เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
เส้นด้าย สายใย สองเรา: สางเส้นด้ายคลายปมรัก ใน Phantom Thread

  • "Love is to me that you are the knife which I turn within myself."

    -- Franz Kafka, Letters to Milena (1920 - 1923)


    "ความรักสำหรับฉันคือการเปรียบเธอดังมีด เล่มที่ฉันคว้านภายในตัวเอง"

    -- ฟรานซ์ คาฟคา, จดหมายถึงมิเลน่า (1920 - 1923)




    รักคือเรื่องระหว่างเรา.


    มองย้อนเวลาที่ผ่านพ้น พินิจสังเกตความรู้สึกระหว่างบรรทัดของข้อความที่ส่งไปมาหากัน สายตาที่เธอมองฉันครั้งแรก

    ให้กลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษร ผูกเรื่อง จัดฉาก จุดไฟอ่อนๆให้ลนหัวใจเล่นเมื่อคิดถึงเรานั้น ฉันทำได้ 

    แต่ลองให้เล่าย้อนฉบับย่อถึง 'ความเป็นไป'  หยิบชื่อเธอ และฉันขึ้นมาเหมือนจับสลาก ทิ้งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแน่นอนและชัดเจนไว้ให้ 'ความน่าจะเป็น' ตัดสินใจ 

    ให้คนนอกตีความ 'เรา' และ 'ความเป็นไป' จากมุมมองของเขาและเศษเสี้ยวข้อมูลตามที่เข้าใจ


    ฉันทำไม่ลงหรอก


    เนื้อผ้า แบบชุด ดีไซน์ ที่ดูเรียบง่ายหากสวยสง่า ซ่อนเส้นด้ายพัวพันซับซ้อนเช่นไร 

    'ความเป็นไป' ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนก็ละเอียดอ่อน ลึกล้ำเกินจะเผยโลกมุมนั้นให้คนอื่นเข้าถึงโดยง่ายเช่นนั้น


    Phantom Thread (2017)  คือหนังรักสไตล์พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ความโรแมนติกย้อนยุคที่แง้มม่านความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและนางผู้เป็นแรงบันดาลใจของเขา หนังที่ถักทอทั้งเรื่องศิลปินกับศิลปะ, ความเชื่อ, 'ชีวิต' ของคนเป็นกับคนตาย และความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก ไว้ภายใต้แฟชั่นไฮเอนด์สุดหรูของผู้ดีอังกฤษ

    เพราะ 'ความรัก' -- โดยเฉพาะเมื่อผ่านสายตาของศิลปิน-- ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว กับคนเดียว หรือสิ่งเดียวในชีวิต


    'ความรัก' ระหว่างคนสองคน จึงเปรียบคล้ายด้ายเส้นเดียว ลูกไม้มุมหนึ่งในชิ้นผ้า หนึ่งในดีไซน์หลากเวอร์ชั่น หนึ่งในขั้นตอนระหว่างออกแบบถึงถ่ายแบบชุดราตรี

    คือรายละเอียดส่วนเล็กส่วนเดียว ปักอยู่ใจกลางลวดลายและความพลิ้วไหวของผ้า เป็นส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวและเป็นไปของสิ่งและคนรอบตัว ส่วนประกอบรายล้อมความสัมพันธ์ที่เราต่างยากจะคาดผลกระทบและอิทธิพลของมันได้


    แดเนียล เดย์ ลูอิส (Daniel Day-Lewis) นักแสดง Method Actor ผู้ลือชื่อในการเตรียมตัวเพื่อสวมบทแต่ละบทอย่างพิถีพิถัน และถึงกับลงทุนเรียนตัดเย็บผ้า ดีไซน์ชุด และสร้างชุดแบรนด์ดังอย่าง Balenciaga (บาเล็นสิเอก้า) ขึ้นเองกับมือ ก่อนจะสวมบทดีไซน์เนอร์ เรย์โนลด์ส วู้ดค๊อก (Reynolds Woodcock) กล่าวว่า  "เดรส Balenciaga นั่นง่ายมาก หรืออย่างน้อยมันก็ดูง่ายจนผมต้องพยายามคิดหาทางสร้างมันขึ้นมา และคิดได้ว่า พระเจ้า นี่มันซับซ้อนเหลือเชื่อ"

    "ไม่มีสิ่งใดสวยงามในศิลปะทุกแขนงมากกว่าอะไรที่ดูผิวเผินว่าเรียบง่าย และหากคุณลองพยายามทำสักสิ่ง -่าเหวในชีวิต คุณก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้เพียงใดที่จะสร้าง 'ความเรียบง่ายอย่างง่ายดาย' (effortless simplicity) ให้สำเร็จ"

    วิกกี้ เครปส์ (อัลม่า) ขณะลองชุด ถ่ายโดยช่างภาพลอร่า ไฮน์ Laura Hynd

    ความเรียบง่ายอย่างง่ายดาย 

    ฉันเพิ่งเข้าใจความหมายเช่นนี้ของความรัก ของ 'ความเป็นเรา'  ผ่านมุมมองคนอื่น 

    เขาเห็นเราแต่ภายนอก เห็นชุดสวย รอยยับ มุมที่ฉีกขาด ความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ การสาดคำใส่กันของฉันและเธอ

    แต่ใครจะเห็น 'เรา' แบบเรา 

    ใครจะล่วงรู้ถึงรายละเอียด เวลา ความใส่ใจ ความทุ่มเท และเหตุผลของหัวใจต่อการออกแบบความสัมพันธ์ให้เป็นรูปแบบเช่นที่เป็นอยู่ของเรา...เท่าเราเอง

    (หรืออย่างน้อย ก็เท่าที่ฉันเคยรู้ และเข้าใจ ฉันไม่กล้ากล่าวอ้างถึงเรื่องฝั่งเธอ หรือพูดแทนเธอได้
    เรื่องนี้ ตอนนี้ ฉันยังรู้ดี)

    สุนัขจิ้งจอกใน เจ้าชายน้อย สอนฉันถึง “สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา หากต้องมองด้วยหัวใจ” 

    เพราะกับเนื้อในของความสัมพันธ์ เราไม่อาจคว้าแว่นขยาย หรือเครื่องมือใดมาตรวจสอบ แกะรอย พยายามสางด้ายแก้ไข ‘ปม’ หรือเรื่องเล็กน้อยมหาศาลให้เรียบราบ เล็ดรอดปลอดภัยจาก ‘คลื่นลูกเล็ก’ อุปสรรคในเรื่องระหว่างเรา



    ซ้ำร้าย หากได้ลองรักศิลปินเข้าแล้ว เส้นด้ายทั้งหลายอาจเกี่ยวพันรัดรอบขอบหัวใจโดยไม่รู้ตัว



    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังทั้งหมด 

    (SPOILER ALERT!) 



    phan·tom  / ˈfan-təm /

    เช่นเดียวกับ 'ผี' หรือ 'วิญญาณ'  พลังเร้นลับที่ยากจะเข้าถึงและเข้าใจ ที่ 'เป็นอยู่' โลกคู่ขนานกับคนเป็น คำว่า Phantom ในชื่อหนังไม่มีรูปแบบชัดเจนตายตัว ยืดหยุ่นและสลายกลายเป็นหลากความหมาย แต่ละอย่างที่เกี่ยวพันกันในทุกเส้นด้ายของหนัง

    เป็น 'วิญญาณ' ที่แทรกซึม ล่องลอยอยู่ในโทน ในทุกอณูของหนัง เหมือน 'ความรู้สึก' ที่กรุ่นอยู่ในหนัง สัมผัสและเข้าถึงได้ด้วยความเชื่อ และหัวใจ แม้จะมองไม่เห็นด้วยตา

    ตามความหมายจากดิกชั่นนารี Merriam - Webster ที่เรามองว่าตรงกับหนังมากที่สุด:


    ในการสางเส้นด้ายสาย House of Woodcock เราจะมาแกะรอยตามความหมาย 'วิญญาณ' ในสี่แง่หลักๆ เกี่ยวกับหนังค่ะ โดยทั้งสามความหมายด้านบนมีส่วนเกี่ยวข้องกับแต่ละแง่ 


    An Air Of Quiet Death: เส้นด้ายสายวิญญาณ

    วลี Phantom Thread มีรากมาจากสมัยวิคตอเรีย (Victorian Era) เป็นอาการของหญิงช่างเย็บผ้าในย่านลอนดอนตะวันออก ที่ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยจากงานเย็บผ้าทั้งวัน ก็ยังคงทำมือทำไม้ เย็บผ้าต่อด้วยเส้นด้ายที่ไม่มีอยู่จริง


    แต่ Phantom ในที่นี้ ย่อมมีความหมายมากกว่าเส้นด้ายที่หายไป

    Phantom ในบทความส่วนนี้ จะกล่าวถึง 'วิญญาณ' พลังในอีกโลกหนึ่ง และความเชื่อที่เสมือนไสยศาสตร์ตามติดตัวศิลปินดีไซน์เนอร์อย่างเรย์โนลด์ส


    Phantom Thread เปิดเรื่องด้วยเสียงหลอนสูง คล้ายโน้ตตัวเดียวเดี่ยวๆ ที่กรีดร้อง สะท้อนก้องแทบบาดหัวใจ (อดคิดถึงเพลงประจำตัวมาร์ติน ใน The Killing of a Sacred Deer (2017) ไม่ได้เลย) 

    ตั้งใจฟังใกล้ๆ สิ ความเงียบระหว่างโน้ต ระหว่างเสียงนั้นทำใจกระสับกระส่าย ไม่วายตื่นกลัว ทั้งที่หนังยังไม่เริ่มมากแค่ไหน

    ยิ่งพอกลับไปค้นในอัลบั้มสกอร์ประกอบหนังโดยจอนนี่ กรีนวู้ด Jonny Greenwood ผู้ร่วมงานกับพอล โธมัส แอนเดอร์สัน (PTA) มาก่อนในงานเด่น เช่น There Will Be Blood (2007), The Master (2012) แล้วพบว่าเป็นเพลงแทรคไหน ก็ต้องร้อง โอ้ว!

    คู่หู PTA และจอนนี่ ใบ้แนวเรื่องให้เราแต่โลโก้ Focus Features ขึ้นปะหน้าหนังแล้ว

    ซ้าย: พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (PTA); ขวา: จอนนี่ กรีนวู้ด Jonny Greenwood

    เราแค่ยังไม่รู้เท่านั้นว่าความ 'ไม่สบายใจ' จากโน้ตหลอนๆ กรีดใจนี้มาจากไหน (รีบแกล้งหลอกคนดูเร็วไปมั้ยเฮีย!)

    แทรคเปิดของ Phantom Thread คือแทรคที่หก - Boletus Felleus, ซึ่งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเห็ด Tylopilus Felleus ที่พบได้ในสหราชอาณาจักรทางเหนือและไอร์แลนด์ในฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณสิงหาคมถึงพฤศจิกายน -- เดือนหลังเป็นช่วงที่หนังเริ่มเปิดรอบ preview ในแอลเอพอดี​ จะว่าเป็นฤดูหนังชิงรางวัลก็ได้อยู่) 


    คำว่า felleus มีรากจากคำว่า fel หมายถึง น้ำดี (bile) หรือรสขมของเห็ดชนิดนี้นั่นเอง

    และใบหน้าแรกที่หนังเผยให้เราเห็น ตัวละครแรกที่หนังแนะนำให้เรารู้จัก พร้อมๆ กับเสียงอื้ออึงที่ยังไม่วายล่องลอยอยู่ในแบคกราวน์ ... คืออัลม่า หญิงผู้ก้าวเข้ามาในโลกที่ความเชื่อ ความเป็น และความตาย เกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก ของเรย์โนลด์ส 


    ภายหลังนางตัดสินใจครั้งใหญ่ในการแทรกตัวเองเข้าไปควบคุมชีวิตของเรย์โนลด์สผ่านอาหาร... อย่างไข่เจียวเห็ด เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนจากหญิงสร้างแรงบันดาลใจ / muse ของศิลปิน ไปเป็นผู้กุมและถักทอเส้นด้ายความเป็นความตายของศิลปินอย่างชาญฉลาด


    หากก่อนที่อัลม่าจะเข้ามาในชีวิต เรย์โนลด์สนั้นรายล้อมตัวเองด้วยความเชื่อ เชื่อที่ว่าตัวเองต้องคำสาป ว่า 'ความรัก' เป็นสิ่งอาถรรพ์สำหรับเขา ... ซึ่งกลายเป็นความจริงเพราะอัลม่า


    ประโยคของซีริล ที่เตือนอัลม่าถึงความเชื่อของน้องชาย อาจเป็นการเกริ่นนัยๆ ว่า PTA รับเราเข้าในโลกแห่งวิญญาณ​และเส้นทางชีวิตที่ขีดกำหนดโดยโชคชะตา ถึง 'ความสัมพันธ์' ที่ไม่มีอยู่จริงของเรย์โนลด์สกับผู้หญิงมากหน้าหลายตาในชีวิตเขา 

    เรย์โนลด์สบูชาเชิดชูมารดาผู้ล่วงลับ คนที่เขายังได้กลิ่นและรู้สึกถึง 'ความเป็นอยู่ / presence' ภายในบ้าน แถมยังอุ่นใจเสียอีกที่รู้สึกได้ว่าคนตายกำลังเฝ้ามองคนเป็น โดยไม่รู้สึกว่าน่าขนลุกเลย ("It's comforting to feel that the dead are watching over the living. I don't find that spooky at all.")


    น่าแปลกที่เรย์โนลด์สกล่าวถึงแม่ของเขา หลังซีรีลเปิดบทสนทนาถึงเรื่อง 'จัดการ' โจฮันนา หญิงคนก่อนอัลม่า "น้องรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ จาก... อะไรที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่นอน ... เดี๋ยวนี้นึกถึงแม่บ่อย ได้กลิ่นเธอ รู้สึกแรงมากว่าแม่อยู่ใกล้เรา" ("I have an unsettled feeling. Based on... nothing I can put my finger on... Been having the strongest memories of Mama lately... smelling her scent. The strongest sense that she's near us.")


