เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WANDER BOY หนทางยังเยาว์วัยSALMONBOOKS
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    ในการเดินทางแต่ละครั้ง เราหวังจะได้อะไรจากมันบ้าง

    ใช่ไหม? นอกเหนือจากความสนุก ทุกก้าวที่ผ่าน ไม่มากก็น้อย เราต่างหวังที่จะได้เรียนรู้ เติบโต หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้ชีวิตมุ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น

    บนเตียงอื่น เราหวังว่าจะเติบโตขึ้นอีกในวันถัดไป บางทีก็เหมือนกับพืชพรรณ เราต่างเป็นไม้ยืนต้นที่ล้วนสูงใหญ่ได้ด้วยแสงอาทิตย์ของวันนี้และพรุ่งนี้

    ก่อนหน้านี้ ครั้งที่ยังเป็นเด็ก เรานับถอยหลังเฝ้ารอวันที่จะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ‘เป็นผู้ใหญ่’ รอแล้วรอเล่าถึงห้วงเวลาที่สามารถเดินไปบนโลกได้อย่างมั่นอกมั่นใจ เปี่ยมไปด้วยพลังและความมั่นคง ทอดทิ้งความเป็นเด็กที่หนาวสั่นหวั่นไหวเอาไว้ข้างหลัง

    แต่เมื่อโตมา เราต่างพบว่า ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ในความเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแข็งแรงมาดมั่น หลายครั้งเรากลับชะงักเท้า และมองไปข้างหลัง—ในวันที่ยังเป็นเด็ก

    ความเป็นเด็กนั้นแสนวิเศษ ช่วงชีวิตที่แววตาอันคับแคบกลับสะท้อนมุมมองที่สวยงามเกินจริงแต่จับใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่เคยเป็นสมการสำเร็จรูปอันทำให้เราค้นพบวิธีมากมายที่จะ ‘สำเร็จ’ อะไรสักอย่างด้วยหนทางที่ต่างออกไป เวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง แต่น่าแปลกใจที่การล้มหลายครั้งนั้นไม่เจ็บสักนิด ต่างจากตอนนี้ ที่ขนาดยังไม่ทันล้มก็อาจเจ็บปวดจนเกินพรรณนา

    ในขณะที่เราเติบโต หลายครั้งเหลือเกินที่เราพบว่า พลังของเรานั้นถดถอยจนแทบไม่เหลือวี่แววความเป็นคนคนเดิม

    จึงทำให้ในบางการเดินทาง เราหวังว่าจะได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง

    กับสำนักพิมพ์แซลมอน อาจกล่าวได้ว่า แชมป์—ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เป็นเพื่อนสนิทที่เติบโตมาด้วยกัน เขาเป็นนักเขียนชุดแรกของสำนักพิมพ์ เป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิด หนังสือของเขามีส่วนช่วยในการกำหนดแนวทางของหนังสือทุกเล่ม รวมถึงผลงานชิ้นต่อๆ มาของเขา ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการเติบโตของเรา งานของเขาเต็มไปด้วยพลัง ทุกครั้งที่คุยกับแชมป์ เราจะได้พลังงานกลับมาด้วยเสมอ ความแอ็กทีฟและกล้าทดลอง ความมั่นอกมั่นใจที่ควบมาด้วยความเร็วในการผลิต—ครบ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็น golden boy แห่งยุคสมัยคนหนึ่ง

    เพราะโตมาด้วยกัน จึงได้เห็นกันอยู่ทุกระยะ และอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น เวลาเร่งเร้าให้เราเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกัน เลี่ยงไม่ได้ แววตาแห่งความเป็นเด็กก็ถูกพรากไปจากเรา—และเขา

    แชมป์ออกเดินทางครั้งนี้เพราะความเหนื่อยเฉา เดนมาร์ก—เยอรมนี—เนเธอร์แลนด์—เบลเยียม เขาบ่ายหน้าไปสู่เมืองที่เต็มไปด้วยความฝัน จินตนาการ และเมืองต้นแบบที่เป็นเบ้าซึ่งหลอมรวมตัวของเขาขึ้นมา เขามุ่งหน้าสู่ความเป็นเด็กอีกหน เป็นหนทางเพื่อทวงคืนพลังงานแห่งความเยาว์วัย

    และเราก็พบว่าในการเดินทางไปหาเด็กชายคนเดิม เขาช่างเติบโตมากขึ้นเหลือเกิน


    สำนักพิมพ์แซลมอน

  • จดหมายถึงฝ่ายขวา:

