เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวในมุมสังคมวิทยาSaGaZenJi
ชวนคิดถึงความตาย: หลากทัศนะของการตายดีในสังคม
  •        ความสนุกอย่างหนึ่งของการเรียนสังคมวิทยาคงหนีไม่พ้นการได้ลงพื้นที่ (field work) ไปสอดส่องสังคมโดยใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ผมเองมีโอกาสลงพื้นที่อยู่หลายครั้งตลอด 4 ปีที่ศึกษาอยู่แต่ครั้งที่ผมรู้สึกประทับใจที่สุดคือตอนที่ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต การลงพื้นที่ครั้งนั้นทำให้ผมในวัย 23 ต้องกลับไปทำความเข้าใจเรื่องตายๆ เสียใหม่ พร้อมกับคำถามในหัวมากมายถึงชีวิตบั้นปลายที่ผมเองก็หวั่นลึกๆ ว่าจะจบไม่สวยอย่างที่ผมได้ไปรับรู้มาหรือเปล่า?

           บทความในครั้งนี้เป็นบทความที่ผมอยากเชิญผู้อ่านกลับไปนึกถึงความตายผ่านมุมมองทางสังคมวิทยาวัฒนธรรม (cultural sociology) ซึ่งเป็นสาขาที่มองและทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ในสังคมผ่านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมหรือเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเพื่อให้ได้มุมมองที่ลึกซึ้งในสิ่งที่ศึกษา ประเด็นที่ผมอยากชวนผู้อ่านหันกลับมามองในครั้งนี้คือเรื่องของ "การตายดี" ซึ่งถ้ามองกันอย่างละเอียด เราจะพบว่าสังคมได้สร้างภาพการตายที่ดีไว้หลายมิติ และมิติเหล่านั้นมักจะผูกโยงเข้ากับบริบททางประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมเสมอ ๆ

           บทความชิ้นนี้มีสามส่วนแต่ละส่วนจะเป็นภาพความตายในบริบทสังคมต่างยุคต่างสมัย โดยในส่วนแรกผมจะนำผู้อ่านกลับไปมองความตายในยุคที่โลกเพิ่งจะมีอารธรรมต่างๆ เกิดขึ้นมา ในส่วนถัดมาผมจะเสนอภาพความตายในยุคกลางถึงก่อนสมัยใหม่ในสังคมยุโรปซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคที่ภาพความตายมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาเป็นอย่างมาก ในส่วนสุดท้ายผมจะชวนผู้อ่านมองการตายดีในสังคมปัจจุบันที่อยู่ในกำมือของการแพทย์สมัยใหม่ว่าจุดจบของชีวิตที่ดีในยุคที่เทคโนโลยีีทางการแพทย์พยายามทำให้คนไม่ตายเป็นอย่างไร

    การตายที่ดีคือการตายที่ฟื้นกลับมาใหม่

           ในอดีต ความตายถูกออบโล้มด้วยปกรนัมเทพเจ้า สังคมต่างๆ ในยุคนั้นมีความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังตายไปแล้ว ในสังคมกรีก เพลโต (trans. 1976) ได้สะท้อนความเชื่อนี้ผ่านแนวคิดเกี่ยวกับหนทางไปสู่ความรู้อันบริสุทธิ์สูงสุด แนวคิดนี้เชื่อว่าการได้ความรู้อันบริสุทธิ์สูงสุดสามารถกระทำได้เฉพาะตอนที่ความตายได้แยกดวงวิญญาณออกจากร่างไปแล้วเท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้จึงสร้างภาพความตายว่าเป็นภาวะที่จิตวิญญาณได้แยกออกจากกาย ผมขอกล่าวเช่นนี้ว่า ผู้คนในสมัยนั้นไม่ได้มองความตายเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวหรือไม่น่าอภิรมณ์แต่อย่างใด ในเชิงสังคมเอง หลายๆ อารยธรรมมีพิธีกรรมจัดเตรียมศพให้พร้อมสำหรับชีวิตหลัังความตาย ผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินเรื่องการทำมัมมี่มาบ้างไม่มากก็น้อย สิ่งที่ผมอยากชวนให้ลองคิดคือ พิธีกรรมการทำมัมมี่เองก็จัดว่าเป็นพิธีการที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดหลังความตายเหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตาย "แค่" ออกจากร่างไป การทำพิธีศพจึงไม่ใช่การเผา อารยธรรมต่างๆ ในยุคนี้ล้วนใช้การฝังโดยบรรจุในหีบหรือโลง นอกจากนี้ในบางอารยธรรมเช่น อารยธรรมจีน มีการสร้างวัตถุ อาทิ เครื่องใช้ไม้สอยไว้รอบๆ ตำแหน่งที่ขุดหลุมฝังศพโดยเชื่อว่าผู้ตายจะได้ใช้ของเหล่านี้ในภพภูมิหลังความตาย

