เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LAKORNWATCHIES
Squid Game เมื่อเหล่าผู้พ่ายแพ้ในโลกทุนนิยมต้องเอาชีวิตมาวางไว้เป็นเดิมพัน
  • "ต่อจากนี้ไปจะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องแน่เลยค่ะ 

    ใครที่อยากไปดูเองอาจจะต้องระวังหน่อยนะคะ หรือไม่ก็ปิดบทความนี้ก่อนเลย 

    เรากลัวจะทำให้หมดอรรถรสในการดูเหลือเกิน

    และมีการใส่ความคิดเห็นของเราเพิ่มเติมปะปนอยู่(เต็มไปหมด)นะคะ"

    Squid Game ซีรีส์ Original Netflix เรื่องล่าสุด (ในตอนที่พิม ถ้าลงก่อน MY NAME ลง Netflix อะนะ) ว่าด้วยเรื่องราวของกีฮุนชายที่ล้มเหลวทั้งในฐานะพ่อ สามี ลูกชาย และคนที่พ่ายแพ้ต่อทุนนิยมซึ่งเต็มไปด้วยหนี้กว่า 500 ล้านวอน และะนั้นเป็นสาเหตุของการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับเกมเซอร์ไววัลที่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อแลกกับเงิน 4.56 หมื่นล้านวอน


    มารู้จักกันตัวละครเช่นเคย


    ซองกีฮุน ชายหนุ่มจากย่านซังมุนยังอาศัยอยู่กับแม่ หย่าร้าวกับภรรยา เป็นพ่อที่น่าผิดหวัง และมีเพียงการพนันม้าเป็นความหวังหลักของชีวิต


    โจซังอู ชายผู้เป็นความภาคภูมิใจของย่านซังมุน คนเพียงหนึ่งเดียวในย่านนี้ที่เรียนจบจาก ม.โซล แต่ด้วยพฤติกรรมฉ้อโกงในบริษัททำให้เขาล้มละลาย เป็นหนี้ และมีคดีติดตัว


    เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าค่ะ



    จากตัวอย่างก็ได้เห็นเลยว่าเพราะไม่สามารถสะสางหนี้ได้ทำให้พวกเขาต้องมาร่วมเล่นเกมที่มีเดิมพันเป็นชีวิต เพื่อแลกกับเงินรางวัลมูลค่ามหาศาลที่ชีวิตนี้พวกเขาไม่เคยฝันถึง และเกมที่ถูกนำเสนอในทีเซอร์ก็มีกติกาที่แสนจะง่ายดาย เป็นเกมของเด็ก ๆ ที่ใคร ๆ ในเกาหลีใต้ก็ต้องเคยเล่นกันทั้งนั้น และเกมที่เหลือก็มีกติกาที่ไม่ซับซ้อนเช่นเดียวกัน


    นอกจากเรื่องการสร้างฉากให้ดูสดใสขัดกับความเลวร้ายในเกมแล้ว ตัวอย่างก็ดูจะเป็นเพียงเกมเซอร์ไววัลที่แสนจะคลิเช่ เราก็รู้สึกว่ามันจะเป็นเพียงซีรีส์เซอร์ไววัลที่สุดแสนจะคลิเช่ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Alice in borderland ที่เพิ่งฉายไปเมื่อปลายปีที่แล้วก็ดี หรือจะเป็น liar game ก็ดี และอีกหลายเกมเอาตัวรอดที่น่าจะคุ้นเคยกันดี แต่เรื่องมันไปไกลกว่าที่เราคิดไว้เหมือนกัน ถ้าจะให้นิยามก็คงเป็นความคลิเช่ที่ไม่คลิเช่ซะทีเดียว มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าทีเซอร์ถูกซ่อนไว้อยู่เหมือนกัน


    แต่ก็ต้องเตือนว่าถ้าอยากดูเกมที่สนุก ชิงไหวชิงพริบกัน squid game ให้สิ่งนั้นกับคุณไม่ได้นะคะ เพราะเรื่องมันเป็นเพียงแค่เกมพื้นบ้านจริง ๆ เล่นกันตามกติกาเด็ก ๆ จริง ๆ


    ซองกีฮุน ชายที่เป็นผู้พ่ายแพ้ให้กับโลกทุนนิยมนี้อย่างแท้จริง เขาเป็นเพียงคุณพ่อที่ไม่เอาไหน เป็นสามีที่ทำให้ภรรยาต้องขอหย่า และเป็นลูกชายที่อาศัยอยู่กับแม่ ใช้ชีวิตไปเพียงวัน ๆ ด้วยปริมาณหนี้ทั้งในและนอกระบบที่มีมหาศาลนั้นทำให้เขาไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก เขาเลยเลือกที่จะฝากดวงไว้กับม้าในสนามแข่งให้ทำให้เงินของเขาพอกพูน

