เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
11: GIANT เด็กอ้วนเกเรจอมพลังฉบับออริจินัล
  • PROFILE
    NAME: Giant / Gouda Takeshi
    FIRST APPEARANCE: Doraemon ตอน ‘All the Way from a Future World’ (1969)
    GOAL: เป็นใหญ่ในหมู่เพื่อนและ (หวังจะ) เป็นนักร้องชื่อดัง

    * เนื่องจาก Doraemon เริ่มตีพิมพ์พร้อมกันหกเล่มในนิตยสารสำหรับเด็ก การสืบหาว่าตอนไหนเป็นตอนแรกที่แท้จริงลำบากอย่างยิ่ง จึงขอยึดเอาเรื่องราวจากฉบับรวมเล่มตอนปี 1974 เป็นหลัก

    ด้วยรูปร่างที่ใหญ่และพละกำลังที่มากกว่าใครเพื่อน ทำให้เด็กชายโกดะ ทาเคชิ กลายเป็นที่หวาดกลัวและถูกขนานนามในหมู่เพื่อนฝูงว่า ‘ไจแอนท์’ (Giant) ให้สมกับการกระทำของตัวเขาเอง ที่มีทั้งข่มขู่ ฉุดกระชาก ต่อยเตะ จนเพื่อนต้องร้องไห้กลับบ้านไปฟ้องพ่อฟ้องแม่

    ไจแอนท์เป็นหัวหน้าทีมเบสบอลในหมู่บ้าน เขาใช้ชื่อทีมเป็นชื่อตนเอง และมีอักษรย่อคือ ‘G’ ได้เพื่อนร่วมทีมจากการบังคับเพื่อนให้มาเล่นด้วย และถ้าใครทำพลาดก็ต้องโดนเจ้าตัวทำโทษ เมื่อเห็นเพื่อนมีของเล่นชิ้นใหม่หรือหนังสือการ์ตูนเล่มล่าสุด ไจแอนท์เป็นต้องรีบปรี่เข้าไปหาและเอ่ยวลีคลาสสิกว่า ‘ขอยืม’ ซึ่งหากใครได้ส่งให้ไจแอนท์ยืมแล้วละก็ ทำใจล่วงหน้าได้เลยว่าไม่หายก็พังแน่นอน (แถมถ้าเอ่ยปากทวงอาจมีสิทธิ์โดนต่อยกลับมาอีก เฮ้อ ชีวิตอยู่ยาก)

    นอกจากนี้ ไจแอนท์ยังมีความฝันสูงสุดคือการเป็นนักร้อง เขาสามารถทำให้คนฟังน้ำตานองอาบสองแก้มได้ ไม่ใช่เพราะซาบซึ้งในความไพเราะ แต่เป็นเพราะมันทรมานเกินกว่าจะทนฟังไหว เทียบได้กับมลพิษทางเสียงในระดับอันตราย หากไจแอนท์จัดคอนเสิร์ตกลุ่มเมื่อไหร่เพื่อนก็จะพยายามหาทางเลี่ยงกันเป็นแถว (แต่ส่วนใหญ่มักหนีไม่รอดและถูกจับมานั่งฟังกันหน้าสลอน)

    เห็นไจแอนท์เป็นเด็กเกเรแบบนี้ แต่เมื่อกลับถึงบ้านไจแอนท์จะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นเด็กติ๋มที่ถูกแม่บ่นด่าว่ากล่าวตลอดเวลา เพราะไม่ยอมช่วยงานบ้าน วันๆ เอาแต่อ่านการ์ตูน ไม่ก็หนีไปเล่นนอกบ้านแทนที่จะอยู่เฝ้าร้านขายของชำให้แม่ ซึ่งต่างจากโนบิตะที่แม่ของไจแอนท์ชื่นชมและรักใคร่เป็นพิเศษ จนกลายเป็นปมที่ทำให้ไจแอนท์ชอบรังแกโนบิตะอยู่เสมอๆ

    ทั้งนี้ทั้งนั้น ไจแอนท์กลับเป็นเด็กที่รักน้องสาวและเพื่อนพ้องมาก หากมีใครมาทำร้ายคนที่เขารู้จัก ไจแอนท์เป็นต้องโกรธฟึดฟัดและตามไปจัดการคนเหล่านั้นให้เสร็จสิ้น (แต่ถ้าไม่มีใครรังแก เขาก็จะรังแกเพื่อนซะเอง เวรกรรม) และหากมีเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ เจ้าตัวก็พร้อมจะกอดคอร้องไห้และกลายเป็นเด็กขี้แยได้ไม่ต่างจากเพื่อนในรุ่นเดียวกันเลย
  • BAD LIST

    - เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก ทำให้ไจแอนท์ติดนิสัยยึดของเพื่อนมาเป็นของตัวเอง ซึ่งเข้าทาง โฮเนคาวะ ซูเนโอะ คู่สมุนตัวเล็กปากยื่นที่บ้านร่ำรวยมาก และเป็นคนที่มักแบ่งของใหม่ๆ ให้ไจแอนท์เล่น แบ่งหนังสือการ์ตูนให้ไจแอนท์ยืม (ที่จริงถูกยืมกึ่งยึด) เวลาไปเที่ยวก็ต้องชวนไจแอนท์เพื่อเอาใจ ทำให้เมื่อถึงคราวคับขันหรือเวลาที่อยากกลั่นแกล้งใคร ซูเนโอะจะยุให้ไจแอนท์ออกมาป้องกันหรือข่มขู่ฝั่งตรงข้าม (เรียกง่ายๆ ว่าโดนซื้อตัวไปแล้วนั่นเอง)

    - ถึงไจแอนท์จะจัดคอนเสิร์ตโลกแตกบ่อยครั้ง แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้เลยว่าเสียงร้องของเขาทำให้คนดูสลบไสลไปตั้งแต่ยังไม่ถึงท่อนฮุก วันหนึ่งไจแอนท์อยากแสดงศักยภาพของลูกคอตัวเองให้ชาวประชาได้รับรู้ มั่นใจขนาดนี้แต่ก็ยังกลัวว่าเสียงร้องตนจะสู้คนอื่นไม่ได้ จึงมาขอร้องโดราเอมอนให้เอาลูกอมที่อมแล้วทำให้เสียงดี ซึ่งก็โชคร้ายเหลือเกินที่เจ้าตัวดันอมลูกอมก่อนขึ้นเวทีนานไปหน่อย ทำให้เมื่อถึงเวลาลูกอมก็หมดฤทธิ์ซะแล้ว โทรทัศน์ของคนทั่วโลกจึงพัง และคนจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาล

    - ทันทีที่ไจแอนท์ดูหนังเรื่อง Superdan (อารมณ์เดียวกับซูเปอร์แมนนั่นเอง) จบ เขาก็มีความคิดอยากเป็นฮีโร่ผดุงความยุติธรรม อยากปกป้องเพื่อนจากภัยร้าย แต่เมื่อไจแอนท์ปรับตัวเป็นคนดี ไม่รังแกใคร ชีวิตของทุกคนก็ปกติสุข ไจแอนท์จึงหงุดหงิดและหาเรื่องต่อยเพื่อนในท้ายที่สุด 
  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    ‘ไจแอนท์’ เป็นตัวร้ายที่เราน่าจะรู้จักและรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษ มันไม่ใช่แค่เพราะโดราเอมอนเป็นการ์ตูนระดับคลาสสิกอย่างเดียว แต่ในความทรงจำวัยเด็กของเรามักมีตัวละครแบบไจแอนท์โผล่ขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น เราต่างต้องมีเพื่อนสักคน (หรืออาจจะเป็นตัวเราเอง) ที่เป็นแบบไจแอนท์ เป็นเด็กเกเรตามแบบฉบับเด็กที่ตัวโตกว่าชาวบ้าน ชอบใช้กำลังข่มเหงรังแกคนอื่น เป็นตัวการแย่งขนมบ้าง ของเล่นบ้าง ทำให้เพื่อนๆ ร้องไห้เป็นประจำ แล้วไอ้เด็กแสบประจำห้องแนวนี้มักจะมีลูกคู่ทำนองซูเนโอะ คือเป็นเด็กตัวเล็กผอมแห้งที่ลำพังตัวเองไม่ค่อยมีกำลังทางกายหรอก แต่อาศัยความเจ้าเล่ห์และเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ เพื่อหยิบยืมกำลังของเด็กเกเรแบบไจแอนท์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ 

