เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เกือบจะเป็นบทความ--และเกือบจะลามเป็นเพ้อเจ้อ...imonkey7th
จุดแดงบนกระดาษขาวของนิ้วกลม สู่บอลแดงในมือของ ชินโซะ อาเบะ



  • “จุดสีแดงบนกระดานคืออะไร?” พี่เอ๋นิ้วกลม ถามเด็กที่นั่งฟังอยู่ด้านล่าง... 

    “จุดฟูลสต๊อป” เด็กคนหนึ่งเริ่มก่อน “ลูกเต๋า” “สิว” “ซาลาเปา” “ธงชาติญี่ปุ่น” และอื่น ๆ มากมายถูกยกมาตอบจากปากเด็กน้อยที่กำลังเติบใหญ่ 

    . . . . . . . . . . . .  

     


    เป็นกระแสอยู่ในอาทิตย์ที่ผ่านมา “การ์ตูนให้อะไรกับเราบ้าง?”  ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกยกมาพูดโดย ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ ที่ขึ้นไปพูดในเวที TEDxBangkok สร้างความประทับใจ และตอบคำถามที่สะท้อนถึงความเชื่อของผู้ใหญ่สมัยก่อน และปิดท้ายสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังด้วยคำตอบที่ว่า “การ์ตูนสร้างเด็กเหล่านั้น และเด็กเหล่านั้นนั่นเองที่มาช่วยชีวิตผม”  เรียกน้ำตาและความซาบซึ้งจากบรรดาแฟน ๆ การ์ตูนของน้าต๋อยได้ เรียกว่าท่วมจอกันเลยทีเดียว 


    วันนี้ที่หยิบเรื่อง น้าต๋อย เซมเบ้ มาเริ่มนั้นเพราะจะโยงไปเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของชาวอาทิตย์อุทัยกี่ยวกับ มังงะ(Manga) หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ถูกเอามาโปรโมทในพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2020  จับเอา นายกฯ ชินโซ อาเบะ มาแต่งคอสเพลย์เป็น มาริโอ กับภาระกิจถือ บอลแดง ที่ถูกส่งต่อมาโดยเหล่าตัวการ์ตูนดัง ๆ นักกีฬาเก่งกาจ แล้วมุดท่อมาโผล่ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ให้ทันเวลาด้วยการช่วยเหลือของ โดราเอม่อน เมี๊ยวขวัญใจของคนทั่วโลก สร้างความฮือฮา สามารถทำลายกำแพงวัฒนธรรมของทุกประเทศได้อย่างราบคาบ สร้างความแปลกใจให้ผมที่เคยได้ยิน ผู้ใหญ่บางคน ในที่บางที่ เรียกงานสร้างสรรค์แบบนี้ว่า “เรื่องไร้สาระ” 


     


    “เราเข้าโรงเรียนด้วยเครื่องหมายเคสชั่นมาร์ค(?) แต่จบออกมาด้วยจุดฟูลสต๊อป(.)”  


    คำพูดพี่เอ๋ นิ้วกลมที่ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “เปิดตำราวิชา ‘ความคิดสร้างสรรค์’” ที่ TK Park ปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงภาวะของเด็กที่เข้าเรียนอย่างกระหายเพื่อจะเรียนรู้ กลับได้รับกรอบต่าง ๆ มาครอบและกลายเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ การบรรยายมุ่งเน้นให้เด็กพังทลายกรอบความคิดโดยการตั้งคำถาม และใช้ว่า “เหรอ?” กับทุกสิ่งที่เห็น เพื่อย้ำให้เด็ก ๆ ไม่เชื่อในสิ่งที่มันเป็น  

     

    พี่เอ๋พูดถึงกรอบที่เราต้องทำลายเพื่อทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมาได้คือ  

    กรอบที่ 1 “ดี, ดีแล้ว” เมื่อเราคิดว่างานที่เราทำ สิ่งที่เราสรรค์สร้างออกมามันดีแล้ว มันก็จะเป็นจุดสิ้นสุดของสิ่งนั้นทันทีจะเป็นเช่นไรถ้าเราคิดว่าเรามี "แค่มีรถขี่ก็ดีแล้ว"    

     