    คล้ายว่าคือคำนิยม


    แชมป์ที่รัก,

    (เมิง) รู้ไหมว่า ในการเดินทางกันมาสามทริปใหญ่ๆ โมเมนต์ไหนเป็นโมเมนต์ที่พี่จดจำประทับใจได้ดีที่สุด

    เป็นวันนั้นแหละ—วันสุดท้ายก่อนเราจะแยกทางกัน พี่กลับกรุงเทพฯ แชมป์ไปลอนดอน ที่เมื่อเปิดดูข่าวอะไรสักอย่างในมือถือแล้วพี่ผรุสวาทออกมาคำหนึ่ง เป็นคำอันไม่ควรบันทึกไว้ ณ ที่ใดก็ตาม (รวมถึงที่นี้ด้วย) เมื่อได้ยินคำนั้น แชมป์ร้องอุทธรณ์ออกมาทันทีว่า—ทำไมเดี๋ยวนี้พี่หนุ่มไม่สุขุมเหมือนเมื่อก่อนเลย ดูสิ คำด่าที่พี่ใช้ด่า... (จุด จุด จุด) (โดยจุด จุด จุด ที่ละไว้ คือชื่อของเผด็จการคนหนึ่ง) เป็นคำเดียวกับที่พี่ชอบด่าผมเลย

    ได้ยินดังนั้น ต่อมสติของพี่ (กรูเอง) เริ่มทำงาน มันทำให้พี่ต้องย้อนกลับมาคิดและสงสัยอยู่ครามครันว่าอะไรทำให้ตัวเองเป็นแบบนั้นไปได้ เพราะเอาเข้าจริง ไม่เพียงแต่ใช้คำหยาบในการสื่อสารเท่านั้น แต่หลังๆ ยังชอบตบหัวน้อง (ก็เมิงนั่นแหละ) อยู่เนืองๆ ด้วย อันเป็นกิริยาที่ไม่งามยิ่งนัก 

    เมื่อก่อนเราเป็นคนสุภาพกว่านี้นี่นา—ใครๆ ก็บอกอย่างนั้น

    ก็ใช่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องภายนอก ความเปลี่ยนไปของสถานการณ์ ความไม่อยู่กับร่องกับรอยไร้ตรรกะของสังคมบางสังคมที่ทำให้รู้สึกว่าคำหยาบเหมาะสมกับมันแล้ว แต่ในด้านกลับต้องยอมรับไม่น้อยนะครับ (ไอ้) แชมป์ ว่าก็เป็นแชมป์ (เมิงนั่นแหละ) ด้วย—ที่ทำให้เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นมาได้ แต่อยากจะบอกว่าลึกลงไปในช่องชั้นซับซ้อนของจิต แม้จะพูดคำเดียวกัน แต่ความรู้สึกที่แฝงอยู่ในคำเหล่านั้นกลับแตกต่างกันเป็นคนละขั้ว

    พี่จะรู้สึกกับแชมป์เหมือนรู้สึกกับเผด็จการคนนั้นได้อย่างไรกันเล่า?

    เราเดินทางด้วยกันมาสามครั้ง ครั้งแรกเป็นไปแบบคนที่ยังมีระยะห่าง ด้วยว่าต่างก็เป็นคนที่ชอบสร้างระยะทางระหว่างตัวตนด้วยกันทั้งคู่ แต่พอเป็นครั้งที่สอง คือการเดินทางที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ เราถูกผูกติดกันแทบจะตลอดเวลา เพราะเป็นการเดินทางที่ออกแบบให้เป็นโร้ดทริปที่ต้องอยู่ร่วมรถกันไปเกือบตลอด นั่นทำให้ต่างล่วงรู้ความลับของกันและกัน ว่าฝ่ายหนึ่งชอบกินเอ็มแอนด์เอ็มชนิดที่ต้องซื้อเป็นถุงใหญ่ๆ เอามาควักกินแก้ง่วงยามขับรถ ส่วนอีกฝ่ายชอบกินเยลลีฮาริโบะสีสันสดใส (หรือไม่ก็ลูกอมสคิทเทิล) ทั้งที่ไม่ต้องขับรถ พูดง่ายๆ คือแม่งมีนิสัยอ้วนทั้งคู่ (ขออภัยที่ใช้คำแบบนี้อีกแล้วนะครับ แต่กรูอดไม่ได้จริงๆ)

    เอาเป็นว่า พี่อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ ตลกดีที่ได้อ่านบันทึกการเดินทางที่ตัวเองมีส่วนร่วม เป็นฝ่ายซ้ายที่นั่งอยู่บนเบาะซ้ายในที่นั่งคนขับ ตระเวนไปกับฝ่ายขวาที่นั่งบนเบาะผู้โดยสารทางขวา—ซึ่งก็คือแชมป์, ไปเป็นระยะทางมากกว่าสองพันกิโลเมตร ในระยะเวลาสิบสี่วัน ตระเวนไปในห้าประเทศ พร้อมกับรบราฆ่าฟันกันด้วยคำพูดตลอดทาง

