สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
หลังจากหายไปนานมาก จึงอยากจะกลับมาสานต่อความตั้งใจของตัวเองในการบอกเล่าเทคนิคการเรียนเนติบัณฑิตของตัวเองที่เรียนปริญญาตรีไปด้วย ทำงานไปด้วยและเรียนเนติไปด้วย สามอย่างพร้อมกัน คะแนนไม่สวยเลย แต่ก็จบแล้ว!!! สมัยที่เจ็ดสิบสาม (๗๓) จ้า
เราเริ่มเรียนเนติฯในสมัยที่ ๗๑ ด้วยความที่เพิ่งจบนิติศาสตร์ พ่อขุนมาหมาด ๆ ไม่ทันได้นึกคิดอะไรทั้งนั้น ได้หนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยมาปุ๊บ ก็สมัครเลย นึก ๆ ดูก็เป็นการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่นและขาดสติที่สุดในชีวิตแล้ว(และเป็นเพราะด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาเช่นกัน)
จากบทความที่แล้ว เราบอกว่า เราพึ่งสำนักติวขาวิอาญาจนผ่านมาได้ในสมัยที่ ๗๒ ซึ่งตอนนั้นเราเรียนอยู่ปีสามที่คณะแม่นกยูง ติดถนนอังรีดูนังต์ และรู้สึกอยากจะผ่านมันไปเร็ว ๆ เลยสมัครติวมันเสียแล้ว ก็ผ่านสมใจด้วยคะแนนคาบเส้น
สาเหตุที่เลิกพึ่งสำนักติวกับสามขาที่เหลือเพราะด้วยเหตุผลทางอีโก้ล้วน ๆ ช่วงนั้นถือทิฐิมานะอย่างแรงกล้า ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ตอนนั้นมั่นใจในตัวเองมากเหลือเกินว่า สามขาที่เหลือจะขอสอบผ่าน "ด้วยกำลังและสติปัญญาของตัวเอง" ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ผ่านสมใจด้วยคะแนนที่พอผ่านในขาแพ่งและขาวิแพ่ง ส่วนขาอาญาเป็นขาที่เราเรียนสนุกอยู่แล้ว เป็นความรักและความถนัดส่วนตัว คะแนนเลยพุ่งมากกว่าแพ่งและวิแพ่ง
ส่วนตัวเราเริ่มด้วยการอ่านด้วยคำบรรยายสมัยก่อนหน้า (ซึ่งความจริงอ่านไม่ทันหรอกขอรับ ผ่าม!) สักวิชาหนึ่งก่อน อ่านไปก็เริ่มน้ำลายฟูมปากเลยหยุดไว้ก่อน จากนั้นก็สั่งคำบรรยายสมัยที่เรียนมา แล้วเลือกแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนมาส่งที่บ้าน พอเริ่มเปิดเทอม ก็จะมีไลฟ์ทางยูทูปให้ดู ถ้าไม่มีงานมามากก็นั่งดูไป ถ้างานมามากก็เก็บไว้ไปดูทีหลังเพราะยูทูปมีบันทึกไว้อยู่แล้ว
ที่นี้มาถึงเทคนิคสกัดที่เราทำมาด้วยตัวเองและทำให้สอบผ่านสามขาที่เหลือแบบไม่เสียเงินให้สำนักติวเลยแม้แต่บาทเดียว เรารวบรวมมาฝากทุกคนจากใจคนที่ทำงานไปด้วยเหมือนกัน มี 7 เทคนิค ลองเอาไปทำตามได้ ไม่สงวนสิทธิ เริ่มเลอ!
1. ดูคลิปบรรยายเฉพาะวิชาที่ตัวเองไม่ถนัดเท่านั้น หรือเลือกเป็นเฉพาะครั้งที่บรรยายหัวข้อที่ตัวเองไม่เข้าใจดีตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี เฉกเช่นเดียวกับการอ่านคำบรรยาย อ่านเฉพาะครั้งที่คิดว่าตัวเองไม่เข้าใจมากที่สุด
2. ฉีกคำบรรยายแยกเป็นวิชาไว้ และโน้ตย่อลงสมุดแยกเล่ม ไม่อ่านเหมาทีเดียวทั้งเล่ม สมองจะประมวลผลไม่ทันเพราะมันมีหลายวิชาในเล่มเดียว อ่านแล้วก็โน้ตย่อด้วยภาษาตัวเอง จะทำสัญลักษณ์ ตัวย่อ อะไรก็ได้ ให้ร่างกายมีกิจกรรมขณะอ่านหนังสือ
ปุจฉา : อ่านไม่ทัน ทำไงดีคะ/ครับ
วิสัชนา : ชั่วโมงสุดท้ายคือแสงสว่างปลายอุโมงค์ค่ะ อ่านเถอะ!
3. ไม่ตะบี้ตะบันจำฎีกา แต่จำและเข้าใจหลักกฎหมายและเหตุผล เพราะถ้าสมมติอาจารย์ออกข้อสอบมาคล้ายฎีกาแต่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมานี่ คือเรือหาย หงายหลังหัวฟาดพื้นตายกันมานักต่อนักแล้ว
4. จดเลขมาตราพร้อมสาระสำคัญ (เน้นว่าสาระสำคัญ แต่ถ้ามาตราไหน มีคีย์เวิร์ดข้อความสำคัญ หรือภาษาสวย ๆ เฉพาะตัวก็จดไว้ด้วยก็ดี) ด้วยลายมือตัวเอง พอกันทีกับการพกประมวลไปเป็นเล่ม ๆ นี่เลย! จดลงในกระดาษหรือสมุดหรืออะไรก็ได้ที่พกพาได้ ใครที่มีไอแพด แท็บเล็ตก็จดใส่ในนั้นแหละ เริ่มทำเลย วันนี้! เวลาที่ท่านว่าง งานวิจัยพบว่าการเขียนด้วยลายมือทำให้เราจำได้มากขึ้น เน้นตัวเองเข้าใจเอง คนอื่นช่างมัน ลายมือจะขอมหรือเฮียโรกลิฟิกขนาดไหนไม่มีใครสนใจ *ยกเว้นตอนท่านจะจรดปากกาลงข้อสอบ อันนั้นคือขอให้ใจเย็น ๆ สงสารผู้ตรวจด้วย
5. ดูคลิปเก็งฎีกาฟรีในเฟซบุ๊กของสำนักติวต่าง ๆ ในคืนหมาหอนก่อนสอบ เผื่ออาจารย์เอามาออก
6. อ่านเอกสารเก็งฎีกาจากสำนักติว สนามสอบมักมีตัวแทนจากสำนักติวมาแจกเอกสารเก็งฎีกา อ่านไว้ก็ดี ช่วยได้นิดนึง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ช่วยอะ คหสต.
7. มีสติในคืนก่อนสอบ ก่อนออกจากบ้านไปสอบ ขณะเดินทางไปสอบ ก่อนเข้าห้องสอบ และ ขณะทำข้อสอบ (จะไม่บอกว่าให้สวดมนต์ก่อนนอนนะ อันนั้นคนอื่นแนะนำเยอะแล้ว น่าเบื่อ)
จบแล้วสำหรับหัวข้อนี้ รอบนี้เน้นตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม บทความหน้าจะมาเล่าการเรียน LLM ที่อเมริกา น้า แล้วเจอกัน!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in