    ยิ่งไปกว่านั้นแล้วเราว่าตัวละครมันนิสัยแย่อะ เปิดมาในตอนแรกใคร ๆ ก็ต้องด่ากีฮุนแน่นอน ขโมยเงินแม่งี้ คืออยากยืนชี้หน้าด่านะคนแบบนี้ แต่การค่อย ๆ เล่าถึงพื้นเพของตัวละครที่เขาก็พยายามที่จะดิ้นรนในการทำมาหากินแล้ว แต่มันก็ล้มอยู่ดี เราจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ล้มเหลวของเขาอาจจะเริ่มที่การถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเอาจริง ๆ พอมาคิดดูแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากว่าชีวิตของเขาเริ่มล้มจากนายทุนที่ตัดสินใจลอยแพพนักงาน และก็ต้องล้มลุกคลุกคลานต่อสู้กับทุนนิยมมาตลอด เฮ้อ  แต่เราว่าการเล่าว่าตัวกีฮุนมีบาดแผลจากการเห็นเพื่อนที่ร่วมประท้วงการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมบาดเจ็บตรงหน้า นี่ทำให้ squid game เป็นซีรีส์ที่โคตรจะเกาหลีเลย 

    เราชอบตัวละครซองกีฮุนมากในแง่ของการที่มีเส้นที่เขาจะไม่ข้าม แม้ว่าเขาเป็นคนที่ต้องการเงินมาก อีกหนึ่งคนแต่เขาก็มีบาร์ศีลธรรมในใจที่จะไม่ข้ามอยู่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขาดูเป็นมนุษย์ทั่วไปมาก ที่มีจิตสำนึก รู้สึกเจ็บปวด การสร้างภาพให้ตัวละครที่ดูพ่ายแพ้ขนาดนี้แต่ยังกำเส้นของตัวเองไว้แน่นนี่เราว่าน่าสนใจดี แต่มันอาจจะกลายเป็นจุดที่ทำให้ผู้ชมหลายคนไม่ค่อยชอบ เพราะรู้สึกว่าตัวละครนี้มีศีลธรรมมากไปหรือเปล่าสำหรับการเล่นเกมแบบนี้ หรืออาจจะแบบดูเห็นแก่ตัวที่จะไม่ยอมมือเปื้อนเลือด ขี้แพ้ไรงี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ สำหรับคนที่ชอบดูแนวเซอร์ไววัลลุ้นเอาชีวิตรอดกันไปเลย

    สำหรับเราตัวละครนี้คือตัวละครดวงดีเลยละ การที่เขาผ่านมาได้ขนาดนี้เพราะดวงทั้งนั้นเลยนะ โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้เก่งอะไรเปนพิเศษสักอย่าง แต่พอคิดไปคิดมาถ้าจะพูดว่าดวงอย่างเดียวก็อาจจะแบนไปหน่อย เราว่าด้วยการที่เขาเป็นคนนิสัยใจคอแบบนั้น ตรงไปตรงมา เลยทำให้หลายคนไว้ใจในตัวเขา ทั้งตัวแซบยอกเองก็ดี ตัวซังอูก็ดี หรือแม้กระทั่งคนแก่หมายเลข 001 ก็ดี นั่นอาจจะเป็นอีกคีย์หลักที่ทำให้เขาเป็นผู้ชนะก็ได้

    เป็นครั้งแรกที่เห็นอีจองแจเล่นบทที่จนกรอบแบบนี้ คือดูงานเขามาสามสี่เรื่อง เขาต้องเล่นเป็นพวกมียศถาบรรดาศักดิ์ไม่ก็บางอย่างที่ดูรวย ๆ แล้วก็เป็นคนที่ไม่ค่อยดีด้วย แต่พอดูเรื่องนี้แล้วก็ว้าว พี่เขาเล่นได้ทุกบทจริง ๆ นั่นแหละค่ะ (เห้ย เราอวยไปรึเปล่าคะ ลิทธิพี่แจลความไบแอส TT) อีจองแจคือทำให้เราเชื่อได้สนิทใจ ลืมสิ้นซึ่งภาพลักษณ์คนมีเงิน (สารเลว) ที่ผ่าน ๆ มา เขาทำให้ตัวเราเชื่อในตักีฮุน จากนั่งด่าสู่การเห็นใจ และร่วมเสียใจไปพร้อมกับความเป็นมนุษย์ของตัวละครกีฮุน


    โจซังอู "ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากซังมุนดงที่จบม.โซล" ด้วยการแนะนำตัวละครนี้และหยิบไดอะล็อคนี้มาเพื่อแสดงความเป็นเขานี่น่าสนใจสำหรับเรา หนึ่งในความภูมิใจของย่านซังมุนที่มีเพียงคนชนชั้นกลางระดับล่างและคนจนคือการที่ลูกหลานของคนในชุมชนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ราวกับว่าการศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือและความภาคภูมิใจเพียงไม่กี่อย่างของคนข้างล่างที่ถูกกดไว้ภายใต้สังคมทุนนิยมแบบนี้ แต่ถึงขนาด "จบม.โซล"แล้วเขาก็ยังเป็นคนที่ต้องเข้ามาร่วมเกมที่เดิมพันด้วยชีวิตนี้