    แอบชอบการใช้วลี 'nothing I can put my finger on' ถึงสำนวนแปลจะเป็นอย่างด้านบน การแปลตรงตัวจะหมายถึง 'อะไรที่ไม่สามารถจับต้องได้'  อ้างถึงการสัมผัส 'วิญญาณ' หรือการรู้สึกถึง 'อะไรในโลกขนาน' ที่ไม่สามารถอธิบาย หรือแสดงเป็นรูปเป็นร่างในโลกของเราได้ ซิิกส์เซนส์ไปอีก เป็นการเขียนบทที่คมกริบมากๆ

    PTA ยังเสริมประโยคด้วยการเล่นคำ 'scent/sense'  สองคำที่เกือบจะพ้องเสียงกัน คำหนึ่งหมายถึงกลิ่นอาย อีกคำการสัมผัส เป็นสองคำที่เชื่อมต่อถึงกัน ตามแนวที่ 'การสูดดม' เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา และเราจะสัมผัสถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจมองไม่เห็นได้ (อันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อ) ด้วยกลิ่นอายของมัน อารมณ์ประมาณ​ ได้กลิ่นก่อนจะเห็นสิ่งนั้นยังไงยังงั้น 


    เรายังนึกถึง 'การจดจำ' อย่างเจาะจงของสมองผ่านประสาทใดประสาทหนึ่งด้วย เหมือนเวลาเพลงๆ หนึ่ง หรือคำๆ หนึ่งทำให้เรานึกถึง 'ความทรงจำ' ในโมเม้นท์หนึ่ง หรือคนๆหนึ่ง  สำหรับเราแล้ว 'กลิ่น' เป็นประสาทกระตุ้นความทรงจำที่แนบแน่น เข้าถึงส่วนลึกของหัวใจ มากกว่าวัตถุอื่นภายนอก


    จู่ๆ เรย์โนลด์สก็ยกแม่ขึ้นมาในบทสนทนา หญิงผู้มีอิทธิพลแรงกล้าในชีวิตเขา ผู้สอนและถ่ายทอดอาชีพ--ความรักหนึ่งเดียวที่มั่นคงและเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต--ให้กับเขา ขณะเขากำลังสนทนากับหญิงผู้เป็น 'เสาหลัก' หนึ่งเดียวในชีวิต คอยค้ำจุนให้ 'โลกส่วนตัวคู่ขนาน' ที่คล้าย 'โลกแห่งวิญญาณ / ghost world' จากอาชีพและความรักนั้นที่เรย์โนลด์สร้างไว้เพื่อเขาและเขาคนเดียว คงอยู่ได้ในโลกแห่งความจริง

    จากโปรแกรมที่แจกเมื่อชม Phantom Thread ใน 70mm ในอเมริกา

    โลก ที่หากหญิงหน้าใหม่ นั้นไม่สตรองพอ ก็ต้องยอมพ่าย ถอนตัวเอง ก้าวออกไปตามระเบียบ 


    สายตาของโจฮันนาที่มองเรย์โนลด์ส ในฉาก 'อาหารเช้า' ต้นเรื่องนั้นสะเทือนใจเป็นที่สุด พอย้อนกลับไปดูฉากนี้แล้วเราชื่นชมคามิลลา รูเทอร์ฟอร์ด Camilla Rutherford จริงๆ แม้จะปรากฎตัวในฉากเดียว ในบทสมทบเล็กๆ แต่การแสดงออกผ่านสายตา แทนคำในใจที่เจ็บเกินจะพูดออกมาได้หมด รวมอารมณ์ทั้งตัดพ้อ โกรธขึ้ง เศร้าสร้อย ผิดหวัง ยอมแพ้ และยินยอมน้อมรับในชะตาของตน 

    อารมณ์ของคนถูกทิ้ง โดนเท คนที่ (ยัง) 'ไม่สำคัญพอ' จะ 'มีตัวตน' ในโลกส่วนตัว ฟองสบู่แสนสันโดษ / exclusive ของศิลปินมากฝีมือคนนั้น

    สายตาของคนที่รู้ซึ้งและต้องยอมรับในวินาทีนั้นว่าโดนลดขั้นให้กลายเป็นเพียง 'สิ่งที่คงอยู่' ล่องลอยเฉยๆ ไร้ความสำคัญในชีวิตของคนรัก เป็น 'ผี' ที่เป็นที่สองแม้กระทั่งกับ 'ผี' อื่นในความเชื่อของเขา


    เธอคือหญิงสาวผู้ย่ำอยู่กับที่ในโลกของความรักที่ตายไปแล้วสำหรับเขา หลุมดำและโลกคู่ขนานที่ไม่ว่าเธอจะเปล่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากเขาอย่างไร คนที่รู้สึกถึง 'วิญญาณ' ของแม่ตัวเองก็กลับไร้เยื่อไยจะสนใจแลมอง

    "คุณหายไปไหนแล้ว เรย์โนลด์ส ไม่มีอะไรที่ฉันจะพูดให้คุณกลับมาสนใจฉันอีก... ใช่ไหม - Where have you gone, Reynolds? There is nothing I can say that can get your attention back at me... is there?"  น้ำเสียงของเธอทำใจเราโหวงไปหมด 

    เมื่อคุยกับศิลปิน นอกจากจะเกรงใจเพราะกลัวอีกฝ่ายรำคาญเรา (ซึ่งอาจเป็นอารมณ์ที่เรารู้สึกเมื่อดู Phantom Thread ครั้งแรก แล้วมองข้ามผ่านโจฮันนาเหมือนเรย์โนลด์สทำไป ... เพราะนี่หญิงคนไหนก็ไม่รู้ มาเรียกร้องอย่างน่าสงสารให้ศิลปินมากความสามารถเขาสนใจ มาเคาะเรียกซ้ำๆที่ขอบเขตกั้นขวางสมาธิของคนกำลังทำงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา) แล้วเราก็ยังรำคาญตัวเองได้อีก (หนึ่งอารมณ์ในสายตาของโจฮันนาที่เราดูออกทันทีคือความสงสาร ความสมเพชตัวเอง หดหู่กับตำแหน่งที่ตัวเองตกอยู่ โดยไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อไหร่)


    หลายครั้งศิลปินอาจหายตัวไปในโลกของเขา โดยไร้คำบอกกล่าว ไม่ระบุบอกคนรอบข้าง

    โลกของเขา คือที่ๆ เราไม่อาจตามไปได้ ด้วยเราไม่สำคัญพอที่จะ 'มีตัวตน' อยู่ ในที่ๆ ร้องเรียกไปให้สุดเสียง หรือจะพูดตัดพ้อต่อหน้าเช่นโจฮันนาเขาก็ไม่ได้ยิน ไม่พร้อมจะสนใจ

    ไม่กล้าจะเรียก ไม่อาจจะต้องถึงกับเรียกร้องความสนใจเขากลับมา

    เพราะงานของเขาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด



    หลังโจฮันนาย้ายออกไปแล้ว House of Woodcock กลับว่างเปล่า จนอัลม่า muse คนใหม่เข้ามาแทนที่ 

    National Public Radio (NPR) เปรียบการเย็บซ่อน 'ความลับ' ต่างๆ เช่น ชื่อของอัลม่า ในตะเข็บ / hem ของเดรสเหมือนการ 'เย็บด้ายล่องหน / phantom threading' แทนการหยอดหยด 'ชีวิต' ลงในวัตถุไร้ชีวิต (inanimate object) การทิ้งลายซ่อนข้อความเล็กๆ ไว้ในที่ๆ ไม่มีใครมองเห็นหรือรับรู้


    เพราะสำหรับเขา การแสดงความรักใคร่เสน่หา (affection) คือการจารึก[คำ]ไว้อย่างส่วนตัวและยากจะเข้าใจในดวงจิตของเขา ('a private, unreadable inscription on his soul')


    นอกจากความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ชุดแต่งงาน และตำนานความเชื่อในแวดวงแฟชั่นเกี่ยวกับ 'วิญญาณ​'VICE เรียกผู้หญิงสองคน ที่อยู่รอดปลอดภัยในโลกของเรย์โนลด์ส จนจบ Phantom Thread ว่าเป็นหญิงที่ 'จริง' แข็งแกร่งจนมีเลือดเนื้อ มีตัวตนใน 'โลกผี' โลกนั้น และน่าเกรงขามพอที่เราจะรักพวกเธอลง ('all too real and are just scary enough to love')


    เพราะพอ 'สิ่งแปลกปลอม' หรือ 'หมอกควันความตายอันเงียบเชียบ - an air of quiet death' เริ่มรั่วเข้ามาใน 'โลกผี' ของเรย์โนลด์ส เขาก็กลับโหดร้าย จุกจิก และคาดหวังในตัวซีริล ให้ปัดเป่า 'ความรู้สึกแย่ๆ'  ไปจากโลกส่วนตัวที่เป๊ะตามความควบคุมของเขาทุกอย่าง

    สถานที่ๆ จิตใจของเขาสงบเพราะไม่มีสิ่งอื่นใดมาหลอกหลอนในโลกของเขาและเขาคนเดียว


    แต่น่าคิดที่น้ำหอมของอัลม่า ในฉากแรกที่ซีริลพบเธอ มีส่วนผสมเด่นที่ซิรีลเอ่ยถึงเป็นอย่างแรกคือ ไม้จันทน์ (Sandalwood) "ไม้ดีมีค่าหายาก"  ที่เกี่ยวพันกับ 'ความตาย' และเป็นชื่อของแทรคสกอร์หนังถึงสองเพลง (03. Sandalwood I, 14. Sandalwood II) 


    นอกจากจะใช้ผสมในน้ำหอม เรามักติดตาจดจำไม้จันทร์สีเหลืองสวยงามในพิธีศพ แทนฟืนเผาร่างไร้วิญญาณ ซึ่งการที่อัลม่าเลือกใช้น้ำหอมที่มีไม้จันทร์เป็นกลิ่นแรกนำหน้า เรามองว่าสะท้อนถึงตัวตนและบทบาทที่เธอกำลังจะมีในชีวิตของเรย์โนลด์ส จากความหอมหวานที่ดึงดูดเธอและเรย์โนลด์สเข้าหากันแต่แรก สู่ 'หน้าที่' ในตำแหน่งที่เธอสร้างให้กับตัวเองในความสัมพันธ์กับเรย์โนลด์ส หน้าที่ของหญิง 'แกร่งและมีค่าหายาก' ผู้หยุดยั้ง 'การทำงาน' ของเรย์โนลด์สจนถึงขั้นปางตาย คาอยู่ระหว่างเส้นบางๆ คั่นโลกของคนเป็นและวิญญาณ และเยียวยาชุบชีวิตเขากลับมาจากความตายนั้น เพื่อเป็นเชื้อเพลิงคง 'ชีวิต' ให้เยื่อใยระหว่างคนสองคนไม่ตายสลายจากไป


    ทีนี้ลองทายกันเล่นๆ ว่าชื่อ 'อัลม่า' นั้นหมายถึงอะไร


    Alma (สแปนิช, อเมริกัน) หมายถึง วิญญาณ / spirit (โอย ขนลุก!) ตามความหมายทางอิตาเลียนคือ ดวงจิต / soul; ความหมายเคลติก, ไอริช คือ ดีหมดจด / good; all good; ละติน, สวีดิช = ใจดี, รักใคร่ / kind, loving

    ใครจะเข้าถึง 'โลกแห่งวิญญาณ' ของศิลปินใหญ่ได้ ถ้าไม่ใช่ 'จิตวิญญาณ' ที่รักเขา และดีหมดจด พร้อมที่จะยอมทำทุกสิ่ง


    วิกกี้ เครปส์ Vicky Krieps นักแสดงหญิงผู้รับบท อัลม่า กล่าวถึงเมื่อตัวละครของเธอได้สวมเดรสโดยเรย์โนล์ดสว่าเธอเป็น "หญิงสาวไร้ตัวตน ผู้มีตัวตนต่อหน้าทุกคน - girl is no one, yet exists in front of everyone." 

    อำนาจ และ 'มนต์ดำ' จากศิลปะของเรย์โนลด์ส น่าสะพรึงตรงที่ว่า เขาสามารถ 'ชุบชีวิต' มอบ 'ตัวตน' ให้กับหญิงสาวนิรนามคนหนึ่งที่เขารัก ที่ยังมีค่าด้านแรงบันดาลใจ ทางความคิดและร่างกายต่อเขา และเขาก็สามารถ 'สาปส่ง' (โดยไร้คำพูด และมักจะผ่านซีริล นาง 'ผู้คุมประตู' โลกวิญญาณของเขา) ให้หญิงสาวที่ไร้ประโยชน์จนเขาหมดความสนใจในตัวนาง ให้ 'ตายทั้งเป็น' หรือตายจากชีวิตและโลกของเขาไปได้เช่นกัน

    แต่ไม่ใช่นางเอกของเรา! ไม่ใช่อัลม่า คนที่เรย์โนลด์สเองยังออกปากเรียกนางเป็น 'เงายาวทอดทับบ้านหลังนี้ - a very long shadow on this house'  เพราะความกล้ายืนหยัด เป็น 'จิตวิญญาณ' ที่ไม่ยอมถูกไล่จากบ้าน ชีวิตของเรย์โนลด์ส หรือโลกวิญญาณของเขาไปง่ายๆ 


    ให้ได้รับมอบชีวิตใหม่ เริ่มมีตัวตน เลือดเนื้อ และมีหน้ามีตา ในแวดวงแฟชั่นชั้นสูง และที่สำคัญที่สุด ในชีวิตของคนที่เธอรัก ผู้หญิงอย่างอัลม่าแข็งแกร่งพอที่จะเย้ยหยัน ต่อต้าน และพลิกเกม ใช้ 'ความตาย' เป็นแต้มต่อเหนือคนทรงอำนาจที่ใช้ศิลปะและโลกแห่งศิลปินเป็นเครื่องมือชี้เป็นชี้ตาย 'หญิงอื่น' ในชีวิตเขา

    "หลายอย่างในหนังรู้สึกเหมือนวิญญาณ" วิกกี้กล่าว "เหมือนมีผีบอกเขาว่า 'ฟังนะ เธอจะวางยาคุณ' แต่บางสิ่งในหนังคุณก็อธิบายไม่ได้ และคุณไม่ควรจะอธิบาย

    มันควรจะเป็นเช่นนี้"


    [Dressed By The] House of Woodcock: บ้านเลขที่ 3 ณ จตุรัสฟิตซ์รอย 

    'บ้าน' หรือตัวตึกที่ตั้งของ House of Woodcock ฐานและที่อยู่ของเรย์โนลด์ส กับซีรีล ก็มีบทบาทเป็นอีกหนึ่งตัวละครสร้างบรรยากาศน่าขนลุกใน Phantom Thread 


    ทางหนังสือพิมพ์ Telegraph ของอังกฤษได้ไปตามรอยบ้านหลังนี้มาค่ะ

    บ้านเลขที่ 3 ณ จตุรัสฟิตซ์รอย ตั้งอยู่ในหนึ่งในจตุรัสยุคจอร์จเจียน (Georgian, 1714 - 1830 - 37; ตั้งชื่อตามกษัตริย์จอร์จที่ 1 - 4) สถาปัตยกรรมในยุคนั้นมีจุดเด่นเป็นจตุรัสใหญ่ มีสไตล์ รอบล้อมด้วยทาว์นเฮ้าส์สวยงาม ความสมมาตรและการเน้นระเบียบข้อจำกัด (symmetry and restraint) เป็นจุดเด่น ถึงเส้นแบบที่ภูมิฐาน โอฬาร ดีไซน์คลาสสิกต่างๆได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน การกะวัดสัดส่วนอย่างใส่ใจมาแทนที่ความฟุ่มเฟือยสไตล์บาโร็ค (Baroque) 

    สไตล์จอร์เจียนยังได้รับอิทธิพลจากสถาปัตย์ชาวอิตาเลียน แอนเดรีย พาลาดิโอ้ ซึ่งเป็นคนแรกที่วางแผนออกแบบสร้างบ้านอย่างเป็นระบบ 

    เพียงตัวบ้านภายนอก ก็สะท้อนความเป็น perfectionist ผู้พยายามควบคุมและพอใจแต่สิ่งที่สมบูรณ์แบบสไตล์เรย์โนลด์ส

    ตึกนี้ตั้งอยู่ในจตุรัสเดียวที่รวมบ้านของผู้กำกับดัง กาย ริชชี่ Guy Ritchie และเคยเป็นจตุรัสที่พักอาศัยของนักเขียนและกวีดีแลน โธมัส Dylan Thomas และจอร์จ ออร์เวล George Orwell



    ตัวตึกยิ่งใหญ่ราวปราสาทด้วยห้องรับแขกแปดห้อง และห้องน้ำกับห้องนอนอย่างละเจ็ดห้อง ผู้อยู่อาศัยคนก่อนจับจองแค่ชั้นบนสุด และทิ้งเพดานสูงถึงห้าเมตร กับห้องรับแขกใหญ่โตให้ว่างเปล่า คุณเองก็สามารถจับจอง House of Woodcock หลังนี้ได้ในราคาเบาๆ ที่ 15 ล้านปอนด์ (อัตราแลกเปลี่ยนขณะเขียน: ประมาณ 666 ล้านบาท!)