           การตายดีในสมัยนี้จึงหมายถึงการที่ศพได้รับการปรนนิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อใช้ชีวิตในภพภูมิหลังความตายอย่างราบรื่น การปรนนิบััตินี้ โดยปกติเป็นเรื่องส่วนตัวที่ทำกันภายในครอบครัวและคนสนิทเท่านั้น ผมอยากชวนให้ผู้อ่านคิดตามว่าอันที่จริงแล้วเรื่องของความตาย การตาย และการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การตายที่ดีเป็นเรื่องในพื้นที่ส่วนตัวมาโดยตลอด ภาพการรับแขก หรือป่าวประกาศพิธีฌาปณกิจศพแบบทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานเมื่อเทียบกับขนบเช่นนี้

           ในส่วนถัดไปผมจะนำผู้อ่านไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับความตายในสังคมก่อนสมัยใหม่ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตกที่แนวคิดเกี่ยวกับความตายมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาอย่างมากในช่วงนี้

  • การตายที่ดีคือการตายอย่างโรแมนติก

           Philippe Ariès (1974) ระบุว่าในช่วงยุคกลางจนก่อนถึงสมัยใหม่แนวคิดเกี่ยวกับความตายในสังคมตะวันตกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่งจนสามารถแบ่งได้ออกเป็นสามช่วงย่อยๆ ได้แก่ ช่วงแรกในระหว่างศตวรรษที่ 6 - 12 ช่วงถัดมาประมาณต้นศตวรรษที่ 12 - 17 และช่วงสุดท้ายราวๆ ศตวรรษที่ 17-20

           ในวัฒนธรรมตะวันตกระหว่างศตวรรษที่ 6 - 12 มองความตายว่าเป็นจุดจบร่วมกันของมนุษยชาติ สังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดรูปแบบพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายให้เป็นไปตามครรลองเดียวกันผ่านความเชื่อทางศาสนา ในยุคนี้ศาสนจักรมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดเกี่ยวกับความตาย โบสถ์กำหนดขั้นตอนการประกอบพิธีส่งวิญญาณผู้ตายไปจนถึงกำหนดแนวคิดการใช้ชีวิตของคนในสังคมเพื่อนำไปสู่การตายที่ดี ในยุคนี้ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้หวาดกลัวต่อความตายเช่นเดียวกับยุคก่อน ในทัศนะของผมคิดว่าเกิดจากประสิทธิภาพของการรักษาคนป่วยที่ไม่ก้าวหน้าพอที่จะรับมือกับความตายจากโรคภัยไข้เจ็บรวมถึงโรคระบาดหนักๆ ได้ ภาพบ้านนู้นบ้านนี้ตายหรือภาพคนตายคราวเดียวทีละมากๆจึงเป็นเรื่องที่ยังชินตาสำหรับคนในสมัยนั้น

           การตายที่ดีในช่วงนี้จึงเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาและประพฤติตนให้อยู่ในร่องในรอย ผมชวนผู้อ่านคิดแบบนี้ว่า ศาสนาในยุคนี้มีผลกับการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมมากขนาดนี้เพราะความศรัทธาต่อสถาบันทางศาสนา รวมถึงการแสดงแสงยานุภาพของสถาบันศาสนาผ่านกิจกรรมต่างๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ศาสนจักรมีอำนาจเหนืออาณาจักร กษัตริย์จำเป็นต้องถวายสัตย์ต่อหน้าพระสันตะปาปาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ก่อนขึ้นครองราชย์ ชุดความเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์เป็นชุดความเชื่อหลักที่ผู้คนสมัยนั้นนึกถึงเมื่อคิดถึงบั้นปลายของชีวิต ภาพการตายดีจึงเป็นภาพที่คนคนหนึ่งใช้ชีวิตตามคำสอนและได้ขึ้นสวรรค์ไปอยู่ในอ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าตามที่ตนเองได้ลงทุนลงแรงมาทั้งชีวิต ที่น่าสนใจคือแนวคิดนี้เป็นแนวคิดแรกๆ ที่ทุนนิยมนำมาใช้ในการควบคุมมนุษย์ไม่ให้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของระบบ หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมอยากแนะนำผู้อ่านที่สนใจในประเด็นนี้คือ Protestant Ethics and Spirit of Capitalism ในหนังสือเล่มนี้ Max Weber หนึ่งในนักคิดคนสำคัญของสังคมวิทยาได้อธิบายความสัมพันธ์ของแนวคิดลัทธิหนึ่งในนิกายโปรเตสแทนต์ที่ช่วยส่งเสริมทุนนิยมทางอ้อมผ่านการเปลี่ยนวิถีปฏิบัติ ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นวิถีเพื่อนำไปสู่การตายที่ดีแล้วยังเป็นวิถีที่เอื้อต่อทุนนิยมเพื่อสร้างภาพตัวมันเองให้ดูเป็นเรื่องที่ดีอีกด้วย ผมคงไม่สามารถพูดรายละเอียดทั้งหมดของเรื่องนี้ได้ในบทความชิ้นนี้ จึงขอใช้คลิปเป็นตัวช่วยเล่าแทนแล้วกันนะครับ


