เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
05: BLACK JACK หมอนอกระบบ ตลบคนไข้
  • PROFILE
    NAME: แบล็คแจ็ค หรือ คุโรโอะ ฮาซามะ
    FIRST APPEARANCE: Black Jack ตอน ‘Is There a Doctor?’ (1973)
    GOAL: ต้องการล้างแค้นเจ้าหน้าที่เก็บกู้ซากระเบิดที่ทำงานสะเพร่าจนทŽำให้แม่ของเขาเสียชีวิตและตัวเองต้องบาดเจ็บปางตาย

    Black Jack คืออีกหนึ่งผลงานระดับคลาสสิกของ ‘โอซามุ เท็ตสึกะ’ ปรมาจารย์ด้านมังงะ

    เรื่องราวของหมอเถื่อนจอมอัจฉริยะคนนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงชีวิตที่อาจารย์เท็ตสึกะกำลังตกอับ ทำให้แทนที่จะเป็นการ์ตูนฟีลกู้ด รักษาโรคให้ทุกคนพ้นภัย Black Jack ก็กลายเป็นการ์ตูนที่มีตัวเอกเป็นคุณหมอที่แปลกไปจากทุกหมอที่เราเคยเจอ

    เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากอารมณ์เศร้าหมองของ ‘คุโรโอะ ฮาซามะ’ เด็กชายคนหนึ่งที่สูญเสียแม่ไปเพราะความสะเพร่าของหน่วยงานที่เก็บกู้กับระเบิดไม่หมด ส่วนตัวเขาเองก็บาดเจ็บสาหัส ร่างกายแยกเป็นชิ้นๆ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก ‘ดอกเตอร์จูทาโร ฮอนมะ’ ก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว

    ดอกเตอร์ฮอนมะเป็นคนประกอบ ‘ร่าง’ ของแบล็คแจ็คขึ้นมาใหม่ ช่วยกายภาพบำบัด และถ่ายทอดวิชาแพทย์ให้จนเก่งกาจกลายเป็น ‘คุณหมอแบล็คแจ็ค’ แต่เขากลับถูกสมาคมแพทย์แบนด้วยเหตุผลสารพัด เช่น เก็บค่ารักษาแพงมหาโหด หรือรักษาด้วยวิธีการนอกตำรา ทำให้แบล็คแจ็คกลายเป็นหมอเถื่อนเพราะไม่มีใบประกอบการรักษาโรคไปโดยปริยาย
  • ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าแบล็คแจ็คใช้ความสามารถในการแพทย์ของตนเองมาบรรเทาความเครียดแค้นและใช้เป็นทางผ่านเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่จะแก้แค้นให้กับแม่ของตัวเอง

    เขาขูดรีดเงินจากคนไข้เพื่อนำมาใช้เป็นต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และเก็บไว้เป็นทุนทรัพย์เอาไว้แก้แค้นคนที่ทำให้แม่เขาตายและทำให้ใบหน้าของเขาเสียโฉม แบล็คแจ็คเลยได้รับการขนานนามว่าเป็นหมอปีศาจหน้าเลือดที่หาผลประโยชน์จากคนที่ไม่มีทางเลือก เพราะถ้าเกิดคนไข้ไม่มีเงินจ่ายแล้วอยากให้เขารักษา คุณหมอคนนี้ก็จะตั้งเงื่อนไขที่โหดร้ายตามมาเสมอ

    ถึงแม้ว่าภายหลังแบล็คแจ็คจะไม่ได้ต้องการทุนทรัพย์ในการตามหาคนร้ายแล้ว เขาก็ยังคงรักษาผู้คนด้วยอัตราค่ารักษามหาโหดอยู่ดี (แพงที่สุดคือ 3,000 ล้านเยน) แต่ก็มีไม่น้อยที่เขารักษาโดยแลกกับบะหมี่ชามเดียว หรือบางครั้งถ้าเขาอยากรักษามากๆ แต่มีอุปสรรคมาขัดขวาง เขาก็ยอมควักเงินจ่ายเพื่อให้ได้รักษาคนไข้!