    แดเนียล เดย์ ลูอิสนิยามตึกนี้ว่า 'น่าสยดสยอง - awful'  และ 'เหมือนฝันร้าย - a nightmare' โดยเปรียบทั้งหลังเป็น 'รังปลวก - a termite nest'

    ส่วนวิกกี้ เครปส์ ชาวลักซ์เซมเบิร์ก ผู้เคยชินกับการถ่ายทำในสถานที่จริง ในหนังยุโรปอินดี้ ทุนต่ำ รู้สึกคุ้นเคยเหมือนอยู่บ้าน "ฉันรู้จักมันดีมาก นี่คือจุดที่ฉันโชคดี ฉันว่ามันคงแปลกกว่านี้ถ้าฉันเข้าไปทำหนังสตูดิโออเมริกัน" 


    ตึกสร้างปัญหาในการถ่ายทำด้วยพื้นที่จำกัดสำหรับทีมงานและอุปกรณ์ในแต่ละฉาก การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ขึ้นบันไดวนที่เราเห็นกันในฉากเปิดตัวบ้านนั่นเหนื่อยเอาพอตัว ช่างเย็บผ้าทำงานอยู่ชั้นบนสุด ส่วนคนทำงาน special effects ต้องย้ายของเข้าออกจากแต่ละห้อง และเตรียมอุปกรณ์กันใหม่ทุกครั้งก่อนเริ่มถ่าย

    ฉากแฟชั่นโชว์ และฉากที่ลูกค้าของเรย์โนลด์ลองเดรสต่างๆ อัดคนกว่า 75 คนในห้องรับแขกสองห้อง และคนดูแลตึก อิวาน ทาเชพ Ivan Tachev คนที่เจ้าของตึกระบุในสัญญาอนุญาตถ่ายหนังว่าต้องอยู่ในทุกฉากที่ถ่ายทำในตึก ต้องมาเปิดประตูให้ทีมงานแต่ตีสี่


    "วันหนี่งวิกกี้ไม่ค่อยสบาย" ทาเชพเล่าให้นักข่าว Telegraph ฟัง "และผมบอกเธอว่า 'ทำไมไม่เข้าไปในนี้ละ' และเธอก็ว่า 'ไม่ ไม่ นี่ห้องของเรย์โนลด์ส นี่เตียงของเรย์โนลด์ส' และผมว่า 'ไม่เป็นไรหรอก!' แต่เธอก็ไม่ยอม"

    เชื่อแล้วว่าการแสดงสไตล์ method ที่คงความเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำของแดเนียล เดย์ ลูอิส นั้นขลังแค่ไหน สังเกตได้ในบทสัมภาษณ์ที่วิกกี้มักเอ่ยถึง 'เรย์โนลด์ส' แทนแดเนียล เหมือนเธอเป็นอัลม่าจริงๆ 


    ไม่มีใครเคยเห็น หรือพบแดเนียล เดย์ ลูอิส ระหว่างถ่ายทำ เพราะเขาไม่เคยอยู่ตรงนั้น เรย์โนลด์สต่างหากที่อาศัยในบ้านเลขที่ 3 ณ จตุรัสฟิตซ์รอย และไม่มีใครกล้ายุ่งกับเขา แม้เมื่ออกมานั่งเล่นข้างนอกบ้าน in character บางครั้งพร้อมซีริล


    สังเกตว่าฉากเปิดตัวเรย์โนลด์ส และบ้าน House of Woodcock ใช้สกอร์แทรคเดียวกัน แทรค 13. House of Woodcock เหมือนจะใบ้ว่า เรย์โนลด์ส และบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และดีไซน์เนอร์คนนี้ก็ตั้งรกราก ทั้งความเชื่อ การเป็นอยู่ ความตาย อยู่กับบ้านหลังนี้ 


    เรย์โนลด์สอ้างอิงถึง 'ความตาย' เมื่อกล่าวถึง 'แขกที่(เริ่มจะ)ไม่ได้รับเชิญอย่างอัลม่า และเชื่อม 'ความเปลี่ยนแปลง' กับ 'ความตาย' เมื่อขออัลม่าแต่งงาน - "บ้านที่ไม่เปลี่ยนแปลงย่อมเป็นหลังที่ตายไปแล้ว - A house that doesn't change is a dead house." สื่อเนืองๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงของเขา ที่ยอมแต่งงานผูกมัดกับหญิงคนหนึ่ง เทียบเท่าการเปลี่ยนแปลงของบ้าน ถ้าจะโยงกลับถึงความเป็น 'จิตวิญญาณ' ของอัลม่า ตรงนี้ก็เปรียบเหมือนเธอเข้ามา 'ให้ชีวิต' สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบ้านที่ตายไปแล้ว

    (อาจตีความประโยคนี้เพิ่มได้ในแง่ที่ว่า สไตล์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นเฮ้าส์ ย่อมหมายถึงแบรนด์ที่ตายไปแล้ว เพราะ House ในสายอาชีพดีไซน์เนอร์ ไม่ได้หมายถึงบ้านที่พักอาศัยอย่างเดียว แต่หมายถึงแบรนด์ - house of fashion เอกลักษณ์ความเป็นดีไซนเนอร์ของวู้ดค็อก)



    The Interruption Is Staying Right Here With Me: เส้นด้ายสายศิลปิน

    มาร์การีต ดูรา Marguerite Duras (1914 - 1996) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์ดราม่า Hiroshima mon amour (1959) เขียนประโยคที่แทนความรู้สึกเราต่อตัวละครหัวใจศิลปิน เรย์โนลด์ส ไว้ว่า:


    "การเฝ้ามองความเป็นอยู่ของคุณช่างน่าพิศวง เธอว่า และน่ากลัวเสียจริง 

    It is fascinating to watch you exist, said she. And terrible.

    C'est fascinant de vous voir vivre, dit-elle. Et terrible."

    -- Destroy, She Said (Détruire dit-elle), 1969


    น่าพิศวงหลงใหลเหลือเกิน ที่จะเฝ้ามอง 'ความเป็นอยู่' ของศิลปินคนหนึ่ง สุดจะดึงดูดใจที่ได้อยู่ใกล้ คอยดูเขาคิดผลิตผลงาน จุดประกายไอเดียต่างๆ เมื่ออยู่ในโลกของเขาและเป็นตัวเขาได้เต็มที่ ดังสายตาชื่นชมและหวานซึ้งที่อัลม่าเฝ้าดูเรย์โนลด์สในร้านอาหาร หลังเด็กสาวสองคนเข้ามาบอกเขาว่าหนึ่งในนั้นปรารถนาจะถูกฝังโดยสวมเดรสของ House of Woodcock ระดับความเชิดชูบูชาและอยากจับจองเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปินคนหนึ่ง แม้ในยามที่ร่างไร้ลมหายใจไปแล้ว แทนการแสดง 'ความรัก' เหนือ 'ความตาย' 


    เป็นการชื่นชมที่คนใกล้ตัวของศิลปินได้แต่ดูอยู่เงียบๆ เพราะคนนอกเหล่านั้นไม่อาจล่วงรู้ 'ความน่ากลัว' ส่วนหลังของประโยคนั้น


     'ความน่ากลัว' ที่ว่า ตามติดมาเมื่อความหวานแรกเริ่มเลือนหาย และเวลาเผย 'ความเป็นศิลปิน' ของเรย์โนลด์สที่ล้ำเส้นเข้ามาในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอัลม่า

    NYBooks เปรียบอัลม่าดังหญิงที่ 'เดินซัดเซ' เข้ามาในชีวิตของเรย์โนลด์ส และตัดสินใจสายฟ้าแลบว่าเธอจะตั้งหลักอยู่ที่นั่น เราชอบคำเปรียบเปรยของแอนโธนี่ เลน Anthony Lane นักวิจารณ์หนังไอดอลของเราจาก The New Yorker ที่วาดภาพโลกศิลปินส่วนตัวของเรย์โนลด์สเป็น 'ห้องส่วนตัว หรือเขตวางกับระเบิดสไตล์สุภาพบุรุษในชีวิตของเขา - sanctum, or the gentlemanly minefield of his life'


    อย่าหาว่าเปรียบเทียบกันเกินจริง หรือกล่าวหาศิลปินเลย

    เพราะการพยายามอยู่ร่วม / co-exist กับคนที่มีความเป็นศิลปินสูง ในความรู้สึกและความเห็นของเรา บางครั้งก็น่าหวาดระแวง น่ากลัวที่จะต้องระมัดระวังตัวและหัวใจในการเดินอยู่ในขุมกับระเบิด ที่ไม่รู้ว่าจะไปสะกิดโดนลูกไหน เมื่อไหร่ เพราะจงใจ หรือโดยอุบัติเหตุ 

    เพียงแต่ขุมระเบิดของเรย์โนลด์สมีความ 'แรง' จิกกัดและผลักไส กระทบใจให้เจ็บช้ำสไตล์สุภาพบุรุษเท่านั้นเอง

    เมื่อได้รับบททดสอบหน้ากล้อง ก่อนจะเป็นอัลม่า วิกกี้ เครปส์ไม่ทราบว่าเป็นโปรเจคหนังเกี่ยวกับอะไร หรือว่าผู้กำกับคือพอล โธมัส แอนเดอร์สัน แต่สิ่งที่เธอสัมผัสได้จากบทของอัลม่าไม่กี่บรรทัดคือความสัมพันธ์ที่ไม่ราบเรียบระหว่างเรย์โนลด์สและผู้หญิงคนนี้

    "เขาส่งบทคัดย่อมาให้ฉัน... ไม่ได้บอกว่านี่เป็นหนังประเภทไหน แต่ฉันรู้สึกเข้าถึงบท และวิธีการพูดของอัลม่าอย่างลึกซึ้ง ผู้หญิงกำลังพูดกับผู้ชาย....  คุณดูออกว่าเธอมีความเชิดชูยกย่องในตัวเขา แต่ในขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย มันบ่งบอกในบทว่า 'เขาจะโยนฉันลงหน้าผาทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้หรือเปล่านะ?'"


    "เธอเป็นผู้หญิงที่หลงรักผู้ชาย คนที่เธอไม่สามารถจับจุดยืนได้ และเธอไม่สามารถหยุดเขาให้อยู่กับเธอ ไม่สามารถเป็นเจ้าของเขาได้ - It was a woman in love with a man who she cannot place, and she cannot hold him, she cannot own him."


    ดังที่วิคเตอร์ ฮิวโก้ ผู้ประพันธ์ Les Miserables  เขียนไว้ว่า "นักเขียนคือโลกใบหนึ่งขังตัวอยู่ในคนๆหนึ่ง - A writer is a world trapped in a person."  จักรวาลของ Phantom Thread ก็รวมอยู่ในตัวละครหนึ่งเดียวอย่างเรย์โนลด์ส 

    เมื่อพูดถึงตัวละครที่ทั้งจมอยู่ในโลกส่วนตัวเสริมกำแพงกั้นตัวเองจากโลกภายนอก และมีโลกทั้งใบที่เข้าใจอยู่คนเดียวซ่อนอยู่ในตัวเอง เรานึกถึงสตีเว่น แพทริค มอริซซีย์​ Steven Patrick Morrissey ตัวละครเวอร์ชั่นหนัง / fictional ใน England Is Mine (2017) หนุ่มน้อยก่อนจะเป็นมอริซซีย์แห่ง The Smiths 


    หากอิงเฉพาะตัวละครในหนัง (และย้ำว่าไม่กล่าวถึงมอริซซีย์ตัวจริงในวัยนั้น) สตีเว่นเป็นหนุ่มที่มีความเป็นศิลปินสูง พูดน้อย คิดมาก แสดงออกทีเป็นคำพูดราวบทกวีที่น้อยคน เว้นแต่คนที่จูนกับเขาติด จะเข้าใจ เขาเลือกเปิดรับคัดคนที่ 'ผ่านเกณฑ์' ในความคิดของตัวเอง เข้าใกล้ชีวิตส่วนตัว และสบายใจที่จะเผยความเป็นเขา (be himself) กับเพียงคนเหล่านั้น 

    เราเข้าใจและเคยหลงรักใน 'ความเป็นสตีเว่น' จนรู้สึกถึงความ 'เหนื่อยล้า' และ 'เอือมระอา' ของคนรอบข้างศิลปินเข้าเอง 


    การวนเวียนอยู่ในโลกส่วนตัวมีข้อดีในการสร้างสรรค์ไอเดียบรรเจิดไม่เหมือนใครให้ออกมาสมบูรณ์แบบดีเลิศสมใจ ในการบ่มเพาะความคิดและเป็นตัวของตัวเองในโลกที่ออสการ์ ไวด์ Oscar Wilde เรียกร้องให้ยึดมั่นและภูมิใจกับความเป็นเอกลักษณ์ของตัวไว้ แต่ขออย่าลืมคำกล่าวเก่าแก่ว่าไม่มีใครเป็นเกาะเดี่ยวอยู่ได้เดียวดาย ('No man is an island.')

