เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Academics การเรียนและสาระล้วน ๆdairangporn
FAQ ป.โท กฎหมาย LL.M. @ USA
  • หลังจากที่ได้เขียนบทความสมัคร LSAC มาได้แล้วปีกว่า ๆ และเริ่มเรียน LL.M. ไปแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้รับคำถามหลังไมค์มามากมายเกี่ยวกับการศึกษาต่อ LL.M. ตั้งแต่ปีที่แล้วยันปีนี้ไปเล้ย ครั้งนี้ จะมารวบรวมคำถามที่ถามกันบ่อย ๆ นะคะ 

    1. LL.M. ต้องสมัครผ่าน LSAC เท่านั้นใช่ไหม

    แล้วแต่ที่ค่ะ ต้องดูเงื่อนไขแต่ละมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัครว่าให้สมัครผ่าน LSAC เท่านั้นหรือไม่ บางที่อาจจะให้ยื่นเอกสารใบสมัครโดยตรงเลย ตอนกรณีเรารอบแรกใช้ LSAC ยื่น แล้วพอโควิดมา เลยต้อง Defer มาเรียน FALL 2021 แทน ทำให้ช่วงมกราคมที่ผ่านมา ต้องดำเนินการสมัครใหม่หมดเลย แต่มหาวิทยาลัยเรายังมีข้อมูลเราอยู่ และจะประสานกับ LSAC อัพเดตข้อมูลให้เรา เพียงแต่เราต้องกรอกใบสมัครใหม่ และส่งให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยค่ะ กระบวนการตรงนี้แตกต่างกันตามมหาวิทยาลัย 

    ** แนะนำให้คุยกับเจ้าหน้าที่ประสานงานของมหาวิทยาลัยโดยตรงเลยค่ะ อาจจะเป็น Director of International Program หรือ Assistant Director ก็ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยชื่อเรียกไม่เหมือนกัน ลองดูน้า **  

    2. LL.M. ที่อเมริกา สามารถเลือกเฉพาะทางเหมือนอังกฤษได้ไหม

    ได้ แต่ก็...แล้วแต่ที่อีกเช่นกัน มีหลายมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร LL.M. เฉพาะทาง เช่น  Business Law LL.M., LL.M. in Intellectual Property แม้ไม่หลากหลายเท่าอังกฤษก็มีน้า ก็ลองศึกษาดูนะต้ะ
    รู้สึกว่า University of Washington  จะมีหลักสูตรเฉพาะทางที่ กต.รับรอง เยอะอยู่ (แต่เจ้าของบทความไม่ได้เรียนที่นี่จ้า ตอบรายละเอียดไม่ได้) 

    3. มีมหาวิทยาลัยแนะนำไหม

    แนะนำให้ research ว่า อยากไปเรียนอะไร ตัวเองชอบอยู่ในสภาพอากาศแบบไหน/สามารถปรับตัวกับอากาศได้เร็วแค่ไหน ลักษณะนิสัยตัวเองเป็นยังไง (มหาลัยแสงสี/มหาลัยสงบ) มี budget เท่าไหร่ (อย่าลืมค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่มีรูมเมตก็คิดหนักนิดนึงนะ)
    จริง ๆ จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาขาประจำที่มีคนไทยไปเรียน LL.M. เยอะ คือ Georgetown University (เด็ก มธ. ไปกันเยอะ) กับ New York University (NYU) (เด็กจุฬาฯไปกันเยอะ)
    นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีศิษย์เก่าเป็นนักเรียนไทย แต่ไม่เมนสตรีมเท่าสองที่ข้างบน ยกตัวอย่างเช่น

    - University of California, Berkeley
    - USC Gould School of law (Southern California University)
    - University of Illinois, Urbana-Champagne
    - University of Minnesota, Twin cities
    - University of Michigan, Ann Arbor
    - University of Wisconsin-Madison
    - University of Alabama
    - University of Texas at Austin
    - Indiana University Bloomington
    - University of Washington (สังเกตจากเฉพาะทางที่ กต.รับรองมีเยอะเหลือเกิน แสดงว่าไปตำกันนัวมากเว่อร์) 

    และอื่น ๆ ในลิสต์ของ กต. 
    https://ojc.coj.go.th/th/file/get/file/20210423e1a034c68b93d2e9e2299665eb418119104855.pdf


    4. ต้องสอบ IELST / TOEFL ไหม จะสอบ TOEIC หรือ CEFR แทนได้ไหม และ ระหว่าง IELST กับ TOEFL สอบอะไรดี 

    ต้องสอบไม่ IELST ก็ TOEFL นะทุกคนนนนน สอบ TOEIC หรือ CEFR แทนไม่ได้!!! เขาไม่รับ!!

