่หัวใจและความคิดต่างไม่รู้จักและไม่เคยชิน


    Later! "ค่อยว่ากัน!" ทิโมธีออกเสียงคำนี้ได้ไร้ที่ติมาก


    เรามักนิยามความรู้สึกแรกรักกับอีกฝ่ายว่า 'ความรู้สึกดีๆ' แต่โดยส่วนตัว จากประสบการณ์รักแรก และจากการดิ้นรนของเอลลิโอ เราอยากเรียก 'ความรู้สึก' ตรงนี้ว่า 'ความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้' (เอางั้นแหละ!) ซะมากกว่า 

    ยิ่งพออ่านความคิดของเอลลิโอในหนังสือยิ่งทำให้หวลนึกถึงความรู้สึก 'พลิกไปมา' ของคนกำลังตกหลุมรักที่ตัดสิน 'เป้าหมาย' ตาม  first impression (ความประทับใจแรก) ซึ่งในกรณีของเอลลิโอคือความห่างเหิน และเข้าถึงยากของโอลิเวอร์ หากพร้อมที่จะทำทุกสิ่งเพื่อคนๆนั้นแค่เพียงเอ่ยปาก และแม้สุดท้าย เขาจะหยิบยื่น 'ความเยือกเย็น' ตอบแทนมิตรภาพที่เรามอบให้ เรา--เหมือนเอลลิโอ--ก็ยังจะหาทางระลึกถึง 'แสงแดดริบหรี่' ในพายุหิมะนั้นได้ไม่ยากนัก ('...there are easy ways to bring back summer in the snowstorm.')



    เราหลงรักความ 'ยอมจำนน' ต่ออีกฝ่ายของเอลลิโอในหนังสือ ทั้งที่ยังเก็บงำความรู้สึกไว้ในตอนนั้น จากประโยคเรียบง่ายที่อ่านแล้วเสียวในหัวใจเล็กๆ เพียงแค่สองอาทิตย์หลังการมาของโอลิเวอร์ เด็กหนุ่มไม่ได้อยากได้อะไรนอกจากได้ใกล้ชิดอีกฝ่าย อยากขอร้องให้ "ได้โปรด อย่าทำร้ายฉัน ซึ่งจริงๆ แล้วแปลว่า ทำฉันให้เจ็บตามใจนายเลย - Please, don't hurt me, which meant, Hurt me all you want." เป็นประโยคออดอ้อนจากคนในห้วงรักที่ร้องขอความเมตตาจากอีกฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า ที่กุมหัวใจตัวเองไว้ หากจริงๆแล้วพร้อม 'ยอม' อีกฝ่ายทุกอย่าง ยอมแม้กระทั่งจะรับความเจ็บปวด จะโดนอีกฝ่ายทำร้ายก็ยังได้



    น่าคิดที่เอลลิโอตอบปัดโอลิเวอร์ว่า "ก็รอให้หน้าร้อนจบๆไปน่ะสิ" ("Wait for the summer to end.") เมื่ออีกฝ่ายถามว่าเขาทำอะไรกันที่นี่ 

    ก่อนโอลิเวอร์และ 'ความรู้สึก' แปลกหน้า จะก้าวเข้ามาในชีวิตและหัวใจ หน้าร้อนก็เป็นหน้าร้อนปกติ ดังเวลาที่ผ่านไป หลังจากเหตุการณ์ใน Call Me By Your Name โอลิเวอร์ก็กลายเป็นคนๆนั้น ที่ทำให้ 'หน้าร้อน' เป็น 'หน้าร้อนในความทรงจำ' ของเด็กหนุ่ม ไม่ใช่หน้าร้อนที่เขารอให้จบๆ ไป แต่เป็นหน้าร้อนที่อยากให้ยืดยาว ไม่มีวันจบ ไม่มีวันที่หน้าหนาวจะเข้ามาแทนที่



    ก่อนจะรู้สึกตัวถึงความรู้สึกที่เริ่มมีต่อโอลิเวอร์​ เอลลิโอก็ถูกแรงดึงดูด ให้แอบมอง เฝ้าดู ตั้งใจฟัง และสังเกตอากัปกิริยาของแขกคนล่าสุดคนนี้เป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ เราชอบสายตาเอลลิโอที่มองตามโอลิเวอร์ในฉากที่นักศึกษาหนุ่มสาธยายรากศัพท์ของผลไม้แอปริคอต (apricot) ราวต้องมนต์สะกด และซ่อนประกายความอยากรู้อยากเห็นไว้อย่างเนียนๆ ระหว่างนั่งอยู่ในห้องกับพ่อและแม่ของเขา คำ 'precocious/premature' (แก่แดด หรือ ฉลาดเกินอายุ) ที่โอลิเวอร์ใช้ในการอธิบายรากศัพท์ของเขา ยังอธิบายหนึ่งในลักษณะ (characteristic) ของเอลลิโอได้เป็นอย่างดี 

    (ส่วนที่น่าเอ็นดูและจั๊กจี้หัวใจในหนังสือคือความคิดซ้ำๆของเอลลิโอถึงคำ 'apricock, precock.'  ขณะได้ยินคำจากปากโอลิเวอร์ในฉากนี้)


    I'm Not Going To Tell You:  เริ่มรัก


    ไม่เพียงแต่สายตาของเอลลิโอที่จับจ้องโอลิเวอร์ กล้องและ 'แสงแดด' ในหน้าร้อนนั้นของคุณสยมภู ยังอาบร่างสูงใหญ่ของชายหนุ่มอเมริกันราวเขาเป็นรูปปั้นกรีกจริงๆ การเปรียบเทียบคนที่เรากำลังตกหลุมรักหรือกำลังหลงเสน่ห์แนวนี้ ทำให้เรานึกถึงหนังโดยผู้กำกับในดวงใจเราอย่าง เฮียเซเวียร์ โดแลน (Xavier Dolan) เรื่อง Les Amours Imaginaires (Heartbeats, 2010) หนังรักสามเส้าเราสองสามคนที่จงใจหา 'พระเอก' (Niels Schneider, นีล ชไนเดอร์) ผมบลอนด์สั้นหยิก หน้าตาดังรูปปั้นกรีกให้กับนายเอก ซึ่งแสดงโดยผู้กำกับ


    พ่อเทพบุตร - บน: นิโคลาส (Nicolas, Les Amours Imaginaires - 2010) กับรูปปั้นเดวิด
    ล่าง: Title Card ของ อาร์มมี่ แฮมเมอร์ Armie Hammer (Oliver, Call Me By Your Name - 2017)

    หนังยังได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์ slow motion และการเล่นกับแสงเงาและสีสันของหว่อง กาไว (Wong Kar-Wai) และพล๊อตของหนังอิงเรื่องราวสไตล์ The Dreamers (2003) ของ​ Bernardo Bertolucci ที่มีฉากเปรียบเทียบนางเอกเอวา กรีน (Eva Green) กับรูปปั้นดังแห่งพิพิธภัณฑ์ลูฟท์ (Lourve Museum) อย่างวีนัส เดอ มิโล (Venus de Milo) 


    ซ้าย: วีนัส เดอ มิโล (Venus de Milo), ขวา: อิซาเบล (Isabelle, The Dreamers (2003))

    เพราะมองโอลิเวอร์เป็นดังความสมบูรณ์แบบอย่างรูปปั้นที่ถูกประดิษฐ์ประดอยอย่างถูกต้องทุกสัดส่วน สัมผัสแรกของอีกฝ่าย เช่นสัมผัสแรกจากคนที่ใจเราหมายปอง จึงทำให้เอลลิโอตกใจจนแสดงท่าทีตอบสนองไม่ถูก ในหนังสือถึงกับโยงสัมผัส และความใกล้ชิดของโอลิเวอร์​ เข้ากับความ 'ละเมอเพ้อพก' (swoon) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คนในห้วงรักรู้จักเป็นอย่างดี 



    ครั้งแรกที่เราอ่านถ้อยคำของเอลลิโอ ที่กล่าวถึงการรู้สึกตัวว่าสัมผัสของโอลิเวอร์ทำให้เขารู้สึกดังคน virgin บริสุทธิ์ ที่ไม่เคยถูกแตะต้องมาก่อน ก็ทำให้นึกถึงฉากเล็กๆ ของตัวเอง ที่เมื่อแขนของคนๆนั้นมาสะกิดโดนแขนเราอย่างไม่ได้ตั้งใจ ก็รู้สึกตัวเบาหวิว "เหมือนตอนรถไฟเหาะดิ่งตัวลงราง เป็นการดีดตัวที่เร็ว แรง จนร่างโหวงไปหมด"*

    *(จากงานเขียนของเราเอง--) 

    ไม่มีการสปาร์ค ไม่ได้เป็นสายฟ้าผ่าอะไร แต่เป็นความรู้สึกดิ่งโหวงที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีจนแทบรู้สึกไม่ทัน


    เคมีอันเป็นธรรมชาติ (organic chemistry) ระหว่างอาร์มมี่ แฮมเมอร์และน้องทิโมธี ชาลาเมร์​ทำให้การรับ - ส่งประโยคจีบกันมีชั้นเชิงและลูกเล่นน่ารัก คุณสยมภูกล่าวถึงเคมีระหว่างนักแสดงทั้งคู่ว่า: "เคมีตรงนี้มันจะถูกสร้างในตอนนั้น"


    จังหวะที่เราชอบเป็นพิเศษคือรอยยิ้มเล็กๆที่มุมปากของเอลลิโอตอนโอลิเวอร์ถามว่าเขาคิดอะไรอยู่ ขณะตัวเองว่ายน้ำริมสระตอนต้นเรื่อง เป็นการตวัดริมฝีปากเร็วๆ ของทิมมี่ที่ดูเจ้าเล่ห์ แต่มีเสน่ห์เหลือเกิน 