    สตีเว่นกลับรำคาญ เมื่อหลายคนรอบข้างซักถามถึงสุขภาพกายและจิตของเขา "ทำไมทุกคนต้องเป็นห่วงเรื่องความสุขของผมด้วย - Why is everyone concerned with my happiness?" เขาบ่นดังๆ 


    ก็เพราะเขา 'เป็นห่วง' นั้นแหละ ถึงคุณจะติสต์แตก จะกั้นตัวเองจากคนอื่น สร้างกำแพงไว้สูงเท่าใด โปรดรู้ไว้ด้วยว่าคุณโชคดีแค่ไหนแล้วที่มีคนเป็นห่วง

    เพราะพวกเขารักคุณ อยาก 'เชื่อมโยงเกาะ' เข้ากับ 'เกาะของคุณ' เขาถึงสละเวลา แวะเข้ามาซักถาม อยากรู้อยากเห็น ว่าตอนนี้คุณเป็นอย่างไร สบายดีมั้ย เราไม่ได้ต้องการหรือคาดหวัง ถึง 'รายงาน' ความเป็นไปของคุณจากคุณเลย

    แองจี้ เพื่อนสนิทของสตีเว่น กล้าที่จะบอกเขาว่า "ก็นายไม่ไปคุยกับเขาเอง โลกไม่เดินมาหานายเองหรอกนะ! You're the one who wouldn't talk to him! The world isn't just gonna come to you!" ประโยคนี้เป็นความจริงเหลือเกินที่ศิลปินผู้ประสบความสำเร็จรู้สึกว่ามีสิทธิ์จะทะนงตน เพราะอย่างเรย์โนลด์ส โลกทั้งใบยอมน้อมมาหาโลกของเขาจริงๆ


    "และพ่อผมก็เหมือนเรย์โนลด์ส วู้ดค็อกมาก" แดเนียล เดย์ ลูอิสให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร W "หากนักกวีไม่หลงตัวเอง แล้วเขาจะเป็นอะไรได้อีก" (พ่อของแดเนียลคือกวี ซีซิล เดย์ ลูอิส Cecil Day-Lewis)


    แดเนียล เดย์ ลูอิส เตรียมตัวสร้างโลกของเรย์โนลด์สด้วยความเป็นศิลปินสูงของตัวเอง 

    ระหว่างสวมบทเป็นเรย์โนลด์ส เขาแต่งตัว เลือกชุดเองทุกเช้า จากตู้เสื้อผ้าที่มาร์ก บริดเจส Mark Bridges และฝ่ายคอสตูมนั้นเตรียมไว้ให้ แดเนียลสั่งถุงเท้าชมพูเข้ม fuschia จากร้าน แกมมาเรลลิ Gammarelli ในโรม ร้านเดียวกันที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับองค์พระสันตะปาปา (The Pope) มาหกชั่วคน 


    เขาสั่งตัดชุดสูทของเรย์โนลด์สจากร้านแอนเดอร์สัน แอนด์ เชปพาร์ด (Anderson & Sheppard) แห่งย่านหรูในลอนดอน แหล่งช็อปปิ้งสูทแต่งงานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส กับคามิลล่า ปาร์กเกอร์ โบวส์​ ที่นับนักแสดงเก่าอย่าง ดั๊กลาส แฟร์แบงก์ส จูเนียร์ Douglas Fairbanks Jr. และมาร์ลีน ดีทริช Marlene Dietrich, นักดนตรีแจ็ซเช่น ดุ๊ก เอลลิงตั้น Duke Ellington และนักธุรกิจ เจ. พอล เก็ตตี้ J. Paul Getty เป็นลูกค้า ล่าสุดดีไซน์เนอร์และผู้กำกับดังชาวอเมริกัน ทอม ฟอร์ด Tom Ford ก็มาตัดสูทที่ร้านนี้ด้วย


    สำหรับชุดแปลกประหลาดในฉาก 'อาหารเย็นสุดเซอร์ไพรซ์กับอัลม่า' แดเนียลเลือกสวมเสื้อกั๊กอย่างเป็นทางการ formal vest กับแจ็กเก็ตทวีตสไตล์สปอร์ต sporty tweet jacket ทับบนชุดนอนสีม่วงไลแล็ค liac เพื่อสื่อความรู้สึก 'ไม่พอใจ' กับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่มารบกวนโลกที่เดินตามการควบคุมของเขา เรย์โนลด์สต้องการบอกอัลม่าว่าเขาแค่มาทานอาหารอย่างครึ่งๆ กลางๆ ('only half there')

    แดเนียลยังมีบทบาทในการดีไซน์สภาพแวดล้อมรอบตัวของเรย์โนลด์ส ตั้งแต่การตบแต่งบ้าน กระดาษสเก็ตช์ที่เขาใช้ สิ่งของบนโต๊ะข้างเตียง / nightstand และแม้กระทั่งสุนัขของเรย์โนลด์ส


    "ผมอยากได้เลอร์เชอร์ส (สุนัขพันธ์ sighthound ผสมกับอีกพันธุ์หนึ่ง) lurchers" แดเนียลกล่าว "ผมคิดมากทุกรายละเอียด ผมคงน่ารำคาญน่าดู" 


    ในทางกลับกัน กรณีเดียวกับสตีเว่น สิ่งที่เรย์โนลด์สรำคาญจริงๆคือ การทึกทักรวบรัดความสนิทสนมใกล้ชิด (assumption of intimacy) การคุกคาม 'กำแพง' แห่งโลกส่วนตัวของเขาจากการดูแลของคนรัก เขาเคยชินกับการรับผิดชอบแต่ตัวเอง สร้างกำแพงเฉพาะไว้ที่จำเป็นต่อศิลปะของเขา และรอยร้าวเพียงเล็กน้อย อย่างคำตัดพ้อของโจฮันนา เสียงรินชา หรือทาขนมปังของอัลม่า อาจทำให้ทุกสิ่งที่สร้างมาทลายลง 


    เรย์โนลด์สอึดอัดกับสิ่งที่ 'นอกเหนือ' จากความเคยชินในโลกส่วนตัวของเขา และพูดขณะถ่ายแบบว่า "Enough. Have I finished yet? Alright, that's it. I need to be [do] some work-- hell! - พอแล้ว ผมถ่ายเสร็จหรือยัง โอเค พอละ ผมต้องไปทำงานแล้ว ให้ตาย!"

    เรารักฉากสั้นๆ ที่อัลม่านำชามาให้เรย์โนลด์สโดยไม่บอกเขาก่อน การเปิดประตูเข้าไปในโลกส่วนตัวของศิลปินที่กำลังง่วนทำงานอยู่โดยไม่ขออนุญาตเหมือนการล้ำเส้น และ อย่างที่เรย์โนลด์สกล่าว "ชากำลังออกไป แต่ที่คุณขัดจังหวะผมยังอยู่กับผมตรงนี้ - The tea is leaving, but the interruption is staying right here with me." ประโยคที่แดเนียล หรือเรย์โนลด์สแต่งขึ้นเอง 


    ขึ้นชื่อว่า 'ศิลปิน' การถูกขัดจัดหวะ เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนเสียโอกาสแล้วก็เสียเลย จนอารมณ์ขุ่นมัวแก้ไม่หาย ศิลปินมักอ่อนไหวกับเรื่องเช่นนี้ ชนิดที่คนรอบข้างไม่เข้าใจและสามารถคิดไปต่างๆนานาว่า ขนาดนั้นเชียวหรอ



    แต่ในฐานะคนที่เข้าใจทั้งอัลม่า และเรย์โนลด์ส เรารู้สึกผิดแทนอัลม่า รู้สึกเหมือนทำอะไรร้ายแรงลงไปโดยไม่ตั้งใจ ทั้งที่ต้องการจะแสดงความรักความห่วงใย ดูแลคนที่อยู่ตัวคนเดียว ในโลกของเขามาจนเคยชิน 

    ยิ่งศิลปินก่นว่า 'การขัดจังหวะที่ไม่คาดฝัน' เช่นเราเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกขัดแย้งในตัวเองระหว่าง 'ความต้องการจะดูแล' และ 'การให้ที่ว่าง เว้นระยะห่างให้คนที่อยากอยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเอง' มากเท่านั้น


    นักวิจารณ์โนอาห์ กิตเทล Noah Gittell แห่ง Salon.com ชี้ถึงความ 'หนักแน่นและแข็งกร้าว' ในความเป็นชายตั้งแต่ 'ชื่อ' ของเรย์โนลด์สเอง ("วู้ดค็อก - Woodcock" คือชื่อที่แดเนียลเสนอให้กับ PTA ซึ่งทำให้ผู้กำกับหัวเราะจนร้องไห้) 

    กิตเทลเขียนว่า ชีวิตของเรย์โนลด์สนั้นเป็นตัวแทนของสังคมที่อนุญาตให้ฝ่ายชายให้ความสำคัญกับงานเหนือทุกสิ่ง และมองข้ามความเปราะบางทางอารมณ์ (emotional vulnerability) ของตัวเอง รวมทั้งความต้องการของคนรอบข้าง 


    การรวมทั้งความอัจฉริยะของเรย์โนลด์ส และพฤติกรรมเหยียดหยาม abusive behaviour ในหนังเรื่องเดียวสะท้อนถึงสองสิ่งที่เราต้องยอมรับ หากต้องการศิลปะคุณภาพ great art

    เพราะถ้าเช้าของเขาพังไป ซีรีลบอกอัลม่า วันทั้งวันของเขาก็พังไปด้วย


    แอบสงสัยไหมว่าขนมปังประเภทไหนสร้างเสียงน่ารำคาญมากที่สุด 

    ซาวน์ดีไซน์เนอร์และมิกซ์เซอร์อัดเสียงซ้ำของหนัง คริสโตเฟอร์ สคาโบสิโอ้ Christopher Scarabosio บอก Vulture ว่า ทีมงานลองทาเนยลงขนมปังหลากแบบมาก เบเกิ้ล ไรย์​ ซาวโด - bagels, rye, sourdough และขนมปังที่ชนะเลิศคือ 

    ขนมปังที่ดี

    "ขนมปังขาวเปล่าๆปิ้ง - plain white toast," เขาบอก "เมื่อคุณปิ้งมันให้สีน้ำตาลเข้มสวยๆ และซาวโดอีกหน่อย ที่มีขอบหนาๆ"

    *ถามว่าบทความส่วนนี้เกี่ยวกับ 'วิญญาณ / phantom อย่างไร เรามองว่าตัวศิลปินเป็นคน 'เข้าถึงยากและมีวิสัยทัศน์ลึกล้ำ' ดัง 'ผี' ในโลกวิญญาณของตัวเอง เป็นสิ่งที่ 'เป็นอยู่เพียงภายนอก' - หากศิลปินหายไปจากโลกแห่งความจริงที่เขาอยู่ครึ่งๆกลางๆ บางครั้งก็ไม่มีใครรู้ เขาเป็นตัวแทนบางสิ่งในรูปนามธรรม / abstract


    In His Work I Become Perfect: งามงดหมดจดสไตล์วู้ดค็อก

    มาร์ก บริดเจส ฝ่ายคอสตูม กล่าวว่า การดีไซน์ชุดใน Phantom Thread คือ 'การเล่าเรื่องผ่านเสื้อผ้า - story-telling with clothes' เขาและทีมงานต้องตรวจสอบชุดต่างๆอยู่เสมอว่าจะตรงต่อรสนิยมของเรย์โนลด์หรือไม่

    มาร์ก บริดเจส 

    มาร์กสรุปเอกลักษณ์สไตล์ของ House of Woodcock ว่า: "สีเข้มหรูหรา ลูกไม้มากมาย ลวดลายจับมาจัดวางบนผ้า  - deep rich colours, a lot of lace, juxtaposing textures."


    เขาทำงานค้นคว้าที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต (Victoria and Albert, V&A) ในลอนดอน และพบว่าลอนดอนในยุค 1950s บูชาสูทวูล / woolen suits เขาดูหนังอย่าง พฤษภาคมในเมย์แฟร์ (Maytime in Mayfair, ย่านเมย์แฟร์เป็นหนึ่งย่านหรูในลอนดอน) หนังมิวสิคัลคอเมดี้ปี 1949 เกี่ยวกับสาวๆ แฟชั่นชั้นสูงในเมย์แฟร์ และไปชอปปิ้งเสื้อผ้ากับแดเนียล เดย์ ลูอิส

    เรามาตามเรื่องราวภายหลังเดรสเด่นสี่ชุด ใน Phantom Thread  กัน

    1. เดรสแดงเมื่ออัลม่าไปเดทกับเรย์โนลด์สครั้งแรก


    "เป็นเดรสเก่าที่ผมเจอจริงๆ (vintage dress) ในสองสี และอัลม่ามีน้องสาว และมีเรื่องราวเบื้องหลัง แบบ พวกเธอมีเดรสคนละตัว ตัดเย็บกันเอง เราเคยมีฉากระหว่างอัลม่ากับน้องสาว และให้อัลม่าเดินลงบันไดมา และครอบครัวเห็นเธอกำลังออกไปกับเรย์โนลด์ส และพี่ชายเธอออกความเห็นประมาณว่า "มันเด่นไปนะ" และอัลม่าตอบว่า "มันควรจะเด่น" 

    แต่ถึงไม่มีบทสนทนานั้น คุณก็สังเกตเห็นว่าเดรสดูแปลกๆ โฮมเมด และไม่ซับซ้อนอะไร แต่เป็นตัวเลือกที่เด็ดเดี่ยวมากสำหรับเดทแรกกับผู้ชายคนนี้ 

    ผมจึงคิดว่ามันบ่งบอกถึงการแสดงตัวอย่างยิ่งใหญ่ในสถานการณ์นี้"

    2. เดรสลาเวนเดอร์จากผ้าเก่าแก่เมื่อทั้งสองเริ่มคบกัน

    แดเนียล เดย์ ลูอิส เลือกสีลาเวนเดอร์ - ชมพูสำหรับเดรสนี้เอง in character ระหว่างเป็นเรย์โนลด์ส เขาจึงรู้สึกเชื่อมโยงกับเดรสนี้ในฐานะเรย์โนลด์ส เดรสนี้ยังมีสีเดียวกันกับเดรส Balenciaga ที่แดเนียลสร้างขึ้นเอง จากต้นแบบในคลังเก็บชุดที่ปารีส เพราะยืมเดรสมาไม่ได้ เขาจึงขอให้ภรรยา รีเบ็คก้ามาเป็นนางแบบ


    "ผมลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนทำได้" แดเนียลกล่าว "รีเบ็คก้าเคยสวมชุดแล้ว มันสวยมาก" เขาพูดอย่างภูมิใจ