    แน่นอนว่าเก่งขนาดนี้แล้วก็ยังพลาดท่าให้กับการพยายามปีนขึ้นไปสู่การเป็นชนชั้นที่สูงขึ้นในสังคมด้วยการฉ้อโกงผ่านหน้าที่การงาน และการลงทุนในสินทรัพย์จนตัวเองต้องกลายเป็นหนี้ จนตัดสินใจที่จะจบชีวิตลงด้วยชุดสูทที่เป็นการบ่งบอกถึงสถานะ คงเพราะด้วยการที่เขาแบกความภาคภูมิใจไว้ทำให้เขายิ่งไม่มีที่พึ่งเข้าไปใหญ่ และเกมนี้ก็เป็นเพียงทางออกเดียวให้กับคนที่ไร้ที่พึ่งแบบเขา

    เราว่าหลายคนน่าจะชอบตัวละครตัวนี้ เพราะเป็นตัวละครที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อผลสำเร็จของตัวเอง แถมยังเป็นคนฉลาดแกมโกง มีไหวพริบด้วย แต่โดยส่วนตัวแล้วเราประทับใจกับการที่เขาตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและคนที่เขาแคร์จนวินาทีสุดท้าย เป็นตัวละครที่เราได้เห็นถึงความทระนงตัวมาตลอดตั้งแต่แรก จนกระทั่งถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต แม้กระทั่งความช่วยเหลืออาลีของเขา ยังเป็นการแสดงน้ำใจเพราะมองว่าต่อให้ตัวเองถังแตก แต่ก็มีศักดิ์ที่สูงกว่าอาลี เลยต้องแสดงน้ำใจออกมา (ผู้กำกับชี้แจงไว้ในสัมภาษณ์)

    พัคแฮซูที่มารับบทนี้ เป็นคนที่หลายคนน่าจะคุ้นหน้าเขาจากบทพี่เบสบอลคนคุกใน prison playbook หรือล่าสุดกับบทมือปืนใน time to hunt ก็ได้มาพลิกบทบาทอีกครั้ง คือเขาก็ทำตัวละครนี้ออกมาได้ขาดมาก ๆ หลายคนอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่านี่คือพี่คนคุกใน prison playbook


    นอกจากสองตัวละครหลักแล้วเรื่องยังพูดถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในชายขอบของสังคมอย่าง คังแซบยอก ที่ได้นางแบบจอนโฮยอนมาประเดิมงานเดบิวต์แรกของเธอกับบทหญิงสาวผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือที่โดนพวกนายหน้าเจ้าเล่ห์หลอกเอาเงิน โดยอ้างว่าจะพาแม่เธอหนีมาจากทางเหนือ ซึ่งบีบให้เธอทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เราว่าในพาร์ทของเธอก็เล่าได้น่าสนใจดี ในแง่ของนโยบายการดูแลผู้ลี้ภัยจากทางเหนือ คือแน่นอนว่าในส่วนของน้องเธอก็ได้รับการดูแลจากสถานสงเคราะห์เด็ก แต่กับตัวเธอเองแล้วนั้นยังต้องทำมาหากินเป็นมิจฉาชีพ



    หรือจะเล่าผ่านตัวละครของแรงงานข้ามชาติอย่างอาลี อับดุลที่ได้ตรีพาติ อานุพัมที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าเขาจากการเป็นนักแสดงสมทบตัวเล็ก ๆ ในหลายเรื่อง ก้าวมารับบทสมทบหลักนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงนี้ซีรีส์เกาหลีหันมาหยิบจับประเด็นการที่แรงงานข้ามชาติโดนกดขี่มากขึ้น (ทั้ง taxi driver และ the devil judge ก็พูดไว้เช่นกัน) ในเรื่องนี้เล่าให้เห็นว่าตัวอาลีพยายามที่จะใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ แต่นายจ้างก็กดขี่ พยายามหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบ โกงเงินเขาเพียงเพราะเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ คือเขาไม่มีเงินจะกลับบ้านด้วยซ้ำ และตลอดทั้งเกมเราก็จะได้เห็นว่าเขาเป็นตัวละครที่พยายามช่วยเหลือทุกคนมาก ๆ และมองโลกในแง่ดีที่สุดแล้ว การจากไปของตัวละครตัวนี้ ก็ทำเราใจสลายมาก ในโลกทุนนิยมเส็งเคร็งแบบนี้ เขาคือคนที่โดนหลอกและเอาเปรียบมาทั้งชีวิต จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย กับการเลือกที่จะเชื่อใจคนที่ไม่หันหลังมามองเขาเลยด้วยซ้ำ (ราวกับว่าการเป็นคนดีในสังคมแบบนี้ก็ไม่ตอบโจทย์อะไรอยู่ดี)