    ก็เพราะคิดถึงคนข้างตัว เรื่องอะไรเราจะปริปากบอกเขาให้รู้เล่า

    ....มาระบายกับกระดาษโน้ตดีกว่า



    แน่นอนว่าเด็กหนุ่มนักคิดแสนฉลาดรอบรู้อย่างเอลลิโอต้องกลับมาตัดพ้อ เล่าความในใจที่อัดอั้นและขัดแย้งกับตัวเองลงในบันทึกสักแห่ง มีการติพฤติกรรมตัวเองว่าแข็งกร้าว (harsh) เกินไป และวาดเขียนตัวอักษรตามความรู้สึก "นึกว่าเขาไม่ได้ชอบฉัน - I thought he didn't like me."  โดยใส่สรรพนามแทนตัวเองอย่าง 'ฉัน' ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ และเขียนชื่อโอลิเวอร์ขนาบสองข้างซ้ายขวา สะท้อนความรู้สึกเอลลิโอต่อจุดยืนของตัวเองในสถานการณ์ความสัมพันธ์ของทั้งสอง เหมือนตัวเองอยู่ในกรอบชัดเจน ตีเส้นรั้วกั้นตัวเองจากโอลิเวอร์​ แต่มองเห็นอีกฝ่ายจากทุกด้านของมุมมองตัวเอง ทั้งที่ไม่สามารถและไม่กล้าจะเข้าถึงเขาไปมากกว่านี้ ด้วยยังรู้สึกตัวเองเป็น 'กองยุ่งเหยิง' เหมือนกองชื่อ 'เอลลิโอ' ที่เขียนซ้ำๆ ทับกันไปมาสุมๆไว้สูงถึงสี่เหลี่ยม 'ฉัน' ก้อนบน



    ระบายก็แล้ว เอลลิโอยังไม่ไหวตัวถึงสัญญาณที่คนขึ้เขินอย่างโอลิเวอร์แอบส่งมา เรารู้สึกว่าการอ่านส่วนหนึ่งของหนังสือที่เขากำลังเขียนให้เอลลิโอฟัง เป็นการ 'วางใจ' ของโอลิเวอร์ ที่เปิดให้เอลลิโอเข้าถึงผลงานของเขา คล้ายเมื่อนักเขียนหรือศิลปินแง้มถึงผลงานที่กำลังสร้างสรรค์อยู่ ให้คนข้างตัวฟัง เป็นการเปิด 'โลกส่วนตัว' ที่น้อยคนจะเข้าถึงให้คนที่เราอยากให้เข้าได้ก้าวเข้ามา อย่างที่เขาเคยว่าไว้ ถ้าหากนักเขียนเล่าถึงผลงานตัวเองแม้บรรทัดเดียว หรือนักร้อง/คนชอบร้อง กล้าที่จะฮัมเพลงให้คุณฟังอย่างสบายๆ ให้รู้ไว้เถอะว่า คุณผ่านด่านเข้าไปในใจพวกเขาระดับหนึ่งแล้ว



    ไม่กี่ฉากก่อนบทสนทนาหน้าอนุสาวรีย์ เอลลิโอกับโอลิเวอร์ 'จับมือ' กันผ่านแขนของรูปปั้นที่เกาะเซอร์ไม่โอเน่ เราชอบคำของศ. เพริล์แมนที่กล่าวถึงการค้นพบรูปปั้นมาก: "ไม่มีอะไรถูกขุดขึ้นมาหรอก มีแต่สิ่งที่ถูกเผยออกมา - Nothing has been dug up. It's what has been brought up." ซึ่งกลับเป็นประโยคอธิบายความสัมพันธ์ของเอลลิโอและโอลิเวอร์ในจุดนั้น ทั้งคู่ต่างรู้ตัว รู้ใจ ถึงความรู้สึกของตัวเองดี โดยเฉพาะเอลลิโอ ที่ดันความรู้สึกลงในส่วนลึก แต่ในฉากหน้าอนุสาวรีย์ ทั้งสองจะแลกเปลี่ยนความรู้สึกของกันและกัน(ในแบบของคู่นี้) เป็นการ 'เปิดเผย' (unearth) ความรู้สึกที่แอบซ่อนอยู่มาตลอด ไม่ได้ต้องการการขุดหาให้เจอ รอเพียงช่วงเวลาสนทนาระหว่างสองเราเท่านั้น


    การปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง หรือหลีกเลี่ยง 'ความรู้สึก' แปลกหน้าของคนที่เพิ่ง 'รู้สึก' อะไรๆ เป็นครั้งแรกนั้นไม่แปลก เราเคยโพสต์ข้อความจากหนังสือด้านล่าง และโดนถามว่าเป็นการรู้สึกช้าหรือเปล่า แต่สำหรับ 'คนคิดมาก' และ 'รู้สึกลึก' อย่างเราและเอลลิโอแล้ว 'ความรู้สึก' ครั้งนี้ ที่เราเข้าใจกัน ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ


    ทั้งที่ควรเป็นคนไวต่อความรู้สึกเพราะคอยคิดวิเคราะห์ มอง และพยายามเข้าใจความรู้สึกและเป็นไปของตัวเองอยู่ตลอด กับความรักครั้งแรก เอลลิโอกลับปล่อยให้ความรู้สึกผ่านไปโดยไม่สังเกต เป็นการมองเห็นคนๆหนึ่ง สังเกตเขา แต่ไม่รู้สึกตัวว่ารู้สึกอะไร จนสุดท้ายต้องลุกลี้ลุกลนในการตกลงรู้เห็นกับความรู้สึกในใจตัวเอง ที่จริงๆ แล้วแอบซ่อนมาหลายอาทิตย์ใต้จมูก และมีทุกๆ อาการของอะไรที่ต้อง 'บังคับ' (เพราะแม้ถึงจุดนี้ ก็ยังรู้สึกว่าต้อง 'สมยอม' ในการนิยามอะไรที่เพิ่งรู้ว่ารู้สึกได้และรู้สึกเป็น ต่อคนๆหนึ่ง) ให้เรียกว่า 'ความต้องการ' (พูดง่ายๆ ว่าอยากได้เขา) เป็นอันต้องตัดพ้อตัวเอง ที่คิดมาตลอดว่ารู้จักความปรารถนา (desire) เมื่อมองเห็น และปล่อยให้มันหลุดลอยไปได้ง่ายๆ

    ที่คิดมาตลอดว่ารู้จักความปรารถนา เพราะเดาว่าเอลลิโอรักการอ่านเหมือนเรา เด็กหนุ่มคงอ่านหนังสือมามากมาย  และวาดภาพความปรารถนาไว้ในความคิด



    หากพอพบเจอกับรักแรกในชีวิตจริงแล้ว ต่อให้ความปรารถนามาสะกิดไหล่เราก็คงไม่รู้ตัว

    ... เพราะ 'ความรู้สึก' ในทฤษฎีที่คิดว่าเคยรู้จักและรู้จักดีนั้น ประยุกต์ใช้กับ 'ความรู้สึก' ในชีวิตจริงได้ที่ไหนเล่า

    รักแรกเหมือนจะบอกเราเช่นนั้น 


    อ่านหนังสือไปก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้สึก ไม่เคยได้ยิน หรือ ไม่รู้จัก แต่เจอเข้ากับตัวเองแล้วกลับเหมือนโลกที่เคยรู้จักนั้นสั่นคลอน


    [เราตอบอธิบายไปว่า ไม่ใช่ความรู้สึกช้าหรอก เรียกว่าความรู้สึกเร็วต่างหาก
    "เร็ว ลึก มาก แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกความรู้สึกว่าอะไร ไม่รู้ว่ารู้สึกด้วย หรือกึ่งๆกับรู้สึกแล้วไม่ยอมรับ หรือสลับสองอย่างไปมา 
    เพราะไม่เคยรู้สึก เลยไม่รู้ว่ารู้สึก ไม่แน่ใจว่ารู้สึก ไม่อยากรู้สึก ไม่กล้าที่จะรู้สึก กลัวอะไรหลายๆอย่าง 
    ไม่แน่ใจในความสัมพันธ์กับอีกคนนึงที่รู้สึกด้วยที่เปลี่ยนไป จนไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเอง"]

    และเรื่อง 'ปาก(แข็ง)ไม่ตรงกับใจ' ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในเพลง และเพิ่งเข้าใจลึกซึ้งตอนเป็นซะเอง สอดคล้องกับนิทานเจ้าหญิงและอัศวินกับเพลง Futile Devices ของ Sufjan Stevens ทีี่ถึงแม้ไม่ได้เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อหนัง (original) ก็เป็นอีกเพลงที่เราชอบมากๆ 

    เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มรัก เราตัดสินใจจะปักหลักอยู่ฝ่ายเอลลิโอ ไม่คิดว่าตัวเองจะกล้าบอก และไม่เคยบอกอีกฝ่าย คำถาม "ควรจะเอ่ยพูดหรือกลั้นใจตายเสียดีกว่า - Is it better to speak, or die?" ฟังดูเป็นการตัดสินใจที่คอขาดบาดตาย แต่ต้องเปรียบเปรยในระดับนั้นเพราะความกลัวเกรงของคนในห้วงรักต่อความจริงและการตอบสนองของอีกฝ่าย ที่ไม่อาจคาดเดาและควบคุมได้ ต่อความรู้สึกที่ฟูมฟักมานานจนหวงแหนและผูกพันของตัวเอง ความกลัวที่ทำให้อาจเลือกปิดบังความรู้สึกจน 'ตายทั้งเป็น' เมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับอีกฝ่าย แทนจะบอกความรู้สึกออกไป ให้กระทบและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์



    น่าขำที่เอลลิโอล้อเลียนคำพูดของโอลิเวอร์ ("เว้นแต่ว่านายมีธุระอะไรอื่นวันนี้ - unless you have other businesses today.") หลังจากที่เพิ่งตอบโอลิเวอร์ว่าอัศวินเลือกที่จะไม่พูด และเฉไฉเรื่องความรู้สึกตัวเองไปหมาดๆ

    ทั้งที่ความรู้สึกมาเคาะประตูอยู่ตรงหน้า เราก็ยังเลือกจะหันหนีได้



    เพลง​ Futile Devices ตอกย้ำความยากลำบากในการสารภาพ 'ความรู้สึก'  กับอีกฝ่าย แม้ในกรณีของเอลลิโอ เพลงจะเล่นหลังฉากอนุสาวรีย์ จูบแรกกลางดงหญ้าและการนวดเท้าอย่างสุดรักใคร่ของโอลิเวอร์ ผู้ที่เอลลิโอตราหน้าว่า 'คนทรยศ' ('Traitor') หลังหายตัวไปทั้งวัน