    แม้จะดูร้ายกาจในบางที แต่ความร้ายกาจของแบล็คแจ็คนั้นล้วนมีสาเหตุ ถูกแต่งขึ้นให้ดำเนินไปตามเหตุผลจากกิเลสตัณหาของมนุษย์ รวมถึงอ้างอิงกับเหตุผลของบุญกรรมอันเป็นปรัชญาแห่งชีวิตมากมาย
  • BAD LIST

    • ครั้งหนึ่ง ลูกของนายกสมาคมการแพทย์เกิดป่วย ไม่มีใครรักษาได้ นายกสมาคมฯ จึงบากหน้ามาหาแบล็คแจ็ค วิงวอนให้ช่วยรักษา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตนเป็นคนคัดค้านไม่ออกใบประกอบการรักษาโรคให้แบล็คแจ็ค แต่เมื่อถึงนาทีคับขัน นายกสมาคมฯ ก็เอ่ยปากว่าจะรับรองใบประกอบฯ ให้ ขอแค่แบล็คแจ็คยอมรักษาลูกของตน ซึ่งแบล็คแจ็คก็รับรักษา แต่เจ้าตัวก็ฉีกใบรับรองนั้นทิ้งแบบไม่เหลือชิ้นดี

    • ในตอน ‘Is There a Doctor?’ ลูกของมาเฟียคนหนึ่งซิ่งรถยนต์ไปชนกับเสาจนตัวเองอยู่ในอาการโคม่า ผู้เป็นพ่อจึงไปว่าจ้างแบล็คแจ็คให้มากอบกู้ชีวิต ซึ่งทางออกของเคสนี้คือการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจากร่างที่เพิ่งสิ้นลมหายใจ ด้วยความเป็นผู้ทรงอิทธิพล ผู้เป็นพ่อและแก๊งมาเฟียจึงไปจับเอาเด็กหนุ่มที่เห็นเหตุการณ์รถชนมาเป็นแพะ ใส่ความให้ขึ้นโรงขึ้นศาล และถูกตัดสินให้ต้องประหาร ซึ่งแบล็คแจ็ครู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องผ่าตัดจริงๆ เขาจึงศัลยกรรมหน้าตาของเด็กหนุ่มให้เหมือนกับลูกชายของมาเฟีย (ส่วนตัวลูกชายจริงๆ ก็เสียชีวิตไป) ถือเป็นการปกป้องรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์ด้วยวิธีการอันเหนือชั้น

    • หนึ่งในคนร้ายที่แบล็คแจ็คออกตามหา ถูกเขานำไปปล่อยบนเกาะที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด แบล็คแจ็คทิ้งแผนที่ไว้ให้ บอกว่าถ้าใจเย็น เจ้าจะรอดชีวิตอย่างปลอดภัย แต่สุดท้ายเขาก็ไม่รอด…
  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    Black Jack เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับคำพูดที่ว่า “การ์ตูนไม่ได้เป็นแค่การ์ตูน” คือมันไม่ใช่แค่ความสนุกสนานไร้สาระสำหรับเด็ก แต่การ์ตูนเป็นรูปแบบการนำเสนออีกแบบหนึ่ง เป็นศิลปะอีกแขนงที่ไม่ด้อยอะไรไปกว่าศิลปะแขนงอื่น

    การ์ตูนสามารถใช้พูดถึงประเด็นที่ซับซ้อนและชวนขบคิดให้เข้าใจโลกได้มากขึ้น 

    สำหรับ Black Jack ความซับซ้อนอยู่ที่การสร้าง ‘ตัวเอก’ ให้เป็น ‘ตัวร้าย’ ไปพร้อมๆ กัน

    ตอนอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ สิ่งที่ชวนให้สงสัยอยู่ตลอดคือ ตกลงว่าไอ้นี่มันเป็นตัวร้ายหรือพระเอกกันแน่ (วะ) เพราะชื่อเรื่องก็เป็นชื่อพี่แก แถมทั้งเรื่องก็มีคุณหมอเป็นศูนย์กลาง ดูจากทรงแล้ว ‘แบล็คแจ็ค’ ต้องรับบทพระเอกแน่นอน

