เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หัวใจวายBUNBOOKISH
คำนำ





  • FOREWORD


    ไม่แน่ใจว่าเราได้ยินหรือรู้จักคำว่า ‘สาววาย’ มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่รู้ตัวอีกที สาววายก็ไม่ใช่ทั้งเรื่องไกลตัวหรือใกล้ตัวอย่างที่เราเคยคิดมาก่อน

    หากบังเอิญอยู่ในสังคมที่ไม่เปิดกว้างเรื่องความรักความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้หญิงกับผู้หญิง เมื่อพูดถึงการมีอยู่ของสาววาย—กลุ่มคนที่ ‘นิยมชมชอบ’ ความรักระหว่างเพศเดียวกัน จึงอาจดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

    ซึ่งเป็นความ ‘นิยมชมชอบ’ ในความหมายอย่างนั้นจริงๆ เพราะสาววายไม่จำเป็นต้องชอบเพศเดียวกัน แต่พวกเธอชอบให้คนเพศเดียวกันรักกันมากกว่า

    หรือหากโชคดี ได้อยู่ในสังคมที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ ความรักระหว่างเพศเดียวกันอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยหรือเคลือบแคลงอะไรนัก ทว่า สาววายก็ยังอยู่ในฐานะกลุ่มคนที่ยากต่อการเข้าใจ ด้วยเหตุผลเดิม คือสาววายไม่ได้รักเพศเดียวกัน แต่ชอบให้คนเพศเดียวกันรักกันมากกว่า

    เนื่องจากสาววายตกอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่มีใครเข้าใจ ทำให้กลายเป็นกลุ่มคนที่หวงแหนพื้นที่และจินตนาการของตัวเอง พวกเธอจึงมักจะสื่อสารกันเองภายในกลุ่ม มากกว่าที่จะเชื้อเชิญให้ใครมาเข้าใจในรสนิยมของตัวเอง 

    ระหว่างทำหนังสือเล่มนี้ เราเองก็พยายามหากุญแจที่จะพาเข้าไปให้ถึงพื้นที่หัวใจของสาววายดูบ้าง แต่คงต้องยกรางวัลด้านความพยายามให้กับ แพรว—ณิชชารีย์ ที่ไม่เพียงหาทางเข้าถึง แต่แพรวยังใช้เวลาแรมปีเพื่อพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจชีวิตจิตใจของสาววายอีกด้วย

    แพรวเป็นเด็กสาวผู้หลงใหลเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา แม้แต่การนำเสนอเรื่องราวของสาววาย แพรวก็ยังสามารถเล่ามันด้วยกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูล และการสอบถามกลุ่มตัวอย่างสาววายหลายร้อยคน เพื่อสำรวจความคิดและทัศนคติที่สาววายไม่ค่อยได้เปิดเผยต่อคนทั่วไปอย่างง่ายดายนัก

    ยอมรับว่าเรากังวล เมื่อสาววายบางคนออกตัวว่า พวกเธอไม่ค่อยอยากให้ใครสนใจ และไม่ชอบอธิบายหรือเปิดเผยความในใจกับคนแปลกหน้า

    แต่เมื่อเป็นอย่างนั้น การทำหนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะได้บอกกับสาววายว่า โลกของพวกเธอที่เราสัมผัสได้นั้นเต็มไปด้วยพลังแห่งความรักและความชื่นชม ซึ่งเราคงเสียดายถ้าหากไม่ได้ลองเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง


    BUNBOOKS


  • PREFACE



    15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

    ณ ห้อง Do Visual Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่จัดนิทรรศการ The EXhibition มิวเซียมแห่งความทรงจำของมนุษย์ลืม

    แต่เรายังจำได้แม่น ที่มุมห้องวันนั้น เรายืนฟังการพูดคุยของวิทยากรบนเวทีพร้อมกับผู้เข้าชมงานจำนวนไม่มาก แต่ก็มากพอที่ทำให้ห้องขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ดูแน่นไปถนัดตา

    โดยไม่รู้ตัวเลยว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา โอกาสสำคัญของชีวิตกำลังจะเกิดขึ้น เมื่อคุณอภิวัชร์—เจ้าของนิทรรศการ แนะนำให้เรารู้จักกับ ‘พี่หนุงหนิง’ ผู้หญิงที่ยืนถัดไปทางขวามือของเราในระยะไม่เกินสองไม้บรรทัด

    และบทสนทนาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้เราได้มาเขียนคำนำของหนังสือเล่มแรกในชีวิตตัวเองตอนนี้... ในเวลาหนึ่งปีต่อมา

    เราเคยฝันจะมีหนังสือสักเล่มเป็นของตัวเองตั้งแต่ ม.1 แต่กลับไม่เคยแน่ใจว่าเรื่องราวแบบไหนที่ตัวเองอยากจะเล่าออกไปมากที่สุด

    โชคดีที่การเรียนประวัติศาสตร์พร้อมไปกับการลงเรียนจิตวิทยาอีกเล็กน้อย ทำให้เรา (คิดเอาเองว่า) พอจะมีเรื่องที่เล่าไปแล้วคงจะมีคนสนใจอยู่บ้าง

    ต้นฉบับสองบทแรกของเราต่อยอดมาจากโปรเจ็กต์ที่ทำก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชายรักชายทั้งสิ้น

    แต่ทั้งเราและกองบรรณาธิการก็ต้องตัดใจ เพราะว่าสิ่งที่เรามีทั้งหมดยังไม่พร้อมและไม่เหมาะที่จะนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ณ ตอนนั้น

    เรื่องราวของสาววาย ซึ่งเคยถูกวางเป็นเนื้อหาบทหนึ่งในงานเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ชายรักชาย กลับเป็นหัวข้อที่พวกเราคิดว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่า จนอยากลองนำมาขยายความให้จริงจังอีกสักที

    จากเนื้อหาหนึ่งบท กลายเป็นการค้นข้อมูลครั้งใหญ่ เรากลับมานั่งลิสต์รายชื่อคนใกล้ตัวที่เป็นสาววายเพื่อพูดคุย รับฟังประสบการณ์ และหาแรงบันดาลใจต่อไปทันที

    การพูดคุยระหว่างเรากับสาววายหลายคนทำให้ได้รู้ว่า การที่ใครสักคนจะแสดงตัวเป็นสาววายนั้น ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในสังคมนี้ หลายคนต้องปิดบัง เพราะพวกเธอถูกเหมารวมว่าสาววายคือคนที่มีรสนิยมรักและชอบเพศเดียวกัน และการมีอยู่ของพวกเธอก็ส่งเสริมให้มีการรักเพศเดียวกันในสังคมมากขึ้น

    แต่การให้นิยามโดยปราศจากความเข้าใจ ทำให้ตลอดมาเราพลาดการมองเห็นสาววายในมิติที่น่าสนใจอื่นๆ 

    เราได้แต่หวังว่า สุดท้ายแล้วหัวใจของสาววายที่เปิดเผยมาในหนังสือเล่มนี้ จะช่วยเปลี่ยนความไม่เข้าใจหรือภาพจำในแง่ลบที่หลายคนมีต่อสาววายได้ 

    เพราะคงจะดีไม่น้อย ถ้าความฝันที่เป็นจริงของเรา พอจะทำประโยชน์ให้คนอื่นได้บ้าง


    15 มีนาคม พ.ศ. 2560
    ณิชชารีย์ เลิศวิชญโรจน์

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in