    And I would say I love you

    But saying it out loud is hard

    So I won't say it at all

    And I won't stay very long


    และฉันคงจะบอกว่าฉันรักเธอ

    แต่ยากที่จะพูดดังๆออกไป

    ฉันเลยจะไม่พูดดีกว่า

    และฉันจะไม่ทนอยู่ให้นาน



    If You Only Knew : รับรู้

    นักมนุษยวิทยา เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของมนุษย์ในห้วงรัก (an expert on love) และหัวหน้าให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ (Chief Scientific Advisor) แก่เว็บหาคู่ Match.com กล่าวใน TED Talk หัวข้อ "สาเหตุที่เรารัก สาเหตุที่เรานอกใจ" ("Why we love, why we cheat") ว่า ยังไงเราก็เจาะจงความสนใจของเราอยู่ที่คนๆเดียว เราอาจจะลิสต์สิ่งที่เรา 'ไม่ชอบ' เกี่ยวกับคนๆนั้นได้ยาวเหยียด สุดท้ายแล้ว เราก็เมินลิสต์ของตัวเอง และโฟกัสในสิ่งอะไรๆที่กำลังทำต่อไปอยู่ดี 



    ฟิชเชอร์อ้างถึงคำที่นักเขียนวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง จิออฟฟรีย์ ชานเซอร์ (Geoffrey Chaucer, 1342 - 1400; ประพันธ์เรื่อง Canterbury Tales (1387) หลากเรื่องเล่าของผู้เดินทาง 30 คนแสวงบุญไปแคนเทอร์บูรี่, อังกฤษ) พูดเกี่ยวกับความรัก (และเรานำมาใช้กันจนเกร่อไปแล้ว):


    "ความรักนั้นตาบอด - Love is blind."


    ต่อให้สมองซีกซ้าย ที่คิดทบทวนแผนการ เหตุผล และตรรกะอย่างเป็นระบบ จะพยายามแยกแยะเหตุการณ์ ตีความและวิเคราะห์คนๆนี้ ที่ใจเราจดจ่อคิดถึงอยู่ตลอด สมองซีกขวา ที่วิ่งตามแรงกระตุ้นชั่ววูบ (impulses) อารมณ์ และความรู้สึก กลับกลายเป็นซีกที่เหนือกว่ายามคนเราตกในห้วงรัก



    ทั้งวิทยาศาสตร์ คำจากนักเขียน และประสบการณ์จากรักแรกของหลายคน สามารถอธิบายสีหน้าตึงๆ แบบหึงเงียบ และเจ็บปวดโดยไร้คำพูดของเอลลิโอ ระหว่างเฝ้ามองโอลิเวอร์เต้นแนบแน่นกับคิอาร่า จนเพลงเร็วติดหูอย่าง Love My Way ของวงอังกฤษ The Psychedelic Furs ดังขึ้น เป็นเพลงเดียวกับที่เล่น ณ​ บริเวณที่จอดรถในเบอร์กาโม่ ที่ทำให้โอลิเวอร์ผละจากเขาไปเต้นกับคนอื่น สายตาของเอลลิโอที่เฝ้ามองในสองฉากนั้นใกล้เคียงกัน และทำให้เรานึกถึงคำของฟรอยด์ (Freud) จากหนังสือ A Lover's Discourse (รวมคำสนทนาของคนกำลังรัก, Roland Barthes/โรแลนด์ บาธส์, 1977): 


    "ยามฉันรัก ฉันจะผูกขาดรัก[เขา]แต่ผู้เดียว -  When I love, I am very exclusive."


    อารมณ์หลงใหลต้องมนต์เสน่ห์ของคนในห้วงรักเปรียบเหมือน 'วังวน' หรือ 'หลุม' ที่ยากจะหลุดพ้นเมื่อลองตกลงไป (เพิ่งซึ้งกับคำว่า 'ตกหลุมรัก' ตอนนี้นี่เอง) ความรักปั่นหัวให้เราจดจ่ออยู่แต่คนๆเดียว อย่างเอลลิโอที่แอบมองโอลิเวอร์จากระเบียงด้านบน แอบหลบเข้าไปในห้องของอีกฝ่าย ที่เคยเป็นห้องของตัวเอง แล้วหยิบกางเกงว่ายน้ำสีแดงเร่าร้อนของโอลิเวอร์ มาสวมหัวตัวเองบนเตียงของอีกฝ่าย ที่เคยเป็นเตียงของตัวเอง


    ถึงจะอ่านฉากนี้จากในหนังสือมาแล้ว ตอนดูฉากนี้ในหนังเราก็นึกถึงฉากคล้ายกันจาก Les Amours Imaginaires (Heartbeats, 2010, กล่าวถึงไปเบื้องต้น) ที่นายเอกทำอย่างเดียวกันกับเสื้อของพระเอก จนสำเร็จความใคร่ได้ซ้ำ 


    บน: ฟรานซิส (Francis) กับเสื้อของนิโคลัส (Les Amours Imaginaires, 2010)
    ล่าง: เอลลิโอ กับ กางเกงว่ายน้ำของโอลิเวอร์ (Call Me By Your Name, 2017)

    การไขว่คว้าหา 'ส่วนหนึ่ง' ของคนๆนั้นมาใกล้ชิด แนบเนื้อกับตัวเรา ให้เป็นตัวแทนของเขา เพื่อให้เสมือนได้สัมผัสเขา ทั้งผ่านสร้อยคอ ดาวของเดวิด (The Star of David) และเสื้อเชิ้ตฟ้าตัวโปร่งจากวันแรกของโอลิเวอร์ (Billowy) คือการพยายาม 'หลอมเป็นหนึ่งเดียว' กับอีกฝ่าย  ก่อนที่โอลิเวอร์จะเอ่ยวลี 'เรียกฉันด้วยชื่อนาย' เสียอีก

    โรแลนด์ บาธส์ กล่าวว่า "ทุกสิ่งที่คนที่เรารักแตะต้อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายนั้น และเราย่อมกระหายที่จะพาตัวเองไปแนบแน่นใกล้ชิดสิ่งๆนั้น - Every object touched by the loved being’s body becomes part of that body, and the subject eagerly attaches himself to it."



    ที่ตรงเผงเลยคือคำพูดของนักปราชญ์อย่างโซคราติส (Socrates, จาก A Lover's Discourseรวมคำสนทนาของคนกำลังรัก เช่นกัน) ที่ว่า:

    “I therefore have decked myself out in finery 

    so that I might be in the company of a fine young man.

    I must resemble whom I love. 

    I postulate (and it is this which brings about my pleasure) 

    a conformity of essence between the other and myself. 

    Image, imitation: 

    I do as many things as I can in the other’s fashion.

    I want to be the other, I want the other to be me, 

    as if we were united, enclosed within the same sack of skin…."



    "ข้าจึงแต่งตัวให้ดี เพื่ออาจได้อยู่ใกล้เด็กหนุ่มผู้ดีเลิศ ข้าจำต้องดูคล้ายคนที่ข้ารัก 

    ด้วยอ้างถึงการสอดคล้องพ้องต้องกันระหว่างแก่นแท้ของข้าและอีกฝ่าย 

    (และนี่คือสาเหตุแห่งความสุขของข้า); ภาพพจน์, การลอกเลียนแบบ:

    ข้าทำทุกสิ่งตามแบบการกระทำของอีกฝ่าย 

    ข้าต้องการที่จะเป็นอีกฝ่าย, ข้าต้องการให้อีกฝ่ายเป็นข้า, 

    เสมือนเราทั้งสองเป็นหนึ่ง หลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียว"


    บทสนทนาเรื่องประวัติศาสตร์หน้าอนุสาวรีย์​ นอกจากจะทำให้เราคิดถึงความ 'ไร้เดียงสา' ต่อความรู้สึกรักแรกในโลกจริง แม้จะมีรู้รอบตัวมากแค่ไหน (อย่างที่กล่าวไปในบทความตอน เริ่มรัก) อย่างที่เอลลิโอกล่าว: "หากนายรู้ว่าฉันรู้น้อยแค่ไหนเกี่ยวกับสิ่งที่มีความหมายจริงๆ - If you only knew how little I know about the things that matter."  เรายังนึกถึงส่วนหนึ่งของกลอนโดยนักกวีที่เรารักอย่างริชาร์ด ไซเก้น (Richard Siken):



    "ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย ใครบางคนเขากล่าวไว้

    ประวัติศาสตร์คือชายตัวเล็กในสูทสีน้ำตาล

    กำลังพยายามนิยามห้องๆหนึ่งจากภายนอก


    ฉันรู้จักประวัติศาสตร์ดี ประวัติศาสตร์จารึกชื่อไว้มากมาย

    หากยังไร้ชื่อของสองเรา"


    “History repeats itself. Somebody says this…..

     

                                                                                        History is a little man in a brown suit 

                            trying to define a room he is outside of.


    I know history. There are many names in history

                                                                                                    but none of them are ours.”