    แต่ไหงพ่อพระเอกของเราดันมีฉายาว่า ‘หมอปีศาจ’ (โฉมหน้าของเฮียเขาก็สมชื่อหมอปีศาจอยู่) แล้วที่สำคัญพฤติกรรมของพี่แกก็ยากที่จะบอกไปให้ชัดๆ ว่า เป็นดีหรือคนร้ายกันแน่ 

    สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าแบล็คแจ็ค ‘ร้าย’ อยู่ที่ ‘ความเป็นหมอ’ นี่แหละครับ

    ลองนึกถึงคำว่าหมอ เราจะมีจินตนาการบางอย่าง หรือความหวังบางอย่างที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติกับอาชีพหมอ หมอต้องนุ่มนวล เอาใจใส่ เปี่ยมไปด้วยเมตตา ทำงานหนัก ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่สนใจความสบาย บลา บลา บลา (ซึ่งเอาจริงๆ หมอก็คือคนคนหนึ่งแหละ) แถมอาชีพแพทย์ยังมีเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพมากำกับพฤติกรรมในการรักษาคนไข้อีก 

    แน่นอนว่า แบล็คแจ็คถูกวาดให้ตรงข้ามหมอในจินตนาการหรือความคาดหวังของสังคม พูดง่ายๆ คือพี่แกไม่มีจรรยาบรรณ เอาเรื่องเงินมาเป็นการต่อรองกับชีวิตของคนป่วย แถมท่าทีก็เย็นชาพอๆ กับหน้าตา ในบางเคสก็ทำรุนแรงโหดร้ายกับคนไข้หรือคนที่มาขอความช่วยเหลืออีก
  • ในตอนแรกของการ์ตูนเรื่องนี้ มีชื่อตอนว่า Is There a Doctor? ซึ่งนอกจากจะมีความหมายกว้างๆ ว่า ‘แถวนี้มีหมอมั้ย?’ อีกนัยหนึ่งก็สามารถแปลได้ว่า ‘คนนี้ใช่หมอแน่เหรอ?’ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นหมอของแบล็คแจ็คที่น่าสงสัยพอดี

    เป็นเรื่องธรรมดาที่เรามักจะตัดสินคนอื่นจากภายนอก หรือแค่แวบเดียวที่เราเห็น ยิ่งภาพลักษณ์อย่างแบล็คแจ็คด้วยแล้ว อย่าว่าแต่เป็นหมอเลย ถ้าเจอตัวเป็นๆ ตามท้องถนน เราก็คงรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ค่อยอยากอยู่ใกล้เท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือดู ‘ไม่ค่อยเป็นมนุษย์’ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะการสร้าง ‘ภาพ’ ของแบล็คแจ็คก็ดูเหมือนว่าจะมีการอ้างอิงไปที่ ‘แฟรงเกนสไตน์’ อสูรกายชื่อดัง ภาพจำของปีศาจที่ปรากฏตัวทุกครั้งในงานวันฮาโลวีน 

    แฟรงเกนสไตน์ถือกำเนิดขึ้นจากซากศพ (จากความต้องการที่จะสร้างมนุษย์) ส่วนแบล็คแจ็ค ถ้ามองเผินๆ เราก็คงคิดว่ามันไม่ต่างจากแฟรงเกนสไตน์ แต่แท้จริงแล้ว ร่างกายที่ปุปะนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของการตกเป็นเหยื่อ (และความแค้น) แถมเหตุผลที่แบล็คแจ็คมีสีผิวไม่เหมือนกันก็เป็นเพราะว่าเขาได้รับการบริจาคผิวหนังส่วนนั้นมาจากเพื่อนสนิท!