    อีกตัวละครที่โผล่มาไม่เยอะ แต่เราว่าน่าสนใจคือจียอง ที่ได้อียูมิ ที่ฝากฝีมือไว้ในงานหลายชิ้นมารับบทนี้ ที่ตัวเธอในวันนี้เป็นผลกระทบจากการเกิด domestic violence ในครอบครัว การได้เห็นพ่อผู้ศรัทธาในศาสนาคอยทุบตีแม่อยู่ตลอด จนเธอพลั้งมือปลิดชีพเขาไป ทำให้การมาร่วมเกมของเธอคือไม่เหมือนกับคนอื่นที่มาเพราะเงิน แต่กับจียองคือไม่รู้ว่าอยู่ข้างนอกไปจะทำอะไร และเธอไม่ได้เห็นคีาในชีวิตตัวเองขนาดนั้น หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเธอพาตัวเองผ่านมาจนถึงด่านลูกแก้วได้ยังไง คือหลังจากที่คุยกับเพื่อนเราคิดว่าจียองอาจจะให้เขาฆ่าตัวตายเขาคงไม่ทำ จะให้หยุดอยู่เฉย ๆ แล้วโดนยิงในเกมแรกคงไม่ทำอยู่แล้ว  คือถ้าจากที่เห็น เขาเป็นคนที่ไม่กระตือรือร้นที่จะเล่นเกม จับกลุ่ม จับคู่หรืออะไรสักอย่าง แต่พอในเกมลูกแก้ว เราว่าการที่เขาไม่ได้มีใคร ได้พูดคุยกับแซบยอกในช่วงสุดท้าย และเห็นแซบยอกมีแรงปราถนาที่จะมีชีวิตอยู่ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คนที่จะไม่ได้อยากมีชีวิตอยู่แล้วให้เธอชนะไป


    หรือจะเป็นตัวละครมีนยอ ที่รับบทโดยคุณคิมจูรยอง ที่เชื่อว่าถ้าใครดูหนังหรือซีรีส์ฝั่งเกาหลี น่าจะคุ้นหน้าเขากันอยู่นะ  หญิงวัยกลางคนผู้ที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ชนะ อยู่กับทีมไหนก็ได้เพื่อให้เธอเป็นผู้ชนะ เอาจริง ๆ เราชอบการตัดสินใจตายเพราะล้างแค้นนะ คนอาจจะรู้สึกว่าไม่สมเหตุผลอะไรก็ตาม แต่เราว่าในชีวิตคนนึงที่รู้ว่าตัวเองคงไม่ได้เป็นผู้ชนะแล้วก็ขอเอามันลงสักทีแหละว่ะ เนี่ย มันก็มนุษย์ดี มันดูไร้ทิศทางมาก ๆ เราว่ามันไม่ใช่การตายเพื่อความรักอะไรทั้งนั้น มันคือความแค้นอะ เลยแบบว้าว  


    “ในโลกทุนนิยมนี้อำนาจแห่งเงินตราทำให้ต้องเอาชีวิตวางไว้เป็นเดิมพัน”


    สำหรับเรา squid game เป็นซีรีส์ใช้สิ่งที่คลิเช่อย่างเกมเซอไววัลที่ทำกันไม่รู้กี่เรื่องมาวิพากษ์ระบบทุนนิยมได้น่าสนใจมาก ด้วยความที่มันโปรยเรื่องว่าเป็นเกมทำให้เราไม่ได้คาดหวังอะไรกับมันไปมากกว่าความสนุกจากเกม แต่ตัวเกมกลับไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสนุก ไปเหมือนเรื่องอื่น ๆ มันทำให้เรารู้สึกหดหู่ที่ต้องมาดูคนอับจนหนทาง ผู้พ่ายแพ้ในสังคมทุนนิยมเอาชีวิตมาแลกกับจำนวนเงินที่จะทำให้เขาเป็นผู้ชนะในโลกแบบนี้

    การที่ตัวเกมให้คนเลือกที่จะเลิกเล่นได้ผ่านการโหวตนี่เราว่าน่าสนใจดี ที่เกมดูจะพูดในแง่ของการให้เจตจำนงเสรี (แบบไม่เต็มร้อยเพราะก็แอบฝังชิปไว้) ให้ผู้เล่นได้ตัดสินใจเมื่อเราต้องเลือกระหว่างชีวิตกับเงินและผลที่ออกมาก็ช่างเฉียดฉิวว่าในช่วงแรกคนก็เห็นด้วยว่าชีวิตของเรามีค่ามากเกินกว่าที่จะมาทิ้งไว้ในเกมเพื่อเงิน และเป็นการที่ได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักกับตัวละครหลัก ๆ ด้วย

    แต่ก็อีก สังคมทุนนิยมก็ได้บีบพวกเขาอย่างไม่ปราณี แม้ว่าตัวกีฮุนตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตจน ๆ พร้อมกับมีหนี้ไปเรื่อย ๆ ดีกว่าจะกลับไปเล่นเกมแบบนั้น แต่การป่วยของแม่ก็ทำให้เขาจำเป็นต้องกลับไปหาเงิน เมื่อชีวิตไม่ได้มีเพียงหนี้ แต่ยังมีการรักษาไว้ซึ่งชีวิตของคนที่เขารักอีกด้วย และการที่มีพาร์ทดราม่าตรงนี้ทำให้เซอร์ไววัลที่สุดแสนจะคลิเช่เราคุ้นตากลายเป็นซีรีส์ที่แสนจะเกาหลี๊ เกาหลีขึ้นมาทันที 5555


