เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สัพเพเหระmaggie mae
ความจริงที่มิอาจต่อต้านใน “The Help” หนังรางวัลออสการ์แห่งยุค
  •        หากพูดกันถึงเรื่อง “การเหยียดผิว” คนไทยอาจจะไม่คุ้นชินหรือไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญกันเท่าไหร่นัก เพราะในสังคมเรานับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็แทบจะไม่ปรากฎเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์ แต่ถ้าลองนึกไปถึงการดูหมิ่นดูแคลนประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงด้วยเพียงเพราะเป็นชาติพันธุ์ที่เราคิดว่าด้อยกว่า ด้วยไม่ว่าจะตั้งใจหรือด้วยความเคยชินก็ตาม ก็คงจะไม่ต่างกันกับการเหยียดสีผิวที่กำลังพูดถึงนี้เท่าไหร่ค่ะ เหตุที่ผู้เขียนกล่าวถึงการเหยียดผิวอันน่าหดหู่ใจนี้ เพราะกำลังจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการเหยียดนี้เอง ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจชวนให้เราได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริง รวมไปถึงประเด็นเล็ก ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบศิลป์ภายในเรื่องที่เด่นชัดในเรื่องของความเฟื่องฟูด้านศิลปะในยุคสมัยนั้นผ่านตัวภาพยนตร์ด้วย เป็นตัวชูโรงชั้นดีที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจขึ้นมากโข

           ผู้เขียนได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ที่ตราตรึงใจเรื่องหนึ่งใน Netflix คือเรื่อง “The Help” เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคที่อยู่ในประมาณช่วงปี 1960 เป็นยุคทองของศิลปะ แฟชั่น และดนตรี ซึ่งเราจะได้เห็นกันในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียวค่ะ เรื่อง “The Help” นี้ เป็นผลงานการประพันธ์ของ Kathryn Stockett และภายหลังได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ บทประพันธ์เรื่องนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “คนผิวสี” เป็นการต่อสู้ภายในจิตใจของพวกเขาที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูก dehumanized หรือการถูกลดค่าความเป็นคน เพียงเพราะพวกเขามีสีผิวที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่ด้อยกว่าคนในสังคมทั่ว ๆ ไป การที่จะใช้ชีวิตก็ค่อนข้างที่จะลำบากตรากตรำ และกลายเป็นกลุ่มชนชั้นล่างของสังคมไปโดยปริยาย จากเรื่อง “The Help” นี้ คนผิวสีเกือบแทบทั้งเรื่องมีอาชีพเป็นคนรับใช้ในบ้านของพวกคุณนายผิวขาวจอมบงการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของการแบ่งชนชั้นได้อย่างน่าหดหู่ใจนัก

           สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจในภาพยนตร์เรื่องนี้มากก็คือ การที่มีคนผิวขาวบางกลุ่มไม่ได้ปฏิบัติกับคนผิวสีอย่างที่ควรจะเป็น แต่พวกเขารู้จักการให้เกียรติและช่วยเหลือราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการดูถูก ซึ่งส่วนใหญ่บทประพันธ์เกี่ยวกับคนผิวสีเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้เขียนเคยอ่านมาจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องของการกู้คืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับมาให้ตนเอง ครอบครัว หรือชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่จะต้องไร้ชีวิตก็ตามมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีการช่วยเหลือจากคนผิวขาวบางคน หรือบางกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่มักช่วยไม่ได้จึงทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นต้องรับชะตากรรมไป จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นอกจากจะสะท้อนสังคมให้ขบคิดเกี่ยวกับการไม่เท่าเทียมกันทางชาติกำเนิดและสังคมแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์ที่ “warm-hearted” ที่จะทำให้ผู้ชมทั้งหลายสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของมิตรภาพ ความเป็นพี่น้อง และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างน่าจับใจ

