เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ธรรมศาสตร์-ทำไม-สาดChaitawat Marc Seephongsai
ตึก โต๊ะ ตึก ตึก "โต๊ะ"
  •          ตอนนี้ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องของตึกเรียน และไม่ได้ว่าด้วยเรื่องของโต๊ะเรียน แต่เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของ "โต๊ะ" ที่บางครั้งมันก็ส่งผลต่อการเรียน ต่อการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งต่อการมีใครสักคนเข้ามาในชีวิต 

              โต๊ะ ที่ว่านั่นก็คือระบบโต๊ะ ที่เป็นระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้เหล่าบรรดาเพื่อนใหม่ ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตามนิยามที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" หากแยกตัวไปอยู่โดดเดียวอยากตายห่าได้ ในระบบมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ ทางใครก็ไม่รู้เลยคิดค้นระบบโต๊ะขึ้นมา เพื่อให้เพื่อนใหม่และเพื่อนเก่าได้รวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 


              สำหรับระบบโต๊ะนั้น ทำหน้าที่คล้ายคลึงกันกับระบบ "บ้าน" ของจุฬา โดยวันที่เพื่อนใหม่เข้ามารายงานตัว ทาง กน. (กรรมการนักศึกษา) ของแต่ละคณะ ก็จะจัดกิจกรรมให้เพื่อนใหม่ได้จับฉลากว่าจะอยู่โต๊ะไหน โดยการได้โต๊ะนั้น เป็นเรื่องของดวงล้วน ๆ การได้เพื่อนใหม่ และเพื่อนเก่าร่วมโต๊ะ ก็เป็นเรื่องของดวงเช่นกัน ดูสิ ขนาดเข้ามหาลัยได้แล้วยังต้องมาพึ่งดวงอีก ที่ไปบนให้สอบติดยังไม่ได้ไปแก้เลย 

              คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้คำเรียกแทนกลุ่มของการร่วมตัวของนักศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าการรวมตัวระดับคณะว่าการรวมตัวระดับ "โต๊ะ" ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ "โต๊ะ" อาจจะเทียบได้กับระดับหมู่บ้าน ที่จะมีแกนของโต๊ะ ในแต่ละรุ่นทำหน้าที่ประสานงานกับรุ่นพี่ หรือกับ กน. ของคณะอีกทีหนึ่ง และค่อยนำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มา มาประสานงานกับคนในโต๊ะ 

              อย่างคณะรัฐศาสตร์เองก็มีโต๊ะอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 22 โต๊ะ (มั้งนะจำไม่ได้แล้ว) เท่าที่จำได้จุดเริ่มต้นคำว่าโต๊ะของคณะรัฐศาสตร์ เริ่มต้นขึ้นมาจากการที่ มีโต๊ะตั้งอยู่ที่หน้าตึกคณะ ที่ท่าพระจันทร์ และโต๊ะนั้นก็เป็นสถานที่รวมตัวกันของนักศึกษาบางกลุ่ม และการร่วมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการนั่นเอง ที่ในท้ายที่สุดก็พัฒนามาเป็นการรวมตัวอยากเป็นทางการในรูปของโต๊ะในปัจจุบัน โดยโต๊ะแรกของคณะรัฐศาสตร์มีชื่อว่าโต๊ "แสงจันทร์" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องแสงจันทร์ แต่ที่รู้ ๆ มีอยู่โต๊ะหนึ่งชื่อโต๊ะ "จำปี" เพราะพิกัดที่ตั้งของโต๊ะอยู่ใต้ต้นจำปี (ตั้งกันง่าย ๆ แบบนี้เลย) 

                             (กิจกรรมทาสีโต๊ะ)