    อีกสิ่งที่เราประทับใจมากคือการที่ตัวละครไปแจ้งตำรวจ ใช่แล้วค่ะ กีฮุนเขารู้สึกว่าเกมที่เขาไปเล่นในตอนแรกเนี่ยมันพิลึกมาก แล้วมีคนตายด้วยเลยไปแจ้งตำรวจ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราอยากเหน้ในเกมเซอร์ไววัลมาตลอด 555555 ก็ตามคาดตำรวจรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่ได้สนใจติดตามอะไรมาก ก๋็เป็นการวิจารณ์ตำรวจในแบบฉบับซีรีส์เกาหลีเบา ๆ  ผ่านไดอะล็อคเล็ก ๆ ที่ว่าตำรวจก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่ถ้ามองตามมุมพี่ตำรวจหน่อยก็อย่างว่าแบบว่าใครมันจะไปทำแบบนั้นกัน แต่เขาก็ยังลองโทรตามเบอร์ที่กีฮุนบอกนะ (ซึ่งเอาจริงแล้วถ้าเกิดเรื่องนี้ขึ้นในประเทศเรา ไม่น่าจะมีใครฟังด้วยซ้ำ 5555)  มันเลยเป็นการย้ำนิสัยเขาเลยว่า เออเขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นปัญหาจริง ๆ แต่การกลับไปเล่นของเขาคือเพราะโลกมันบีบให้เขาไม่มีทางเลือก


    และการที่ผู้เล่นตัดสินใจกลับมาเล่นเกมก็ยิ่งสะท้อนสิ่งที่เราคิดว่าเรื่องพยายามจะบอกเรามาตลอดว่าในโลกทุนนิยมแบบนี้ เงินตรามีค่ายิ่งกว่าชีวิตของเราซะอีก ในเมื่อโลกข้างนอกที่การเป็นหนี้บีบบังคับให้พวกเขาต้องลองเอาชีวิตมาเสี่ยงแลกกับเงินดูสักครั้ง

    การที่เขาใช้เกมง่าย ๆ ในการเล่นนี้เป็นอะไรที่เราชอบมาก เพราะรู้สึกว่าเมื่อเกมมันง่าย เราจะย้ายความสนใจจากกติกาของเกมไปสู่ตัวละครมากขึ้น และนั่นทำให้เราสนใจตัวละครแต่ละตัวในฐานะของมนุษย์มากกว่าการเป็นเพียงผู้เล่นเกมเพื่อตอบสนองความสนุกของเรา และพอได้คุยกับเพื่อนก็เลยมีความคิดเห็นที่น่าสนใจ เพื่อนเราคิดว่าการทำแบบนี้ทำให้เขากันเราออกจากการเป็นพวกเดียวกับคนรวยที่นั่งจิบไวน์ดูการดิ้นรนของมนุษย์เป็นเพียงเกมนะ - คุณเมจิ (@meijiww, 2021)  ซึ่งเราก็เห็นด้วย ยิ่งเขาเล่าให้เรารู้สึกถึงความลำบากของแต่ละตัวละครที่ถูกกดทับด้วยทุนนิยมแล้วมันยิ่งทำให้เราเห็นได้ถึงความไม่ยุติธรรมที่สังคมทุนนิยมมอบให้แก่พวกเขา (และพวกเรา)

    อ้อ พูดเรื่องปิตาธิปไตยหน่อย จริง ๆ เราแอบติดใจเหมือนกัน ที่ให้ผู้หญิงลงมาร้องขอชีวิตก่อนหลายคน แล้วผู้ชายค่อยลงมา แบบก็นิดนึง แต่ก็คิดว่าตีความได้หลายแง่อยู่ (เห้ย ไม่ได้ดีเฟนด์นะ 55555) อาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนแนวความคิดปิตาธิปไตยจริง ๆ หรืออาจจะทำเพื่อเสียดสีว่าต้องรอผู้หญิงลงมาร้องขอก่อน ผู้ชายถึงจะกล้าลงมาบ้างก็ได้ แต่ในหลายๆ ส่วนที่คนอื่นสัมผัสถึงความปิตาธิปไตยในเรื่อง ก็คิดว่าอาจจะรู้สึกได้ ในแง่ของการที่เรื่องมันเป็นงาน male lead จัด ๆ เลยอาจจะไม่ค่อยโอเคกับวิธีการเอาตัวแซบยอกออกจากเกมไรงี้ (ก็จริงมันตัดออกโง่มาก แต่เราไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น คิดว่าเป็นแค่การตัดตัวละครออกเฉย ๆ แตถ้าจะมองก็ได้แหละ) เอาจริงแล้วเรื่องเพศในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกเล่าอย่างคลุมเครือจริง ๆ ว่าเขาต้องการสะท้อนสังคมปิตาธิปไตยหรือเป็นมายด์เซตของคนเขียนบท 