    เห็นมั้ยครับว่า ‘ภาพลักษณ์’ ของแบล็คแจ็คทำให้เราคิดไขว้เขวไปได้ขนาดไหน

    มาที่พฤติกรรมความร้ายกันบ้าง ความร้ายของแบล็คแจ็คทำให้เราได้เห็นความคลุมเครือ ได้กลับมาทบทวนเรื่องความถูกต้อง ความดีงามทั้งหลาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกฎเกณฑ์สารพัดที่สังคมตั้งขึ้น 

    จริงๆ แล้วแบล็คแจ็คก็ทำการรักษาหรือช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรกับหมอในระบบ (ขณะเดียวกัน ระบบการแพทย์ก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน—หมอในระบบเองก็มีดีชั่วปะปนกันไป) เพียงแต่อาจจะถอยห่างออกจากสังคม ปฏิเสธกฎเกณฑ์ที่สังคมตั้งเอาไว้ แล้วตั้งกฎเกณฑ์หรือศีลธรรมเฉพาะตัวขึ้นมา 

    ในกรณีตัวอย่างที่หมอใหญ่ยินดีแลกใบอนุญาตกับการรักษาในด้านหนึ่งก็เป็นทุจริตเหมือนกัน แถมเป็นการทำลายกฎเกณฑ์จรรยาบรรณแพทย์ที่ยึดถือ ว่าจริงๆ ระบบ กติกาอะไรพวกนี้ก็ไม่ได้ศักดิสิทธิ์เท่าไหร่นี่นา ซึ่งในที่สุดก็บอกไม่ได้อย่างเต็มปากว่ากฎเกณฑ์ชุดไหนกันแน่ที่ถูกต้องที่สุดหรือผิดที่สุด 

    เหมือนภาพของหมอที่ดูขาวแต่ก็ไม่แน่ว่าจะขาว ภาพของแบล็คแจ็คที่ดูดำก็เลยไม่แน่ว่าจะดำไปทั้งหมด

    แบล็คแจ็คที่ถูกวาดให้ไม่มีความเป็นมนุษย์ อยู่ในเงามืด อยู่นอกระบบ ก็ไม่ได้เป็นคนเลวโดยสมบูรณ์ ไม่ได้อยู่ข้ามกับความดีงามขาวสะอาดอย่างสิ้นเชิง 

    มันก็เหมือนกับภาพเส้นผมของแบล็คแจ็คที่มีทั้งสีขาวสีดำปะปนกัน 

    สุดท้ายอาจทำให้เห็นว่าในคนคนหนึ่งหรือที่ที่หนึ่งก็มีทั้งดีและชั่วปะปนกันไป ไม่อาจตัดสินลงไปได้ง่ายๆว่าเป็นขาวหรือดำ

    เรื่องราวใน Black Jack บอกเราว่าโลกอันแสนบริสุทธิ์ที่สีดำเป็นสีดำ สีขาวเป็นสีขาวนั้นไม่มีอยู่จริง จริยธรรม ระบบ หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นเพียงกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งจากหลายๆ ชุดที่คนเราตั้งขึ้นมาใช้แยกดำและขาวออกจากกัน โดยลืมไปว่าแท้จริงโลกใบนี้เต็มไปด้วยเฉดสีเทาอันซับซ้อนที่ต้องการการคิดใคร่ครวญมากกว่าการใช้เกณฑ์หรือไม้บรรทัดอันใดอันหนึ่งไปตัดสินว่า ถ้าทำแบบนั้นคือ ‘ดี’ แบบนี้คือ ‘เลว’

    เพราะไม้บรรทัดแต่ละอันอาจมีหน้าที่วัดหน่วยหรือลักษณะที่แตกต่างกัน

    แบล็คแจ็คอาจกำลังจะบอกกับ ‘คนไข้’ หรือ ‘ผู้อ่าน’ ของเขาอย่างนั้น

  • “I’m not too fond of rules. I won’t be a doctor by the mould.”
    “ฉันไม่ชอบกฎกติกานักหรอก แล้วก็จะไม่เป็นหมอที่ถูกตีกรอบด้วย”

    —Black Jack

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in