    Law School ระดับ Top ส่วนใหญ่รับที่ IELST overall 7.5 (ต่ำกว่านี้อาจเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธ) TOEFL 100 (ต่ำกว่านี้ได้นิดหน่อย ถ้ามีประสบการณ์ทำงาน/โปรไฟล์น่าสนใจ) 

    แล้วถ้าไม่ Top ล่ะ?  คำตอบ คือ  IELST overall 6.5  TOEFL 79  (ต่ำกว่าได้ด้วย) ประมาณนี้ค่ะ 

    **ข้อสังเกต มหาวิทยาลัยในอเมริกาดูจะอะลุ้มอล่วยให้คะแนน TOEFL มากกว่า IELST ส่วนหนึ่งเพราะเป็นนักเรียนต่างชาติมาเรียน academic ด้วย ฉะนั้น สอบ TOEFL กันเถอะทุกคน ค่าสอบถูกกว่าด้วย (ป่าวขายของนะ 5555) 

    แนะนำให้ลองสำรวจตัวเองก่อนว่าถนัดข้อสอบแบบไหน 

    ลักษณะข้อสอบ IELST จะรูปแบบคำถามหลากหลาย มีเติมคำ Multiple choices สอบพูดกับคน และวิชาการน้อย ทำให้นร.ไทยที่มาเรียน Law school ร้อยละ 95 เลือกสอบ IELST กันเสียส่วนใหญ่ (อีก 5% คือพวกนักเรียนทุน Fulbright กะ นักเรียนทุนพัชรกิติยาภา [ที่เขาบังคับให้ยื่น TOEFL เท่านั้นเพื่อขอทุน] และ เจ้าของบทความเองจ้า แหะ)

    ลักษณะข้อสอบ TOEFL จะวิชาก๊ารรรรมาก มีบูรณาการฟังพูดอ่านเขียนแบบครบวงจร ข้อสอบมีความจะง่ายก็ง่าย จะยากก็ยาก เหมาะกับนักเรียนที่เรียนอินเตอร์มาก (คหสต.) และคือ สอบพูดกะคอม โคตรเกร็ง แต่มีข้อดีคือ ถ้าผ่าน TOEFL มาได้ พอมาเรียนจริงจะไม่ค่อย suffer เพราะ Law school มันก็ academic ไง โดยเฉพาะการอ่าน เราก็จะสบายหน่อย (ความเห็นส่วนตัวจากตัวเองที่เลือกสอบ TOEFL) 

    5. เกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยจะรับเรา เขาดูอะไรบ้าง

    5.1 คะแนน IELST/TOEFL ดูเป็นองค์ประกอบหลัก  แต่ไม่เท่าไหร่ แต่ก็สำคัญ ///เอ๊ะ!  คืออย่างน้อย ๆ ผ่านขั้นต่ำก็เซฟแล้ว

    5.2  cv/ resumé  ด้านประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมาย การศึกษา เกียรติประวัติอื่น ๆ เช่น รางวัลพวกแข่งตอบปัญหากฎหมาย ศาลจำลอง หรือได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเวทีระดับมหาลัย หรือระดับชาติหรือนานาชาติ ต่าง ๆ  ซึ่งถ้ามีข้อมูลตรงนี้เยอะ มันจะไปช่วยหักกลบกับคะแนน TOEFL ได้ด้วยนะ in case คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์นิดหน่อย และทำให้เปอร์เซ็นต์ที่มหาลัยจะรับเราสูงขึ้นด้วยนะ ถ้ามีประสบการณ์ทำงาน หรือ extracurricular activities น่าสนใจ

    5.3 Personal Statement หรือ Statement of Purpose (อันเดียวกัน แล้วแต่ว่ามหาลัยไหนเรียกว่าอะไร) ย้ำว่าอันนี้สำคัญ เขียนดี ๆ ให้ตรงกับตัวจริงของเรา เขียนอย่างมีศิลปะแต่อย่าประดิษฐ์ให้เกินจริงมาก มหาลัยเขาดูออกว่าปลอม คือตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและ ที่สำคัญเลย ต้องใส่ไปด้วยว่าทำไมเราเลือกที่นี่ ศึกษาโครงสร้างหลักสูตร รวมถึงจุดเด่นของมหาลัยที่จะสมัครไว้ด้วย แล้วใส่เข้าไปเป็นเหตุผลประกอบใน Personal Statement หรือ Statement of Purpose  

    และสำคัญสุด ๆ ให้ตรวจพิสูจน์อักษรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

    [[จริง ๆ ก็แอบทราบมาว่า บางคนก็จ้างคนอื่นเขียน ก็นั่นแหละ ไม่พูดต่อดีกว่า...]]