    ทีมงานจัดตารางถ่ายให้เรย์โนลด์สสามารถโชว์ชิ้นผ้าที่ตัดมาจากลูกไม้เฟลมิช / Flemish (เกี่ยวข้องกับดัชต์) จากศตวรรษที่ 17 ยาว 3 เมตร กว้าง 18 นิ้ว ที่เรย์โนลด์สเก็บรักษามาจากสงคราม โดยทีมงานได้แรงบันดาลใจในการดีไซน์เดรสจากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต ที่ๆพวกเขาพบเดรส Balenciaga ที่มีลายปักสวยงามมาก ทำด้วยมือ และเลื่อมทั้งหมดอยู่ใต้รอยเย็บให้ประกายแวววาว


    "เราประชุมกันบ่อยมากเรื่องเดรสชุดนี้ ว่ามันจะดูแรงไปมั้ย หรือเราจะตัดลูกไม้ยังไงดี มีอาทิตย์นึงที่เราคุยกันเรื่องเดรสนี้ตลอด มันเป็นการร่วมมือทั้งทีมจริงๆ" วิิกกี้ เครปส์กล่าว

    3. เดรสสีแดงที่อัลม่าสวมในแฟชั่นโชว์

    "เป็นอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่าอัลม่าเข้าถึงเรย์โนลด์สอย่างลึกซึ้ง และมีผลกระทบต่อเขามาก ขนาดที่เขาดึงอะไรจากโลกแห่งความจริง และสร้างชุดแฟชั่นสำหรับเธอ" มาร์กอธิบาย "นั่นคือไอเดียของพอล 'เรานำอะไรที่เธอเคยใส่ต้นเรื่องมาเปลี่ยนเป็นแฟชั่นชั้นสูงได้ไหม'" 


    วิกกี้พอใจในคอนเซ็ปท์ และต้องการให้การแสดงของเธอเข้ากับมัน "นั่นคือเหตุผลที่ฉันเดินแบบนั้นในแฟชั่นโชว์ เธอ[อัลม่า]เดินเอียงๆ เหมือนเด็กน้อย เพราะเธอรู้ลึกๆ ว่ามันคือชุดเด็กเสริฟ์สาวที่เราเห็นเธอสวมครั้งแรก"


    4. เดรสแดงที่อัลม่าตัดเย็บเองและสวมในฉากทะเลาะกับเรย์โนลด์ส



    "ไม่ใช่ดีไซน์ที่ดีนัก" มาร์กกล่าว "คนทำคิดมาบ้างก่อนจะดีไซน์มัน และมันตรงจุดประสงค์ของอัลม่าในฉากนั้น แต่มีบางสิ่งไม่แน่ชัดที่ทำให้มันดูโฮมเมดและเก้กัง"


    He Likes A Little Belly: ทำไมต้อง Balenciaga

    หลายสำนักข่าววิเคราะห์ว่า PTA สร้างตัวละครเรย์โนลด์สขึ้นจากดีไซน์เนอร์ในตำนานมากกว่าหนึ่งคน รวมชาร์ลส เจมส์ ดีไซน์เนอร์เกย์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน ผู้เป็นที่นับถือของทั้งดิออร์ และบาเล็นสิเอก้า เขามีร้านในย่านเมย์แฟร์ของลอนดอน เป็นคนอังกฤษที่แปลกไม่เหมือนใครและเป็นอัจฉริยะที่อารมณ์แปรปรวน แต่จากการค้นคว้าเรื่องราวของบาเล็นสิเอก้า เราพบว่าดีไซน์เนอร์ดังมีลักษณะคล้ายเรย์โนลด์หลายข้อทีเดียว

    ก่อนจะสงสัยว่าทำไม ลองแง้มดูรูปบาเล็นสิเอก้าระหว่างทำงาน ...

    ซ้าย: เรย์โนลด์ส วู้ดค็อก; ขวา: บาเล็นสิเอก้าขณะทำงาน, 1968, ปารีส

    .... ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเหมือนใคร


    คริสโตบาล บาเล็นสิเอก้า (Cristobal Balenciaga) เกิดเมื่อปี 1895 ในหมู่บ้านตกปลา เกทาเรีย Getaria ในพื้นที่บาสก์ Basque ของสเปนตอนเหนือ แม่ของเขา ผู้เป็นช่างเย็บผ้า แนะนำเขาให้รู้จักกับโลกแฟชั่น เหมือนแม่ที่รักของเรย์โนลด์ส เขาเริ่มฝึกงานในร้านตัดเสื้อที่ซาน เซบาสเตียน รีสอร์ทนำแฟชั่นใกล้บ้าน และสร้างแฟชั่น เฮ้าส์แห่งแรกขึ้นที่นั้นในปี 1917 ตั้งชื่อว่าไอซ่า Eisa เป็นชื่อฉบับสั้นของนามสกุลก่อนแต่งงานของแม่

    บาเล็นสิเอก้า (1927)
    บาเล็นสิเอก้าเปิดแฟชั่น เฮ้าส์ในบาเซโลน่าและแมดริดก่อนจะย้ายไปปารีสในปี 1937 และมีลูกจ้าง 232 คนในปี 1952 โดยHouse of Balenciaga ผลิตชุดปีละ 356 ชุด น้อยกว่าครึ่งของผลผลิตดิออร์ที่ 815 ชุด

    บาเล็นสิเอก้าเป็นแฟชั่นเฮ้าส์ที่ exclusive ที่สุดในปารีส ลูกค้าจะเข้าได้ก็ต่อเมื่อผ่านการคัดเลือกเท่านั้น เขามีชื่อเรื่องชอบแก้ไขแขนชุดของลูกค้าระหว่างลูกค้ากำลังสวมชุดอยู่  เขาเป็นดีไซน์เนอร์หนึ่งเดียวที่มีความสามารถจริงๆ ตั้งแต่การตัด เตรียม และจัดเสื้อผ้า ถึงการฟิตติ้งและเก็บรายละเอียด (cutting, assembling and draping... to fitting and finishing) เขาเริ่มกระบวนการโดยใช้ผืนผ้าเสมอ โคโค่ ชาเนลนิยามว่า "เขาเป็นดีไซน์เนอร์แฟชั่นชั้นสูง courturier ในเซนส์ที่สูงสุด คนอื่นน่ะเป็นแค่ดีไซน์เนอร์"

    เดรสราตรีสีกุหลายไวโอเล็ต, คอลเล็กชั่นหน้าหนาวปี 1952

    เบตติน่า บัลลาด Bettina Ballard บรรณาธิการแฟชั่นสาวจากนิตยสารโว้ก เป็นหนึ่งในรายแรกที่ได้เจอบาเล็นสิก้า เมื่อเขาย้ายมาปารีสใหม่ๆ เธอเขียนถึงเขาไว้ว่า "คนสเปนผู้อ่อนโยน เขามีผิวละเอียดสีซีด สีและเนื้อเดียวกับเปลือกไข่ และผมหยักศกสีเข้มที่ดกหนาและเป็นประกายเป็นชั้นๆบนศีรษะที่รูปทรงสวยของเขา เสียงเขาเหมือนขนนก"

    ลักษณะภายนอก และโดยเฉพาะเสียงของบาเล็นสิเอก้า จากคำอธิบายของเธอ ตรงกับเรย์โนลด์สทุกประการ


    แล้วยังประโยคที่ซีรีลพูดกับอัลม่าเมื่อเจอเธอครั้งแรก "เขาชอบผู้หญิงมีพุงนิดๆ - he likes a little belly" คล้ายกับประโยคที่หนึ่งในลูกจ้างช่วยลองชุดของบาเล็นสิเอก้าว่า "คุณบาเล็นสิเอก้าชอบให้ผู้หญิงมีพุงนิดๆ - Mr. Balenciaga likes a little stomach." 


    Credit: ไอจี @Suzy Menkes
    บาเล็นสิเอก้าระหว่างแฟชั่น โชว์

    บาเล็นสิเอก้าไม่เคยไปปรากฎตัวในแฟชั่น​โชว์ของตัวเอง เขามักดูโชว์จากรูเล็กๆ ในม่าน คล้ายๆ เรย์โนลด์แอบมองอัลม่า


    ในแฟชั่นโชว์ของเขา ไม่เคยมีการประกาศตัวเลขประจำแต่ละชุดหรือชื่อชุด นางแบบต่างถือป้ายตัวเลขที่ตรงกับชุด

    บน: Phantom Thread (2017), ล่าง: แฟชั่นโชว์ Balenciaga (1961)

    ลูกค้าของบาเล็นสิเอก้า ต่างพูดถึงความสบายและคล่องตัวในชุดของเขา ไม่เหมือนอะไรที่เคยรู้สึกมาก่อน เช่นเดียวกับที่อัลม่าเคยกล่าวไว้ว่า "ฉันไม่เคยชอบตัวเองมากนัก แต่ในงานของเขา ฉันรู้สึกสมบูรณ์แบบ - I never really like myself, but in his work I become perfect."


    This is a Stupid Game: เส้นด้ายสายสัมพันธ์

    เดวิด เอเดลสตีน David Edelstein จาก Vulture คิดว่าพอล โธมัส แอนเดอร์สันคงเชื่อมั่นในไอเดียที่ว่า ศิลปินอย่างเรย์โนลด์สต้องควบคุมทุกรายละเอียดในความเป็นอยู่ของเขาเพื่อสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างสรรค์งาน แต่ปัญหาเกิดเมื่อคุณเชื่อในรักแท้ด้วย

    เพราะคนอย่างเรย์โนลด์จะยอมสูญเสียการควบคุมแม้เล็กน้อยได้อย่างไร


    Film Comment ตั้งคำถามต่อว่า คนผู้หลงใหลหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ มักจะเป็นคนที่ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาตกหลุมรัก คนอย่างนั้นรักได้ไหม และ 'ความรัก' กับ 'การชื่นชมทางความงาม - aesthetic appreciation' ต่างกันอย่างไร คุณจะสามารถเป็น muse นางเพื่อแรงบันดาลใจและมีความต้องการของตัวเองได้ไหม


    พอล โธมัส แอนเดอร์สันชื่นชอบหนังโรมานซ์​ โกธิค / gothic romances (นิยายที่เฟื่องฟูในยุคศตวรรษที่ 18 ตอนปลายและที่ 19 ตอนปลาย เป็นเรื่องลึกลับ มักเกี่ยวกับปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ และเปี่ยมด้วยความสยองขวัญ และมักเกิดขึ้นในพื้นที่มืดมนของซากปรักหักพังยุคกลางและปราสาทผีสิง) เป็นทุนเดิม 

    เขาอ้างถึงหนังฮิตช์ค็อก Hitchcock อย่าง Rebecca (1940) และ Rear Window (1954) เป็นแรงบันดาลใจ โดยพูดถึงฉากตอนที่เจมส์ สจ๊วตมองเกรซ เคลลี่กระโดดตึกจากฝั่งตรงข้าม อารมณ์ประมาณว่า "นั่นละ ผู้หญิงของฉัน - That's my girl." เขาโปรดปรานการผสมผสานความโลดโผนและโรมานซ์ - ความโกธิคและความบ้าบอ


    คำตอบของ PTA ใน reddit q&a ทำให้เรานึกถึงฉากที่เรย์โนลด์คว้าอัลม่ามาจุมพิตหน้ากระจกของร้านขายของสักแห่ง หลังทั้งคู่ 'ขโมย' เดรสกลับมาจาก 'ผู้สวมใส่ที่ไม่คู่ควร' อารมณ์ลิงโลดและรักใคร่อัลม่าคงยังคุกกรุ่นในตัวดีไซน์เนอร์ เพราะวินาทีนั้นเหมือนเธอเข้าใจเขาและแฟชั่นเฮ้าส์ที่เปรียบเสมือนโลกของเขา ด้วยความเชื่ออันแรงกล้า  


    "ไม่ใช่ธุระอะไรของเราที่คุณนายจะทำตัวอย่างไร 

    แต่เธอทำตัวอย่างนี้โดยสวมชุดของเฮ้าส์ ออฟ วู้ดค็อกไม่ได้อีกแล้ว! 

    It is no business of ours how Mrs. Rose behaves, 

    but she can no longer act like this and be dressed by the House of Woodcock."


    อัลม่าคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง 'ศิลปะ' และ 'นางแห่งแรงบันดาลใจ muse' ของเรย์โนลด์ส เราคิดว่าสายตาที่เขามองอัลม่าสื่อความรู้สึก "นั่นละ ผู้หญิงของฉัน - That's my girl." ตามที่ PTA พูดถึง


    แต่ Phantom Thread และ Rebecca  หนังของฮิตช์ค็อก Hitchcock เกี่ยวกับเด็กสาวที่แต่งงานกับพ่อม่ายและพบว่าภรรยาเก่าของเขายังอาศัยอยู่ในคฤหาสน์นั้น มีบทสอนใจตรงกัน เป็นการเตือนผู้ที่กำลังตกหลุมรักกับผีและวิญญาณ​ ทั้งๆ ที่หญิงสาวผู้มีเลือดเนื้อ ลมหายใจ และตัวตนในโลกแห่งความจริง พร้อมเพรียงด้วยความรักความปรารถนายังอยู่ตรงหน้าคุณ


    ก่อนเริ่มถ่ายทำ วิกกี้ เครปส์ได้รับจดหมายและดอกไม้จาก 'เรย์โนลด์ส' (แดเนียล เดย์​ ลูอิส) และเธอรู้สึกว่ามัน 'ล้น' เหลือเกิน เธอจึงตัดสินใจเริ่มแสดงในบทอัลม่าอย่างเงียบๆ และทำตัวให้เล็ก กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องการอะไรมากและไม่มีอะไรมาก 

    "เธอแค่เป็นอย่างที่เธอเป็น และพยายามที่จะอยู่อย่างนั้น - She just is, and tries to just be." เธอให้สัมภาษณ์กับ Vulture


    อย่างที่เขียนไปในส่วนก่อนหน้า 'เรย์โนลด์ส' อยู่ประจำกองถ่ายตลอดเวลาแทนแดเนียล วิกกี้เล่าว่า ความเจ้าอารมณ์ หยาบคายของเรย์โนลด์สไม่ทำให้เธอรำคาญเลยระหว่างเทค แต่โชคดีที่ความเจ้าอารมณ์ หยาบคายไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องเผชิญตลอดระหว่างถ่ายทำ แต่เรย์โนลด์สนั้นมีความตึงเครียด เข้มข้นแบบล้นเหลือ / intensity อยู่ตลอดเวลา 

