เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ในโลกที่ไม่ได้เป็นของเราSALMONBOOKS
02: หูหนวกตาบอด
  • 0

    ความงามหลอมละลายในสายฝน ก่อนนั้น มันเริงรื่นเหมือนท่อนเมนูเอ็ตโตใน Military ซิมโฟนีอันไร้เดียงสาของฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดิ้น (Franz Joseph Haydn) จงตอบสิ, หากเคลือบด้วยรอยหม่นจาง ยามไล่สเกลลงในท่อนช้า ความไร้เดียงสานั้นจะเป็นเช่นไร ใน Leonore Overture No. 3 ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ให้ไวโอลินกรีดร้องบางเบา ถามย้ำทีละคำ ทีละคำ คั่นด้วยการหยุด ราวกับห้วงหายใจที่ขาดชะงัก
    และแล้ว คำตอบก็ดังขึ้นให้ชุ่มชื่นหัวใจ ไม่ใช่คำตอบอันไร้เดียงสา แต่เป็นคำตอบที่ยกหัวใจให้เบาและล่องลอยขึ้น เป็นคำตอบที่รวดเร็ว และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เผื่อบางที...ไวโอลินตัวน้อยที่เคยบาดเจ็บกับชีวิต อาจได้รับการบรรเทา และหวนกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

    และนี่คือคำตอบนั้น

    เมื่อชีวิตดำเนินไป เราก็จะได้พบว่า ชีวิตไม่ได้มีแก่นแกนหลักเพียงหนึ่งเดียว เพราะต่อมาไม่นานนักเหล่าเครื่องลมไม้ก็ช่วยเข้ามาผสานเป็นฐานรอง ทำให้ชีวิตมั่นคงมากขึ้นไปอีก
    ชีวิตจึงได้สมบูรณ์เต็มตื้น
    แม้ว่าฝนจะตกหนัก
  • 1

    “คุณเดินทางคนเดียวหรือ” เขาถาม ขณะเราผลัดกันกัดกินพิซซ่าราคาสามยูโรแผ่นนั้นร่วมกัน

    ที่จริง เราต่างเป็นคนแปลกหน้า

    ฝนเวียนนา (Vienna) กระหน่ำหนัก ความหนาวเหน็บเสียดกระดูก เราจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากนั่งบนขั้นบันไดหินอ่อนขาวขุ่นที่ตะไคร่และเมือกราจับข้นมานานปี บางทีอาจเริ่มจับนับตั้งแต่เกือกคู่นั้นของเบโธเฟนเคยเหยียบย่ำ มันเป็นบันไดสี่เหลี่ยมเวียนวกขึ้นซับซ้อน น้ำหยดใส่ปล่องรูลึกตรงกลางทีละหยด พื้นจึงเฉอะแฉะเจิ่งนอง ผมหนาวสั่นกว่าที่เคยหนาว

    ที่จริงมันเป็นฤดูร้อน

    เราอยู่ในบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของเบโธเฟน

    ในเวียนนา เขาเคยย้ายบ้านมามากกว่าสามสิบครั้ง ไม่นับตามนอกเมืองที่เขาไปเช่าในฤดูร้อนเพื่อชื่นชมธรรมชาติ ตลอดสามสิบห้าปีที่อยู่ในเวียนนา เบโธเฟนย้ายบ้านมากกว่าเจ็ดสิบครั้ง

    แต่นั่นยังไม่ใช่นิสัยแปลกประหลาดที่สุดของเขา

    ผมพยักหน้าตอบคำถามอย่างลังเล ใช่กระมัง—จะเรียกว่าวันนี้ผมเดินทางคนเดียวก็คงได้ แล้วผมก็รับพิซซ่าแผ่นนั้นกลับมากัดกิน แม้นาทีนี้ผมจะคิดถึงซัคเคอร์เค้ก (ที่เคยเรียกอย่างไทยๆ ว่า ซาเชอร์เค้กมาตลอดชีวิต) และเอสเพรสโซร้อนๆ ใส่วิปครีมเย็นๆ ตำรับเวียนนามากเพียงใด แต่สายฝนก็ไม่เปิดโอกาสให้ผมถลันถลาออกไปบนถนนริงสตราสเซ่อ (Ringstrasse) ได้ ผมจึงต้องนั่งงันงกนิ่งเงียบในความหนาวอยู่ที่นี่—กับเขาคนนี้ไปพลางๆ ก่อน

    ฝนตกหนักมาเกือบสองชั่วโมงแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

    วันนี้—ขณะนี้—ผมเดินทางคนเดียว

    แต่ผมไม่ได้บอกเขาว่า—ไม่ใช่เมื่อเช้านี้หรอก...