           ในช่วงถัดมาคือราวศตวรรษที่ 12 - 17 หลังความเสื่อมถอยของศาสนจักรและความศรัทธาในตัวสถาบันศาสนาที่ลดลงเรื่อยๆ การตายเริ่มกลับมาเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลอีกครั้ง อีกทั้งการเข้ามาของแนวคิดวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 16 ยิ่งทำให้ความตายถอยห่างออกมาจากดินแดนศักสิทธิ์มากขึ้นไปอีก การตายที่ดีในช่วงนี้คือการอิ่มเอิบกับการใช้ชีวิตก่อนตายอย่างคุ้มค่าและตายไปอย่างสมเกียรติ พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเริ่มเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ส่วนตัวมายังพื้นที่สาธารณะ กล่าวคือ ความตายไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันภายในหมู่คนสนิทอีกต่อไป แต่เป็นพิธีที่เชิญชวนให้คนที่รู้จักหรือคลุกคลีกับผู้ตายในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตมาร่วมแสดงความไว้อาลัย ผมชวนผู้อ่านมองอย่างนี้ว่า ในช่วงนี้งานศพและพิธีต่างๆ เริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนสถานภาพทางสังคมรูปแบบหนึ่ง งานศพของคนมีอันจะกินกับปุถุชนคนธรรมดาเริ่มมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามทรัพยากรการเงินที่มี ของอย่างโลงศพก็ดี ป้ายหลุมศพก็ดีสามารถใช้แสดงสถานะทางสังคมของผู้ตายรวมถึงครอบครัวได้มากขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการล่าอาณานิคมและการสะสมทุนของพ่อค้าคนกลางในสมัยนั้น ซึ่งนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมด้านวัตถุและการแบ่งชนชั้นด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ

           ปลายศตวรรษที่ 17 ถึงจนจบศตวรรษที่ 19 ทัศนคติต่อความตายได้รับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในยุคนี้ความตายถูกมองเป็นศิลปะและเป็นสิ่งที่โรแมนติก ในกลอนหรือบทประพันธ์ต่างๆ กล่าวถึงความตายด้วยภาพที่สวยงาม เช่น ภาพของผีเสื้อที่ออกจากรังไหม หรือภาพความตายในอ้อมกอดของคนที่รัก หลักฐานชิ้นหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้ดีคือการถ่ายรูปศพหลังตาย (post-motem photography) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสหราชอาณาจักรประมาณต้นศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเช่นภาพต่อไปนี้
    ภาพจาก wikipedia       
    การถ่ายภาพหลังตายนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพที่ดีของผู้ตายแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ การตายที่ดีจึงเป็นการรำลึกถึงภาพของผู้ตายที่สวยงาม ในชุดสวยๆ ด้วยใบหน้าที่ดูมีความสุข ผมชวนพิจารณาอย่างนี้ว่า การทำเช่นนี้เป็นการพลิกรูปโฉมของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายไปอย่างมาก จากที่พิธีกรรมต่างๆ ทำเพื่อคนตาย ในยุคนี้พิธีต่างๆ กลับทำเพื่อคนเป็น ทำเพื่อลดความเสียใจของผู้ที่สูญเสียคนรัก หน้าที่ของพิธีกรรมจึงเปลี่ยนไปจากการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีกลายมาเป็นการปลอบประโลมญาติของผู้สูญเสียโดยการสร้างภาพว่าผู้ตายได้จากไปอย่างโรแมนติกที่สุดเท่าที่จะมีได้ 

           ในส่วนสุดท้ายผมจะกล่าวถึงความตายในยุคสมัยใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 21 ในยุคที่การแพทย์เข้ามามีบทบาทจัดการศพและแนวคิดเกี่ยวกับการตายเป็นอย่างมาก
  • การตายที่ดีคือการตายที่ห้อมล้อมไปด้วยคนที่คุณรัก