     

    —Little Beast, Richard Siken

     

    เป็นกลอนในสไตล์การเขียนของอังเดร อซิแมน ที่ใช้คำเรียบง่าย ประโยคธรรมดาๆ แต่สามารถตีแผ่ความขัดแย้งในตัวเองของคนรอบรู้คนหนึ่งเพราะความรักได้อย่างสวยงาม 



    ฉันรู้จักประวัติศาสตร์ดี เหมือนที่เอลลิโอรู้เกร็ดอย่างละเอียดเกี่ยวกับสงครามแห่งพิยาเว่ (Battle of Piave) จนพูดถึงอย่างสบายๆ

    ฉันรู้จักประวัติศาสตร์ดี แต่ในประวัติศาสตร์ยังไม่มีเรื่องของเรา



    Better now? : รื่นรมย์

    "เลิกงอแงได้แล้ว เจอกันตอนเที่ยงคืน - Grow up. I'll see you at midnight." เรารักรายละเอียดการแสดงของทิโมธีในฉากนี้หลังอ่านโน้ตของโอลิเวอร์ ทั้งการหมุนตัวของเอลลิโอ การช้อนสายตามองแสงแดดนอกหน้าต่าง แนบโน้ตที่มือของโอลิเวอร์สัมผัสโดนกับริมฝีปากตัวเอง ก่อนจะดูนาฬิกาข้อมือและเชิดปากน้อยๆ เพราะความหงุดหงิดต่อเวลาที่เดินช้าเกินความเร็วของหัวใจ

    เฮเลน ฟิชเชอร์อีกนั้นแหละ ที่ตระหนักว่าความรักโรแมนติกไม่ใช่อารมณ์ (emotion) หรือ อารมณ์แปรปรวนจากสุขสูงไปต่ำดิ่ง (a series of emotions, from very high to very low) หากเป็นแรงผลักดัน (drive) ในกลไกของความคิด ของส่วนกระหายอยากของสมอง ของส่วนความใคร่โหยหาของความคิด ส่วนเดียวกันที่ทำงานเมื่อเราเอื้อมมือหยิบช็อกโกแลตชิ้นนั้น เมื่อเราอยากได้โปรโมชั่นที่ที่ทำงาน


    วันทั้งวันก่อนคืนพิเศษคืนนั้น เอลลิโอกระสับกระส่ายมองนาฬิกาข้อมือไม่หยุดหย่อน แม้จะชวนมาร์เซียมาอยู่ด้วย และใช้เวลาอยู่กับเธอให้ผ่านๆไป 



    เพลง Words Don't Come Easy ของ F. R. David ที่เอลลิโอเปิดจากวิทยุสุดจะติดหู (จนยังฟังอยู่ทุกวันนี้ก่อนและระหว่างเขียนบทความ) และสะท้อนความปั่นป่วนในหัวใจของเอลลิโอ ที่ยังสับสนใจในการเรียบเรียงคำพูดกับโอลิเวอร์เรื่องความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งโยงกลับไปถึงนิทานเรื่องเจ้าหญิงและอัศวินกับประโยค: "Is it better to speak or die?" ได้อยู่ดี

    ถึงจะอยู่กับสาวที่ชอบตัวเอง เอลลิโอก็ยังไม่วายหมกมุ่นเรื่องคนรัก


    ใน TED Talk หัวข้อ "สมองในห้วงรัก" ("The Brain In Love") เฮเลน ฟิชเชอร์กล่าวถึงส่วนสมองที่เกี่ยวข้องกับ 'สัญชาตญาณดิบ' (ราวสัตว์เลื้อยคลาน - reptilian part of the brain) ที่เริ่มทำงานเมื่อตกอยู่ในห้วงรัก เป็นส่วนเดียวกันที่ถูกกระตุ้นเมื่อเราเสพติดโคเคน! 



    สมองส่วนที่ว่าคือโรงงานเล็กๆที่ชื่อ Ventral Tegmental Area หรือ "VTA" ในโรงงานนี้จะมีเซลล์ที่ชื่อ A10 ซึ่งเป็นตัวผลิดสารโดปามีน และแพร่สารนี้ไปที่ส่วนต่างๆของสมอง

    VTA  เป็นส่วนหนึ่งใน reward system ของสมอง เป็นส่วนที่อยู่ใต้กระบวนการความคิดวิเคราะห์ (cognitive thinking) ใต้อารมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของ 'สัญชาตญาณดิบ' ที่เกี่ยวข้องกับความกระหายอยากได้ ความใคร่โหยหา


    แต่ความรักโรแมนติกนั้นหนักข้อกว่าโคเคน อย่างน้อยก็มีช่วงที่ยาเสพติดคลายฤทธิ์ลง ความรักโรแมนติกคือการหมกมุ่นมัวเมา (obsession) ที่เข้าครอบงำเรา ทำให้เราสูญเสียเซนส์ความเป็นตัวเอง ไม่สามารถหยุดคิดถึงมนุษย์อีกคนได้ เพราะมีคนๆหนึ่งตั้งป้อมอยู่ในหัวเรา

    เราเคยเขียนถึงการโหยหาคนอีกคนว่า:


    จะให้หยุดคิดถึงคนๆนึงได้อย่างไร


    คนที่จับจองพื้นที่ในความคิด ในความทรงจำเราแล้ว


    คนที่ย้ายเข้ามาในใจโดยไม่บอกกล่าว


    คนที่อยู่เป็นตัวเป็นตนในความรู้สึก

    คนที่ก้าวเข้ามาอยู่พื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ใช่แค่ห้องนอน


    โรแลนด์ บาธส์เชื่อมโยงความรักกับการรอคอย: " 'ฉันกำลังตกหลุมรักอยู่หรือ -- ใช่, เพราะฉันเป็นคนรอคอย' อีกคนไม่เคยรอใคร บางครั้ง ฉันอยากเล่นบทของคนที่ไม่ต้องรอบ้าง ฉันพยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้... แต่ฉันมักแพ้ในเกมนี้เสมอ -  Am I in love— Yes, since I’m waiting.” The other never waits. Sometimes I want to play the part of the one who doesn’t wait; I try to busy myself elsewhere… but I always lose at this game."



    ไม่ว่าเอลลิโอจะอยู่กับมาร์เซียนานเท่าไหร่ เพลิดเพลินไปกับเธอแค่ไหน เขาก็ยังพลิกข้อมือขึ้นมาดูเวลาอยู่นั่นเอง


    ในหนังสือ เอลลิโอทรมานกับการคิดถึงโอลิเวอร์ไม่หยุดจนอยากจะให้อีกฝ่ายออกจากบ้านไปพ้นๆ อยากให้เขาตายไปเสีย จะได้หยุดคิดถึงและกังวลว่าจะเห็นหน้าอีกฝ่ายอีกเมื่อไหร่ (หากเมื่อถามเอลลิโออีกช่วงหนึ่งของหนังสือ เขากลับคิดว่า ไม่ได้ต้องการอะไรจากโอลิเวอร์ทั้งนั้น ไม่แม้แต่ความเป็นเพื่อน ขอแค่ให้ได้มีโอลิเวอร์อยู่ในสายตา ... เพราะรู้ดีว่ามีสักวันที่เงยหน้าขึ้นมา จะไม่เห็นเขาอีก - "For the day will come soon enough when I'll look up and you'll no longer be there."  ความเปราะบาง 'พลิกกลับไปมา' ของใจคนที่อยู่ในห้วงรักก็เป็นแบบนี้)



    และเพราะผูกใจอยู่กับโอลิเวอร์ไปแล้ว เอลลิโอจึงเพิ่งรู้ถึง 'อารมณ์' ที่ขึ้นลงกับคำจากโอลิเวอร์ คำที่สามารถทำให้เขาสุขล้นเกินบรรยาย พอๆ กับอีกคำที่สามารถบดขยี้ใจจนแหลกลาญ 

    ("เอ้า!" เพื่อนรุ่นพี่คนสนิทออกเสียงเมื่อเห็นเราตกใจกับ notification ในมือถือ ฤดูใบไม้ร่วงแห่งรักแรกนั้น "เขาไม่ตอบโพสต์ก็กระวนกระวาย เขาตอบมาก็ตกใจแบบนี้ ... ฉันจะเอายังไงกับเธอ?!")


    ก่อนฉากจูบแรกในดงหญ้า เอลลิโอพาโอลิเวอร์ไปที่ๆ ลับของตัวเอง (ซึ่งในหนังสือเป็นที่ๆ กล่าวกันว่าโมเน่มาวาดรูป - Monet's Berm) โดยคิดได้ว่า เขาเองกำลังทดสอบความเหมาะสมของโอลิเวอร์กับที่ๆนั้น และสำหรับเรา การอนุญาต พาใครสักคนเข้ามาในที่ๆ เป็นส่วนตัวของเรา ที่ๆเราหวงแหน ย่อมเท่ากับเปิดประตูโลกส่วนตัวให้เขา และการยอมรับว่า ต่อไป ความทรงจำเรื่องที่ๆ นั้นจะมีเขาเกี่ยวพันอยู่ด้วย



    หลังจากร่วมรัก ทั้งสองเรียกกันและกันด้วยชื่อของอีกฝ่าย ตรงนี้ทำให้เรานึกถึงคำของโรแลนด์ บาธส์ที่เปรียบภาษากับผิวหนังและการสัมผัส:


    "ภาษาคือผิวหนัง ฉันลูบไล้ภาษากับอีกฝ่าย มันเปรียบเสมือนฉันมีถ้อยคำแทนนิ้ว หรือนิ้วแทนแต่ละถ้อยคำ ภาษาของฉันสั่นระรัวด้วยความปรารถนา... ฉันห่อหุ้มคนๆนั้นด้วยคำของฉัน "



    "Language is skin: I rub my language against the other. It is as if I had words instead of fingers, or fingers at the tip of my words. My language trembles with desire…I enwrap the other in my words..."


    และการเรียกชื่อแต่ละครั้งของทั้งสอง "เอลลิโอ" และ "โอลิเวอร์" ทำให้เราเชื่อถึงการใช้ภาษาแทนการสัมผัสอีกฝ่ายด้วยความรักใคร่ปรารถนาจริงๆ


    เรารักโมเม้นต์เล็กๆ บนเตียงระหว่างสองคนในหนังสือ เมื่อเอลลิโอฉุกคิดได้ว่า ตอนนี้ ในขณะนี้ เขาไม่ได้รู้สึกเป็นอะไรอื่น หากเป็นตัวเองและตัวเองอย่างถ่องแท้ (pure self) รู้สึกถึงแต่ละครั้งที่ขนลุกซู่ตามแขนนั้นเป็นอะไรที่ไม่เคยรู้สึกมากก่อน เป็นอะไรที่โอลิเวอร์เป็นคนช่วยหาจนเจอ 

    เพราะนี่เหมือนการได้กลับบ้าน เหมือนการถามโอลิเวอร์ว่า เขาไปอยู่ไหนมาทั้งชีวิตของฉัน?