    เราตกลงกันไว้ก่อนออกเดินทางใช่ไหม—ว่านี่จะเป็นการเดินทางเพื่อย้อนเวลากลับสู่วัยเด็ก ตอนอยู่ที่นั่น ในรถคันนั้น พี่ไม่รู้หรอกว่ะ—ว่าแชมป์รู้สึกอย่างไร โดยส่วนตัวแค่รู้สึกว่าตัวเองไม่ผิดหวังกับการเดินทางครั้งนี้ เพราะมันมีครบทุกรสชาติ (เว้นก็แต่การทะเลาะกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าแปลก—ที่เรา
    มีปากเสียงเถียงกันยอกย้อนตลอด แต่ไม่ยักถึงขั้นหมางใจ นี่พูดถึงทริปที่อยู่ในเล่มนี้นะ ทริปหลังจากนี้ไม่นับ ฮ่าๆๆ) เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง จึงรู้สึกดีใจที่ได้รู้ว่า—แชมป์ก็รู้สึกอย่างเดียวกัน

    จะว่าไป โดยส่วนตัวแล้ว สองสามทริปที่ผ่านมาอาจเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตก็ว่าได้ เพราะสำหรับพี่ นี่คือการเดินทางหลังอ่อนล้าจากการเดินทางมายาวนาน อาจคล้ายที่ อัลแบร์ กามูส์ เคยบอกเอาไว้เมื่อเขาอายุครบสี่สิบปี—ว่าเขาไม่อยากออกเดินทางอีกแล้ว เขาเดินทางมามากเกินพอแล้ว แต่กระนั้น, อีกไม่กี่ปีต่อมา เขาก็พบว่าตัวเองหายใจครั้งสุดท้ายขณะเดินทาง—โดยมีตั๋วรถไฟสำหรับอีกทริปอยู่ในกระเป๋า

    มันเป็นตั๋วรถไฟแห่งอนาคต ตั๋วรถไฟของวันข้างหน้า ตั๋วรถไฟที่ยังไม่ได้ใช้
    และเขาจะไม่ได้ใช้มันอีกแล้ว

    เรื่องของกามูส์ทำให้พี่สงสัยเสมอมาว่า เป็นไปได้หรือ—ที่ผู้คนผู้เคยลิ้มรสการเดินทางจะเมินเฉยกับมันได้ตลอดกาล

    คงเพราะอย่างนี้กระมัง เมื่อเราคุยกันว่าจะเดินทางโดยย้อนวันเวลากลับสู่วัยเยาว์ ผ่านสิ่งต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นอดีตและวันวานที่พลัดหายไป ความกระตือรือร้นที่จะเดินทางจึงหวนกลับมาอีกครั้งอย่างประหลาดและแทบไม่รู้ตัว

    อย่างที่รู้กันดี หากเรามองโลกด้วยดวงตาของเด็กๆ โลกนั้นมักสวยงามยิ่งกว่าที่มันเป็นจริงๆ ก็ใช่—ที่ความงามนั้นมักปะปนมากับความไร้เดียงสา ความฝันโง่ๆ การไม่รู้เท่าทันคน เห็นความคับแคบเป็นกว้างขวาง นึกว่าดอกไม้และพระอาทิตย์ตกที่ได้เห็นเป็นครั้งแรกนั้นสวยงามที่สุด และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

    แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น หรืออย่างน้อยเมื่อคิดว่าเราเติบโตขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ จางหายไปเหมือนวิญญาณของดอกไม้ที่ระเหิดไปในความฝัน (เอิ่ม ขอโทษทีนะ—อันนี้น่าจะเป็นวิธีเขียนที่เมิงไม่ชอบ กรูรู้!)