    5.4 Letters of commendation ดูนิดหน่อย เจ้าของบทความรบกวนอาจารย์ที่สนิทด้วยและอาจารย์ก็กรุณาเขียนให้ แถมอาจารย์ก็ดั๊นมีความสนิทสนมกับคณบดีสมัยที่เจ้าของบทความเรียนอยู่ด้วย เลยได้คณบดีมาเขียนให้อีกฉบับหนึ่ง (ข้อคิด : อาจารย์ที่สนิทและมีคอนเนคชั่นดีเป็นบุญอย่างยิ่ง) 

     แล้วจำเป็นต้องให้อาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่าที่จบมหาลัยนั้นเขียนให้ไหม

    ไม่จำเป็น แต่ถ้าเพื่อความสบายใจก็เชิญค่ะ ทำได้ ๆ เขาไม่ห้าม คือจิบอกว่า บางมหาวิทยาลัยมีการบอกเลยนะว่า ต่อให้ยูเอาศิษย์เก่ามาเขียนให้ แต่เราจะพิจารณาเท่า ๆ กับคนที่ไม่มีศิษย์เก่ามาเขียนให้ เออ เอาซี่!!

    ส่วนเกรดป.ตรี ถ้ามากกว่า 3 ยังไงก็ safe เขาแทบไม่ดูเล้ยยย

    6. ควรจบเนติฯ ก่อนมาเรียน LL.M. ไหม

    แนะนำว่าถ้าอยากให้ชีวิตง่ายควรจบเนติฯมาก่อนจริง ๆ เพราะมันสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่ามาก เพราะเรามีพื้นฐานที่ดีจากเนติฯมาแล้ว  ซึ่งความจริง เจ้าของบทความผ่านแล้ว 4 ขา เหลือสอบปากเปล่าอย่างเดียว (ดีเลย์เพราะโควิดไปยาว ๆ จ้า)

    **ทั้งนี้ เจ้าของบทความเรียนเนติฯ 3 ขา ด้วยการอ่านคำบรรยายเองและซื้อข้อสอบเก่าทำเองจ้ะ ส่วนอีกขานึงพึ่งสำนักติว แล้วคือขานั้นความรู้บินออกนอกเซลล์สมองไปหมดแล้ว ก็คือ วิ.อาญา 55555 **  ((บทความหน้าอาจจะเขียนเรื่องเรียนเนตินี่แหละ เป็นมุมมอง/เทคนิคใหม่ที่ไม่น่าจะซ้ำกับใคร)   

    7. เรียน LL.M. แล้วควรเรียนต่อ JD ไหม

    ทำความเข้าใจกันก่อน สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า JD คืออะไร
     
    JD คือวุฒิป.ตรีกฎหมายที่อเมริกานี่แหละ มี requirement ว่า คุณต้องจบปริญญาตรีมาก่อน 1 ใบ สาขาใดก็ได้ (ที่ไม่ใช่นิติศาสตร์) แล้วมาเรียน ปกติหลักสูตร JD ใช้เวลาเรียน 3 ปี สำหรับหลักสูตรเต็มเวลา และ 4-5 ปี สำหรับหลักสูตร part-time 