    ในความทรงจำเราต่างมีไจแอนท์หรือซูเนโอะเป็นของตัวเอง ตัวละครในโดราเอมอนชวนให้เราคิดถึงเพื่อนคนโน้นคนนี้

    ความร้ายของไจแอนท์หลักๆ ก็คือการข่มเหงรังแกโนบิตะและเพื่อนฝูงหรือใครก็ตามที่อ่อนแอกว่าตัวเอง ความร้ายนี้เกิดจากข้อได้เปรียบทางร่างกายที่ใหญ่โตแข็งแรงกว่าชาวบ้าน ด้วยพละกำลังนี้เองทำให้ไจแอนท์ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ถ้าพูดด้วยน้ำเสียงนักวิชาการคือ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระนาบของผู้แข็งแกร่งที่อยู่เหนือผู้อ่อนแออันเป็นความสัมพันธ์ที่ดูชอบธรรมและเราคุ้นเคยมากที่สุด คนแข็งแกร่งก็ย่อมอยู่เหนือผู้ที่อ่อนแอกว่าไง ตรรกะสากลของโลก 

    เราอาจรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้แข็งแกร่งกว่าย่อมอยู่เหนือและมีอำนาจมากกว่าผู้ที่อ่อนแอ
  • จริงอยู่ว่าไจแอนท์เป็นเหมือนผู้ล่าทางธรรมชาติ (ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าไจแอนท์ เป็นยักษ์ใหญ่) จากพละกำลังที่เป็นพรติดตัวมาตั้งแต่เกิด พี่แกเลยสามารถใช้กำลังของตนจัดการคนอื่นได้ พูดง่ายๆ คือไจแอนท์ดูจะเป็นผู้ทรงอำนาจตามหลักห่วงโซ่อาหาร สามารถใช้อำนาจของตนกดข่มและจัดการผู้ที่มีพละกำลังหรืออำนาจน้อยกว่าตนได้

    แต่เอาเข้าจริงแล้ว ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านและต่อรองกับอำนาจนั้นเสมอ การต่อรองมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย และถ้าเราลองดูรูปแบบความสัมพันธ์ของเหล่าผองเพื่อนในการ์ตูนเรื่องนี้ให้ดี ก็จะเห็นการใช้อำนาจหรือกลยุทธ์ในรูปแบบต่างๆ มา ‘ต่อรอง’ กับอำนาจของไจแอนท์

    สำหรับ ‘โนบิตะ’ พระเอกห่วยขั้นเทพ ที่ห่วยไปซะทุกด้าน เรียนก็ห่วย ร่างกายก็อ่อนแอ แถมยังขี้ขลาด ซึ่งพลังแฝงที่คนห่วยแบบโนบิตะเอามาใช้ต่อกรกับศัตรูทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นหมัดของไจแอนท์ หมาแถวบ้าน แม่ของตัวเอง เดคิซุงิ ฯลฯ) ก็คือ ‘ของวิเศษ’ จาก ‘โดราเอมอน’ จริงๆ อำนาจของโนบิตะคือผู้ช่วยจากโลกอนาคตและสารพัดของวิเศษที่ควรจะมีพลังระดับครอบครองโลกได้ โนบิตะจึงควรจะมีอำนาจมากที่สุดในเรื่อง
  • อีกตัวละครที่มีความอ่อนแอทางกายแต่ไม่มีเทพเจ้าคุ้มครองคือ ซูเนโอะที่แม้ไม่มีใครส่งของมาให้จากอนาคตเหมือนพระเอกของเรา แต่ด้วยความเจ้าเล่ห์ (และรวย) ทำให้ซูเนโอะสามารถเอาตัวรอดจากไจแอนท์ได้ ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือ ในบางทีซูเนโอะก็สามารถบงการชักใยไจแอนท์ผู้ซึ่งอยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหารให้ทำตามที่ตนต้องการได้อีกต่างหาก 

    ซูเนโอะแสดงให้เห็นการใช้ทักษะส่วนตัวในการเอาตัวรอด… จะว่าไปความเจ้าเล่ห์ที่เรียกในแง่บวกว่าสติปัญญาแบบที่ซูเนโอะมี ก็เป็นสิ่งที่เหนือชั้นกว่าการใช้แค่ร่างกายหรือพละกำลังของไจแอนท์อยู่หลายขุม ลึกๆแล้วซูเนโอะร้ายลึกกว่าไจแอนท์เยอะ