    แรกทีเดียว เราต่างอาศัยความรื่นรมย์ในดนตรีและปรัชญาของเบโธเฟนมาประทัง ข้างบนที่เคยเป็น ‘บ้าน’ ของเบโธเฟนนั้นเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ มีเปียโนเก่าแก่อายุนับร้อยปีตั้งอยู่

    “ไม่ใช่ตัวเก่าของเบโธเฟนหรอก”

    เขาบอก เขาก็เหมือนผม เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ บนนั้นไม่ได้มีเพียงเปียโน ทว่ายังมีตู้ใส่ข้าวของของเบโธเฟน รวมทั้งโน้ตเพลงเก่าแก่ที่เขียนด้วยลายมือของเขา

    ครั้นพิพิธภัณฑ์ปิดลงเมื่อบ่ายสี่โมงครึ่ง เขากับผม—เราติดฝนอยู่ที่นี่, เหมือนๆ กัน

  • 0

    ตู้ไม้สนซีดาร์สีอ่อนใบนั้นมีกระจกใสแจ๋วปิดอยู่ด้านบน ข้างใต้เป็นกระดาษสีขาวสะอ้าน จารึกตัวอักษรภาษาเยอรมันไว้เป็นระเบียบ คนต่างภาษาย่อมอ่านไม่ออก ทว่าในโชคร้ายยังมีโชคดีเร้นแฝง เหมือนดอกไม้สีขาวเล็กจิ๋วบานแทรกในพุ่มพฤกษ์อันยุ่งเหยิง โน้ตดนตรีอันเป็นภาษาสากลเบ่งบานแทรกซอนอยู่ในตัวหนังสือพรืดดำเหล่านั้นด้วย

    ไม่ผิดแน่ นั่นเป็นคำอธิบายถึงวิถีขบถอันโรแมนติกในซิมโฟนีแสนอัศจรรย์ ซิมโฟนีที่รังสรรค์ขึ้นเมื่อความป่วยไข้เรื้อรังเข้ารังควาน จนร่างกายทรุดโทรม เสื่อมถอย ต่ำทรามลง เบโธเฟนตระหนักแน่ว่า ชีวิตของตนรังแต่จะดิ่งลงสู่ความตาย ไม่มีทางก้าวขึ้นจากหุบเหวแห่งมรณา เส้นด้ายแห่งชีวิตกำลังเน่าเปื่อย ค่อยๆ ป่นสิ้นสลายลงทีละสาย และจะขาดผึงลงเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น ทว่าเขาก็ยังเขียนงานอันงดงาม มอบถวายให้แด่ความรื่นรมย์ใน Symphony No. 9 ทั้งยังเตรียมร่าง Symphony No. 10 เอาไว้ด้วย

    และนี่คือสิ่งที่มาจากนอกจักรวาล แม้จะดูธรรมดาอย่างยิ่งในรูปโฉมของบันไดเสียง D Minor

  • ใต้ตู้ไม้สีอ่อนนั้น มีถาดใส่หูฟังวางอยู่ แม้ใครอ่านโน้ตดนตรีไม่ออก ก็สามารถซึมซับความงามจากนอกโลกของเบโธเฟนได้ ด้วยการหยิบหูฟังนวมนุ่มนั้นมาครอบลงไปบนหูของตน แล้วดนตรีก็จะกระหึ่มก้อง ฉุดลากเราย้อนกลับไปในยุคสมัยที่เบโธเฟนนั่งอยู่ในบ้านหลังนี้


    ตลอดทั้งปี เบโธเฟนตื่นขึ้นในตอนเช้ามืดแล้วตรงดิ่งไปยังโต๊ะทำงานของเขาทันที เขาจะลงมือทำงานไปจนกระทั่งบ่ายสองหรือบ่ายสาม ซึ่งเป็นเวลาอาหารเย็นของเขาตามปกติ ในช่วงเช้า เขาจะเดินออกนอกประตูบ้างครั้งหรือสองครั้ง แต่ก็ยังทำงานอยู่ทั้งๆ ที่เดิน...ในช่วงบ่าย เขามักจะใช้เวลาไปกับการเดินเล่นนานๆ ตอนบ่ายแก่ๆ เขาจะไปยังกระท่อมหลังโปรดเพื่ออ่านเอกสาร...เบโธเฟนมักใช้เวลาในตอนค่ำของฤดูหนาวที่บ้านอ่านวรรณคดีหนักๆ มีน้อยครั้งมากที่เขาจะเขียนสกอร์ดนตรีในตอนเย็น เพราะสายตาของเขาไม่ค่อยดี...เขาจะเข้านอนตอนสี่ทุ่มเป็นอย่างช้าที่สุด