           ภาพยนตร์เรื่อง “The Help” นี้ เริ่มต้นเปิดเรื่องด้วยการเล่าเรื่องและการตอบคำถามของ เอบิลีน คนรับใช้ผิวสีคนหนึ่งในเมืองแจ็คสัน จากคำถามสัมภาษณ์ของ มิสสกีเตอร์ (รับบทโดยเอ็มมา สโตน ซึ่งทำให้ตัวละครสกีเตอร์นี้เพิ่มความน่ารักเข้าไปอีก เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ดูได้ไม่เบื่อเลย เพราะอยากเห็นความน่ารักของเอ็มม่า สโตนกับคอสตูมสวยๆตลอดเรื่อง) นักเขียนสาวไฟแรงวัย 23 ปี ผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยว รักความถูกต้อง และมีจิตใจเมตตา สกีเตอร์ต้องการที่จะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และมุมมองของคนรับใช้ผิวสี ในแต่ละวันที่พวกหล่อนจะต้องใช้ชีวิตที่ขมขื่นไปกับการถูกกดขี่จากพวกคุณนายผิวขาว ซึ่งเอบิลีนและบรรดาเพื่อน ๆ คนรับใช้ผิวสีของหล่อนก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เปรียบเสมือนเป็นการกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมีนัยยะ ผ่านตัวอักษรที่เล่าเรื่องราวและให้เหล่าคนอ่านได้ตัดสินด้วยตัวพวกเขาเอง ในหลากหลายฉากที่สกีเตอร์ได้คลุกคลีอยู่กับพวกคนผิวสี ได้รับฟังปัญหา เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งสุข เศร้า ทุกข์ หรือรัก ได้แชร์ความรู้สึกมากมายไปด้วยกัน มีความเมตตาและจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง ซึ่งในฉากเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความปีติในหัวใจจากการไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือชาติกำเนิด รวมไปถึงยังยอมรับและเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะได้พบเจอกับ “เรื่องพรรค์นี้” ในสมัยนั้น

           นอกจากที่ว่ามาแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนสนใจและรู้สึกอินไปถึงขั้วหัวใจก็คือเรื่องของสภาพสังคมและทัศนคติของผู้คนในสมัยนั้นที่มีต่อการแบ่งแยกสีผิว เนื่องจากผู้เขียนได้ศึกษาและทำ research อยู่บ่อยครั้งในรั้วมหาวิทยาลัย จากวิชาวรรณคดี วรรณกรรมต่าง ๆ ที่มักจะได้อ่านเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องของคนผิวสีค่อนข้างบ่อย จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซีเรียสและควรที่จะ concern อยู่เสมอ ฉากที่น่าสนใจในภาพยนตร์หลาย ๆ ฉากก็ทำให้เห็นถึงสภาพสังคมอันน่าละเหี่ยใจในยุคสมัยนั้นได้ค่อนข้างเด่นชัด ในตอนหนึ่งเอบิลีนเคยพูดกับสกีเตอร์ว่า สิ่งที่ทำให้หล่อนกลัวมากกว่า “จิม โครว์” ก็คือการถูกทำร้ายหากต่อต้านหรือคัดค้านสิ่งที่เป็นอยู่ “จิม โครว์” ที่ว่านี้ก็คือ Jim Crow Law หรือกฎหมายจิมโครว์ ซึ่งน่าเกลียดน่ากลัวเหลือเกินในสายตาของคนผิวสีในสมัยนั้น (หรือแม้กระทั่งสมัยนี้) จิมโครว์ หรือแปลเป็นไทยสั้นๆว่า อีกาดำจิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิแทบจะทุกอย่างของคนผิวสี เช่นการเข้าห้องน้ำ โรงหนัง ร้านอาหาร หรือแม้แต่โรงเรียน ก็จะต้องมีแยกเฉพาะของคนผิวสี ไม่ให้ไปคลุกคลีปะปนกับคนผิวขาว อย่างประเด็นหนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับการสร้างห้องน้ำแยกให้กับคนรับใช้ผิวสีในบ้านก็เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในเรื่องอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะคนผิวขาวมีความเชื่อกันว่าพวกคนผิวสีจะมีเชื้อโรคคนละชนิดกันกับบรรดาคนผิวขาว ซึ่งอาจทำให้ติดโรคแปลก ๆ มาได้ จึงมีการแยกห้องน้ำกันใช้ จนถึงขั้นที่มีฉากที่คุณนายผิวขาวได้ทำเครื่องหมายไว้ที่กระดาษชำระในห้องน้ำเพื่อเช็คว่าคนรับใช้ผิวสีได้มาใช้ห้องน้ำหรือไม่ หรือแม้แต่การไล่คนรับใช้ออกจากบ้านเพียงเพราะเข้าห้องน้ำเดียวกันกับเจ้านายคนผิวขาว สำหรับผู้เขียนนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจและอนาถใจเหลือเกิน คนเราเกิดมามีอวัยวะ นิ้วมือ แขนขาเหมือนกัน มีจิตใจและความคิดเหมือนกัน เหตุใดจึงต้องแบ่งแยกเพียงเพราะสีผิว สิ่งที่ควรตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์คือจิตใจที่งดงามไม่ใช่หรือ เมื่อแบ่งแยกและกดขี่ ชาวผิวขาวผู้สูงส่งก็ได้ใช้ประโยคเด็ด เป็นประโยคที่ใช้อ้างการกระทำผิดได้อย่างไร้มนุษยธรรม ก็คือ “Separate but Equal” หรือ “แตกต่างแต่เท่าเทียม” ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หากแต่พวกคนผิวสีก็รู้ดีกว่าความเท่าเทียมที่ว่ามานั้น ไม่เคยมีอยู่จริง ราวกับการหาเนสซี่ในทะเลสาปล็อคเนสก็ไม่ปาน