    เราคิดว่าการที่ตัวเรื่องและทีมงานคุมเกมพยายามจะเน้นย้ำและพร่ำบอกเรื่องความเท่าเทียมภายใต้กติกาเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกเกมที่มีคนได้เปรียบเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดเช่นชักกะเย่อก็แสดงความย้อนแย้งของพวกคนชั้นบน ๆ ได้น่าสนใจดี ว่าระบบที่เซตโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมันจะมีความเท่าเทียมตามที่เขากล่าวอ้างจริงหรอ 



    ความเท่าเทียมที่ไม่มีอยู่จริงยิ่งแสดงให้เห็นได้ชัดผ่านการที่แต่ละตัวละครใช้ความสามารถที่มีของตัวเองที่มีแตกต่างกันตามสถานะทางสังคมเพื่อที่จะนอกกติกาเพื่อทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวละครหมอลักลอบผ่าตัดค้าอวัยวะให้แก่คนงานเบื้องหลังหน้ากากเพื่อแลกกับคำใบ้ในเกมถัดไปก็ดี การใช้ความชำนาญของแซบยอกในการไปส่องเพื่อหาคำใบ้ การใช้กำลังเพื่อทำตัวกร่างเป็นเครื่องมือของอำนาจอย่างด็อกซู หรือการที่ตัวซังอูใช้การที่ตัวเองมีเครดิตจากที่กีฮุนคอยป่าวประกาศถึงการศึกษาเขามาตลอด เป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเอาเปรียบเรื่องบางอย่างอยู่เสมอ  

    แต่การใช้ความสามารถที่เล่าออกมาได้เราประทับใจมากที่สุดถูกเล่าผ่านเกมแผ่นกระจก ด้วยการใส่ดีเทลตัวละครที่เป็นอดีตพนักงานโรงงานกระจกที่สังเกตได้ว่ากระจกแผ่นไหนเป็นกระจกนิรภัยได้ ซึ่งเป็นความสามารถที่ได้มาจกการที่ต้องทำงานในโรงงานกระจกมา 30 ปี ได้มาจากการทำงานจริง ๆ  แต่อิพวกคนรวยหรือทีมงานนึกไม่ถึงด้วยซ้ำ ว่าคนที่ถูกมองว่าเป็นผู้แพ้ในโลกทุนนิยมแบบนี้จะมีความสามารถพิเศษอะไรแบบนี้ อาจจะเป็นเลนส์คนข้างบนในพีระมิดทุนนิยมนี้ที่มองคนในเกมเป็นเพียงเบี้ยที่หน้าตาเหมือนกัน ๆ ก็เป็นไปได้

    นอกจากความได้เปรียบที่แต่ละคนมีแล้วนั้น ยังมีความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นด้วย อย่างการที่หยิบการละเล่นของเด็กชาวเกาหลีใต้มาเพื่อเป็นเกม ทำให้คนที่ไม่ได้เป็นชาวเกาหลีใต้เสียเปรียบในการเข้าใจถึงวิธีเล่น หรือทริคต่าง ๆ ที่คนอื่นมี อย่างแซบยอกที่เติบโตในทางเหนือ และอาลี ชายแรงงานต่างชาติ


    เอาจริง ๆ จากการที่เรื่องมันเล่าถึงความสิ้นหวัง และการแก่งแย่งชิงดีกันของคนข้างล่างที่เป็นผู้พ่ายแพ้ให้กับทุนนิยมมาตลอดทั้งเรื่องนั้นทำให้สำหรับเราแล้วฉากที่คนรวยมานั่งจิบไวน์ดูเลยเบาไปเลย แต่ในความรู้สึกที่ดูจะเฉยแล้ว ก็ยังชอบการที่เอาคนมาประดับตกแต่งเพื่อให้พวกอิแก่คนรวยได้รู้สึกสวยงามอยู่ดี แบบว่าในตอนที่รู้สึกว่าอิพวกนี้มันจะลดค่าความเป็นมนุษย์ได้มากกว่านี้อีกหรอ แล้วเรื่องก็ส่งฉากนี้มาเพื่อบอกว่าสามารถลดค่าของมนุษย์ได้มากกว่าที่คิดอีกนะ นี่ไงละ


    ตอนจบที่หลาย ๆ คนบ่นกันถึงความไม่สมเหตุสมผลต่าง ๆ คือโดยส่วนตัวแล้ว มันคือความจวนตัวอย่างถึงที่สุด เขารู้ว่าเขาไม่สามารถที่จะอยู่แบบชนะได้แล้ว และก็มัั่นใจมากว่าตัวกีฮุนเองนั้นจะตัดสินใจไม่เอาเงินและพาพวกเขาทั้งคู่กลับบ้านโดยที่ไม่ได้อะไรกลับไปเลยนอกจากลมหายใจ เขาเลยตัดสินใจที่จะตัดสินใจแลกลมหายใจของตัวเองกับเงินรางวัล ที่เชื่อว่าคนแบบกีฮุนจะต้องเอากลับไปให้แม่เขาแน่นอน

