IN-DEPTH
โดย วณัฐย์ พุฒนาค
‘แม่มด’ เป็นตัวร้ายที่ขาดไม่ได้ในฐานะ ‘ต้นเหตุ’ ของนิทานเจ้าชายเจ้าหญิงหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่มดหลงตัวเองที่มาพร้อมกระจกวิเศษและลูกแอปเปิ้ลอาบยาพิษ หรือแม่มดชราที่เป็นต้นเหตุของคำสาปให้เจ้าหญิงนิทราหลับใหลด้วยเครื่องปั่นด้าย
ภาพของแม่มดมักเป็นหญิงสูงอายุที่ทรงอำนาจและชั่วร้าย เปี่ยมไปด้วยความริษยาอาฆาตพยาบาทแบบ ‘ผู้ยิ้ง ผู้หญิง’ (ริษยากันเรื่องความงาม ไม่ยอมให้ใครงามเกินหน้าตัวเอง หรือโกรธแค้นอย่างหนักที่ไม่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยง) และเมื่อพูดถึงแอปเปิ้ล ความงาม และหญิงผู้ถูกลืมซึ่งมาป่วนงานรื่นเริง ผมก็จะนึกถึงปกรณัมกรีกโบราณอันเป็นต้นเรื่องของ ‘สงครามกรุงทรอย’ อันโด่งดังอย่างกรณี ‘แอปเปิ้ลสีทองกับการตัดสินของปารีส’ (Judgement of Paris)
เหตุการณ์ในข้างต้นเกี่ยวกับ ‘ซูส’ ที่ไม่ได้เชิญ ‘เทวีแห่งความบาดหมาง’ ไปร่วมงานเลี้ยงแต่งงาน นางเลยไปก่อความวุ่นวายด้วยการโยนแอปเปิ้ลทองคำที่สลักว่า ‘แด่ผู้ที่งามที่สุด’ (To the Fairest) ไปกลางวง ซึ่งแน่นอนว่าเทวีสามองค์ผู้ต่างก็คิดว่าตนเองสวยอย่าง ‘เฮร่า’ ‘อาเธน่า’ และ ‘อะโฟรไดต์’ ต่างตรงเข้าแย่งแอปเปิ้ลกัน ร้อนถึงซูสที่แม้จะเป็นประมุขแห่งโอลิมปัสแต่ก็ไม่อยากตัดสินศึกนี้ เพราะมันต้องเกิดปัญหาแน่ (ตัดสินยังไงก็โดนตบ) ซูสจึงโยนให้ ‘ปารีส’ มนุษย์ชาวโทรจันเป็นผู้ชี้ชะตา โดยอ้างว่าปารีสเคยเป็นกรรมการที่เที่ยงธรรมมาแล้วจากการ ‘ตัดสินวัว’ ที่มีเทพองค์หนึ่งแปลงกายเป็นวัวลงไปประกวดด้วย (แน่นอนว่าวัวในร่างเทพประกวดชนะ เป็นอันว่าปารีสช่างตาถึง)
งานนี้เทวีทั้งสามต่างติดสินบนกรรมการกันคนละอย่าง โดยปารีสตัดสินให้อะโฟรไดต์ เทวีแห่งความรักเป็นผู้ชนะ เพราะเธอเสนอว่าจะมอบหญิงงามที่สุดในโลกให้เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งหญิงงามคนนั้นก็คือ ‘เฮเลนแห่งกรุงทรอย’ และเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์สงครามกรุงทรอยที่ใหญ่โตมโหฬาร
...สังเกตได้ว่าต้นเหตุของปัญหาล้วนเกิดจากผู้หญิงตั้งแต่ต้นจนจบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in