           เหล่าคนผิวสีนั้นรู้ดีว่าพวกตนไม่อาจโต้แย้งหรือแม้แต่เรียกร้องความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเอง มีแต่ต้องยอมจำนนต่อชะตากรรมเท่านั้น หากเมื่อใดที่มีใครสักคนกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์หรือต่อต้านสิ่งใดอันเป็นสิ่ง “ไม่สมควร”แล้ว เขาเหล่านั้นก็มีสิทธิ์ที่เกิดอันตรายกับชีวิตและครอบครัวได้ จึงต้องปล่อยความไม่เท่าเทียมนี้ให้เกิดขึ้นต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้เกิดฉุกคิดขึ้นมาถึงความอยุติธรรมนี้ว่าค้นเหตุเกิดจากสิ่งใด เหตุใดทำให้มนุษย์ผิวขาวจึงคิดว่าเผ่าพันธุ์ตนเองบริสุทธิ์และอยู่สูงส่งกว่าใคร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เนื้อแท้ของมนุษย์นั้นอยู่ที่หัวใจมากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง การที่เราจะอยู่สูงหรือต่ำไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ชาติพันธุ์ ทรัพย์สิน เงินตรา อำนาจ หรือสีผิว แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่หัวใจอันมีเมตตา อ่อนโยน และงดงาม ที่จะดำรงโลกใบนี้ไว้ให้สูงขึ้นและยังคงสวยงามตราตรึงตราบนิรันดร์