    การเติบโตมักส่งผลกับเราสองอย่าง คือหากเราไม่ได้ทำ บางสิ่งหล่นหายไปจากชีวิต ก็มักกอบเก็บสิ่งไม่จำเป็นพอกพูนเข้ามาในตัวตนของเรา ด้านหนึ่งเราจึงอาจรู้สึกว่าชีวิตนั้นว่างโหวงเบาหวิว แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจกลับรู้สึกถึงความหนืดหน่วงถ่วงหนักเหมือนสวมเสื้อเกราะตัวใหญ่เพื่อป้องกันตัว

    แต่ที่ร้ายกาจที่สุด, สองอย่างนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้

    นั่นมักทำให้เราละล้าละลังกับชีวิต

    การเดินทางย้อนกลับสู่วัยเด็กจึงน่าตื่นเต้น มันเหมือนการสารภาพบาปผ่านความเลอะเลือนแล่นฉิวของผิวถนน มีบทสนทนาที่ทั้งจิกกัด เปิดแผล ช่วยเยียวยา ขบขัน หัวเราะ เหมือนกำลังนั่งเครื่องไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสำรวจชีวิตวัยเด็กผ่านความงามของสองข้างทาง แม้เราจะรู้ว่าไทม์แมชชีนไม่ใช่เรื่องจริงและไม่อาจมีใครในปัจจุบันย้อนเวลากลับสู่วัยเด็กได้ แต่การตั้งใจสะกดรอยตามอดีต ย้อนกลับเข้าไปข้างในพร้อมกับการเดินทางภายนอก ก็ให้ผลที่น่าทึ่งไม่น้อย อย่างน้อยที่สุดก็ออกมาเป็นหนังสือสองเล่ม—คือของพี่และของแชมป์

    หลายตอนในหนังสือเล่มนี้ทำให้พี่รู้สึกดีใจปนขัดเขินจนไม่อยากจะเอ่ยถึง ใช่, เป็นความดีใจตามประสาปุถุชนที่ได้รับการชื่นชมในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้มาก่อน เพราะในเวลาที่เราอยู่ด้วยกันไม่มีใครบ้ามานั่งเยินยอกันเอง มีแต่ส่งอาวุธแห่งถ้อยคำเข้าเชือดเฉือนกันตามประสาคนที่ชอบถกเถียงโต้แย้งตั้งแต่เรื่องจริงจังอย่างสงครามโลกครั้งที่สอง ความตายของทหาร ชุดล่องหนของพระราชา การหาวิธีมวนกัญชาให้แน่นโดยไร้เครื่องมวน วิธีปั่นจักรยาน แสนยานุภาพทางโครงสร้างของสถาปัตยกรรมเยอรมัน กระทั่งถึงเรื่องที่แลดูไร้สาระอย่างสีของท้องฟ้าในแต่ละประเทศที่เปลี่ยนไป ดวงตาถลนของพนักงานต้อนรับที่มีกิริยาท่าทางเหมือนตัวการ์ตูน สเตอริโอไทป์ของผู้คนในแต่ละเมือง อำนาจเผด็จการ รวมถึงการตัดสินใจอย่างฉับพลันในการทำบางสิ่งที่ไม่ได้เตรียมการมาก่อนล่วงหน้า

    เราอาจพบพานวัตถุแห่งอดีตมามากเรื่อง ตั้งแต่การ์ตูน เรื่อง ตินติน เลโก้แลนด์ เมืองจำลองขนาดจิ๋ว และนิทานของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน แต่เป็นการตัดสินใจอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นร่วมกันแบบ Mutual เพื่อทำสิ่งที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้านี้ต่างหาก—ที่พาเรากลับสู่ความเป็นเด็กอย่างแท้จริง

    และเมื่อเป็นเด็กเสียแล้ว เราก็ย่อมรู้สึกว่าไม่มีถ้อยคำไหนที่เราพูดไม่ได้

    เหมือนที่กรูด่าเมิงด้วยคำนั้นบ่อยๆ นั่นแหละ, จะว่าไป ไม่มีใครสักกี่คนนักหรอกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้ (555 ล้อเล่นน่า!)

    พี่รู้ว่าแชมป์เป็นคนที่มีเกราะเยอะก็เพราะตัวพี่เองก็เป็นคนที่มีเกราะเยอะ พี่รู้ว่าแชมป์เป็นคนที่ชอบถกเถียงโดยใช้ ‘การวิเคราะห์อภิมาน’ หรือ Meta Analysis เพราะพี่เองก็ทำเช่นนั้น คือดึงตัวเองออกจากการถกเถียงทั้งปวง เพื่อมองให้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในจักรวาลที่ใหญ่กว่า แชมป์น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ ‘รู้ทัน’ ว่าพี่ใช้วิธีนั้นในการถกเถียง จึงมักใช้วิธีแบบเดียวกันโต้กลับมาเวลาที่ถกกันบางเรื่อง ซึ่งแทนที่จะสร้างความบาดหมางกลับก่อให้เกิดความสำราญทางคอร์ปัสคอลโลซัมในการสนทนาเป็นอันยิ่ง