    เราเชื่อในการ 'เจอแหล่งพักพิง' ในคนอีกคน เจอคนข้างกายที่ทำให้เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะปรึกษา พึ่งพิง อาศัยพักใจ เหมือนได้กลับสู่สิ่งที่คุ้นเคย อบอุ่น 

    เหมือนได้กลับบ้าน 

    (Because  you are my homecoming. Because knowing you, being with you-- is like coming home.)*



    *มีอีกตอนในหนังสือที่เอลลิโอเรียกโอลิเวอร์เป็น "homecoming" ของตัวเอง:

    "Was he my home, my homecoming? You are my homecoming. When I’m with you and we’re well together, there is nothing more I want. You make me like who I am, who I become when you’re with me, Oliver. If there is any truth in the world, it lies when I’m with you…


    เขาเป็นบ้าน เป็นการกลับบ้าน ของผมหรือเปล่านะ เขาคือการกลับบ้านของผม เมื่อผมอยู่กับเขาและเราอยู่ด้วยกัน ไม่มีสิ่งใดที่ผมอยากได้อีก เขาทำให้ผมรักในตัวตนที่ผมเป็น คนที่ผมเป็นเมื่ออยู่กับเขา โอลิเวอร์ ถ้าความจริงมีตัวตนอยู่ในโลก มันมีความหมายเมื่อผมอยู่กับเขา"


    พอรุ่งเช้า เอลลิโอก็ตามติดโอลิเวอร์เข้าเมือง ทิโมธีแสดงท่าทางเคอะเขิน ประหม่าต่อหน้าคนรักได้ละเอียด และน่ารัก เราชอบการเลียริมฝีปากต่อหน้าโอลิเวอร์ ก่อนจะรีบขอตัวไป


    เขินแทน > <


    "ฉันไม่อยากให้นายเสียใจเรื่องนี้-- " โอลิเวอร์กล่าว สัญญาณเตือนชัดเจนอยู่ตรงหน้าเรา 

    แต่เราเลือกจะไม่รับฟังมัน

    แน่ละ 'เรื่องนี้' ครอบคลุมความหมายไกลกว่าเพียงการร่วมรักเมื่อคืนที่ผ่าน หากเอลลิโอก็ส่ายหน้า ปฏิเสธว่าเขา 'ไม่เป็นไร' ด้วยสายตาของคนตกอยู่ในห้วงรักแรก

    น่าขันที่การปฎิเสธความรู้สึกหลังคืนแรกที่ได้แนบชิดมันง่ายดาย เราปัดป้องและยืนยันเกราะป้องกันหัวใจวินาทีที่ความรู้สึกลุกโชนและหัวใจติดปีกเมื่อได้สบตาคนตรงข้าม อย่างรวดเร็วไร้สิ้นความหมาย เหมือนตบแมลงวันตัวหนึ่งที่คนเรียกให้สังเกตที่ปลายแขนเสื้อ*

    *(เป็นมุขที่จงใจใส่)


    รายละเอียดเล็กๆ ที่เราชอบในฉาก 'พีช' ถัดมา คือโอลิเวอร์สวมเสื้อน้ำเงิน และกางเกงขาสั้นสีเหลือง สองสีเด่นของ Call Me By Your Name ตามโปสเตอร์ สองสีเดียวกับเป้คู่ใจของเอลลิโอ


    Now I'm Prone To Misery: เสียงเศร้าของ Sufjan Stevens

    เพลง Mystery of Love ของ Sufjan Stevens  ดังขึ้นเมื่อเอลลิโอ และโอลิเวอร์นั่งรถบัสออกจากเครม่า และบรรเลงระหว่างทั้งสองปีนป่ายภูเขานอกเมืองเบอร์กาโม่ ก่อนจะจบลงเมื่อถึงที่พัก

    ซัฟยาน สตีเว่นเขียนเนื้อร้องได้อย่างฉลาด เลือกใช้และร้อยเรียงคำง่ายๆ ที่แฝงด้วยสัญลักษณ์​ การเปรียบเปรย และความเศร้าซึ้งสุดหัวใจ ที่ฟังแต่ละทีก็แอบกุมใจทุกครั้ง 

    Mystery of Love เป็นเพลงรัก หากเป็นรักที่เศร้าหม่น เพลงกลับบรรเลงระหว่างช่วงที่เอลลิโอและโอลิเวอร์ดูร่าเริง สุขที่มีอีกฝ่ายอยู่เคียงข้าง เป็นการขัดแย้งในอารมณ์ที่ทำฉากนี้ตราตรึงในหัวใจคนดูไปอีก


    เราอยากจะโฟกัสที่เนื้อเพลงช่วงหลัง ตอนท่อนฮุกที่สอง และส่วนหนึ่งของเนื้อร้องวรรคที่สาม:


    [Chorus 2]

    Oh, oh woe-oh-woah is me

    I'm running like a plover

    Now I'm prone to misery

    The birthmark on your shoulder reminds me

     

    [Verse 3]

    How much sorrow can I take?

    Blackbird on my shoulder

    And what difference does it make

    When this love is over?


    Mystery of Love เหมือนฉายหนังย้อนถึงความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นและกำลังจบลงของเอลลิโอและโอลิเวอร์ คำ "Oh, oh woe-oh-woah is me,"  คือคำพรรณนาร้องถึงทุกข์ในใจ ถึงความเศร้าที่จะมาถึง ว่าเสมือนเป็นหนึ่งกับตัวเองแล้ว (ทำให้เรานึกถึงบทพูด 'Woe is me!' หลายๆ ครั้งของแม่นม/Nurse ของจูเลียต ในโรมิโอ แอนด์​ จูเลียต ที่ร้องประโยคนี้ซ้ำๆ เพราะร่ำไห้ถึงความเศร้าอัดอั้นใจ เช้าที่จูเลียตแกล้งดื่มยาพิษแล้วสลบไป)



    Plover เป็นนกตัวเล็ก การ 'วิ่งวุ่นหลบหลีก' เหมือนนกตัวนี้ ก็เหมือนหนีอะไรสักอย่าง พยายามหาที่หลบ ทั้งที่โลกภายนอก และโลกแห่งความจริง วิ่งไล่ตาม พยายามปิดกรอบกั้นเข้ามาทุกที

    Now I'm prone to misery /  How much sorry can I take?  รักการแปลเพลงนี้ที่ว่า "ทุกข์ตรมเพราะรักที่ได้รับ" เพราะจริงๆ แล้ว ทั้งเอลลิโอและโอลิเวอร์ต่างรู้ว่ารักถูกจำกัดด้วยวันเวลา และเราเอง จดจำรักแรกด้วยอารมณ์หวานขม bittersweet ประมาณคำ 'happy-sad'  ("จังหวะในชีวิตที่คุณโอเคกับความเศร้า - a place in your life where you're ok with your sadness") ของ Sing Street (2016)  


    ฉาก Happy-Sad ระหว่างพระ - นาง (คอเนอร์ กับ ราฟิน่า) แห่ง Sing Street (2016)

    "ไม่ได้มีความสุขหรอ ตอนที่ยังมีความรักน่ะ" รุ่นพี่คนเดิมถามเรา

    เราส่ายหน้า "ไม่หรอก....  ไม่เคยเลย ถึงมี ก็ไม่ได้มีจริงๆ"

    ความรักของเราตอนนั้นเหมือนกรงขังเดี่ยว เหมือนเป็นอัศวินในนิทานที่ไม่ยอมบอกความรู้สึกกับเจ้าหญิงจนวินาทีสุดท้าย ต้องพยายามทำตัวปกติเมื่ออยู่ในที่ๆเดียวกับเขา ขณะที่หัวใจเต้นแรงเหมือนจะหลุดออกมาจากอก


    Blackbird on my shoulder : blackbird เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอันตรายและหายนะที่กำลังจะเกิด ในกรณีนี้นกเกาะไหล่ผู้ร้องเพลง เพื่อเตือนถึงความโศกเศร้าเพราะการร้างรักที่กำลังจะมาถึง


    Oliver was Oliver: ร้างลา

    คืนนั้นในเบอร์กาโม่ เอลลิโอฝันถึงช่วงเวลาต่างๆ ที่เขาไม่เคยมีกับโอลิเวอร์​ ถึงความฝันจะเป็นการเล่นกลของสมอง เป็นจินตนาการที่เราคิดสร้างขึ้นมาเอง และพร้อมจะสลายไปกับอากาศเมื่อเราลืมตาตื่น ความรู้สึกที่เป็นรากฐานของความฝันกลับเป็นอะไรที่ 'จริง' และสัมผัสได้สำหรับเรา


    แต่ไม่ว่าความฝันจะเป็นอย่างไร ความจริงก็มาก่อนเสมอ ทุกคนที่ดู Call Me By Your Name พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารักพ่อของเอลลิโอ และฉากเปิดใจคุยกับลูก เป็นฉากที่ทำให้เราใจบางตอนอ่านหนังสือ และสูดจมูกฟุดฟิดตอนดูไมเคิล สตุลบาร์ก Michael Stuhlbarg แสดงได้อย่างไร้ที่ติ



    ที่ว่าหัวใจและร่างกายเป็นของเราเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเป็นเรื่องจริง และบางที การได้รู้สึกความรู้สึกแรงกล้า กับใครคนหนึ่ง ได้หัวหมุนและเจ็บปวดเพราะความรัก สำหรับช่วงหนึ่งของชีวิต ก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ เอลลิโอนั้นโชคดีกว่าหลายคนนักที่ได้เจอรักในคนดีอย่างโอลิเวอร์​ คนที่รักเขาตอบ และใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกันอย่างสุดวิเศษ

    การลืมความทุกข์​ บังคับตัวเองให้ผลักไสประสบการณ์นั้นออกจากความทรงจำ เท่ากับปิดกั้นคนๆนั้นจาก 'กล่องเก็บของ' ในหัวใจ

    เพราะการเคยได้รู้จัก และเคยรู้สึกกับคนๆหนึ่ง ก็เหมือนการลองเสี่ยง ให้หัวใจตากฝนเข้าบ้าง



    แค่ได้รู้สึก 

    ได้เป็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง

    กับคนๆหนึ่ง


    หัวใจอาจแปรเปลี่ยนไป

    แก้มที่เปียกน้ำตาอาจแห้งสนิท

    มือถือที่ตั้งเตือนไว้อาจเงียบงันเข้าสักวัน


    ทั้งที่หัวใจเปียกโชกตั้งแต่เริ่มรู้จักเธอ

    ก็เราเป็นมนุษย์

    ก็เรามีกันอยู่แค่นี้


    แค่อยากจะยืนตากฝนให้หัวใจชุ่มชื้นในวันที่ยังทำได้

    …..ก็เท่านั้น.