           ในประเด็นสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้จริง ๆ ค่ะ กับเรื่ององค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ ที่สะกดใจผู้เขียนได้อย่างลึกซึ้งที่สุด ด้วยความเป็น old soul ของผู้เขียนนี้ ทำให้รักในความเป็นวินเทจทั้งหลายและต้านทานไม่ไหวอยู่เสมอ ตลอดการดำเนินเรื่องของ “The Help” นี้ เราจะได้เห็นเสื้อผ้าหน้าผมที่ประณีตและดูดีสมเป็นยุคสมัยปลายฟิฟตี้ส์ ต้นซิกตี้ส์ มีความเป็นวินเทจอย่างถูกต้องตามแบบแผน มีการโชว์ความหลากหลายของเสื้อผ้าแต่ละสไตล์ผ่านคาแรคเตอร์ของตัวละคร ซึ่งทำให้คนดูได้ชมความงดงามของคอสตูมสมัยนั้นได้อย่างเต็มอิ่มทีเดียว เช่น จากสไตล์ของสกีเตอร์ ด้วยความเป็นสาวยุคใหม่ หัวสมัยใหม่ มั่นใจ มีลักษณะความเป็นบอยๆ (boyish) อยู่ในตัว ทำให้หล่อนดูเท่และน่ารักในตัวเอง มีความหวานและเท่รวมอยู่ในแฟชั่นของตัวละคร ไม่ดูจัดจ้านเกินไปเหมือนกับตัวละครคุณนายผิวขาวแต่ละบ้าน ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัย อย่างมิสฮิลลี่ก็จะมีความผู้ดี เป็นคุณหญิงคุณนายเนี้ยบกริบตั้งแต่หัวจรดเท้าอย่างเป็นแบบแผนของผู้หญิงยุคฟิฟท์ตี้ส์ (1950s) ทั่วไป หรือซีเลีย ที่เป็นสาวจัดจ้านมั่นใจ ใส่กางเกงขาสั้น มินิสเกิร์ต ปากแดง ตามแบบฉบับมาริลีน มอนโร แฟชั่นไอคอนในสมัยนั้น นอกจากเรื่องคอสตูมแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจเหลือเกินคือเรื่องของฉาก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงฉากในบ้านที่เป็นส่วนมากในภาพยนตร์ แต่เจาะจงถึงฉากที่เป็นฉากในเมือง ร้านรวง บ้านเรือน ถนนหนทาง หรือที่ทำงานของสกีเตอร์ และที่ตราตรึงใจผู้เขียนมากอีกฉากหนึ่งก็คือฉากร้านค้าในตอนที่หนังสือของสกีเตอร์ได้วางขาย เป็นฉากร้านค้าที่มีความสมบูรณ์แบบและเหมือนจริงอย่างน่าประทับใจ อีกทั้งพร็อพต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ที่ใช้ในภาพยนตร์แต่ละคันก็ยังตราตรึงใจผู้เขียน บางครั้งเกิดคำถามว่า 'ไปหามาจากที่ไหน' อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนับเป็นโปรดักชั่นที่มีความละเอียดลออ เก็บรายละเอียดและทำการบ้านอย่างดี ไม่ดูถูกผู้ชม และยิ่งใหญ่คุ้มค่าเหมาะแก่การรับชม และสุดท้ายหากไม่พูดถึงคงจะเป็นเรื่องที่ผิด ก็คือซาวแทร็กประกอบภาพยนตร์ มีความไพเราะจับใจ และเข้ากันได้ดีกับมู้ดของตัวเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงคันทรี่เบา ๆ ในแบบฉบับยุคทองของดนตรีอย่างยุคซิกตี้ส์นี้เอง ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับความเป็น country side ในเมืองที่เป็นจุดกำเนิดเรื่อง มีถนนเล็ก ๆ ป่าไม้ร่มรื่น บ้านแบบ cottage ไร่ฝ้าย หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร ทั้งหมดนั้นได้สัมผัสไปถึงส่วนเบื้องลึกในใจของผู้เขียนได้อย่างน่าอัศจรรย์

           หากคุณผู้อ่านได้อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนมีความหวังอย่างแรงกล้าว่าบทความนี้จะทำให้รู้สึกอยากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันไม่มากก็น้อย แต่ถ้าให้แนะนำแล้ว ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายกดเปิดแอพ Netflix หรือหยิบรีโมทขึ้นมาแล้วเสิร์ชคำว่า “The Help” อย่างด่วนจี๋ เพราะสองชั่วโมงครึ่งของคุณจะเป็นเวลาที่แสนประทับใจ อิ่มเอม และได้ข้อคิดจรรโลงใจอีกมากมาย รวมไปถึงความจรรโลงตาขององค์ประกอบศิลป์ ที่หลอมรวมกันเป็นงานศิลปะผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่จะทำให้คุณผู้อ่านประทับใจไปอีกนานมิรู้ลืม
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in