คำถามนี้เกิดขึ้นเพราะอะไรกันนะ คือ สงสัยสองซ้อน
คำถามแรก สงสัยว่า เราจะรู้ตัวไหม ว่าเราหน่ะ อิจฉาหรือกำลังอิจฉาคนอื่นอยู่
ซ้อนแรก
แล้วถ้าเรารู้ตัว เรารู้จากอะไร รู้ได้อย่างไร แล้วจะจัดการกับความรู้สึกอิจฉานั้นไหม แล้วจะจัดการอย่างไร คำถามเต็มไปหมด แค่คำว่า อิจฉา คำเดียว
ซ้อนที่สอง
สงสัยว่า อะไรที่ทำให้เกิดคำถามซ้อนแรกขึ้นมา
.......................................................................
เวลาที่ตัวเองรู้สึกอะไรก็แล้วแต่ เราจะสงสัยและถามตัวเองกลับทันทีว่า
ตอนนี้รู้สึกอย่างไร ทำไมและอะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนี้ ถ้ารู้สึกดีต้องจัดการความรู้สึกไหม หรือถ้ารู้สึกไม่ดีจะจัดการกับความรู้สึกไม่ดีนี้ไหม ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ เป็นกันบ้างหรือเปล่า แต่ส่วนตัวแล้ว เราจะใช้ตัวเองทำความรู้จักและพยายามจะเข้าใจมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่บนโลกใบนี้ มองตัวเองเป็นสรรพสิ่งหนึ่งในวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และเมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ก็อยากจะศึกษาดูแล้วให้คำตอบตัวเองให้ได้ในสิ่งที่สงสัย เช่นคำถามที่ตั้งไว้ด้านบน
คือ ถ้าให้ไปศึกษาจิตใจหรือความรู้สึกคนอื่นคงยากจะเข้าถึงได้ มันคงมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น และเราก็ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่จิตแพทย์หรือผู้เชียวชาญด้านจิตวิทยาใดๆ ทั้งสิ้น เราก็มนุษย์คนหนึ่งบนโลกที่เกิดความสงสัยกับความรู้สึกของตนเอง ไม่ว่าจะรู้สึกดีใจ ภูมิใจ ยินดีปรีดา รู้สึกเสียใจ รู้สึกโกรธ โมโห รู้สึกเฉยๆ เย็นชา คือทุกความรู้สึกที่มนุษย์เขามีกัน สงสัยว่าทำไมต้องรู้สึกแบบนี้ๆๆๆ มันเกิดจากอะไร เลยต้องทบทวนความรู้สึกตัวเองทุกครั้ง
คือจะหาสาเหตุ ด้วยการทบทวนๆๆๆ นึกคิดๆ ว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ เมื่อหาเจอแล้วก็ต้องกล้า ยอมรับความจริงกับตนเองว่า มันเพราะอย่างงี้ๆๆๆนะ ถึงรู้สึกแบบนี้ จากนั้นก็มาดูว่าแล้วเราเต็มใจรับความรู้สึกนี้ไหม ถ้าไม่เต็มใจคือรู้สึกไม่ดีเนี่ย เราจะจัดการกับมันยังไง ก็จะลองค้นหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองยอมรับและสบายใจได้ จนความรู้สึกไม่ดีนี้มันโอเคและไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ หรือถ้าความรู้สึกดีมากๆ ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องจัดการนะ สำหรับเราแล้ว ความรู้สึกดีก็ต้องจัดการให้อยู่ในระดับที่พอดี เพราะไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์มันจะอยู่กับเราช่วงหนึ่งและมันจะหายไปได้เหมือนกัน
คล้ายๆ หลัก อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ คือเราไม่ใช่สายปฏิบัติหรืออ่านธรรมะเป็นนิจกิจวัตรนะคะ แค่จำได้จากตอนเรียน ม.ต้น ซึ่งอันนี้แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา
คำตอบจากคำถามด้านบน
3. สงสัยว่า อะไรที่ทำให้เกิดคำถามซ้อนแรกขึ้นมา
ขอตอบสุดท้ายก่อนเลยแล้วกัน คือ ไปเห็นภาพคนอื่นในไอจีแล้วแบบ เออว่ะ ชีวิตเขาดีจัง มีนั่นนี่ได้ไม่ลำบากในการซื้อหา พอมีความคิดแบบนี้ขึ้นมา เราเลยถามตัวเองว่า นี่อิจฉาเขาหรอ? จึงเป็นต้นตอของคำถามและข้อสงสัยนี้ขึ้นมา
1. เราจะรู้ตัวไหม ว่าเราหน่ะ อิจฉาหรือกำลังอิจฉาคนอื่นอยู่
คือ ข้อนี้ก็ตอบยาก เพราะสิ่งที่คิดข้างบนนั้น บางทีก็ไม่รู้ไงความอิจฉามันคืออะไร ขอถามพี่กูเกิ้ลสักแป๊ป(เราชอบเรียกว่าพี่กูเฉยๆ ก็อย่าว่าไม่สุภาพนะคะ)