    "โอลิเวอร์  ก็เป็นโอลิเวอร์" เอลลิโอพูดถึงคนรักอย่างเลี่ยงๆ เพราะไม่กล้าคุยเรื่องความรักนี้กับพ่อจริงจัง ศ. เพิร์ลแมนจึงตอบลูกชายด้วยประโยคอมตะของนักคิดนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในยุคเรเนซองค์ (Renaissance, ราวศตวรรษที่ 16, 1500s) อย่าง มิเชล เดอ มองเทน Michel Eyquem de Montaigne: 


    “Parce queen c’etait lui, parce que c’etait moi.”

    “Because it was him. Because it was me.” 

    "เพราะเขาเป็นเขา เพราะฉันเป็นฉัน"


    เอลลิโอในหนังสือแอบบอกว่า เขากำลังคิดถึงคำคมของกวีหญิงเอมิลี่ ดิ๊กคินสัน Emily Dickinson มากกว่า: "Because he's more myself than I am. - เพราะเขาเป็นตัวของฉันมากกว่าฉันเอง" ซึ่งโยงกลับไปประเด็นการเรียกชื่อกันและกัน เสมือนเป็นคนๆ เดียวกัน แสดงให้เห็นว่าโอลิเวอร์ เข้าถึงตัวและหัวใจของเอลลิโอมากเพียงใด

    แต่ทำไมต้อง มิเชล เดอ มองเทน และประโยคนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เรามาดู 'ความรัก' ของนักคิดคนนี้ใกล้ๆ กัน :)


    ซ้าย: มองเทน, ขวา: ลา โบตี้

    มองเทนพบเพื่อน และคู่แท้ใน อีเทียน เดอ ลา โบตี้ (Etienne de la Boetie, เกิด 1530) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ลา โบตี้ นักเขียนและข้าราชการ ที่พบกันในรัฐสภาเมื่อทั้งสองอยู่ในวัย 20 กว่าๆ ลาโบตี้แต่งงานแล้วตอนที่เจอกับมองเทน และดำรงตำแหน่งสูงกว่าอีกฝ่ายที่เด็กกว่า

    ทั้งคู่ชอบพอกัน รู้จักกันดีอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น และกลายเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้ออันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่แรกพบ (“so taken with each other, so well acquainted, so bound together”) มิตรภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะคนสองคนใจตรงกัน รู้ใจกัน และมาเจอกันได้ ก็ดังเช่นมิตรภาพและความรักระหว่างเอลลิโอ และโอลิเวอร์

    ซาร่าห์ เบ๊คเวล (Sarah Bakewell) ผู้เขียนหนังสือ How To Live (การใช้ชีวิต) จากประวัติและเรียงความของมองเทน มองความสัมพันธ์ของมองเทน และลา โบตี้เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มผู้มีชาติตระกูลและการศึกษาดี (well-born) อันถือเป็นจุดพีคที่สุดของปรัชญา (pinnacle of philosophy)


    มองเทนเองมองมิตรภาพครั้งนี้เป็นความรักที่วิเศษสุด เป็นความลึกลับเหนือประสบการณ์ทางกายของมนุษย์ (transcendent mystery) และเคยเขียนไว้ว่า 

    “If you press me to tell why I loved him. I feel that this cannot be expressed, except by answering: Because it was he, because it was I.”

    "หากพยายามให้ข้าตอบว่าทำไมข้าถึงรักเขา ข้าก็ไม่อาจอธิบาย เว้นแต่การตอบว่า: เพราะเขาเป็นเขา และเพราะข้าเป็นข้า"


    รุ่นพี่เคยถามว่าเราเห็นอะไรในตัวคนๆนั้น เอาจริงถึงตอนนี้ จะพูดถึงความรักครั้งนั้น จะตอบให้เหตุผลเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ตอบไม่ได้ 

    เรารู้สึกว่า คำตอบของมองเทน และการอ้างอิงคำนี้ของศ. เพิร์ลแมนเป็นคำอธิบายที่ตรงที่สุดแล้ว


    บางครั้งเราก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมเราถูกดึงดูดไปหาคนอีกคนหนึ่ง ทำไมเราถึงชอบ ถึงรักคนอีกคนหนึ่งนักหนา มันอาจจะมีเหตุผลในตอนแรก อาจจะบอกได้ว่าชอบรูปลักษณ์ ท่าทาง และการกระทำของเขา แต่สำหรับเรา เมื่อได้รัก ได้เริ่มรักคนๆหนึ่งแล้ว เหตุผลอะไรทั้งหลายก็สลายไปหมด เพราะเราชอบในตัวเขาที่เป็นเขา เรารักที่เขาเป็นของเขาอย่างนี้ ยอมรับเขาได้ในทุกอย่างที่เขาเป็น (as (s)he is, the way (s)he is) 



    (ประโยคบอกรักง่ายๆ ที่ดูไม่มีอะไรใน Bridget Jones' Diary (2001) อย่าง "I like you, very much,  just as you are - ผมชอบคุณมากๆ ในแบบที่คุณเป็น" ถึงตรึงใจมากนัก!)

    และการที่เรารักเขาเช่นนี้ ก็เป็นเพราะอะไรไปไม่ได้นอกจากเพราะเราเป็นตัวเราเอง



    การอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเราถึงรักคนอีกคนหนึ่ง ทำให้เรานึกถึงฉากหนึ่งที่ชอบมากจาก Carol (2015) แม้ตัวผู้ชายที่แอบชอบธีรีสจะบอกว่า เราทุกคนถูกดึงดูดต่อบางคน และไม่ใช่คนอื่น โดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไม ธีรีสก็แย้งว่า ทุกอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนลูกตุ้มในฟิสิกส์ ที่ถูกดึงดูดและกระทบกันง่ายๆ เพราะบางอย่างไม่ได้ทำปฏิกริยาด้วยกัน แต่ทุกสิ่งนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิต*

    *("All of us, you know, we have affinities for people. And you don't know why you are attracted to some people and not others..... / Yeah, but not everything's as simple as a bunch of pinballs reacting off of each other. Somethings don't even react, but everything is alive.")

    มองอีกมุม มีแรงอะไรสักอย่างที่ดึงคนสองคนเข้าหากันก็จริง แต่การรู้จัก เข้าใจ และค่อยๆ 'โต้ตอบ' กันจนกลายเป็น 'เรา' สองคนนั้นต้องอาศัย 'ความเป็นเขา' และ 'ความเป็นเรา' หรือ 'ความรู้สึก' ที่เขาทำให้เรารู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิต (alive) 

    เพราะคนสองคนย่อมมีกลไก ความคิด ความต้องการ และหัวใจลึกล้ำกว่าเครื่องมืออธิบายคอนเซ็ปท์การดึงดูดทางวิทยาศาสตร์


    ลา โบตี้ยังเขียนโคลงกลอนพรรณาถึงความฝันของเขาที่อยากให้ 'ชื่อ' ของเขาและมองเทน คู่กันตลอดนิรันดร์ เหมือนคู่ดังๆ อื่นๆ ในประวัติศาสตร์

    ชื่อที่คู่กัน ที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของคนไปชั่วกาลนาน ... ก็เหมือนสองชื่อ 'เอลลิโอ และโอลิเวอร์ - Elio and Oliver.'



    ความเสน่หาในพระอาทิตย์ในฤดูร้อน สองชื่อที่คล้องจองกันเหมาะเจาะ เหมือนเกิดมาคู่กัน ให้พบกัน ให้คนจดจำเขาทั้งสองคู่กัน

    เพื่อประวัติศาสตร์จะได้บันทึกชื่อของสองเรา.


    มองเทนเขียนถึงลา โบตี้ ผู้จากไปก่อนวัยอันควร ในบทนำของหนังสือของลา โบตี้ ที่ตีพิมพ์หลังเพื่อนรักเสียชีวิตว่า: "เขายังฝังตัวอยู่ในข้า อย่างเต็มเปี่ยม และมีชีวิต จนข้าไม่อาจเชื่อได้สนิทใจว่าเขาถูกฝังไปอย่างไม่มีวันกลับ หรือหายไปจากการติดต่อระหว่างเราแล้ว" ("he is still lodged in me so entire and so alive that I cannot believe that he is so irrevocably buried or so totally removed from our communication.")

    ถึงโอลิเวอร์จะจากไปแต่ตัว เราเชื่อว่าความทรงจำ ประสบการณ์ และความรัก ความรู้สึกที่มีต่อคนรักของเอลลิโอนั้นลึกซึ้งระดับที่มองเทนเขียนถึงลา โบตี้ การที่เอลลิโอกระซิบเรียกโอลิเวอร์ด้วยชื่อตัวเองผ่านสายโทรศัพท์ สะท้อนถึงความที่เด็กหนุ่มไม่เคยเลิกคิดถึงการเป็นส่วนหนึ่งของ 'กันและกัน' กับโอลิเวอร์​ เพราะโอลิเวอร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของเขาเสมอ ดังเวอร์เทอร์ (Werther) ตัวละครในโอเปร่าของโมซาร์ท ที่นับทุกคนรักที่สูญสลายหายไป เป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา (จาก A Lover's Discourse)


    เอมิลี่ ดิ๊กคินสันเคยเขียนว่า "การจากกัน คือการรู้จักนรกที่เพียงพอแล้ว - Parting is all we need to know of hell."  สีหน้าของเอลลิโอหลังคุยโทรศัพท์กับโอลิเวอร์ได้บอกเราถึงพายุอารมณ์สารพัดในความคิดและหัวใจของเด็กหนุ่มแล้ว 


    (วรรคหนึ่งในหนังสือกล่าวถึงการคาดเดาความเศร้าโศก เพื่อจะได้บรรเทาความเศร้าโศก... แต่เอลลิโอก็สงสัยว่า หากความเศร้าโศกโถมเข้ามาอย่างรุนแรงละ ถ้ามันเข้ามาและไม่ปล่อยเขาไป? - "Anticipating sorrow to neutralize sorrow….And what if it came fiercely? What if it came and didn’t let go? ")

    คุณสยมภูเน้นความ 'เรียบง่าย' หรือ Simplicity ในการถ่าย Long Take ฉากจบสะเทือนใจฉากนี้ ด้วยจงใจอ้างอิงถึง 'สิ่งที่อยู่ในตัวเค้า[ทิโมธี]อย่างเดียว"


    พอโอลิเวอร์จากไป หลังหกอาทิตย์ในฤดูร้อน ก็เหมือนชีวิตของเอลลิโอกลับเป็นเหมือนเดิม หากบางสิ่งในตัวและหัวใจของเอลลิโอนั้นแปรเปลี่ยนไปแล้ว


    เราชอบโน้ตจากหนังสือของโอลิเวอร์ที่เอลลิโอแอบอ่านตอนอยู่คนเดียว:

    “The meaning of the river flowing is not that all things are changing, so that we cannot account them twice, but that some things stay the same only by changing.” 