    อันทอน ฟีลิกซ์ ชินด์เลอร์
    (Anton Felix Schindler)
    ผู้เขียนประวัติเบโธเฟน และเกิดร่วมสมัยกับเบโธเฟน
  • 2

    “คุณเล่นดนตรีเป็นไหม” เขาถาม ผมล้วงมือลงไปในกระเป๋าเสื้อกันหนาว แอบเอามือมันๆ เช็ดกับด้านในของกระเป๋าแล้วซุกมืออยู่อย่างนั้น ฝนไม่ซาเม็ดลงเลย

    ฟังคำถามของเขาแล้ว ผมคิดถึงโซนาตาสองบทของเบโธเฟน ในหนังสือเพลงโซนาตาสำหรับเปียโนที่บ้าน มีเพลงโซนาตาอยู่เพลงหนึ่ง มันมีชื่อประหลาดว่า Two Easy Sonatas Op. 49 No. 2 เป็นเพลงของเบโธเฟนนี่เอง ผมไม่รู้ว่าเพราะอะไรเขาจึงจงใจตั้งชื่อเช่นนี้ แต่มันเป็นเพลงที่เมื่อสมัยยังเด็ก ผมและเพื่อนๆ จะไม่เปิดเล่นที่โรงเรียนดนตรีเลย เนื่องจากมีคำว่า Easy เด่นหราอยู่ที่ชื่อเพลง พวกเราในสมัยนั้นจะทำอะไรก็ต้องให้ยากเย็นแสนเข็ญเอาไว้ก่อนจึงจะได้ชื่อว่าเท่ จนกระทั่งวันหนึ่ง รุ่นพี่ที่เล่นเปียโนเก่งมากคนหนึ่งเตือนสติผมว่า เพลงจะยากหรือง่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือ เรารู้จักเพลงเพลงนั้นมากน้อยแค่ไหน เข้าถึงจิตวิญญาณของมันหรือเปล่าต่างหาก

    การเล่น ‘เป็น’ กับการเล่น ‘เก่ง’ เพื่อแข่งขันกันนั้นเป็นคนละเรื่องอย่างสิ้นเชิง

    “ไม่รู้สิ” ผมตอบคำถาม “ผมก็เล่นเปียโนอยู่บ้าง แต่เล่น ‘เป็น’ ไหมนั้น บางทีอาจต้องให้คุณเป็นคนบอกผม”

    เขาทำหน้างง

    “ทำไมล่ะ”

    “ก็ถ้าถามผม ผมเล่นเพื่อความสุขของตัวเอง” ผมบอกเขา “สมัยก่อน ผมอาจจะซีเรียส ต้องเล่นอย่างนั้นอย่างนี้ เล่นให้ถูกต้อง ตีความอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตอนนี้ ผมไม่สนใจมากนัก อาจจะเล่นผิดจังหวะ ยืดจังหวะ เล่นคอร์ดผิดๆ มั่วๆ เปลี่ยนทำนอง หรือนั่งกดคีย์บ้าๆ อยู่คนเดียวในบ้านมืดๆ เป็นชั่วโมงๆ คนอื่นฟังแล้วอาจเสียดหู แต่ถ้ามันปลดปล่อยอะไรในตัวผมออกไปได้บ้าง ผมก็จะทำ หรือบางวัน ถ้าผมจะลุกขึ้นมาซ้อมเพลงของ เฟรเดอริก โชแปง (Frederic Chopin) ผมก็จะซ้อม แต่ผมอาจจะเล่นเพลงของโชแปงได้ไม่ครบทุกโน้ต เพราะผมไม่มีเวลาซ้อมวันละห้าชั่วโมงอย่างที่นักดนตรีอาชีพเขาทำกัน แถมนิ้วผมยังสั้นอีก ผมแก่แล้ว ดัดนิ้วไม่ไหวเหมือนเด็กๆ ซึ่งถ้าคุณฟังแล้วบอกว่าผมเล่นไม่เป็น ผมก็เล่นไม่เป็นหรอกครับ ไม่เป็นไรเลย”