              เพื่อนใหม่ที่เข้ามาอยู่ในมหาลัย ส่วนมาจะถูกจับให้สังกัดโต๊ะ ตามวิธีที่บอกไปแล้วตอนต้น ซึ่งอาศัยดวงล้วน ๆ ยัง ยังไม่พอ การจับสายเทค หากเป็นมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจจะใช้ระบบของพี่รหัส น้องรหัสแต่สำหรับที่นี้ แบบนั้นมันธรรมดาไป (หรือเพราะขี้เกียจ) ที่นี่เลยใช้ระบบจับฉลากสายเทค (ดวงอีกแล้วสิมึง) ในโต๊ะ แต่ละโต๊ะ ก็จะมีการทำฉลากขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนใหม่ได้จับ ว่าจะได้ใครเป็นพี่เทค (งง งง เพื่อนใหม่จับพี่เทค) ด้วยเหตุนี้จำนวนเพื่อนใหม่และเพื่อนเก่าในแต่ละโต๊ะจึงต้องเท่ากัน แต่ถ้ามีปีไหนที่จำนวนเพื่อนใหม่มากกว่าเพื่อนเก่า ก็จะมีเพื่อนเก่าที่ได้รางวัลเอาเพื่อนใหม่ไปเทค 2 คน (จนแน่นอนมึง) หลังจากจับสายเรียบร้อย ก็จะเป็นการแนะนำตัว พาน้องไปเลี้ยงข้าว เอาชีทให้น้อง ช่วยจัดตารางเรียน หรือบางคู่พี่เทคน้องเทคเป็นแฟนกันเลยก็มี 

              นอกจากเรื่องตามที่กล่าวไปแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วคนที่ไม่อยากอยู่โต๊ะละจะต้องทำยังไง เรื่องนี้ไม่ยากเลยครับ ถ้าไม่อยากอยู่โต๊ะก็ออกมาจากโต๊ะ แต่การที่เด็กปี 1 จะปีกกล้าขาแข็งออกมาจากโต๊ะได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะระบบโต๊ะก็เหมือนสังคมหนึ่ง ๆ ที่บางครั้งก็ดี และหลายครั้งระบบมันก็แย่ สำหรับบางคนที่ออกจากโต๊ะ อาจจะโดยเพื่อนในโต๊ะ sanction ไปเลยก็ได้ (ก็บอกแล้วโลกมันโหดร้าย) แต่ถ้าใครที่ปีกกล้าขาแข็งพอก็ออกมาใช้ชีวิตชิล ๆ ได้อย่างสบายใจ (อย่างผู้เขีบนเอฃก็ออกจากโต๊ะ) สำหรับคณะรัฐศาสตร์นั้น ผู้ที่ออกจากโต๊ะจะถูกเร่ยกว่าสิงห์เสรี แต่สำหรับผู้เขียนพอบอกใคร ๆ ว่าออกจากโต๊ะ ทุกคนก็ชอบบอกว่าสิงห์เสรีนิ ผู้เขียนเลยต้องคอยตอบกลับไปเสมอว่า "เปล่าเราเป็นคน" เอาเข้าจริงแล้วการกำหนดนิยามให้บุคคลอื่นว่า "สิงห์เสรี" ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างโต๊ะใหม่ขึ้นมาอีก 1 โต๊ะ โดยการยัด ๆ เอาพวกออกจากโต๊ะ ให้อยู่ในโต๊ะใหม่ในทางพฤตินัย 

              ถ้าถามว่าระบบโต๊ะ มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ผู้เขียนอาจจะตอบได้ไม่แน่ชัดนัก เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนที่ต่อต้านระบบโต๊ะอย่างจริงจัง และเปิดเผย แต่ถ้าจะให้พูดถึงข้อดี อย่างน้อย ๆ ระบบนี้มันก็ไม่ทำให้เราเคว้งคว้างตอนเข้าปี 1 ทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ ทำให้เราได้สนิทกับเพื่อนบางคน และทำให้เราได้รักใครสักคน (อาจจะไม่ได้เกิดกับทุกคนแต่เกิดกับผู้เขียน) แต่ถ้าถามว่าข้อเสียคืออะไร อันนี้ขอละไว้ไม่ตอบเพราะมันเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ก็คงแล้วแต่ชอบใครชอบมัน 

    หมายเหตุ (เพิ่มเติมข้อมูลจากผู้รู้)

    (1) โต๊ะแสงจันทร์ ที่ชื่อแสงจันทร์ เพราะเมท่อก่อนโต๊ะนี้ตั้งอยู่ใต้ต้นแสงจันทร์ 
    (2) ก่อนที่ต้นไม้ประจำมหาลัยจะเปลี่ยนมาเป็นต้นหางนกยูงฝรั่ง ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเป็นต้น "จำปี" มาก่อน เพราะที่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อก่อนมีต้นจำปีเยอะ และปัจจุบันจำปีเป็นต้นไม้ประจำคณะรัฐศาสตร์ 
    (3) บางคณะในมหาลัยก็ไม่ใช่ชื่อเรียกว่าระบบโต๊ะ อย่าง สังคมสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า "บ้าน"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in