    "ความหมายของสายน้ำที่หลั่งไหลไม่ได้แปลว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราไม่สามารถจะกลับมาเข้าใจมันได้อีก แต่แปลว่า บางสิ่งย่อมคงที่เหมือนเดิมด้วยการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น"


    ซึ่งอยากนำมาวิเคราะห์คู่กับวรรคนี้ในหนังสือ:

    "He came. He left. Nothing else had changed. I had not changed. 

    The world hadn’t changed. Yet nothing would be the same."


    "เขาเข้ามา เขาจากไป ไม่มีสิ่งอื่นใดเปลี่ยนแปลง ผมไม่ได้เปลี่ยนไป 

    โลกก็ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ไม่มีอะไรจะกลับเป็นเหมือนเดิม"


    เหมือนการคิดตอบคำถามว่า ทำไมเราถึงรักคนๆหนึ่ง การอธิบายว่าเรา 'เปลี่ยนไป' ทั้งที่สิ่งรอบข้างยังเป็นไป และรู้สึกเหมือนเดิม ก่อนที่ 'เขาคนนั้น' จะก้าวเข้ามา เป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน

    หากจะมองโน้ตของโอลิเวอร์ด้านวิทยาศาสตร์ก็คงคิดถึง สภาวะสมดุล/homeostasis ของการเปลี่ยนแปลงเมื่อร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่เคยชิน เพื่อปรับตัวสู่การคงที่ที่คุ้นเคยและปลอดภัย เพราะบางสิ่ง อย่างหัวใจของเอลลิโอหลังโอลิเวอร์จากไป ย่อมต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อพยายามกลับสู่ 'สภาวะสมดุล' (ที่ตัวโอลิเวอร์กลับไปสู่ด้วยการวางแผนแต่งงานเรียบร้อย) ทั้งที่รู้แก่ใจว่าคงไม่มีอะไรจะกลับมาเหมือนเดิม



    มรสุมพายุในหัวใจนั้นยากจะอธิบาย ยากจะเข้าใจ ทั้งที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่ได้เปลี่ยนไปสักนิด แต่ช่วงเวลาที่ผ่านไป กับคนที่เดินเข้ามา ก็ทำให้การมองโลกและความคิดต่อหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป อย่างที่จะย้อนกรอเวลา ลบเลือนรอยในความทรงจำและหัวใจที่เขาทำเอาไว้ และกลับไปเป็น 'เรา' คนเดิมก่อนความรักหรือความรู้สึกจะเริ่มเกิด ก็ทำไม่ได้แล้ว

    วินเซนต์ แวนโก๊ะ กล่าวว่า "น่าเสียดายที่เมื่อคนเราได้ประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็สูญเสียความเยาว์วัยไป" (“It is a pity that, as one gradually gains experience, one loses one's youth.”)   (จาก A Lover's Discourse)


    Like Time Itself: San Clemente Syndrome

    การที่คนเราเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ก่อนจะวกกลับมาเป็นเหมือนเดิม ("... how we change and keep changing and come back to the same.") ในหนังสือ Call Me By Your Name นั้นเกี่ยวข้องกับ 'โรค' ที่เรียกว่า San Clemente Syndrome


    สรุปง่ายๆ เรามอง San Clemente Syndrome เป็น 'อาการ' ของคนเราที่มีความทรงจำทับถมกันหลายชั้นหลากระดับ เหมือนแก้วเจลประดับทรายหลายสีที่เราประดิษฐ์แต่ละชั้นขึ้นมาเอง หรือหินแกรนิตที่สีของแต่ละชั้นที่ผ่านการถูกกัดกร่อนและทำปฏิกริยากับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป



    ตัวละครนักกวีในหนังสือตั้งชื่อ San Clemente Syndrome ตามโบสถ์ San Clemente ที่สร้างขึ้นบนซากปรักหักพัง ชั้นแล้วชั้นเล่า โดยไม่มีชั้นล่างสุด ไม่มีอะไรเป็นสิ่งแรก และไม่มีอะไรเป็นสิ่งสุดท้าย จะมีแต่ชั้นต่างๆที่เต็มไปด้วยทางเดินลับและห้องที่เปิดประตูเข้าถึงกันได้ เหมือนกับความคิดและจิดใจของคน ที่ต่างมี San Clemente เป็นของตัวเอง เราไม่รู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง ชั้นต่างๆ ทางเดินลับ และห้องหับในหัวใจนั้นมีอะไรซ่อนอยู่

    แต่นั่นคือความเป็นมนุษย์

    การเก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์และซ่อนงำความลับ ความต้องการไว้ลึกสุดของความคิด อย่างที่เอลลิโอบอกว่า San Clemente Syndrome เป็นตัวแทนของการเดินทางของเราผ่านการเวลา และการเดินทางของเวลาผ่านเรา ("... how we move through time, how time moves through us...")


    ตัวละครพาโทรคลัส คนรักคนสนิทของอคิลลิส (ลูกครึ่งเทพเจ้าในสงครามกรุงทรอย) สารภาพในหนังสือ The Song of Achilles (บทเพลงของอคิลลิส, Madeline Miller แมดเดอลีน มิลเลอร์) ว่า "ตัวข้าสร้างจากความทรงจำ - I am made of memories."  


    หากใครยังอินอยู่กับหนังสือ Call Me By Your Name และกำลังมองหานิยายรักประมาณในเนื้อเพลง Mystery of Love ที่อ้างอิง เฮเพสติออน Hephaestion คู่รักของ Alexander อเล็กซานเดอร์ เราแนะนำ The Song of Achilles มากๆ เขียนได้สำนวนสละสลวย และให้อารมณ์อบอุ่น เหงาเศร้า จากความรักลึกซึ้งของคนสองคนเมื่อไกลสายตาผู้อื่น คล้ายเอลลิโอ และโอลิเวอร์เลย <3


    ใน San Clemente ของเอลลิโอ ย่อมเก็บรักษาโอลิเวอร์ ความทรงจำเกี่ยวกับโอลิเวอร์ และความเป็นตัวตนของโอลิเวอร์จากมุมมองของเอลลิโอไว้อย่างดี 

    ตรงนี้สอดคล้องกับวรรคซ้ำๆ กระแทกหัวใจในเพลง Visions of Gideon อย่าง "Is It a Video?" มาก



    ได้รักเขา ได้จูบเขา เป็นครั้งสุดท้าย แต่ภาพที่วนเวียนอยู่ในหัวเหมือนคลิปหนัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่เก็บไว้ในความทรงจำ หรือเป็นวิดีโอที่สมองเล่นกลด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น มันเพิ่งจบลงในตอนนี้อย่างกระทันหัน เร็วจนต้องสงสัยว่ามันเคยเกิดขึ้นหรือเปล่า และต้องถามคำถามนั้นกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก


    เอลลิโอกล่าวในหนังสือว่า "เวลาทำให้เราอ่อนไหว บางที ท้ายที่สุดแล้ว เราเจ็บช้ำก็เพราะเวลา - Time makes us sentimental. Perhaps, in the end, it is because of time that we suffer."  


    Am I Your Girl?: แอบรัก

    อยากจะพูดถึงมาร์เซียนิด เพราะคนแอบรัก ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของหน้าร้อนของเอลลิโอ

    ไม่รู้ว่ามาร์เซียดูออกว่าเอลลิโออาจไม่ได้ชอบเธอจริงหรือเปล่า แต่ในฉากที่คุยกันในลานจอดรถเรื่องการอ่านหนังสือ (ตอนที่เราไปเครม่า ตรงจุดที่เอลลิโอและมาร์เซียคุยกันก็มีคู่รักมาพลอดรักจริงๆ) มาร์เซียสารภาพว่าเอลลิโอจะทำให้เธอเจ็บ และเธอไม่อยากเจ็บ


    และตอนท้ายเรื่อง ขณะที่เธอสวมชุดสีแดง สีเดียวกับกางเกงว่ายน้ำของโอลิเวอร์ที่เอลลิโอนำมาสวมหัวตัวเอง เอลลิโอก็ไม่สามารถให้คำตอบกับคำถามของเธอว่าเราเป็นแฟนกันหรือเปล่าได้ เขาทำให้เธอเจ็บ แต่เธอก็ยังให้อภัยเขาในฉากที่เห็นเอลลิโอตาแดงๆ หลังแยกทางกับโอลิเวอร์มา เธอสวมชุดสีฟ้า โทนเดียวกับสีเสื้อโอลิเวอร์ในฉากพีช และหยิบยื่นมิตรภาพให้กับเอลลิโอ



    เมื่อเรารักใครคนหนึ่งอย่างที่มาร์เซียรักเอลลิโอแล้ว ต่อให้ (และเพราะว่า) เป็นรักข้างเดียว เราก็พร้อมจะ 'ยอมใจ' กับเขา ยังอยากคุยและรู้จักกับเขาต่อไป แม้จะเป็นในฐานะเพื่อนก็ตาม


    A Reflection of Reality:  รักผ่านเลนส์

    คู่สามีภรรยาที่โต้เถียงกันกลางโต๊ะอาหารนั้น มาสร้างสีสันให้กับหนังเลยทีเดียว เราชอบประโยคที่ว่า "ภาพยนตร์สะท้อนความจริง เป็นตัวกรอง[ความจริง] - Cinema is a reflection of a reality. It's a filter." 