    "ฉันต้องเว้นที่ว่าง และให้ระยะห่างกับความตึงเครียดนี้ และมันโ-ตรยากเลย เหมือนเดินขึ้นเขาเท้าเปล่า ช่างเป็นงานหนักมากที่จะต้องเงียบมาก เก็บตัวมาก และนิ่งมาก และปล่อยให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น นั่นไม่ใช่อะไรที่ฉันต้องทนอยู่ แต่ต้องสนับสนุน ตลอดสามเดือน"


    เธอเสริมว่า "ฉันต้องยอมรับว่าเธอรักเขา เป็นข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นมันจะยากกว่านี้เยอะ ถ้าอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นกับฉัน - วิกกี้ - ฉันจะถามคำถามตัวเองมากมาย อย่าง 'เขาพูดแบบนั้นกับฉันได้ยังไง' อัลม่าใจกว้างพอที่จะผ่อนคลาย รอดู และพูดว่า 'คอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น' ซึ่งฉันเห็นว่าเยี่ยม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่เขาพูดถึงกันตอนนี้ [#TimesUp และ #MeToo การเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิทธิสตรี]"


    เธอรักเขา 

    ความรักคือการขีดเส้นใต้ คำอธิบายโดยไร้การอธิบาย 
    คือข้อยกเว้น ในความ 'เรียบง่ายอย่างง่ายดาย' ที่เรามีต่ออีกฝ่าย 

    ให้เขาคนเดียว ยอมให้เขาคนเดียวเท่านั้น 

    ความรักทำให้เราไม่เพียงแค่ทนอยู่ แต่ยอมรับและสนับสนุนเขา 

    ความรักทำให้เรากล้าและยอมที่จะเว้นที่ว่าง และให้ระยะห่าง เงียบ เก็บตัว และนิ่ง 
    อย่างที่เราอยากจะทำเพื่อเขาคนเดียว ทั้งที่อาจฝืนอะไรในตัวเรา

    เพราะรัก เราถึงกล้าที่จะเดินขึ้นเขาเท้าเปล่า เอาตัวไปเสี่ยง ขโมยออกซิเจนจากตัวเองไปดื้อๆ 

    เขาคืองานหนัก เขาทำให้เราต้องทำงานหนัก ที่จะรักเขา และปล่อยให้เขาเป็นอย่างที่เป็น

    แต่ลองทิ้งคำว่ารักในคำถามว่าทำไม ก็เหมือนไม่ต้องเข้าใจอะไรเพิ่มอีกแล้ว


    "ผมคิดว่า[หนังเรื่องนี้] พยายามแกะประเด็นว่า การคบกัน ความสัมพันธ์นั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไร ที่จะนั่งตรงคนขับ และที่คนนั่ง และเวลาคุณแลกเปลี่ยนบทบาทเหล่านี้อย่างนุ่มนวล" PTA กล่าว

    'เส้นด้าย / thread' ในที่นี้ยังหมายถึงสายชีวิตที่ผูกมัดคนๆหนึ่งกับ 'สติที่ดี / sanity'  สุดท้ายแล้ว อัลม่าก็ดึงเส้นด้ายนั้นจนสุด เพราะเธอไม่มีอะไรจะเสีย


    Little White Lies เรียก Phantom Thread ว่าเป็นหนังของ PTA ที่สุขุมและเห็นอกเห็นใจคนดูมากที่สุด หนังทำคุณหยุดตะลึงในชั่วขณะ และทำลายล้างคุณในระยะยาว (เราเป็นคนหนึ่งที่โดนอาการนี้จากหนังเต็มๆ)


    To The Hungry Boy: อาหารอุ่นกรุ่นไอวิญญาณ

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหนังที่แฟชั่นชั้นสูงจับจองโลกของเรย์โนลด์ส 'อาหาร' เข้ามามีบทบาทแทน 'อาวุธ' ในการแย่งชิงอำนาจและการควบคุม เป็นตัวกลางในความสัมพันธ์ระหว่างอัลม่าและเรย์โนลด์ส เพราะตัว 'อาหาร' นี่เองที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตาย และทำให้ 'ผี' ก้าวเข้ามาในโลกวิญญาณของเรย์โนลด์สได้


    หนังแนะนำให้เรารู้จักโจฮันนา และอัลม่าระหว่างอาหารมื้อเช้าของเรย์โนลด์ส 

    'อาหารเช้า' คือ 'ปืนไรเฟิลของเชคอฟ - Chekov's rifle / gun ' (หลักการการเล่าเรื่องตามบทละครของนักประพันธ์ชาวรัสเซีย อันตอน เชคอฟ ที่ว่า หากมีปืนในบทที่หนึ่ง ปืนจะต้องลั่นในบทที่สองหรือสาม เป็นการเตือนนักเขียนให้กำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นจากบทประพันธ์ และทุกจุดในพล๊อตต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน) 

    สรุปบทบาท 'อาหารสองมื้อ' คร่าวๆ 
    เรย์โนลด์สแกล้งสั่งอาหารมากมายและระบุความต้องการอย่างเจาะจงไม่ใช่เพื่อจีบอัลม่า แต่กำลังทดสอบเธอ ว่าเธอจะอยู่ในโลกที่หมุนรอบตัวเขา เพื่อเขา และเพราะเขาได้หรือไม่ ความกระวนกระวายที่แท้จริงแล้วหลอกหลอน 'แก่น' ความเป็นอยู่ของผู้ชายคนนี้ สะท้อนชัดเจนผ่านการเลือกทานอาหารอย่างจุกจิกของเขา


    หลังอัลม่าเสริฟ์อาหารให้เรย์โนลด์สเรียบร้อย โน้ตของเธอ 'To the hungry boy - แด่เด็กชายผู้หิวโหย' ที่ยื่นให้กับชายแก่กว่าเธอหลายสิบปี เป็นการ 'อ่อย' แบบทำให้อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัว และเป็นวลีของคนเป็นแม่ เป็นสัญญาแห่งการเลี้ยงดู 


    เรายิ้มนิดๆ กับเวลช์ แรร์บิท / Welsh Rarebit อาหารเช้าจานหลักของเรย์โนลด์ส เพราะในหนังสือนิยายโดยหนึ่งในนักเขียนที่ PTA รัก (ตอบใน reddit q&a) มีตัวละครออกปากว่าไม่ชอบแรร์บิท และตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใส่สารหนู / arsenic ลงในแรร์บิท 

    นิยายที่ว่าคือ We Have Always Lived In The Castle (1962) โดย Shirley Jackson เชอร์ลี่ แจ็คสัน เป็นนิยายสไตล์โกธิค เกี่ยวกับสองสาวพี่น้องแบล็ควู้ดที่อาศัยอยู่ตามลำพังกับลุงในคฤหาสน์นอกเมือง พวกเธอเป็นที่เกลียดชังของชาวเมือง เพราะสาเหตุลึกลับ จนกระทั่งลูกพี่ลูกน้อง ชาร์ลสมาถึงเพื่อทวงสมบัติตามสิทธิ์ของเขา

    เห็นอะไรคุ้นๆที่ริมปกขวามั้ยคะ

    นิยายเรื่องนี้มีกลิ่นอายของมนต์ดำ ความลึกลับ ทำให้คนอ่านรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจตลอดเวลา กับบรรยากาศที่ดูธรรมดาแต่ก็น่าขนลุก คล้าย Phantom Thread  'อาหาร' เป็นตัวเชื่อมพี่น้อง เล่นบทบาทใหญ่ในพล๊อต และความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็มีอารมณ์หวานเพ้อฝันผสมความร้ายกาจที่คนเขียนแทรกลงไปอย่างแนบเนียน

    ผู้บรรยายเรื่องอย่างน้องคนเล็ก แมรี่ แคทเธอรีน หรือเมอร์ริแคท แบล็กวู้ด (Mary Katherine Blackwood; Merricat) บอกกับคนอ่านแต่ประโยคแรกของเรื่องว่าเธอ 'ชอบเห็ดพิษ' ... แล้วเราก็หยิบหนังสือเล่มนี้ไปที่แคชเชียร์ทันที

    ข่าวดีคือนิยายถ่ายทำเป็นหนังเรียบร้อยแล้ว กำกับโดยสเตซี่ พาสซอน Stacey Passon คาดว่าจะฉายปี 2018 นี้

    ซ้าย: คอนสแตนซ์และเมอร์ริแคท แบล็ควู้ด ขวา: ชาร์ลส แบล็ควู้ด

    อเล็กซานดร้า ดาดดาริโอ้ Alexandra Daddario มารับบทเป็นคอนสแตนซ์ Constance พี่สาว, ทาอิซซ่า ฟาร์มิงก้า Taissa Farmiga เป็นเมอร์ริแคท, คริสปิน โกลเวอร์ Crispin Glover เป็นจูเลียน ลุงผู้ป่วยหนักของสาวๆ และเซบาสเตียน สแตน Sebastian Stan เป็นชาร์ลส ลูกพี่ลูกน้องที่มากระทบ 'โลก' ของสองพี่น้อง


    'ความอยาก' ของอาหารยังแทน 'ความอยาก / appetite' ในเซ็กส์ และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเรย์โนลด์สและอัลม่า


    ยังมีอาหารเย็นมื้อที่เรย์โนลด์สทานกับอัลม่าและซีรีล ที่อัลม่าถามเขาว่า "คุณอิ่มหรือยัง... เพราะฉันคอแห้งแล้ว -  You had enough to eat? 'Cause I'm thirsty." ก่อนเรย์โนลดส์จะรีบขับรถ พาเธอกลับบ้าน และลากเธอเข้าห้อง ช่างเหมาะสมมากที่ประโยคสุดท้ายของหนังและของเรย์โนลด์สคือ "และผมชักจะหิวแล้ว... and I'm getting hungry." (เป็นการบอกหิวที่น่าขนลุก แต่โรแมนติคในตัว .... โกธิคโรมานซ์สุดๆ!)

    เมื่อถามวิกกี้ว่าทำไมไม่มีฉากเซ็กส์ในหนัง เธอบอกกับ Marie Claire ว่า "เราคุยกันเรื่องนั้นนะ และ PTA ตอบว่าเขาต้องการทำหนังเกี่ยวกับยุค '50s และสิ่งหนึ่งที่คุณจำได้จากหนังพวกนี้คือคุณไม่เคยเห็นพวกเขาร่วมรักกัน เขาจูบกัน การทิ้งฉากปลายเปิดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรย์โนลด์สและอัลม่าแข็งแกร่งขึ้น เราเห็นเขาพาเธอเข้าไปในห้องเขา แต่เราไม่เคยพูดถึงมัน เราเว้นให้คนดูคิดเอง"


    "เรื่องความต้องการทางเพศ / sexuality ไม่ใช่อะไรที่คุณสร้างขึ้น มันเป็นเรื่องระหว่างคน และมันก็เกิดขึ้นเอง... มันเป็นวิธีที่ไว้ใจให้คนดูรู้สึกอะไรบางอย่าง"


    It's Not About Asparagus!: Anatomy of a Scene

    ถ้าจะตัดสินหนังเรื่องนี้ด้วยฉากๆเดียว แยกจากองค์ประกอบอื่น Phantom Thread ก็เข้าไปครองใจเราในฐานะหนังที่รักที่สุดในต้นปี 2018 จากฉากอาหารเย็นระหว่างเรย์โนลด์สกับอัลม่า (หรือที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า 'ฉากแอสปารากัส - the asparagus scene')


    ส่วนหนึ่งของฉาก "แอสปารากัส"

    เป็นฉากที่แสดงการยื้อยุดเหนือความ 'เข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องที่คิดว่าตรงกัน' ระหว่างศิลปินและคนที่รักเขาได้ออกรส ฉลาด และกรีดแทงใจมาก ทุกคำที่เถียงกัน ไม่ว่าจะฝ่ายเรย์โนลด์สหรืออัลม่า จะตรงใจและความคิดเราไปไหน

    กิลเลอร์โม่ เดล โตโร่ ทวีตว่าชื่อ Phantom Thread ทำให้เขาคิดถึง 'บทพูดเดี่ยว / monologue' เกี่ยวกับ 'เส้นด้าย' จากนิยายโกธิคโรมานซ์ Jane Eyre (1847) เจน แอร์​ ของ ชาล็อตต์​ บรอนเต้ Charlotte Brontë 


    บทนี้กล่าวถึงการรู้สึกความสัมพันธ์ลึกซึ้งแนบแน่นกับอีกฝ่าย เหมือนมีเส้นด้ายจากใต้ซี่โครงข้างซ้าย ผูกนางเอกไว้แน่นกับเส้นด้ายคล้ายกันในคนรัก และหากเขาจากไป ความเชื่อนั้นจะขาดสะบั้น เธอสังหรณ์ว่าเธอจะเลือดออกในทรวงอก และเขาจะลืมเธอ


    ในความคิดเรา ฉากแอสปารากัสเผยและทำให้ทั้งคนดูและตัวละครทั้งสองรู้สึกถึง 'เส้นด้ายล่องหน (อีกความหมายของ Phantom)' ที่เชื่อมสองร่างไว้ และความพยายามของอัลม่าเพื่อดึงคนรักไว้กับเธอ 


    "ฉันพยายามจะรักเขาแบบที่ฉันต้องการ - I'm trying to love him the way I want to." อัลม่าประกาศกับซีรีล 

    แต่เพราะศิลปินเช่นเรย์โนลด์ส ผู้เคยชินกับโลกที่ความต้องการของเขาเป็นใหญ่ที่สุด จะรักในแบบที่เขาต้องการรัก และไม่เคยนึกถึง 'การถูกรัก' จากหัวอกของอีกฝ่ายในความสัมพันธ์ เราหวั่นใจกับประโยคของอัลม่า ซึ่งบอกลาง / foreshadow ความล้มเหลวจากวาระสุดพิเศษที่เธอตั้งใจเตรียมด้วยรัก

    และจากการแบ่งบทการสนทนาในฉากเป็นสามส่วน ฉากนี้ดิ่งลงสู่จุดจบที่ทำเส้นด้ายระหว่างเขาและเธอแทบขาดสะบั้น


    Part I: เย็นชา vs. ความมั่นใจสั่นคลอน

    เรย์โนลด์สปรากฎตัวพร้อมคำถาม สายตาเขาบ่งบอกถึงอาการช็อกในความ 'หลงที่' ไม่รู้ที่จะไป หรือจุดยืนของตัวเองแน่ชัด ทั้งที่เป็น 'บ้าน' เป็น 'โลก' ของเขาเอง เขาถามเธอซ้ำๆ ว่า "นี่มันอะไรกัน - What is this?" ขณะอัลม่าบอกรักเขา และพยายามดึงเขากลับสู่ความจริง ที่ๆเธอพยายามเชื่อมโลกของเขากับเธอเข้าด้วยกัน (แม้เขาจะไม่ยอมก้าวอีกก้าวเข้าในโลกใหม่นี้ก็ตาม)


