1
รุ่นน้องคนหนึ่งมีอาหารกลางวันแปลกตากว่าคนอื่นเขา คือ เป็นข้าวกล้อง น้ำพริกผักต้ม ไข่ต้ม และหมูทอด มากกว่าโรงอาหารหรือร้านแถวออฟฟิศจะมี
เธอบอกว่าช่วงนี้เธอทำกับข้าวมากินเอง ทำให้ได้กินอาหารดีๆ เลือกทำได้ ไม่มีมันหรือมีรสจัดเกินไป
ผมถามเธอว่าแล้วมีเวลาเหรอ เพราะตอนเช้าต้องรีบมาออฟฟิศสแกนนิ้ว 9 โมง เธอบอกเคล็ดลับว่า ทุกคืนเธอจะคิดเมนูและเตรียมวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า เตรียมทุกอย่างใส่ตู้เย็นไว้ พอตอนเช้าตื่นมาก็สามารถปรุงได้เลย ทำให้ประหยัดเวลาไปได้เยอะ ไม่เสียเวลาอย่างที่คิด
หากมาคิดและทำทุกอย่างตอนเช้า คงใช้เวลาเป็นชั่วโมง และถ้าต้องรีบมาออฟฟิศก็คงจะไม่ทันแน่ๆ
เรื่องการเตรียมวัตถุดิบไว้ตอนกลางคืน และแบ่งการปรุงไว้ตอนเช้า ทำให้ผมนึกถึงบางเรื่องขึ้นมา
2
เคยไหมครับที่ตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้เสร็จในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทำรายงาน เขียนหนังสือ ถ่ายคลิปลงยูทูบ โดยกำหนดเวลาไว้ชัดเจน แต่ว่าพอลงมือทำจริงตามที่วางแผนไว้ กลับไม่เสร็จ คิดไม่ออก ต้องเลิกทำหรือขยายเวลาออกไปมากกว่าที่คาด
ทำให้ไม่ได้งานตามที่ตั้งใจ หรือถึงได้ก็คุณภาพไม่ถึงเท่าที่คิดจนต้องทำใหม่ โดยเฉพาะถ้าใครเป็นพวกเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิส นักสมบูรณ์แบบด้วย งานที่ว่าอาจไม่คืบหน้าเลย
จากประสบการณ์นักเขียนหลายคนที่ฝึกเขียนหนังสือ มักประสบปัญหาตรงกันคือ เวลานั่งลงเขียนกลับคิดเรื่องไม่ออก พล็อตตัน ไม่รู้จะเขียนอะไรดี ได้แต่นั่งมองหน้าจอว่างเปล่าอยู่แบบนั้น เนิ่นนาน ทำให้รู้สึกว่า การเขียนหนังสือเป็นงานที่ยากเย็นเหลือเกิน เพราะเขียนได้ช้า งานไม่คืบหน้า
พอมองไปที่นักเขียนบางคน หรือคู่แข่ง จะพบว่า อีกฝ่ายเขียนหนังสือและสร้างออกผลงานได้มากมายจนน่าอิจฉา
คุณอยากรู้ไหมครับว่านักเขียนอาชีพเหล่านั้นทำได้อย่างไร
3
รุ่นพี่นักเขียนอาชีพคนหนึ่งเคยแนะนำว่า เขาจะมีสมุดเล่มหนึ่งไว้สำหรับจดพล็อตหรือไอเดียที่เข้ามาโดยเฉพาะ โดยเป็นสมุดที่แยกจากบันทึกและงาน คือ มีไว้สำหรับจดพล็อตหรือประเด็นที่น่าสนใจ และคิดได้ไว้อย่างเดียว
เพราะหลายครั้งไอเดียมักจะมาตอนที่เขาเผลอ ทำงานอยู่ หรือยุ่งมาก ทำให้ตอนนั้นนั่งลงเขียนไม่ได้ และลืมมันไป
ขณะที่ช่วงที่มีเวลาเขียนจริงจังในวันเสาร์อาทิตย์ เขากลับคิดเรื่องไม่ออก และใช้เวลาคิดนานมากจนแทบจะไม่ได้เขียนเลย
ตอนหลังที่เปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ คือ วันเสาร์อาทิตย์ที่มีเวลาเขียน เขาจะเปิดสมุดวัตุดิบที่เตรียมไว้ แล้วเลือกประเด็นหรือไอเดียที่จะเขียนออกมาเลย ทำให้เขียนงานออกมาได้ทุกครั้ง แทบไม่มีสะดุด หรือต้องเสียเวลาคิดนานๆ อีกแล้ว เพราะระหว่างสัปดาห์เขาได้ร่างประเด็น และไอเดียที่อยากจะเขียนไว้ล่วงหน้า
4
มีคนเคยบอกว่าการสร้างที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง
หนึ่ง คือในหัว ในความคิดก่อน และในขั้นตอนนี้เราต้องร่างสิ่งที่จะทำออกมาคร่าวๆ หรือจดมันไว้ในสมุด เหมือนสถาปนิกที่วาดแบบออกมา
ส่วนครั้งที่สอง เกิดขึ้นตอนลงมือทำจริง คือ เอาแบบที่ร่างไว้ มาสร้างเหมือนตอนที่ผู้รับเหมากางแบบแปลนของสถาปนิกแล้วลงมือสร้างมันตามนั้น
สำหรับใครที่ตั้งใจทำอะไรแล้วไม่เสร็จ ไม่คืบหน้าเสียที อาจเพราะเราลงมือทำเพียงครั้งเดียว
แต่จำไว้ว่า การสร้างที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้น 2 ครั้งครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in