    เป็นฉากที่เราดูแล้วถอนหายใจไม่หยุด สำหรับเราแล้วการตัดสินใจของซังอูคือการตอกย้ำถึงสิ่งที่ซีรีส์พยายามบอกเรามาตลอดว่า ผ่านตัวละครที่ชาญฉลาด ตระหนักคิดอย่างรอบคอบ และอยากเป็นผู้ชนะมาตลอดทั้งเกมนี้ให้เขาตัดสินใจเป็นผู้แพ้เพื่อที่จะได้เงินกลับไปหาแม่ ที่เขารู้สึกผิดด้วยมาตลอดแทนชีวิตเขา ราวกับว่า เงินตรามีค่ามากว่าลมหายใจของตัวเขา ลูกชายผู้มีคดีและหนี้




    พาร์ทของการพาไปสำรวจเบื้องหลังของทีมงานทำเกมน่าสนใจมาก โดยส่วนตัวแล้วเราประทับใจมากที่เขาเล่าว่าทีมงานเบื้องหลังเขาทำงานกันอย่างไง ศพของผู้ที่พ่ายแพ้จัดการยังไง ผ่านตัวละครของคุณตำรวจที่พาเราไปทัวร์ดูเบื้องหลังของเกมเซอร์ไววัลนี้ซึ่งเป็นสู้ที่เราอยากรู้มาตลอด ตัวละครของคุณตำรวจดูแล้วคิดถึงโลแกนลีใน penthouse มาก สายลับร้อยหน้าที่แบตมือถือไม่หมดสักที แถมยังดำสคูบาเป็นด้วย โอ๊ยเทพอะไรเบอร์นี้ 555555


    จริงๆ แล้วชอบการที่เซตให้ฉากต่าง ๆ ให้มันดูแฟนตาซี สดใสขัดกับเนื้อเรื่องอยู่นะ เราว่ามันทำให้เรื่องดูง่ายขึ้น แบบว่าคนเราไม่ได้ต้องมาหลับตาปี๋เพราะกลัวว่าจะเจอฉากน่าสยดสยองเท่าไหร่ แต่ขนาดเขาทำแบบนี้แล้ว เราว่ามันก็ยังมีฉากที่ดูแล้วขนลุกอยู่ดี ยิ่งตอนผ่าตัดอวัยวะคือ TTOTT แต่งานอาร์ตเขาทำเราประทับใจอยู่นะ



    ลำดับชนชั้นของทีมงานก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ ภายใต้การพยายามสร้างเกมให้ยุติธรรม ทุกคนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันแล้ว แต่ตัวทีมงานที่ทำการควบคุมดูแลระบบกลับถูกจัดกันเป็นระบบชนชั้นในที่ทำงาน เและเป็นจุดที่ยิ่งเน้นย้ำว่าสิ่งที่เกมคอยพยายามพร่ำบอกว่าการอยากสร้างความยุติธรรมไม่มีอยู่จริงเป็นเพียงแค่การสร้างมาเพื่อตอบสนองความตื่นเต้นให้กับคนรวยที่เป็นผู้ชนะในระบบทุนนิยมแบบนี้ ที่สุขสบาย ไม่ต้องคิดแล้วว่าชีวิตนี้จะต้องดิ้นรนหาเงินยังไง จนขาดความตื่นเต้น และการพยายามสร้างความยุติธรรม หรือการสงเคราะห์เศษเงินลงมาให้แก่ผู้พ่ายแพ้ เป็นเพียงการหาเหตุผลประกอบเพื่อให้ตัวเองรู้สึกชอบธรรมที่จะทำเกมแบบนี้เท่านั้นเอง เอาจริง ๆ แล้วพอพูดแบบนี้เราก็แอบคิดถึงพวกโครงการ CSR จากพวกนายทุนหน่อย ๆ แหะ (lol) 


    ในเรื่องของการที่การควบคุมไม่รัดกุม สำหรับเราคิดว่าคนภายใต้ชุดสีแดงก็เป็นเพียงลูกจ้างในระบบเหมือนกัน เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำงานดีอะไรมากมาย ในเรื่องนี้พวกคนรวยมันไม่ได้ฉลาดอะไรมากมายนักอะค่ะ เพียงแค่มีเงิน และก็แค่อยากทำเพราะว่าสนุก ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เอาจริงชอบการที่มีฉากลักลอบขายอวัยวะมาก รู้สึกว่า เงินมันอาจจะไม่พอหรือเปล่า แบบว่าทำไมมาเป็นทีมงานเกมพวกนี้แล้ว ก็ยังต้องดิ้นรนหาเงินกันอีก แม้กระทั่งการส่งอวัยวะออกไป

    ในส่วนของตอนจบเราดีใจที่เรื่องยังทิ้งความหวังไว้กับตัวมนุษย์อยู่บ้าง ในฉากที่ยืนพนันกันจากบนตึกว่าจะมีคนมาช่วยเหลือโฮมเลสที่นอนหนาวท่ามกลางหิมะไหม ดูแล้วก็น่าเศร้าที่ความลำบากของใครคนนึงเป็นเพียงเกมการพนันในสายตาของคนที่มองลงมา แต่เราก็แอบคิดว่าถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีใครช่วยตัวกีฮุนอาจจะลงไปช่วยก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ เรื่องอาจจะเลือกทิ้งความหวังไว้ในตัวมนุษย์คนอื่นที่ไม่ใช่กีฮุนดูบ้าง