    การโต้เถียงย้อนแย้งเหล่านั้นค่อยๆ ทลายเกราะที่เราสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัวให้พังลงทีละน้อยจนบางครั้งเราก็รู้สึกว่าไม่มีอยู่ แต่แน่นอน มันไม่ได้พังลงจนหมดหรอก การพังทลายของเกราะก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ในโลก มันเป็นเรื่องสัมพัทธ์ ไม่ใช่เรื่องสัมบูรณ์ การพังทลายของเกราะจะเกิดหรือไม่ หรือจะเกิดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนและช่วงเวลาที่เราใช้จ่ายร่วมกันมากกว่า แต่ก็เป็นเพราะการพังทลายนี้นี่เอง ถ้อยคำบางคำที่ไม่เคยโผล่ผุดขึ้นมากับใครอื่น จึงได้ชำแรกขึ้นกลางบทสนทนาโดยไร้สำนึกรู้ตัวเหมือนลมที่พัดขึ้นมาเอง และเป่าให้ผ้าคลุมหน้าของนางเอกในละคร ราโชมอน เลิกขึ้นจนโจรร้ายตาโจมารุมองเห็น นำสู่ฆาตกรรมสะเทือนขวัญเป็นที่ถกเถียงกันไปทั่วเมือง

    คำผรุสวาทหยาบคายที่เกิดขึ้นก็เป็นแบบนั้น มันเกิดขึ้นเอง และทำให้แชมป์ต้องออกปากอุทธรณ์คัดค้านเหมือนที่เล่าไว้ในตอนแรกของจดหมายนี้

    แปลก—ที่พี่คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะเหมือนทั้งหมดนี้ ‘เหมือน’ พาพี่ย้อนกลับไปเป็นเด็กได้จริง ตอนเป็นเด็ก เราพูดกับเพื่อนได้ทุกเรื่อง ด่ากัน ตบหัวกัน พูดคำหยาบใส่กัน ทะเลาะกันบ้าง แต่ก็อีกนั่นแหละ มันเป็นได้แค่ ‘เหมือน’ เพราะเมื่อสิ้นสุดการเดินทางลงแล้ว ทุกอย่างก็เป็นอย่างที่แชมป์ว่าไว้ในตอนท้ายเล่ม ซึ่งเป็นส่วนที่พี่ชอบมากที่สุด เพราะคือบทสรุปของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น

    ตอนนี้ผมทำได้แค่เลียนแบบอดีต จะให้กลับไปสดใหม่เหมือนคนวันก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แม่น้ำที่เราหย่อนขาลงไป ย่อมมีน้ำไหลผ่านทุกวัน เราผลัดเปลี่ยนตัวเองทุกปี วันนี้ผมมีอายุมากขึ้น จะให้ทำอะไรไม่วางแผน ไม่รู้เหนือรู้ใต้คงทำไม่ได้อีกต่อไป การท่องเที่ยวของผมพบความหมายใหม่ กลายเป็นละครที่ปลอดภัยในฐานะผู้รับชม สุดท้าย การที่ผมได้เห็นสิ่งที่เคยเห็นในอดีตในความหมายใหม่ก็อาจเป็นคำตอบที่เพียงพอแล้ว

    สุดท้ายนี้ ขอบคุณที่เดินทางร่วมกัน ขอบคุณที่ให้ตบหัว ขอบคุณที่ให้ด่า ขอบคุณที่เถียงคำไม่ตกฟาก ขอบคุณที่คอยสะกิดบอกว่า ไอ้นั่นซื้อได้ ไอ้นี่ซื้อไม่ได้ (เพราะแต่ละเมืองราคาสินค้าไม่เท่ากัน) ขอบคุณที่คิดเกมมาเล่นบนรถ ขอบคุณที่นั่งเป็นเพื่อนฝ่ายขวาอยู่ทางขวามือบนรถตลอดทริปโดยไม่หลับเลย เป็นคู่สนทนาที่คอยกระตุกให้คิดเรื่องต่างๆ ทำให้คนขับรถฝ่ายซ้ายบนเบาะซ้ายคนนี้ไม่หลับไปด้วย เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราก็คงไม่ได้มาเขียนหนังสือกัน

    ที่สำคัญ ขอบคุณที่ทำให้เห็นว่า ถึงจะอยู่คนละข้างของรถ—คือข้างซ้ายและขวา, และถกเถียงโต้แย้งกันโดยตลอด มีทั้งที่เห็นพ้องและเห็นต่าง แต่เราก็เดินทางร่วมกันได้

    หากมีโอกาส หวังว่าจะได้เดินทางด้วยกันอีกนะ—นี่พูดจริงๆ

    พี่หนุ่ม

    โตมร ศุขปรีชา

    aka ลุงชาวเนปาลคนหนึ่ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in