           จากอดีตที่ถูกโอบล้อมด้วยศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ ความตายในยุคปัจจุบันกลับอยู่ในกำมือของวิทยาศาสตร์อย่างหมดสิ้น การแพทย์สมัยใหม่เข้ามาแทรกแทรงความตายตั้งแต่ความตายยังเป็นแค่เค้าลางของผู้ป่วย ารแพทย์สมัยใหม่พยายามเลี้ยงความตายให้ช้าลงด้วยความพยายามในการยื้อชีวิตของผู้ป่วยโดยการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ การปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการตายที่ดีซึ่งถูกมองว่าเป็นการตายที่ได้ต่อสู้อย่างที่สุดแล้วกับยมทูต 

           ความตายในยุคที่การแพทย์สามารถทำนายและประเมินระยะเวลาที่คนหนึ่งคนจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ก่อนร่างกายจะหมดสภาพลงเป็นความตายที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมของมนุษย์มีมา ในยุคนี้ผู้คนต่างหวาดกลัวความตาย ความตายไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมณ์นักถึงขั้นที่ผู้ป่วยใกล้ตายถูกผลักไสไล่ส่งจากคนในครอบครัวให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาล โดยตรรกกะที่ว่าที่โรงพยาบาลมีอุปกรณ์รวมถึงบริการต่างๆ ที่พน้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยมากกว่าที่บ้าน โรงพยาบาลนอกจากเป็นที่รักษาคนป่วยแล้วยังเป็นที่เก็บซ่อนความตายอันน่ารังเกียจในความคิดของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

           เมื่อบุคคลเสียชีวิตที่โรงพยาบาล กระบวนการทางวิทยาศาสตร์กก็เริ่มแทรกแทรงการตายทันที หากไม่ใช่การตายด้วยการชราภาพ ร่างไร้วิญญาณของผู้ตายมักจะถูกชันสูตรอีกครั้งด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัด ในประเด็นนี้ผมชวนผู้อ่านมองอย่างนี้ว่า นี่เป็นยุคแรกๆ ที่ศพของผู้เสียชีวิตถูกปรนนิบัติเสมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง ศพไม่ได้ถูกมองว่ามีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนปกติ ความรู้วิทยาศาสตร์ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของร่างไร้วิญญาณลงด้วยการใช้วิธีการต่าง ๆ ทั้งในเชิงความรู้และการใช้คำอ้างถึงที่ไม่สะท้อนความเป็นมนุษย์ เช่น ในตำราพยาบาลจะเรียกศพว่า body มากกว่าการใช้คำว่า descreased ที่แปลว่าผู้ตายหรือผู้เสียชีวิต เป็นต้น

           ภาพที่น่าหดหู่ของความตายในกำมือของการแพทย์น่าจะเป็นภาพที่โหดร้ายระดับหนึ่ง เนื่องจากในทุกวันนี้การเคลื่อนไหวทางสังคมที่รณรงค์ให้การตายจบลงที่บ้าน รวมถึงการร่างกฎหมายให้สิทธิในการตัดสินใจที่จะจบชีวิตเป็นของผู้ป่วยทั้งหมดเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น งานวิจัยทางสังคมต่างๆ ในปัจจุบันพยายามหาหนทางที่จะเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่อยู่ในบั้นปลายของชีวิต การแพทย์เองก็มีการปรับตัวเหมือนกัน แนวคิดการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ได้รับการพูดถึงมากขึ้นและมีการนำไปปฏิบัติในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาดอย่างแพร่หลาย แรงขับเคลื่อนเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้ผมรู้สึกว่า สังคมในปัจจุบันพยายามกลับไปวาดภาพการตายที่ดีใหม่อีกครั้ง การตายที่ได้กลับไปอยู่ในที่ที่คุ้นเคยท่ามกลางคนที่รัก

           บทความนี้เป็นบทความที่ผมตั้งใจเขียนเพื่อเสนอภาพความตายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในสังคม ทว่ากลับไม่ได้กล่าวถึงสังคมไทยเลย อันที่จริงผมจงใจไม่กล่าวถึงเพื่อที่จะเชิญชวนผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ลองขบคิดจากไอเดียต่างๆ ที่ผมได้กล่าวไปดูว่าสังคมไทยเองมีภาพนี้หรือไม่? การตายดีของสังคมไทยเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในศตวรรษที่ผ่านมา? ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะมีคำตอบในใจกันบ้างไม่มากก็น้อย ถ้ามีไอเดียอยากเล่าหรือนำเสมอพื้นที่คอมเมนต์ข้างล่างนี้ยินดีเปิดรับความคิดเห็นของทุกคนนะครับ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in