    นับว่าลูก้า กัวดานีโญ่และทีมงานสามารถกลั่นกรองประสบการณ์รักแรกออกมาได้หมดจด เป็นความ "แหลกสลายที่สวยงาม" ดังรีวิวหนึ่งว่าไว้จริงๆ



    ถึงรักแรกจะจบลงด้วยความเศร้า แต่เราเชื่ออย่างบทความที่เคยอ่านว่าหัวใจที่ผ่านความรักมามากขึ้น จะเข้มแข็งขึ้น และรักเป็นมากขึ้น 

    ขออย่าให้ลืมความรักที่เคยมี ระดับชั้น San Clemente ที่ซ้อนซ่อนกันในหัวใจ และคนๆนั้น ที่เคยสร้างความทรงจำพิเศษให้เราและกับเรา ในช่วงหนึ่งของชีวิต ที่หัวใจเคยได้ 'รู้สึก' หนึ่งในความรู้สึกที่ทำให้เราเป็น 'เรา' ในทุกวันนี้.



    //


    cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ. 


    คราวนี้ไม่ได้ร่างลงกระดาษ Hard Copy เยอะ รวมโน้ตลงคอมเลย (แค่นี้ก็เขียนยาวจะตายแล้ว -- คุณบอก)

    **ตัว TED Talk ของ Helen Fisher เป็นอะไรที่เราหาดูตอนรักครั้งแรก จนไปค้นๆ บันทึกตัวเองดูก็เจอส่วนหนึ่งของคลิปที่เขียนเก็บไว้

    หนังสือ How To Live เขียนดีมากๆ เราเพิ่งอ่านคร่าวๆซ้ำไปตอนเขียนรีวิว Die Tomorrow พออ่าน Call Me By Your Name รอบสองก่อนดูหนัง และมีการพูดถึง มองเทน ก็อ๋อเลย ทั้งๆที่ไม่ได้คิดตามตอนอ่านครั้งแรก


    ***ตกใจตอนดูหนัง รู้สึกว่าหน้าคุ้นๆ ละพอกลับมาเช็กอีกทีก็ใช่จริงด้วย

    (รัวกลอง!) คู่รักที่มาดินเนอร์ก่อน 'คืนสำคัญ' ของโอลิเวอร์กับเอลลิโอ คือ (ซ้าย): ไอแซ๊ค - ปีเตอร์ สเปียรส์ (Peter Spears, โปรดิวเซอร์) และ (ขวา): มูเนียร์ - อังเดร อซิมาน (Andre Anciman, ผู้เขียน)!!

     

    วันที่ 27 ธันวาคมวันนี้ เป็นวันเกิดของน้องทิโมธีพอดี 

    Happy 22nd นะคะหนุ่มน้อย จะรอคอยดูผลงานไปเรื่อยๆนะ รักมากเลย <3 xx


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3

    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ



    ขอบคุณค่า


    x

    ข้าวเอง.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Aod Sathit (@fb4422833814438)
เพิ่งไปรู้จักหนังเรื่องนี้ แล้วชอบมาก จนมาเจอ บทความนี้ อ่านทุกตัวหนังสือ เติมเต็ม ความรู้สึกมากๆ หลงรัก เอลิโอ น้อง ทีโมธี แสดงดีอย่างที่สุด #ปล.ขอบคุณที่มีบทความที่ยาวมากๆ ขอบคุณครับ
Kang Danick (@fb8476092422647)
ขอบคุณสำหรับบทความวิเคราะห์งานศิลป์ดีๆนะคะ ภาษาสวยมาก แถมได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย
cineflections (@cineflections)
@fb8476092422647 ขอบคุณที่ติดตามนะคะ ดีใจที่ชอบมากๆเลยค่ะ :)
Pinglpong W JS (@suwanun.khumvil)
งดงามละเอียดอ่อน อ่านแล้วทำให้เข้าใจตัวหนังได้มากขึ้น เหมือนเอาแว่นขยายมาส่องเลยค่ะ
ขอบคุณนะคะ ดีที่สุดเท่าที่อ่านบทความเกี่ยวกับ Call me by your name มา
ชอบที่เก็บรายละเอียดเชิงวิชาการและเขียนอธิบายความรู้สึกออกมาได้อย่างมีอารมณ์ร่วม
มันบอกไม่ถูกเหมือนพาไปสำรวจ เข้าใจ ที่มาและภาวะความรู้สึกต่างๆไม่ได้อัดแน่นๆด้วยทฤษฏีท่องจำ
อ่านเพลินมากๆเลยค่ะ ; )
cineflections (@cineflections)
@suwanun.khumvil เพิ่งกลับมาเห็น ขอบคุณมากๆเลยนะคะ <3
littlestudyblog (@littlestudyblog)
เขียนดีมากค่ะ ไม่รู้ว่าไปเอาพรสวรรค์ด้านนี้มาจากไหน ขอบคุณมากๆ นะคะ ประทับใจทุกประโยคเลย :)
cineflections (@cineflections)
@littlestudyblog ยินดีค่ะ ขอบคุณที่อ่านมากๆเลย <3
Topp Nuttakit (@fb2084381251577)
ชอบบทความนี้มาก นั่งอ่านแล้วคิดตาม เสียดายยังอ่านหนังสือไม่จบ รู้สึกเหมือนคนเขียนซ่อนอะไรไว้เยอะมาก ไอเราก็ไม่ได้มีความรู้ด้านปรัชญาตะวันตกมาก ขอบคุณเจ้าของโพสมาก อ่านเพลินนนเลย

จริง ๆ อยากฟังมุมมองของเจ้าของบทความ มุมของ oliver ต่อ elio บ้าง ไม่รู้ในหนังสือเขียนไว้มากน้อยแค่ไหน

ตอนนั่งดูหนังไม่ร้องไห้ แต่อึนไปสามสี่วัน มานั่งตามอ่านเพลงแปลง mystery of love กัับ vision of gideon ที่เราฟังแล้วยังงง ๆ มาอ่านปุ๊ป โอ้โห ทำไมคนแต่งเพลงเก่งขนาดนี้ เชียร์เพลง mystery of love บนเวทีออสการ์ปีนี้เลย
cineflections (@cineflections)
@fb2084381251577 ขอบคุณที่ติดตามมากๆเลยค่ะ <3 ดีใจที่อ่านเพลิน :)

ตัวหนังสือยึดจากมุมมอง elio เลย แอบขอบคุณหนังที่ทำให้เรารู้จัก oliver มากขึ้น

คล้ายกันเลยค่ะ เชียร์เพลงนี้มากๆ ฟังแล้วก็ใจโหวง TwT
Puttipong Junior (@fb2043713309239)
อ่านย้อนขึ้นมาตั้งแต่แปลความหมายจากบทเพลงทั้งสองเพลง เห็นภาพสองคนขึ้นมาในหัวทีละนิดๆ จนมาจบที่บทความนี้ ทำให้เข้าใจมิติความสัมพันธ์ของ Elio & Oliver ขึ้นมาก
เราไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ไม่รู้ว่าตอนจบหนังสือเปิดโอกาสให้คนอ่านคิดไปไกลขนาดไหน แต่สำหรับเรา ชีวิตหลังจากนี้ของ Elio ยังอีกยาวไกล -ใครจะรู้ว่าวันนึงข้างหน้าสองคนนี้อาจจะโคจรมาพบกันอีกในฤดูร้อนของที่ไหนบนโลกของพวกเขาก็เป็นได้
cineflections (@cineflections)
@fb2043713309239 <3 หวังเหมือนกันว่าวงโคจรของสองคนนี้ยังไม่ห่างกันไปไกล ขอบคุณที่อ่านนะคะ :)
Puttipong Junior (@fb2043713309239)
@cineflections พยายามอ่านและจินตนาการตามสุดๆเลยคับ 555
หนังเรื่องนึ้ทำให้ผมนึกถึงรักครั้งแรกตอนอายุ 17 อย่างนี้ถือว่า in ใช่ป่ะคับ
แล้วยังพาลนึกถึง Before Sunset อีก คงต้องกลับไปรื้อมาดูใหม่ :)
cineflections (@cineflections)
@fb2043713309239 ใช่เลยค่ะ ดูแล้วอดนึกถึงความรู้สึกตอนรักแรกไม่ได้จริงๆ Before Sunset นี่ก็รักแรกพบของคนบังเอิญเคมีตรงกันที่ดีงาม เป็นหนังพูดยาวที่ดูเพลินมาก <3
Puttipong Junior (@fb2043713309239)
ไปนั่ง ดูคลิปให้สัมภาษณ์ของนักแสดงนำและผู้กำกับ อาร์มีบอกว่าวิธีแสดงของเขากับทิมมี่ไม่มีการซ้อมเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความเข้าใจ ตีความของทั้งสองคนในการที่จะเล่นแต่ละบทแต่ละฉาก เหนือสิ่งอื่นใดค่อวิธีที่ ผกก ดึงเอาความสามารถของนักแสดงออกมาจนทำให้คนดูเชื่อว่า เขาทั้งสองคือคนนั้นจริงๆ
#less is more
tixxbi (@tiacht)
เป็นบทความที่ยาวมากกกกตั้งแต่อ่าแต่ไม่เบื่อเลย รักเรื่องนี้มากตอนได้อ่านหนังสือแล้วพอได้มาดูหนังก็ไม่ผิดหวังทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันจบเศร้าแค่ไหนแต่ก็ยังร้องไห้ในโรงอยู่ดี เป็นคนอธิบายความรู้สึกไม่เก่งนอกจากชอบไม่ชอบก็ไม่รู้จะใช้คำไหนมาอธิบายได้อีกตอนที่ดูหนังจบเลยชอบกลับมาอ่านรีวิวเหมือนได้ดูหนังซ้ำเป็น10รอบทบทวนภาพในหัววนๆไปยิ่งอ่านยิ่งรักยิ่งอ่านยิ่งประทับใจขอบคุณสำหรับความรู้สึกดีๆที่คุณถ่ายทอดผ่านบทความนี้นะคะ
cineflections (@cineflections)
@tiacht ดีใจที่อ่านเพลินน้า <3 ยินดีเสมอค่ะ // รู้สึกแบบเดียวกันตอนดูหนังเลย ขอบคุณที่อ่านและรักหนังเรื่องนี้นะคะ :)
Nannaphat Sudchawa (@fieldnaphat)
เราชอบบทความของคุณมากๆเลยค่ะ
อ่านเพลินไม่มีเบื่อเลย
สนุกมากๆ ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆแบบนี้ออกมานะคะ
cineflections (@cineflections)
@fieldnaphat ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ดีใจที่ชอบและสนุกไปกับบทความนะคะ <33