    อัลม่าอธิบายสถานการณ์ซ้ำ ถามว่าเขาหิวไหม (อาจเป็นการดึงความสนใจด้วย 'ความอยาก' ที่รู้กันสองคน) แต่เรย์โนลด์สยังคงถามหาซีรีล 'เสาหลัก' หรือเข็มทิศ ในยามที่เขารู้สึกไม่พร้อมพอจะต่อกรกับสิ่งภายนอก 'โลก' ของเขา เขาพยายามขอข้อเท็จจริง / facts อย่างเวลาที่ซีรีลออกจากบ้าน และเวลาที่เธอจะกลับมา ซึ่งอัลม่าไม่มีคำตอบแน่นอนให้ 

    สำหรับคนอย่างเรย์โนลด์ส การสูญเสียความควบคุมและความแน่นอนในถิ่นของเขาเอง ทำให้แทบเสียหลัก ("ให้ผมตั้งหลักสักพักนะ - Let me collect myself for a moment.") และย้ายความสนใจตัวเองไปเรื่องที่เขาคุ้นเคยและรู้สึกว่าปลอดภัยอย่างการมองเดรสของอัลม่า -- ซึ่งกลับเป็นเดรสฝีมือเธอเอง และคงไม่ถูกใจเขาเท่าไหร่นัก


    สัญญาณทุกอย่างของสิ่งที่ประกอบต่อหน้าเขาเป็นโลกที่เคยรู้จักปกบอกลางไม่ดีแต่เริ่มต้น

    คิดว่าอัลม่าคงเริ่มใจเสีย เธอพยายามชวนเรย์โนลด์สคุยเรื่องชุดแต่งงานเจ้าหญิง แต่เมื่อ 'เสีย' คนอย่างเรย์โนลด์สไปแล้ว ก็ยากที่เขาจะกลับคืนมาสู่โลกแห่งความจริง


    กำแพงสูงปิดกั้นเขาจากโลกภายนอกมีตัวตนอีกครั้ง เขาหายไปในที่ๆ เธอตามไปไม่ได้ เป็น 'ผี' ต่อเธอในบ้านของเขาและโลกที่เธอพยายามสร้าง

    เมื่อเธอพยายามถามเขามากขึ้น เขาก็กลับทับถมเธอด้วยความรู้และอำนาจที่เขารู้ว่าเขามีมากกว่า เป็นการโจมตี จิกกัดสไตล์ศิลปินคนฉลาด ยามรู้สึกคล้ายตัวเองต้องป้องกันตัว อย่างที่เรารู้จักดี


    Part II: ปกป้องตัวด้วยคำร้ายลึก vs. จนมุมและบาดเจ็บ

    เรย์โนลด์สโกหกว่าเขาชอบแอสปารากัสของเธอ ทั้งๆ ที่ประโคมเกลือเข้าไปเต็มๆ เป็นความไม่ซื่อสัตย์ครั้งแรกที่อัลม่าจับได้ คงเป็นผลต่อเนื่องมาจากอารมณ์ขุ่นมัวแต่แรก เพราะไม่มีแล้วที่เขาจะหายหงุดหงิดอย่างที่เธอหวัง


    ที่ทำให้เราใจสลายคือประโยค "นี่คืออะไรกัน - What is this?" ที่เรย์โนลด์สพูดเป็นครั้งที่สาม บ่งบอกความเจ็บปวดและความไม่พอใจที่ความเปราะบางของเขาโดนเปิดโปง (exposed vulnerability at being attacked)

    "ฉันไม่รู้ว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ - I don't know what I'm doing here." เธอพูดในที่สุด และอารมณ์ 'โจฮันนา' ที่กล่าวถึงในส่วน An Air of Quiet Death ก็ย้อนกลับมา เราเห็นไฟค่อยๆ มอดในสายตาเธอ เห็นการยอมรับระยะห่างที่เขายัดเยียดให้ตรงหน้าเธอ เห็นเส้นด้ายที่เกือบจะขาดพร้อมกับเธอ คล้ายเธอรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เป็น 'ผี' ในโลกของเขา โดยไม่มีแม้แต่เขาที่เธอไว้ใจให้เป็นผู้นำทาง


    เธอพูดประโยคเดิมซ้ำ ตัดพ้อว่าเธอได้แต่รอเขาไปวันๆ "I'm just... waiting around like an idiot for you." ก็เพราะศิลปินนั้น(มอง)เห็นแก่ตัวเอง ในโลกของตัวเอง ไม่รู้สึกถึงอีกด้านของความรัก ที่ควรเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายต้องรอคอยให้เขามาสนใจ

    รอ คนที่จะสนใจเธอเมื่อเขาต้องการจะสนใจ

    รอ และยอมรับในความเป็นไปที่ไม่เท่าเทียมอย่างคนโง่เพราะความรัก 

    เพราะเวลาที่เขาหันมาสนใจเธอ คือเวลาที่เธอได้อยู่กับเขา ในโลกเดียวกัน ที่ๆ ไม่มีใครเป็นผีของใคร


    สุนัขจิ้งจอกใน เจ้าชายน้อย สอนเจ้าชายถึง 'การทำให้เชื่อง / tame' ซึ่งเปรียบในโลกแห่งความจริงเหมือนการทำความรู้จัก การเริ่มต้นความสัมพันธ์ ที่ทำให้ต่างฝ่ายเป็นคนพิเศษของกันและกัน 


    เมื่อเจ้าชายทำให้สุนัขจิ้งจอกเชื่องแล้ว "เราย่อมต้องการกันและกัน สำหรับฉัน คุณจะไม่เหมือนใครอื่นในโลก และสำหรับคุณ ฉันจะไม่เหมือนใครอื่นในโลก - But if you tame me, then we shall need each other. To me, you will be unique in all the world. To you, I shall be unique in all the world... "

    สุนัขจิ้งจอกเตือนเจ้าชายว่าต้องมาหามันเป็นเวลา เพราะ "หากเธอมาเมื่อไหร่ก็ได้ ฉันจะไม่รู้เลยว่าหัวใจฉันพร้อมจะต้อนรับเธอชั่วโมงไหน - But if you come at just any time, I shall never know at what hour my heart is to be ready to greet you..."


    เมื่อปล่อยให้อีกฝ่ายรอ ให้เวลาผ่านไป ความรู้สึกของคนที่รอเมื่ออีกฝ่ายกลับมาสนใจ ก็กลับไม่เหมือนเดิม ถ้าปล่อยให้อีกฝ่ายตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว อย่างที่อัลม่าต้องยอมเรย์โนลด์ส หัวใจเธอจะผุกร่อนเพราะเขา


    อัลม่าเลิกคิ้วทันทีที่เขากล่าวหาว่าเธอซุ่มโจมตีเขา โดยมีจุดประสงค์ที่เขาไม่รู้ เป็นการตอบสนองไร้คำพูดเพราะเธอเจ็บเกินจะอธิบายตัวเองให้เขาฟัง

    หรือเขาหายตัวเข้าไปในโลกของเขาลึกจนเธอเป็นผีไปแล้วจริงๆ

    เขาตกใจยิ่งขึ้น (literally taken aback นี่หรือ หญิงที่ฉันรัก กล้าพูดอะไรแบบนี้เชียว!) พอเธอกล้าพูดตรงๆ ว่า "ฉันอยากได้เวลากับคุณ ฉันอยากได้คุณอยู่กับฉันคนเดียว"


    เพราะคนอย่างเรย์โนลด์สไม่เคยคิดถึงความต้องการของอีกฝ่าย ความคิดของอัลม่าที่อยากดึงตัวเขาออกจาก 'โลก' ที่เขารัก เพื่อแชร์ชีวิตร่วมกับเธอ เป็นความคิดที่บ้าบอสำหรับเขา อีกอย่าง เธอกล้าดีอย่างไรที่จะเห็นแก่ตัวขนาดต้องยึดเขาไว้กับเธอคนเดียว!

    ก็เขาอยู่กับเธอทั้งวันไม่ใช่หรือ เธอตามตัวเขาได้ตลอดเวลา เขาเข้าใจอย่างนั้น เขาไม่ได้ทำผิดอะไรอย่างที่เธอพยายามกล่าวหาเลย

    "ฉันไม่รู้ว่าเธอพูดบ้าอะไร! - I don't know what you're talking about!" ประโยคยืนยันความบริสุทธิ์ของเรย์โนลด์ส ในจุดที่เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องแก้ตัวอะไร (I don't have to explain myself to you under these circumstances!)


    เธอจึงตอบเขาว่า "มีสิ่งขวางกั้นระหว่างเรา - There's something between us." เพราะนั่นแหละ ช่วงเวลาที่เธออยู่กับเขา คือเวลาที่เขาอยู่กับศิลปะของเขาแทนเธอ 

    เราเป็นได้เพียงผีของกันและกัน

    ถึงจะเห็นตัวตนกันชัดๆ แต่หัวใจไม่ได้ใกล้ชิดกันสักนิด


    เขาจงใจเร่งการทะเลาะให้บานปลาย เมื่อเธอต่อว่าเขาไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เขาพยายามเป็น (เพราะเธอรู้จักตัวตนของเขาดี ในแง่ที่ผู้หญิงคนอื่นของเขาไม่รู้) เรย์โนลด์สก็พูดเพ้อเจ้อว่าจะมีใครมาบุกห้องและถามเขาถึงแอสปารากัส 

    เขาประกาศกร้าวว่าเขาหวงแหนเวลาของเขามากแค่ไหน เวลาที่เป็นของเขาและเขาคนเดียว เวลาที่เขาต้องการทำสิ่งที่เขาอยากทำและทำเพื่อเขาเท่านั้น ("There are other things I'd like to do with my time! It's my time! My time!")


    ใช่สิ เขาต้องการระยะห่าง ต้องการเวลาที่เธอต้องทนเว้นว่างให้เขา ทั้งที่ต้องการและคิดถึงเขามากแค่ไหน เธอต้องการแบ่ง ไม่ใช่ยึดครองเวลาของเขา ไม่ได้ขอให้เขาโยนทุกสิ่งทิ้งเพื่อเธอ หรือสำคัญว่าตัวเธอเหนือกว่า 'ความรัก' และการงานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตเขาอย่างเสื้อผ้า

    ในหัวเขา เวลาของเขาและเวลาของเราคือสิ่งเดียวกัน 

    และไม่มี 'จุดกลาง' ที่ตกลงกันได้
     
    เขาคิดไปเองทั้งนั้นว่า ในโลกนี้ จะมีแต่เวลาของเขา หรือการสูญเสียเวลา สูญเสียตัวตนของเขาไปหมดเมื่อต้องแบ่งเวลาให้กับเธอในเวลาที่เธอขอ เวลาที่เขาไม่ทันตั้งตัวเพื่อพร้อมจะแบ่งให้ 

    เธอควรจะรู้สิ ว่าพื้นที่ในโลกวิญญาณของเขามันเปราะบางแค่ไหน


    เธอสารภาพว่าเธอต้องรอเขา และคำว่า 'เขา' สำหรับเธอเหมือนสิ่งเดียวที่อธิบายได้หมดทุกอย่าง เพราะ 'เขา' รวมถึงทุกอย่างและความเป็นไปในโลกของเขา เพราะโลกของเขาคือเขา


    หากพอเธอต่อประโยคตามที่เขาต้องการ ว่าเธอรอให้เขาทิ้งเธอไป เขาก็เฉไฉเข้าหัวข้อแอสปารากัส โดยจงใจจะทำให้เธอดิ้นรนดึงเขากลับมาหนักขึ้น จริงๆ แล้วเขาต้องการจะคว้านมีดเล่มนั้น ที่แทงลงใจเธอให้ลึกเข้าไปอีก

    สิ่งที่เจ็บช้ำที่สุดสำหรับเราในการทะเลาะ คือเมื่ออีกฝ่ายบิดเบือนคำพูดเราและพูดจาบานปลาย ถึงสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าไม่เป็นจริง ยังไม่เกิดขึ้น และไม่น่าจะเกิดขึ้น ดังคำกล่าวหาของเรย์โนลด์ส

    Are you a special agent, sent here to ruin my evening, and possibly my entire life?

    แค่เธอต้องการเวลาเขาสักนิด เธอกลับทำผิดมหันต์ราวเป็นสายลับ ในคำๆเดียว เขากล่าวหาว่าเธอล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเขา เธอเป็น 'ตัวร้าย' ที่ทำให้ค่ำคืนของเขาป่นปี้

    ....และอาจทำให้ทั้งชีวิตของเขาเป็นเช่นเดียวกัน


    Part III: สำแดงอำนาจ vs. ไม่ไหวจะทน

    เขาประกาศศิตความเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อทำร้ายเธอได้ถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องเตือนสติเธอว่าใครเป็นใครในบ้าน

    เธอต้องยอมพูดคำที่เขาเตรียมกับดักไว้ให้เธอ ยอมพูดว่าเขาเป็นคนอุปการะเธอ ("Of course it's your house." / "You brought me here.") และยอมให้เขาลากประเด็น 'สายลับ' ไปไกลตามใจอยาก ให้เธอรู้ซึ้งว่าเธอ 'ทำลาย' โลก และตัวตนของเขาไปมากแค่ไหนด้วยอาหารเย็นมื้อนี้ ('ดินแดนต่างถิ่น, ในที่ศัตรู; foreign soil, behind enemy lines')

    ทำลาย ร้ายแรงขนาดเขาถากถางว่าเธอจะยิงเขา จะฆ่ากัน


    เพราะแน่นอน คนที่ทักคุณด้วยประโยคบอกรัก เตรียมอาหารเย็นเพื่อคุณ และพยายามขอเสี้ยวเวลาอยู่กับคุณนั้น ตั้งใจจะทำร้าย ล่วงเกินความเป็นตัวตนของคุณ ที่เขาเองก็นับถือมาก​ และ'ฆ่าคุณ' ได้ลงคอ


    การแลกเปลี่ยนประโยคสั้นระหว่างอัลม่าและเรย์โนลด์ส ที่เธอร้องขอให้เขาหยุดเล่น 'เกม' เหมือนการเดินหมากในความสัมพันธ์ ('เกม' ในที่นี้ยังโยงได้ถีงเกมที่อัลม่าและเรย์โนลด์สเล่นกันระหว่างงานเลี้ยงหลังแต่งงานด้วย)

    นักจิตวิทยาทางด้านความสัมพันธ์ รอนด้า ริชาร์ดส-สมิธ Rhonda Richards-Smith วิเคราะห์ความสัมพันธ์ใน Phantom Thread ให้กับ The Cut ว่าการเฝ้ามองทั้งสองเหมือนดูเกมหมากรุก เธอมองว่า เป็นปกติของการคบกันแรกๆ เมื่อเราเริ่มรู้จักอีกคน เราก็พยายามจะหา 'ขอบเขต' / boundaries ของเขา ว่าเราจะไปถึงได้แค่ไหน และเขาจะล้ำเส้นเข้ามาใน 'ขอบเขต' ของเราบ้างไหม