    กรอบที่ 2 “ไม่ดี แย่ ทำทำไม” หลาย ๆ คนมักจะตั้งกำแพง สร้างข้อสงสัยในไอเดียแรกของสิ่งต่าง ๆ ว่า “เฮ้ย อะไรวะ” “มันใช้ได้เหรอ” “ไม่โอ” “ไม่สำเร็จแน่ๆ” “เป็นไปไม่ได้” ซึ่งหากเรามองทุกอย่างไร้ประโยชน์ ก็ไม่มีทางเห็นประโยชน์ของมัน ต้นกล้าสร้างสรรค์ก็ถูกทำลายไป คงไม่มีมังงะให้อ่าน ถ้าชาวญี่ปุ่นคิดว่า "มันไร้สาระว่ะ"  


     - - - - - - - - - - - ' '   - - - - - - - - - - - 


    “ความคิดสร้างคือหน่ออ่อนที่ฝ่อง่ายที่สุด
    ดังนั้นจึงอย่าเล่าความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนโหดร้ายและไร้จินตนาการฟัง
    จงเล่าให้กับคนที่เชื่อเหมือนกัน และสร้างจินตนาการเหล่านั้นให้มีตัวตนขึ้นมา” 



     - - - - - - - - - - - ' '   - - - - - - - - - - - 

    กรอบที่ 3 “ชื่อเรียก” อันนี้พี่เอ๋เน้นว่าสำคัญมาก ชื่อเรียกเป็นเพียงนามสมมุติ เป็นการปิดกั้นที่หลอกล่อเราให้จำกัดสิ่งต่าง ๆ เพียงแค่สิ่งที่มันเป็น ยกตัวอย่างโดยการให้ดีไซน์ “เก้าอี้” ภาพในหัวทุกคนก็จะเป็นเก้าอี้ มีสีขา รูปร่างคล้ายกัน ลองเปลี่ยนชื่อเรียกจาก "เก้าอี้" เป็น“สิ่งที่นั่งได้” แค่นั้นทุกอย่างจะเปิดกว้างมาก เราสามารถนั่งบันได นั่งพื้น นั่งเก้าอี้พับ นั่งโซฟา หรือแม้แต่เข้าไปนั่งในใจใครบางคน(ฮิ้ววว) 

     

    พี่เอ๋เน้นตอนท้ายของการบรรยายอย่างน่าสนใจว่า การตั้งคำถามไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะคำตอบก็เป็นกรอบอย่างนึ่ง ให้เราทำลายทุกกรอบเพื่อที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ทุกคนเห็นว่าสิ่ง ๆ นั้นมีประโยชน์ สิ่งเหล่านั้นทำได้จริง



    คนนำเอาตอนหนึ่งมังงะเรื่อง  "Famicom Olympic" ที่ถูกเขียนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วออกมาแชร์ เป็นภาพของตัวเอกสวมชุด “มาริโอ” มุดท่อออกมาเปิดตัวงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ เป็นการทำนายอนาคตที่แม่นอย่างกับตาเห็น ชี้ให้เห็นว่าชาวปลาดิบมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากมายเพียงใด สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงตอบคำถามหลาย ๆ อย่างให้กับผู้ใหญ่ในบางประเทศแล้ว ยังทุบทำลายกรอบความคิดของคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ให้พังทลาย สร้างแรงใจและจุดไฟความคิดบางอย่างของผมให้ติดขึ้นมาอีกครั้ง 

      

    ซึ่งหากสังเกตคำตอบของ น้าต๋อย เซมเบ้ ที่มีคนถามว่า “การ์ตูนให้อะไรกับเด็ก”  มาถึงคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระของผู้คนบางประเทศ แล้วมองลูกบอลในมือของ นายกฯ ชินโซ  อาเบะ และจุดสีแดงบนกระดานของพี่เอ๋นิ้วกลม จะพบความเชื่อมโยงบางอย่างที่ชวนให้เราคิดตาม 

      

    วันนี้มีกรอบอะไรมาครอบความคิดอยู่หรือไม่?า 

     “เหรอ?” กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำให้มันเป็นในสิ่งที่มันไม่เคยเป็นบ้างไหม? 

    และที่สำคัญที่สุด ได้ลองหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า 

      

    “จุดสีแดงบนกระดานคืออะไร?” หรือยัง 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in