เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storytuichanchai
บอร์ดเกมส์ที่ออกแบบมาจากธีม Abolitionist
  • ข่าวเหตุการณ์ที่ตำรวจรัฐ Minnesota กระทำเกินกว่าเหตุกับคนผิวสีชื่อ “จอร์จ ฟลอยด์” ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 

    ทำให้ผมมานั่งนึกดูว่ามีบอร์ดเกมส์ไหนบ้างที่นำประวัติศาสตร์เรื่องสีผิวของคนในประเทศอเมริกามาทำเป็น Theme
    .....

    ผมนึกถึงเกมส์ Freedom : The Underground Railroad ของดีไซเนอร์ชื่อ Brian Mayer ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นครูสอนชั้นประถมศึกษา และบรรณารักษ์ห้องสมุด

    บอกตามตรงว่า ยังไม่เคยเล่นเกมนี้เลยครับ

    แต่ที่สนใจอยากหาอ่าน เพราะอยากรู้ว่าตอนที่ออกแบบบอร์ดเกมส์นี้ ดีไซเนอร์มีไอเดียจัดการกับความละเอียดอ่อนอันเปราะบางของประเด็นเรื่องสีผิวในสังคมอเมริกัน อย่างไร ? 

    เขาต้องคิดรอบคอบหรือไม่ ? ในเมื่อสุดท้ายแล้วบอร์ดเกมส์นี้คือการนำทั้งคนผิวขาวและคนผิวสีมานั่งเล่นอยู่ในวงเดียวกัน
    .....

    ระบบทาส คือรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ในประวัติศาสตร์อเมริกาที่โยงใยไปสู่เหตุการณ์มากมาย ตั้งแต่สงคราม Civil War ของฝ่ายเหนือ-ใต้ มาจนถึงการเลือกปฏิบัติกับคนผิวสีอย่างมีอคติในปัจจุบัน 

    ประเด็นการเหยียดสีผิวเป็นเรื่องที่กระตุ้นให้จุดติดได้ง่าย ถ้าพูดผิดทำพลาดนิดเดียวจะลุกลามไปไกลได้เร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ฟาง
    …..

    Brian Mayer ดีไซเนอร์บอร์ดเกมส์ Freedom : The Underground Railroad เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า 

    เนื่องจากเขาคุ้นเคยกับวิธีใช้เกมส์เพื่อสื่อสารเนื้อหาในห้องเรียนระหว่างครูและเด็กนักเรียนอยู่แล้ว โดยขยายต่อเนื่องไปถึงการออกแบบเกมส์ต่างๆขึ้นมาเพื่อเอาไว้ช่วยในการสอนหนังสืออีกด้วย

    อีกทั้งด้วยความที่เขาเองชื่นชอบบอร์ดเกมส์ “1960 : The Making of the President” และพบว่าบอร์ดเกมส์เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสามารถนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์กลับมาให้เด็กนักเรียนใช้สำรวจอย่างเข้าใจได้ว่า แต่ละบุคคลแต่ละเหตุการณ์ ล้วนส่งผลเชื่อมโยงกระทบถึงกันได้อย่างไร

    ทำให้เขาพยายามคิดถึงว่า ยังมีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สำคัญๆอะไรอีกบ้างที่ถูกพูดถึงน้อยเกินไปในห้องเรียน
    .....

    แล้วเขาก็นึกถึงเรื่องของกลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการเลิกทาส (Abolitionist) ในสหรัฐอเมริกา โดยเขาคิดว่ามันควรเป็นบอร์ดเกมส์ที่มีระบบเกมส์แบบ Cooperative Play 

    แต่สิ่งที่ทำให้เขาชะงักไม่ไปต่อ คือ ความไม่แน่ใจเรื่องโทนหม่นหดหู่ของธีม Abolitionist นี้ เขาสงสัยว่ามันเหมาะจะนำมาทำเป็นบอร์ดเกมส์หรือไม่ ?
    …..

    จนกระทั่งเขาพบตัวอย่างบอร์ดเกมส์จากดีไซเนอร์คนอื่น ( Brenda Romero - Train ) ที่ทำให้เขาเห็นว่า ธีมสายดาร์กและซีเรียส Topic ก็นำมาทำเป็นบอร์ดเกมส์ได้ อีกทั้งพบว่าธีมเกมส์แนวนี้กำลังอยู่ในจังหวะดีที่กำลังจะเติบโต

    เขาจึงเริ่มฮึดลุยงาน นำไอเดียของตัวเองขึ้นมาพัฒนาต่อไป
    .....

    Theme ของบอร์ดเกมส์ Freedom เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในอเมริกาตั้งแต่การประกาศอิสรภาพไปจนถึงสงคราม Civil War 

    ผู้เล่นทั้งหมดจะเล่นเป็นกลุ่มคนที่เชื่อเรื่องการปลดปล่อยระบบทาส มาร่วมกัน Cooperative Play เพื่อแอบนำทาสในไร่เพาะปลูกจากทางดินแดนทางฝั่งใต้ของอเมริกา เดินทางขึ้นไปสู่ดินแดนที่เป็นอิสระกว่าในฝั่งเหนือ โดยต้องพบอุปสรรคทั้งในเรื่อง Slave Catchers ที่คอยตามจับทาสหนีนายให้กลับไปอยู่ในสถานะเดิม และความท้าทายในเรื่องการหาทุนเพื่อมาสนับสนุนภารกิจการทำงานของกลุ่มตัวเอง
    …..

    อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นว่า ผมเองยังไม่เคยเล่นบอร์ดเกมส์นี้ของ Brian Mayer จึงทำให้อ่านบทสัมภาษณ์แล้วยังไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูดถึงเกี่ยวกับระบบเกมส์ของ Freedom อยู่บ้าง

    แต่เท่าที่พบ คือ เขาระมัดระวังในประเด็นที่อ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสีผิว และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเลิกระบบทาสในช่วงนั้น

    ระมัดระวังการใช้ความหมายของคำศัพท์ เช่น "Lost" slaves are an abstraction of all the loss of life from conditions and brutal treatment on the plantations to the loss of life running for freedom.

    การหาข้อมูลมาใช้ทำบอร์ดเกมส์ ก็โฟกัสหลักไปที่กลุ่มคนมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนให้เลิกระบบทาส (Abolitionists) เพราะเรื่องราวของกลุ่มคนเหล่านั้นเต็มไปด้วยความกล้าหาญ,ความเสียสละ และภารกิจมากมายเพื่อการช่วยเหลือพวกทาสในช่วงเวลาที่มืดมนขณะนั้น ซึ่งเด็กรุ่นหลังอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก่อนมาเล่นบอร์ดเกมส์นี้

    ดังนั้น Brian Mayer จึงตั้งใจออกแบบ Freedom : The Underground Railroad ให้แตกต่างจากบอร์ดเกมส์แนว Historical Theme ที่เราพบเห็นทั่วไปซึ่งมักจะโฆษณาว่า ประวัติศาสตร์อาจถูกเขียนขึ้นใหม่ได้ด้วยมือของคุณเมื่อเล่นเกมนี้

    Brian Mayer ยึดให้มันเป็น Cooperative Play แบบ Narrative ที่เรื่องราวดำเนินไปตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ 

    ( ผมอ่านแล้วก็สงสัยเหมือนกันครับว่า เกมมันจะเล่นยังไง ? เดี๋ยวถ้ามีเวลาเพิ่มเติมจะไป load rulebook อ่านแล้วมาเล่าให้ฟังครับ )
    .....

    Brian Mayer ยอมรับว่าเมื่อบอร์ดเกมส์นี้ออกสู่ตลาด มันอาจมี comment ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นได้ แต่เขาก็พยายามอย่างรอบคอบและดีที่สุดแล้ว

    ยกตัวอย่างเช่น การไม่ใช้ Meeple ในเกมนี้ แต่เลือกใช้ Cube ที่เป็นสีเดิมของเนื้อวัสดุไม้ โดยไม่ลงสีดำขาวหรือสีใดๆเลย, คำศัพท์ในเกม ก็พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “Slave” โดยมุ่งไปที่คำว่า “Abolition” หรือ “Freedom” แทน
    …..

    สำหรับคำถามสำคัญของคนชอบเล่นบอร์ดเกมส์ คือ Freedom : The Underground Railroad เป็นเกมที่สนุกมั๊ย ? ในเมื่อมันดูเป็นเกมจริงจังเหมือนกำลังเรียนหนังสืออยู่แบบนั้น

    Brian Mayer ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้สรุปได้ว่า เขาดีไซน์บอร์ดเกมส์ขึ้นมาก็อยากให้คนเล่นแล้วสนุก โดยอาชีพหลักแล้วตัวเขาเองเป็นครูที่ใช้เกมส์สมัยใหม่เป็นสื่อในการสอนเนื้อหาให้เด็กๆในห้องเรียนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเกมส์ไหนไม่สนุกพอจะดึงความสนใจของเด็กๆได้ เกมส์นั้นก็จะไม่สามารถสร้างประสบการณ์ดีๆให้เด็กเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการสื่อไปถึงพวกเขาได้

    อ่านที่เขาให้สัมภาษณ์ไว้แบบนี้แล้ว ผมคิดว่าคงต้องหาโอกาสลองเล่นดูสักครั้งว่า เกมนี้สนุกหรือเปล่านะ?
    …..

    Freedom : The Underground Railroad ได้รับการยอมรับจากเวทีประกวดบอร์ดเกมส์ต่างๆหลายแห่ง เช่น Dice Tower, International Gamers Awards, BoardgameGeek เป็นต้น มีทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงไปจนถึงได้รับรางวัลในสาขาต่างๆมากมาย
    …..

    ผมเชื่อว่า น่าจะมีหลายคนในบ้านเราอยากนำเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมืองไทยมาใช้เป็น Theme สำหรับออกแบบบอร์ดเกมส์ แต่เจออุปสรรคจากความละเอียดอ่อนเปราะบางในสังคมแบบไทยๆ ซึ่งมีประเด็นผูกโยงไปหลากหลายมิติ มีความแตกต่างอย่างมากกับวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน 

    บ้านเขาบ้านเรามีเรื่องละเอียดอ่อนที่แตกต่างกัน

    แต่กระนั้นก็ตาม Freedom : The Underground Railroad ของ Brian Mayer ก็ยังเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจศึกษา เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาดี อยากให้เราเข้าใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ด้วย attitude ที่ไม่ชูชงความเกลียดชัง ไม่สร้างดราม่าให้ใครเป็นฆาตกร

    ……….


    ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ :

    https://boardgamegeek.com/…/interview-brian-mayer-designer-…
    http://www.brianmayer.games
    https://boardgamegeek.com/…/11…/freedom-underground-railroad

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in