    แม้ว่าจะมีการเทียบเกมในครั้งนี้กับการพนันม้าของกีฮุน แต่เราว่ามันต่างกันอยู่นิดหน่อยตรงที่ความสนุกของคนรวยที่จัดเกิดขึ้นคือการเห็นคนมาดิ้นรนเพื่อเอาเศษเงินที่เขาโปรยให้ แต่ตัวกีฮุนมีความสุขเพราะได้เงินรางวัลจาการที่ทายถูก มันเลยอาจจะเป็นความเหมือนที่ไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่นัก


    แล้วก็คนอาจจะรู้สึกว่าการจบแบบที่ตัวกีฮุนจะกลับมาเล่นยุ่งเกี่ยวกับเกมอีกดูแปลกไปหน่อย แต่เราโอเคนะ เพราะรู้สึกว่าคนที่ผ่านเกมแบบนั้นมาได้คือไม่มีทางเหมือนเดิมกับวันแรกที่เขาเข้าไปแน่นอน อาจจะเป็นไฟแค้นที่เต็มตาไปหมดก็เป็นไปได้ เราคิดว่าเขาคงคิดว่ามันจบแล้วหลังจากอิแก่โฮสต์เกมตายไป แต่พอเจอกงยูที่สถานีรถไฟก็คงเป็นสิ่งทีไม่คาดคิดเหมือนกัน 


    Squid Game อาจจะไม่ใช่ซีรีส์ที่หลายคนจะชอบมันในฐานะซีรีส์เกมเซอร์ไววัล แต่ในฐานะที่เป็นซีรีส์ที่ใช้ความเป็นเกมเซอร์ไววัลวิพากษ์ระบบทุนนิยมอันเส็งเคร็ง และการที่มองเป็นภาพระบบใหญ่นี่แสนจะเกาหลีมาก เราว่ามันทำงานได้ดีเลย ความหดหู่ที่ต้องเห็นคนที่เป็นหนี้ เป็นผู้พ่ายแพ้ให้กับทุนนิยมเอาชีวิตมาวางเป็นเดิมพันเนี่ย ทำให้เราขมคอไปหมด ตลอดการดู มันกลายเป็นว่าเราไม่่ได้คาดหวังเกมที่สนุกแต่เราเอาใจช่วยตัวละครเพราะอยากเห็นเขาเป็นผู้ชนะบ้าง 


    ดูจนจบแล้วก็ได้แต่หวังว่าโลกทุนนิยมใบนี้จะใจดีกับพวกเราที่เป็นเพียงมดงานในระบบขึ้นอีกหน่อยในระหว่างที่สังคมกำลังพยายามหาฉันทามติในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันนี้ 


    ---------------------------------------

    เช่นเคย ขอบคุณทุกคนที่อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ เราอาจจะตกหล่นไปในบางประเด็น มีบางประเด็นที่เรานึกไม่ถึง หรือคิดเห็นยังไงก็ทิ้งคอมเม้นไว้พูดคุยกันก็ได้นะคะ อะไรที่ผิดพลาดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

    Squid Game ไม่ใช่ซีรีส์ original Netflix จากเกาหลีในปีนี้ที่เราชอบที่สุดแน่นอน (แม้จะเห็นเราเขียนอวยขนาดนี้) เพราะเราชอบ DP มากกว่าค่ะ 555 แต่ในแง่ของการวิพากษ์สังคมทุนนิยมผ่านเกมส์เซอร์ไววัล นี่ก็เป็นความคลิเช่ที่ไม่คลิเช่ที่ทำเราประทับใจจนมีคะแนนพิเศษในใจให้เลย

    หลังจา่กดู Squid Game แล้ว เราก็ขอฝาก DP ไว้ในอ้อมใจทุกคนด้วยนะคะ 5555

    ปล. หลังจากดู squid game แล้วชอบพี่จองแจเราก็ขอฝากให้ลองแกล้ง ๆ ไปดู New world ค่ะ หรือถ้าชอบคุณตำรวจหน้ามนที่ได้วีฮาจุนมารับบทก็ฝาก midnight ที่จะเข้าโรงหนังต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ไว้ด้วยค่ะ

    ปล 2. สำหรับใครที่ตกใจกับเบื้องหลังหน้ากาก frontman ว่าได้ระดับนี้มาเล่นเลยหรอ ก็จะบอกว่าเขากับผู้กำกับคนนี้เคยร่วมงานกันใน the fortress ค่ะ และเช่นเดียวกันกับกงยูที่เคยได้ร่วมงานกับผู้กำกับคนนี้ในเรื่อง Silenced (2011) ก็ลองไปหาดูกันได้นะคะ หนังดีทั้งคู่เลย เราชอบมาก


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in