    ถามว่าควรเรียนไหม ให้ถามตัวเอง 3 ข้อว่า

    1. กำลังทรัพย์ถึงไหม  - เพราะการศึกษาคือการลงทุน การเรียน law school ก็เลยต้องลงทุน เสียตังค์หลายเด้อ ค่าเทอมก็แรง (แค่ LL.M. เทอมนึงก็เฉียดล้านแล้ว-- นี่คือถูกแล้วนะ) ค่า study aids ก็แรง คือร้องไห้เลย เล่มละร้อยกว่าเหรียญ++ (ถ้าใครไม่เก็ตที่อาจารย์ lecture เกียมเงินซื้อ study aids ได้เลย) นี่ไม่รวมค่าครองชีพ ค่าประกันสุขภาพ จิปาถะ นะ ถ้าที่บ้านไม่พร้อมส่งหรือมาแบบไม่มี scholarship คือตุย ไม่ต้องหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าว่าจะมาทำงาน part-timeไป เรียนไป เพราะคุณจะเรียนไม่จบ หรือจบมาเกรดพินาศแบบเส้นยาแดงผ่าแปด (บอกเลยว่าแม้แต่ native speakers ก็ยัง struggle with it บะลั่กบะลั่กบะลั่ก มาก) 
    2. อยากประกอบอาชีพกฎหมายที่อเมริกาไหม  และ 
    3. พร้อม suffer ไหม 

    ...แค่นี้เลย...

    ถ้าคำตอบคือ 'ใช่' ทั้งสามข้อ ก็เวลค้ามค่ะ เพราะเรียน JD เหมือนได้เริ่มต้นใหม่กับคนเดิมอะ แต่เป็นคนเดิมเวอร์ชั่น American ซึ่งข้อดีก็คือถ้าจบ JD แล้ว คุณก็จะมีคุณสมบัติสอบ Bar ที่อเมริกาเพื่อประกอบวิชาชีพกฎหมายได้เลย (เย้!) ซึ่งคุณสามารถไปสอบ Bar ที่รัฐไหนก็ได้ทั่วสหรัฐอเมริกา ไม่จำกัดว่าคุณจบมหาวิทยาลัยใน New York ต้องสอบ New York Bar เท่านั้น คุณจะสอบ Michigan Bar ก็ได้ ถ้าอยากประกอบอาชีพที่ Michigan พูดง่าย ๆ ถ้าสอบ Bar ผ่านของรัฐไหนผ่านก็ต้องประกอบวิชาชีพที่รัฐนั้น  จะมาสอบผ่าน Florida Bar แล้วไปประกอบวิชาชีพที่ Virginia บ่าดั้ยเด้อ ทั้งนี้ คุณไม่จำเป็นต้องมีวุฒิ LL.M. ก่อนเรียน JD ด้วยนะ เขาไม่บังคับ เพราะ JD ปีแรกคือเริ่มจากศูนย์เลยจริง ๆ

    8. แล้วถ้ามีแค่ LL.M. จะสอบ Bar ได้ไหม

    เกริ่นก่อนว่า ต่างด้าวชาวนิติสาสอย่างเรามีวุฒิ น.บ. หรือ LL.B. ในมือ ทำให้เราสามารถเรียนหลักสูตร LL.M. ได้เพราะหลักสูตรนี้จริง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับนักกฎหมายต่างชาติที่มีความรู้กฎหมายจากประเทศบ้านเกิดมาเรียนกฎหมายอเมริกัน พูดง่าย ๆ ต้องเคยเรียนกฎหมายมาก่อนนั่นแล แต่ว่า ถ้าพูดถึงเรื่อง Bar ส่วนใหญ่เขาก็จะให้คนที่จบ JD มีสิทธิสอบ Bar ได้

    แต่ Good news จ้า บางรัฐอนุญาตให้ผู้มีวุฒิ LL.M. สามารถสอบ Bar เพื่อประกอบวิชาชีพกฎหมายได้!
    เช่น New York และ California (กาซิบว่า New York Bar เป็นที่นิยมมากกว่าเพราะข้อสอบง่ายกว่า ทั้งนี้มาจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างเด้อ) แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า วุฒิ LL.M. ของคุณจะต้องมีวิชาบังคับตามที่เขากำหนด หากใครมีวุฒิ LL.M. แล้วจะสอบ Bar ต้องมีวิชา Professional Responsibility, Legal Writing, กฎหมายพื้นฐานสำคัญ (แพ่ง - ละเมิด,ทรัพย์,ครอบครัว,ฯลฯ  อาญา )  ทั้งนี้ รัฐที่เรามาเรียน ไม่อนุญาตให้เด็ก LL.M. สอบ Bar จะต้องเป็น JD เท่านั้นถึงมีสิทธิสอบ แต่เด็ก LL.M.สามารถไปสอบ Bar ที่ New York ได้ ถ้าลงวิชาตามที่ได้กล่าวมาตะกี้

    น่าจะประมาณนี้สำหรับ FAQ 

    พบกันใหม่บทความหน้าจ้า


     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in