การคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection)
เราจะเห็นว่า วิวัฒนาการไม่ได้สนใจเลยว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะแข็งแกร่งเพียงใด สิ่งเดียวที่สำคัญก็คือความสามารถในการส่งต่อลักษณะสายพันธุ์นั้นต่อไป
สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทุกอย่างสมบูรณ์แบบและสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมใดก็ได้แต่เป็นหมัน ย่อมจะสูญพันธุ์ไป เพราะไม่สามารถให้กำเนิดทายาทที่ช่วยส่งต่อลักษณะดังกล่าวต่อไปได้ ดังนั้นในเชิงวิวัฒนาการ สิ่งที่สำคัญก็คือ การมีลูกที่จะสามารถอยู่รอดไปจนมีลูกของตัวเองได้เป็นจำนวนมากที่สุด
วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การมีลูกให้มากที่สุด ปลาบางชนิดอาจจะวางไข่นับพันฟองเพื่อให้ได้ลูกจำนวนมากที่สุด แต่การวางไข่ที่มากก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบผลสำเร็จ หากไข่เหล่านั้นไม่สามารถเอาชีวิตรอดพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยที่สามารถวางไข่ต่อไปได้
อีกวิธีหนึ่งก็คือการออกลูกจำนวนน้อยลง แต่ใช้พลังงานในการเลี้ยงดูเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะมีโอกาสสามารถเติบโตอยู่รอดได้มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องสรรหาสายพันธุ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกของตัวเอง โดยการเลือกคู่ครองที่มีลักษณะดีที่สุด สัตว์หลายๆ ชนิดจึงแสดงพฤติกรรมการคัดเลือกทางเพศ นั่นก็คือสัตว์เพศเมียจะคัดเลือกสัตว์เพศผู้ที่มีลักษณะสมบูรณ์เพียงพอควรค่าแก่การยอมผสมพันธ์ุ ซึ่งการคัดเลือกทางเพศนี้ สามารถช่วยเร่งกระบวนการวิวัฒนาการได้เร็วขึ้นอีกมาก
ด้วยกระบวนการคัดเลือกทางเพศนี้เอง ที่ทำให้สัตว์โลกแต่ละชนิดสามารถวิวัฒนาการรายละเอียด เทคนิคการสืบพันธุ์ที่สุดแสนจะแปลก พิสดาร มากมาย และหลากหลายจนควรคู่แก่ความเป็น ‘สัตว์โลกสัปดน’ บนโลกของเรา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in