ในเวลาต่อมา Yaoi ได้กลายเป็นรูปแบบงานที่ได้รับความนิยมในหมู่หญิงสาวญี่ปุ่นที่สนใจเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกันทั้งในแง่ของความโรแมนติกและอีโรติก
ต่อมาใน ค.ศ. 1998 คำว่า Yaoi ได้ถูกพิจารณาให้เป็นศัพท์ทั่วไปที่แฟนมังงะควรทราบ นอกจากนี้ในหมู่ Fujoshi ยังเอาคำว่า Yaoi มาแปลงความหมายเป็นแสลงในภาษาญี่ปุ่น จนได้มาเป็นประโยคอย่าง ‘Yamete, oshiri ga itai’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘หยุดนะ ฉันเจ็บก้น’ อีกด้วย (เล่นกันแบบนี้เลย!)
แม้ว่ารูปแบบการสร้างผลงานที่พูดถึงความรักระหว่างเพศชายอย่าง Tanbi, Shonen-ai และ Yaoi จะมีความเป็นมาและจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทว่าสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันก็คือผลงานส่วนใหญ่เกิดจากผู้หญิง เพื่อผู้เสพที่เป็นผู้หญิง และการพยายามที่จะแยกตัวออกจากผลงานแบบ Bara (บาระ) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชายและมีเนื้อหาเน้นที่ความสัมพันธ์ทางเพศของผู้ชายด้วยกันแบบฮาร์ดคอร์ ปราศจากความสวยงาม อ่อนหวาน และความรักโรแมนติกใดๆ
ส่วนผลงานที่เล่าเรื่องความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกันนั้นถูกเรียกด้วยคำว่า Yuri เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1976 โดย อิโต บังงากุ (Itou Bungaku) บรรณาธิการของนิตยสารเกย์ Barazoku ซึ่งมีความหมายว่า Rose Tribe และมักใช้คำว่า Bara ที่แปลว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มชายรักชาย
ซึ่งเขาเห็นว่ากลุ่มหญิงรักหญิงก็ควรมีดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวเองบ้าง จึงนำไปสู่การเรียกหญิงรักหญิงว่า Yurizoku ซึ่งมีความหมายว่า Lily Tribe และใช้ดอกลิลลี่เป็นตัวแทนของความรักอันบริสุทธิ์ อ่อนหวาน แม้จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่คำว่า Yuri ก็มักถูกนำไปใช้ในมังงะหรือโดจินชิที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างหญิงสาวและได้รับการเผยแพร่เรื่อยมา
จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า ‘สาววาย’ ที่หลายคนตั้งคำถามนั้นมีที่มาจากรสนิยมในการเลือกเสพผลงานในรูปแบบของชายรักชายหรือหญิงรักหญิง ก่อนที่จะกลายเป็นคำเรียกแทนหญิงสาวที่ชื่นชอบในความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบการนำเสนอของนิยาย มังงะ หรือแอนิเมะอีกต่อไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in