    อัลม่าระเบิดในที่สุดเมื่อเรย์โนลด์สยังยืนกรานไม่รู้ว่าเขาเล่นเกมอะไร วิกกี้ เครปส์กล่าวว่าบทพูดของเธอในส่วนนั้น คือตัวเธอเองพูดจริงๆ กับแดเนียลในคราบเรย์โนลด์ส เธอคิดว่า PTA รอเธอพูดอยู่ รอความคิดของเธอเกี่ยวกับ 'เรย์โนลด์ส' คอสตูม และผู้คน 


    รอนด้ากล่าวว่า คนอย่างเรย์โนลด์สมีวิถีชีวิตที่เขาเคยชิน ประมาณว่า "นี่คือชีวิตของฉัน นี่คือการกระทำแบบของฉัน ถ้าเธอไม่ชอบ เธอก็ออกไปได้"  เธอเปรียบโลกของเขาเหมือนจิ๊กซอว์ ที่เกือบเสร็จแล้ว และรอเพียงหนึ่งชิ้นที่จะมาต่อติดให้เสร็จ

    มันไม่ใช่การเป็น 'หุ้นส่วนในชีวิต' เมื่อมีฝ่ายยอมประนีประนอมอยู่ฝ่ายเดียว

    และสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นคือคนที่ต้องยอมอีกฝ่ายมาตลอดจะถึงจุดแตกหักและไม่ยอมในที่สุด


    อีกฝ่ายก็จะบอกว่า "ทำไมจู่ๆ เป็นปัญหาละ นี่คือชีวิตของฉัน เธอรู้ดีว่านี่คือชีวิตของฉัน นี่คือสิ่งที่ฉันคาดหวังจากคู่ครอง ทำไมจู่ๆ เธอถึงรับไม่ได้!" แน่นอนว่าคน Type A (overachievers) ปรารถนาคนที่จะให้ 'ความสมดุล' แก่เขา เขาอาจไม่ต้องการความสมดุลเสมอไป แต่ในที่สุด เขามักจะตระหนักได้ว่าความสมดุลนั้นจำเป็น เพราะโลกของเขาหมุนตามความเร็วที่เขากำหนดได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

    เสียดายที่ฉากนี้ในเทรลเลอร์ไม่มีในหนัง :'(

    ส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าไม่มีหรอกที่จะบอกว่า 'ไม่มีเวลาให้กัน' หรือ 'เธอต้องเว้นระยะห่างให้เรา' ถ้าสนใจกันจริง ถึงจะเป็นศิลปิน จะเป็น introvert ที่โลกส่วนตัวสูงแค่ไหน 

    พอมีคนที่สนใจ เราจะ 'สร้างเวลา' / make time ให้เขาเอง เวลาที่เข้ากับและไม่กระทบวิถีชีวิตที่เราเคยมี  เราสามารถบริหารเวลา เพราะต้องการจะอยู่กับเขา คุยกับเขา และถือเวลาที่เขาอยู่ในชีวิตเราเป็นเวลาที่ 'ให้ชีวิต' / enliven เติมกำลังใจให้กับเรา แทนที่จะ 'ยึด' เวลาส่วนตัวของเราไป เขาจะทำให้บางช่วงเวลามีความหมายเหมือนที่ไม่เคยมีตอนก่อนเขาจะเข้ามา เวลาที่เรา ในฐานะ introvert ไม่เคยจัดแบ่งให้ใครแต่เขาคนเดียว

    เหมือนเป็น phantom space สำหรับเขา


    VICE กล่าวว่าเรากำลังเฝ้ามองสองคนสร้างโลกลับที่ทุกคนสามารถมองเห็น แต่เข้าใจกันเพียงสองคน ความสัมพันธ์ที่มักรู้จักกันในนาม "การครองเรือน" (a relationship often but not exclusively known as a marriage)



    I Can Stand Endlessly: มนต์รักเห็ดพิษ

    พอล โธมัส แอนเดอร์สันได้ไอเดีย เบื้องหลัง Phantom Thread จากวันหนึ่งที่เขานอนป่วยอยู่ แล้วเห็นภรรยาเฝ้ามองเขาด้วยสายตารักใคร่แบบที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน

    "ผมอยากให้เธอไปเอาซุปมาให้ผมตอนนี้มากๆ และดูเธอเหมือนจะชอบเสียด้วยสิ - I really need her to get me soup right now, and she's really enjoying it."


    PTA กล่าวกับ Vulture ว่าเขาไม่เคยรู้ว่าเรย์โนลด์สมีเสียงในหัวที่บอกให้เขาดำเนินชีวิตช้าลงหรือไม่ เขาไม่รู้ว่าดีไซน์เนอร์คนนี้ต้องการคนมาหยุดตัวเอง หรือมีความสุขพอที่จะดำเนินชีวิตในจังหวะนี้ซ้ำๆ 


    "dynamic ความสัมพันธ์ของอัลม่าและเรย์โนลด์สหมายความว่าเธอต้องยืน ยอมเป็นช้างเท้าหลัง และไม่ปริปากพูดตามหน้าที่ มีประโยคหนึ่งของเธอที่เยี่ยมมาก และผมชอบการสื่อประโยคนั้นของเธอ 'ฉันสามารถยืนได้ไม่รู้เหนื่อย ไม่มีใครยืนได้นานเท่าฉัน - I can stand endlessly. No one can stand as long as I can." เป็นสิ่งยอดเยี่ยมเหมือนคนๆหนึ่งพูดว่า "ฉันจะไม่ยอมแพ้" ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นไปกว่านี้สำหรับผมแล้ว"


    อัลม่าจึงโต้ตอบเรย์โนลด์สในวิธีที่เธอทำได้ 


    "ลองนึกถึงตระกูลเห็ด ซึ่งอุดมด้วยธรรมเนียมและความหลอกลวง 
    เราต่างชอบเห็ด--หลานสาวของฉันทำไข่เจียวเห็ดที่คุณต้องลองชิมถึงจะเชื่อ มาดาม"

    Or consider just the mushroom family, rich as that is in tradition and deception. 
    We were all fond of mushrooms—my niece makes a mushroom omelette you must taste to believe, madam." -  ลุงจูเลียน,  We Have Always Lived In the Castle 


    นักจิตวิทยาทางด้านความสัมพันธ์ รอนด้า ริชาร์ดส-สมิธ Rhonda Richards-Smith นิยามการ 'บังคับให้เรย์โนลด์สทำชีวิตให้ช้าลง' เหมือนการปรารถนาส่วนลึกของคนที่อยากปลดเปลื้องการควบคุมทุกสิ่งอย่าง และปล่อยให้มันหยุด คล้ายเพ้อฝันไป / fantasy


    NYBooks มองว่า บางที หนังทั้งเรื่องอาจมีอยู่เพื่อฉากที่วิกกี้อยู่ในห้องนอนของเรย์โนลด์สพร้อมแม่ของเขา เมื่อโลกสองใบของเรย์โนลด์ส ที่อาจเชื่อมต่อกันด้วยเส้นด้าย มาเจอกัน

    "แต่ถ้าคุณเจอคนที่ทำให้คุณเดินชีวิิตช้าลงโดยธรรมชาติ มันคงดีกว่าพิษ[เห็ด]นะ" เธอกล่าว

    รอนด้าระบุว่าเธอไม่ค่อยเห็น dynamic ประเภทนี้ในหนัง ที่อัลม่าสามารถเป็น dominant ถือไพ่เหนือกว่า แม้ในเวลาที่เธออยู่ในตำแหน่งด้อยกว่า / subordinate 

    ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ฉับไว มันต้องค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ เหมือนความสัมพันธ์จริงนอกจอ เป็นการ 'ยื้อยุด' อำนาจในความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นด้วยตา คล้ายหมอกควันที่เริ่มปกคลุม และสองคนแลกเปลี่ยนบทบาทกัน


    เราเห็นว่าความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยานี้ ที่ต่างคนต่างรักกัน เหมือนมีเส้นด้ายล่องหนชักใยอยู่ด้านหลัง 

    และที่สำคัญที่สุดคือเขายอมเธอ ยอมแบ่งปันโลกและชีวิตกับเธอ ยอมฟังเสียงทาเนยที่น่ารำคาญ (สังเกตว่าปากเขากระตุกนิดๆ แต่ก็ไม่บ่น) และไปตามเธอกลับมาจากงานเต้นรำคืนวันปีใหม่

    เพราะแท้จริงแล้ว เส้นด้ายก็ยังรัดใจเขาอยู่


    In This Life, And The Next: เส้นด้ายสายอมตะ

    "ฉันแก่ตัวขึ้น และฉันเข้าใจคุณ ฉันจะดูแลรักษาเดรสของคุณ ให้ปลอดภัยจากฝุ่น วิญญาณ และเวลา - I'm older, and I understand you. I will take care of your dresses, keeping them safe from dust, ghosts and time." อัลม่ากล่าวในบทปิดของหนัง เผยความตั้งใจและหน้าที่ของเธอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรย์โนลด์สไปตลอดกาล เพื่อที่เดรสจะเติมช่องว่างระหว่างเขาและเธอแทนที่จะแยกทั้งสองจากกัน


    การตัดสินใจของอัลม่าทำให้เส้นด้ายระหว่างเขาและเธอเป็นสิ่งถาวร และดังที่กิลเลอร์ไม่ เดล โตโร่เคยกล่าวไว้ "หัวใจของดวงจิต สิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ คือการตัดสินใจ เราเลือกที่จะเป็น.... นั่นคือสิ่งที่ประกอบกันเป็นประสบการณ์ชีวิตเรา คือโน้ตของซิมโฟนี่ที่เราจะเป็น การตัดสินใจคือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือสิ่งที่ต้องเปิดรับ คือสิ่งที่บูชาสิ่งที่คุณอยากเป็น สิ่งที่คุณต้องการจะทิ้งไว้เบื้องหลัง"

    และอัลม่าได้ตัดสินใจแล้ว ว่าปัจจุบัน และอนาคตของเธอคือจุดยืนเคียงข้างเรย์โนลด์ส


    ขณะที่เลซลี่ แมนวิลล์กล่าวว่า Phantom Thread เป็นหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และการดิ้นรนของทุกคนเพื่อค้นหาอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกมีชีวิต และมีจุดหมาย วิกกี้ เครปส์กล่าวว่า Phantom Thread เป็นหนังเกี่ยวกับความรัก ความรักในงาน ในศิลปะ ในชีวิตของคุณ


    "ความรักคือบ่อใหญ่ที่ไม่มีการเหือดแห้ง คุณสามารถตักน้ำ และมันจะให้พลังกับคุณ หลายคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อที่ว่าความรักเป็นอะไรที่คุณไม่สามารถให้ได้มากเกินไป และคุณสามารถจะให้มันก็ต่อเมื่อคุณแน่ใจว่าคุณจะได้มันกลับคืนมา 

    แต่ฉันคิดว่าความรักคือสิ่งเดียวในโลกใบนี้ที่คุณไม่ต้องได้กลับขึ้นมา -  but I think love is the one thing in this world where you don't have to get it back."

    ถึง Phantom Thread จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงช้างเท้าหลัง ความแข็งแกร่งของอัลม่าคือการตัดสินใจว่า "ฉันพร้อมที่จะรักคุณเพราะฉันอยากทำ ฉันรักได้ และฉันให้ความรักได้ แค่เพราะเป็นอะไรที่ฉันอยากทำ ฉันไม่ต้องการคำอนุมัติของคุณ แม้จะหมายความว่าเธออ่อนแอ แต่ในการยอมรับความอ่อนแอของเธอ เธอกลายเป็นคนแข็งแกร่งในตอนจบ แข็งแกร่งกว่าเขาได้ซ้ำ"


    "ความรักคือตัวหยุดยั้งที่เป็นที่สุด -  ultimate disrupter" วิกกี้ให้สัมภาษณ์กับ Vanity Fair "เราไม่สามารถให้ความหมายความรักได้ชัดเจน จับใจความ หล่อความรักเป็นก้อนหิน หรือเก็บความรักได้"

    "ความรักเป็นอะไรที่อยู่เหนือความควบคุม ความรักเป็นสิ่งจับต้องได้ / analog ความรักไม่มีวันเป็นดิจิตอล"


    Yes, But Right Now We're Here: เส้นด้ายคลายปมเขาและเธอ

    แดเนียล เดย์ ลูอิสเล่าว่าเขาคุยกับ PTA เรื่อง 'คำสาป' ใน Phantom Thread  ส่วนตัวเขาเน้นคำสาปเดียวคือ "ความรับผิดชอบในชีวิตศิลปิน / ครีเอทีฟ - responsibility of a creative life ซึ่งเป็นทั้งคำสาปและพร คุณไม่สามารถแยกมันออกจนวันตาย มันเป็นสิ่งที่ให้พลังแก่คุณและกัดกินคุณ; มอบชีวิตให้คุณและค่อยๆ ฆ่าคุณในเวลาเดียวกัน"


    ต้องเดินทางสายกลาง คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ในชีวิตเฝ้าบอกกับเรา

    ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ศิลปิน และมีโลกส่วนตัว เราเชื่อในคำของแดเนียล การเขียนและความรักที่มีต่อศิลปะ ต่องาน ต่อภาพยนตร์ เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและชีวิตเรา

    แต่ในชีวิตเดียวที่เรามี ความรักและความสัมพันธ์ต่อคนที่รักเรา โดยเฉพาะอย่างไม่มีเงื่อนไข และคนที่มีเยื่อใยพร้อมจะสละเวลาเพื่อเรา เพื่อนแท้ คู่แท้ คนดีๆ ที่เราโชคดีพอจะมีอยู่ในชีวิต ต่างสำคัญมากเกินที่เราจะหันหลังให้พวกเขาและเอาแต่หมกตัวในโลกของตัวเอง

    จะเป็นคนไร้ตัวตนกับคนอื่น ที่อยู่ในชีวิตเขาเพียงครึ่งๆ กลางๆ หายตัวและปรากฏตัวในชีวิตเขาเมื่อเราต้องการได้อย่างไร


    ความรักคือพลังเหนือทุกสิ่ง และหากถามเราว่าจะทุ่มเทพลังและเวลาเพื่อสิ่งที่เรารักอย่างไร แบบไหน

    ความรักกับคนที่มีตัวตน มีคุณค่าในชีวิตเรานั้นสำคัญที่สุดแล้ว.




    //


    cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ. 


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3

    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ




    ขอบคุณค่า


    x

    ข้าวเอง.



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in