    ถึงตรงนี้เราอาจเริ่มมองเห็นว่าเฮ้ย!? จริงๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับสังคมที่เราอยู่เลยนี่นา เราต่างมีวิธีมีกลยุทธ์ที่พร้อมจะงัดมาต่อสู้ต่อรองกับอำนาจ สังคมของเด็กๆ ในโดราเอมอนเป็นสังคมจำลองที่ทำให้เราเห็นภาพสะท้อนของโครงสร้างอำนาจและกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อความอยู่รอด 
    ไจแอนท์ที่ตัวโตที่สุด ‘ดูเหมือนจะ’ มีอำนาจที่สุดและอยู่บนยอดของโครงสร้างอำนาจในฐานะหัวโจก แต่ในขณะเดียวกันซูเนโอะก็ใช้ไหวพริบเอาตัวรอด โดยวางสถานภาพตัวเองให้ต่ำกว่าไจแอนท์ แต่ใช้สติปัญญาและวาจาในการบงการไจแอนท์อีกทอด ส่วนโนบิตะผู้ห่วยไปซะทุกเรื่องก็ใช้ของวิเศษของโดราเอมอนเป็นกลยุทธ์หลัก แม้แต่ยัยชิซูกะเองก็แสบใช่ย่อย ชิซูกะใช้ความเป็นผู้หญิงเพื่อเอาตัวรอดด้วยการวางเฉยไม่เข้าไปยุ่งในโครงสร้างอำนาจของผู้ชาย ชิซูกะมักรับบทเป็นผู้ชมอยู่ห่างๆ พอเสร็จเรื่องค่อยเข้าทำหน้าที่ปลอบใจสวยๆ ไม่ได้ตั้งใจช่วยเหลือโนบิตะจริงๆ เท่าไหร่ (จริงปะล่ะ แถมบางทีก็แล่นไปกับเดคิซุงิ ไม่แยแสโนบิตะหรือความอยุติธรรมในโลกนี้เท่าไหร่หรอก) ส่วนเดคิซุงิก็จะอ้างความฉลาดแล้วนั่งหล่ออยู่บนหอคอยงาช้างไม่ลงมาเกลือกกลั้วด้วย


  • ทั้งหมดมันทำให้เราเห็นว่า ในทุกที่แม้กระทั่งในชุดความสัมพันธ์ของเด็กก็มีลักษณะเป็น ‘ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ อยู่เสมอ และที่สำคัญคือโครงสร้างอำนาจมันไม่ตายตัว ตัวละครทุกตัวต่างดิ้นรน รับมือ และต่อรองกับอำนาจซึ่งกันและกันด้วยกลยุทธ์เฉพาะตัวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งไจแอนท์ก็เหนือกว่าด้วยพลังทางกาย บางครั้งซูเนโอะก็เหนือกว่าด้วยความเจ้าเล่ห์ บางครั้งโนบิตะก็เหนือกว่าด้วยพลังจากของวิเศษ บางครั้งชิซูกะก็ใช้ความเป็นหญิงเข้าสงบเหตุหรือชักนำไปสู่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ผลัดกันไปผลัดกันมาอยู่ตลอด

    เวลาพูดถึงเรื่องอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เรามักคิดถึงแต่เรื่องใหญ่ๆ  อย่างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐ แต่ที่จริงในความสัมพันธ์ทั้งหมดตั้งแต่ระดับเด็กไร้เดียงสาก็ล้วนมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งสิ้น และที่สำคัญคือมันไม่แน่นิ่ง ภาพที่เห็นอาจทำให้เรามองว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจกดขี่ผู้อ่อนแออยู่ฝ่ายเดียว แต่ในความเคลื่อนไหวจะมีลักษณะที่เรียกว่าปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือมีทั้งการใช้อำนาจ มีการต่อต้านต่อรองกันเสมอ

    รอบตัวเราเองมี ‘ไจแอนท์’ และเราต่างมีวิธีรับมือไจแอนท์ในรูปแบบที่ต่างออกไป

    บางที บางเวลา โดยไม่ทันได้รู้ตัว เราก็อาจจะเป็นไจแอนท์ไปซะเอง



  • “What’s yours is mine, and what’s mine is mine.”
    “ของของนายก็คือของของฉัน ส่วนของของฉันก็คือของของฉัน”

    —Giant

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in