  • เขาพยักหน้า “คุณพูดเหมือนน้อยอกน้อยใจอะไรบางอย่าง”

    “เปล่านี่” ผมบอก

    “คุณรู้ไหมว่า เบโธเฟนไม่ใช่นักปรัชญา” เขาย้อนถาม

    “ครับ” ผมเลิกคิ้ว ใครๆ ก็รู้ว่าเบโธเฟนเป็นคีตกวี

    “แต่คุณรู้ใช่ไหม ว่ามีคนตีความปรัชญาในดนตรีของเบโธเฟนเอาไว้มากมาย”

    ผมพยักหน้า

    “เขาอยากเป็นนักปรัชญามาก” เขาบอก “เบโธเฟนพูดเองว่า คนที่เป็นแบบอย่างของเขาคือ โสคราตีส (Socrates) กับพระเยซู เขาเคยบอกไว้ว่า เขาพยายามมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พยายามที่จะเข้าใจความหมายที่ผู้รู้ทั้งหลายพยายามบอกกล่าวสื่อสารต่อมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่งานของเบโธเฟนจะไม่ได้เป็นแค่งานดนตรี แต่มีความหมายเชิงปรัชญาซ่อนอยู่ด้วย โดยเฉพาะพวกงานแชมเบอร์มิวสิกยุคหลังๆ หรืองานอย่างสตริงควอร์เตตของเขา”

    “เมื่อกี้ตอนอยู่ในมิวเซียม คุณได้ฟัง Leonore Overture หรือเปล่า” ผมถาม

    “ฟังสิ”
  • “ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย” ผมบอกเขา

    “ไม่แปลก” เขาบอก “คนจำนวนมากก็ไม่เคยได้ยิน มันไม่ใช่เพลงที่ป๊อปปูลาร์ของเบโธเฟนหรอก”

    “เป็นโอเวอร์เจอร์ (Overture) ของอะไร”

    “ของโอเปร่า”

    “โอเปร่า!” ผมร้อง “เบโธเฟนเขียนโอเปร่าด้วยหรือ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย”

    “นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง” เขาบอก “แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เบโธเฟนเขียนโอเปร่าเพียงแค่เรื่องเดียว แต่เขาเขียนโอเวอร์เจอร์หรือบทโหมโรงสำหรับโอเปร่าเรื่องหนึ่งถึงสามองก์ด้วยกัน คุณเชื่อไหมล่ะ”

    “ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น” ผมกระเถิบตัวเข้าไปใกล้เขา เพราะน้ำเย็นเฉียบหยดลงมาเฉียดแก้มของผมแล้วตกลงบนไหล่

    “ก็นี่แหละ เบโธเฟน” เขาหัวเราะ “ตอนนั้นเขาป่วยแล้วนะ เริ่มป่วยหลายอย่าง ทั้งปวดหัว กรามแข็ง นิ้วมือนิ้วเท้าแข็ง แต่เขาเป็นคนหัวดื้อ หูของเขาไม่ได้ยินมาระยะหนึ่งแล้ว และอาการก็เริ่มจะแย่ลงไปอีก แต่ถ้าเขาจะทำอะไร เขาก็จะต้องทำให้สำเร็จ เขาเขียนโอเวอร์เจอร์ขึ้นมา ซึ่งคุณก็คงรู้นะว่าโอเวอร์เจอร์เป็นงานที่บอกอารมณ์ของงานทั้งหมด แต่ชิ้นแรกที่ออกมา เขาไม่ชอบใจ ไม่พอใจกับมัน ก็เลยเขียนใหม่เป็นชิ้นที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ทันทีพร้อมกับโอเปร่า จริงๆ ก็ออกมาดีนะ ตอนหลังแม้แต่ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ก็ยังชื่นชม แต่ตอนนั้นคนดูไม่ชอบ เบโธเฟนก็เลยตัดสินใจทำใหม่ออกมาเป็นชิ้นที่สามซึ่งซับซ้อนขึ้น ทำให้ชิ้นที่สองดูเหมือนเป็นร่างของชิ้นที่สามไปเลย งานชิ้นนี้มีความเป็นกวี มีท่วงทำนองที่ชัดเจน มีความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากขึ้น ความงดงามแบบเมโลดราม่าจึงมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย นี่จึงเป็นงานที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของเบโธเฟน ตอนหลัง โอเปร่าเรื่องนี้มีการเอามาทำใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Fidelio ด้วย”
  • “เขาดูเป็นคนแปลกๆ นะ”