อิจฉา ในความหมายธรรมะ (เราได้แค่ความหมายด้านนี้มา) อิจฉา ศัพท์ธรรมะก็คือ อิสสา
อิสสา คือ ธรรมชาติที่มีความไม่พอใจในสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่น โดยมีสมบัติ (รวมทั้งคุณความดี - deedi) ของผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ (ให้เกิดความอิจฉา)
ซึ่งเมื่อย้อนดูตัวเอง ก็เข้าค่ายอยู่นะ แต่ไม่ทั้งหมด คือ ไม่พอใจที่ทำไมตัวเองไม่สามารถมีอะไรได้อย่างเขา แต่ไม่ได้อยากได้ ไม่อยากเป็น หรือไม่พอใจคนอื่น หรือไม่ได้ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี
อ่ะ รู้ความหมายคร่าวๆ แล้ว ทบทวนความรู้สึกอิจฉาของตัวเองได้แล้ว ก็กลับมามองตัวเองว่า ยอมรับไหมว่าตัวเองอิจฉา โอเค ยอมรับว่าอิจฉาและไม่พอใจตัวเอง คือแม้มันจะเป็นเรื่องไม่ดีแต่ก็ต้องกล้ายอมรับกับตัวเองให้ได้ เพราะมันคือความจริง และเป็นธรรมชาติของสัตว์บนโลกนี้ แม้ตำราจะบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐก็ตามเถอะ เหมือนในลิ้งค์ที่ไปหาความหมายมาได้บอกไว้ว่า
อิจฉา นี้ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งของสัตว์โลกที่เป็นปุถุชนทั่วๆ ไป
เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยดังรวบรวมมาไว้แล้ว
คือ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี ได้สมบัติ ได้คำเยินยอ ฯลฯ
ทีนี้เรามาตอบคำถามที่เราตั้งไว้ค่ะว่า "เราจะรู้ตัวไหม ว่าเราหน่ะ อิจฉาหรือกำลังอิจฉาคนอื่นอยู่"
ตอบตอนนี้ค่ะว่า รู้ตัวแล้ว ต้องรู้ตัวค่ะจะได้มีสติ ไม่ไปทำร้ายคนอื่นเขาเอาเสียก่อน ฮ่าๆ เราควรตื่นรู้ในทุกขณะอยู่แล้ว และถ้ากล้ายอมรับความจริงเราก็จะเข้าใจจิตใจตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ไปตอบข้อต่อไปกันค่ะ
2. แล้วถ้าเรารู้ตัว เรารู้จากอะไร รู้ได้อย่างไร แล้วจะจัดการกับความรู้สึกอิจฉานั้นไหม แล้วจะจัดการอย่างไร คำถามเต็มไปหมด แค่คำว่า อิจฉา คำเดียว
คือ ข้อนี้ก็ดูยากๆ นะ อึ่มมม คือเรารู้แล้วว่าอิจฉา ทีนี้เราก็ต้องมาถามว่าจะจัดการไหม โอเคจัดการ แล้วจัดการด้วยวิธีอะไร ยังไง ในขั้นนี้ เราจัดการด้วยการให้กำลังใจตัวเองในขั้นแรก ต่อมาคือยอมรับตัวเอง สิ่งที่เป็นสิ่งที่มี เพราะถ้าทำไรให้ดีขึ้นไม่ได้ก็ต้องยอมรับมัน จากนี้ก็ ลดการเข้าถึงข้อมูลคนอื่นๆ ให้น้อยลงที่สุด โลกโซเชียลคือโลกที่แสดงอะไรหลายๆ อย่างให้ผู้อื่นได้รับรู้ในหลายๆ ด้าน ฉะนั้น ลดลงค่ะ ลดลงทั้งรับรู้เรื่องคนอื่นและลดการปล่อยเรื่องตัวเองสู่โลกโซเชียลเช่นกัน
คือที่ใช้วิธีนี้เพราะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามเราค่ะ เราเกิดความรู้สึกนี้เพราะอะไร มาจากอะไร เราก็ขอลดและแก้มันจากตรงนั้นเลยแล้วกัน มันอาจไม่ใช่ทางที่ใช่หรืออาจจะใช่ก็ได้ แต่เราก็คือมนุษย์คนหนึ่งนี่แหละค่ะ เราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวเองในทุกขณะที่เรารู้สึกทั้งดีหรือไม่ดี
ออกตัวว่าไม่ใช่สายธรรมะหรือไขข้อสงสัยหาสัจธรรมของชีวิตนะคะ แค่อยากหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองสงสัยและตั้งคำถามนั้นขึ้นมา ซึ่งอาจจะได้คำตอบบ้างหรือไม่ได้บ้าง หรือได้คำตอบที่ดีหรือไม่ดี ก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไปค่ะ ไม่มีใครบอกว่ามันง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะยากเสมอไป
จบการเสวนาธรรมไว้เพียงเท่านี้ค่ะ ไม่ใช่!!
........................................................................................................................................................
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in