    “คุณอ่านเรื่องของเขาตอนอยู่ข้างบนหรือเปล่าล่ะ”

    “อ่านสิ” ผมตอบ

    “ใช่ เบโธเฟนเป็นคนแปลกๆ” เขาทำหน้าครุ่นคิด “แต่เราก็เป็นคนแปลกๆ กันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ เบโธเฟนน่ะ วันหนึ่งเขาอาจจะเขียนจดหมายไปด่าเพื่อนอย่าง โยฮันน์ เนโปมุค ฮัมเมล (Johann Nepomuk Hummel) ว่า ไปไกลๆ เลย ไอ้หมาสกปรก ไม่ต้องมาให้เห็นหน้าอีก แต่วันรุ่งขึ้นก็อาจจะเขียนไปบอกว่า เพื่อนที่รักของฉัน เพื่อนที่ซื่อสัตย์ที่สุด ฉันรู้แล้วว่าเธอพูดถูก ฉันส่งจูบมาให้ จากเบโธเฟนของคุณ เบโธเฟนที่มีอีกชื่อหนึ่งว่าเจ้าเกี๊ยวน้ำไง อะไรแบบนี้”

    “แปรปรวนจัง”

    “ใช่” เขาพยักหน้า “เบโธเฟนยังเคยพูดกับเจ้าชายลิชนาวสกี้ (Prince Lichnowsky) ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์เขาด้วยนะว่า “นี่ เจ้าชาย สิ่งที่ท่านเป็นน่ะ มันก็แค่อุบัติเหตุแห่งการถือกำเนิดเท่านั้น แต่สิ่งที่ข้าเป็น ข้าเป็นเพราะสิ่งที่ข้าทำ มีเจ้าชายเป็นร้อยๆ พันๆ ถมถืดไป แต่โลกนี้น่ะ มีเบโธเฟนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!” นี่แหละ เบโธเฟนเขาเป็นคนคาดเดายาก แปรปรวน โดดเดี่ยว แต่ผมว่าลึกๆ แล้วเราก็อยากเป็นอย่างเบโธเฟนกันทั้งนั้น เพียงแต่เราไม่กล้าเป็นอย่างเขา เพราะเราไม่มีอัจฉริยภาพเหมือนเขาต่างหาก”

    น้ำหยดลงมาทีละหยด แต่ฝนข้างนอกยังไม่มีทีท่าว่าจะขาดเม็ด

    ผมอยากแปรปรวนและโดดเดี่ยวแบบเบโธเฟนไหม—ผมนึกถามตัวเอง

    เราสองคนนั่งอยู่ตรงนั้น หนาวเหน็บและเงียบเชียบ
  • 0

    เสียงบาริโทนโซโลดังขึ้นโดดเด่นคัดง้างกับเสียงเบสของเครื่องดนตรี แล้วนักร้องก็เปล่งถ้อยคำในบทกวีของ ฟรีดริช ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller) ออกมากึกก้อง

    Joy, by fairest gods inspired, daughter of Elysium,

    We, with new ambition fired, to thy sacred shrine have come,

    Though thy spell in bonds supernal, free and joyful once again,

    All mankind unites, fraternal, where thy gentle wings remain.


    ทว่านั่นยังไม่ใช่ส่วนแปลกประหลาดที่สุดของ Symphony No. 9 ของเบโธเฟน สัดส่วนของโน้ตดนตรีที่โดยเนื้อแท้แล้วมีความเป็น ‘แจ๊ซ’ แฝงฝังอยู่ในตัวโน้ตในท่อนถัดมาต่างหากเล่าที่น่าตื่นตะลึง เครื่องโลหะ เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องตี และกลองต่างโหมประโคม แล้วทุกสรรพเสียงก็ถาโถมเข้ามาประดุจคลื่นยักษ์

  • -1

    เมื่อเช้านี้ ผมลงจากรถบัสพร้อมกับคณะสื่อมวลชนสามสิบกว่าคน

    “คุณเต๋อครับ ผมไปละนะครับ” ผมบอกกับมัคคุเทศก์หัวหน้าคณะสั้นๆ

    คุณเต๋อพยักหน้ายิ้มให้ ปกติแล้ว หัวหน้าคณะทัวร์มักจะกะเร้อกะรังพะว้าพะวังกับลูกทัวร์มากเรื่องอย่างผม แต่คุณเต๋อไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเราอยู่ด้วยกันมาหลายวันแล้ว และแต่ละวัน เขาไม่เคยต้องกังวลกับการหายสาบสูญของผมเลยสักครั้งเดียว

    ในฐานะที่ทำงานนิตยสาร ผมมักได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมทริปสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง และบ่อยครั้งก็มักเดินทางเป็นคณะใหญ่ ซึ่งถ้ามีโอกาสและเป็นไปได้ ผมมักจะ ‘หายสาบสูญ’ ไปจากกลุ่มเสมอ

    วันนี้ก็เป็นเช่นนั้น

    มีคนเล่าให้ผมฟังว่า คนอื่นหาว่าผมไม่ชอบอยู่ในฝูง ซึ่งที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ผมชอบอยู่กับผู้คน แต่ผมมักเกรงใจคนอื่นมาก จนหลายครั้งต้องดัดแปลงความชอบของตัวเองให้เป็นไปตามความชอบของคนอื่น

    แต่ไม่นานนัก ผมก็เริ่มตระหนัก, ผมนั่งรอคนที่มาช้าเพราะไปช้อปปิ้งได้ ผมร่วมชื่นชมข้าวของที่ผู้คนซื้อกลับบ้านได้ (แม้ว่าจะไม่มีใครร่วมชื่นชมหนังสือมือสอง โน้ตเพลงเก่าๆ หรือซีดีปกสีซีดๆ ที่ผมเจียดเงินซื้อซุกใส่เป้กลับมาด้วย) ผมอดทนกินอาหารจีนมื้อแล้วมื้อเล่าได้ ผมยอมถูกลากไปดูละครเพลงอย่าง The Phantom of the Opera รอบที่ห้า ทั้งที่อยากดู Sunday in the Park with George ใจจะขาดได้...

    ...แต่จะมีประโยชน์อะไรที่ผมจะต้องอดทนต่อไปอีก,

    ถ้าผมเลือกที่จะ ‘หายสาบสูญ’ ไปได้—ในโอกาสและจังหวะเวลาที่เหมาะสมเล่า...

    ที่จริง ผมอยากชักชวนทุกคนให้มาขลุกอยู่ในบ้านเบโธเฟน (จ่ายเงินเอง) ไปดูเปียโนแสนวิจิตรของ โยฮันน์ สเตราส์ (Johann Strauss II) ในบ้านของเขา (จ่ายเงินเอง) ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่เก็บหอก (ซึ่งว่ากันว่า) ใช้แทงสีข้างพระเยซู (จ่ายเงินเอง) ไปฟัง The Marriage of Figaro ในบ้านฟิกาโร หลังที่โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) เขียนโอเปร่าเรื่องนี้ขึ้น (จ่ายเงินเอง) จ่ายเงินมื้อละยี่สิบสามสิบยูโรเพื่อกินอาหารตำรับเวียนนาที่ดีที่สุดที่ร้าน Korso หรือไปนั่งจิบกาแฟ Melange ในคาเฟ่ของ Museum of Fine Arts แสนสวย

    แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก
  • ไม่ผิดหรอก ที่ใครสักคนอยากจะดูละครเพลงเรื่อง The Lion King ของดิสนีย์ มากกว่าละครเพลงอย่าง Sunday in the Park with George ของ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim)

    ไม่ผิดอีกเช่นกัน ที่เราสามารถใช้จ่ายเงินมากมายไปกับกระเป๋า รองเท้า เครื่องแก้ว เครื่องสำอาง และทะนุถนอมนำมันกลับบ้าน แต่ไม่ยอมให้เงินละลายหายไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างค่าเข้าบ้านเบโธเฟน หรืออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันพอจะติดไม้ติดมือกลับบ้านได้

    “ผมไปละนะครับ” เมื่อเช้านี้ ผมบอกลาคุณเต๋อ แม้ว่าฝนจะเริ่มพรำสาย และคุณเต๋อจะมองมาอย่างเป็นห่วง แต่ผมก็สาวเท้าเดินจากมาด้วยความรู้สึกสดชื่นและเป็นอิสระ 

    โดยบังเอิญ รถจอดอยู่หน้าอนุสาวรีย์ของเบโธเฟน ผมเงยหน้าขึ้นมอง

    ฝนหยดหนึ่งตกใส่ม่านตาอย่างแรง

    ผมยืนกะพริบตาถี่ๆ อยู่ตรงนั้น

    และรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาบอด

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in