เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Interviewอ่าน-คิด-เขียน
อ่อนวัยไปด้วยกัน
  •   บทสัมภาษณ์ลุง วิชา รัฐถานาวิน ผู้พาเราอ่อนวัยไปพร้อมๆกัน

      

           ไม่ง่ายเลยที่จะรับมือกับสภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุหรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แล้วยิ่งประเทศไทยมีลักษณะแบบครอบครัวขยาย หลายๆบ้านมีทั้งคุณตา คุณยาย คุณย่า คุณลุง ล้วนแต่เป็นวัยแห่งความเสื่อมทั้งนั้น

                  ผู้ดูแลผู้สูงอายุกลายเป็นงานหนักเมื่อต้องทำหน้าที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ บางคนอาจจะจ้างผู้ดูแล แต่บางคนก็มีคนในครอบครัวช่วยดูแล ยากจริงๆนะที่ต้องยอมรับว่าคุณพ่อของเราจำไม่ได้แล้วว่ากินข้าวไปหรือยัง  คุณยายที่เคยเดินเหินได้อย่างรวดเร็วต้องใช้ไม้เท้า  คุณแม่ที่เคยขับถ่ายได้เองต้องใช้วิธีสวนก้นเพื่อให้ขับถ่าย 

                 และความยากก็เพิ่มยิ่งขึ้นอีก   หากผู้ดูแลผู้สูงอายุก็เป็นผู้สูงอายุไปด้วย  คงจะยากมากกว่าเดิมไม่น้อยเพราะนอกจากจะดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุแล้วก็ยังต้องช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างตัวเองอีก




                   นายวิชา รัฐถานาวิน คุณลุงวัย 65 ปี รับหน้าที่ดูแลคุณยายลำยวนรัฐถานาวิน วัย 93ปี แม่ของตนเองที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี คุณลุงเพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหากแต่เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งก็รับผิดชอบดูแลคุณยายตั้งแต่อาหารมื้อเช้าจวบจนถึงอาหารมื้อเย็น หลังจากนั้นก็จะมีน้องสาวแท้ๆของคุณลุงมาช่วยดูแลต่อหลังจากกลับมาทำงานรวมถึงมีลูกๆของน้องสาวมาช่วย เล่นกับคุณยายด้วยหลังกลับจากโรงเรียน  อย่างน้อยๆ คุณลุงก็ฝึกปรือฝีมือในการรับมือกับ คนแก่อย่างคุณยายมาเป็นเวลากว่าสิบปี 

              

    “ตอนแรกๆมันไม่คุ้นหรอกเราเป็น ผู้ชาย ลูกเมียก็ไม่มี อยู่กับแม่และน้องสาว งานแบบนี้ก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำตั้งแต่เช้านั่นแหละก็ต้องอยู่ด้วยกันทั้งวัน แต่ก่อนไม่ยากเท่านี้แม่เขาก็รู้เรื่องแต่หลังๆมานี้แม่เขาเริ่มหลง เราไปไหนไม่ได้เลย อีกอย่างแต่ก่อนแม่เขาเดินไม่แข็ง ก็จะเดินช้าๆแต่เดี๋ยวนี้ยิ่งหลงๆลืมๆด้วยก็ได้แต่ถัดๆเอาอยู่ที่บ้าน แต่ยังนั่งได้หลังตรงอยู่นะ” 
              

                 ความยากเพิ่มขึ้นอีกเมื่อคนแก่ที่เราดูแลเขาดันหลงๆลืมๆแถมยังเดินไม่ได้ แต่คุณลุงตอบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มขัดกับข้อความที่บอกเล่ามาข้างต้น เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าคนแก่ที่หลงๆลืมๆเดินไม่ได้ จะวุ่นวายขนาดไหน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ทำให้คุณลุงต้องปรับตัวปรับความคิด ทัศนคติของตัวเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
              

               “ทีบ้านเนี่ยเวลาคนข้างนอกบ้านได้ยินก็นึกว่ามีเด็กเล็กๆ เพราะต้องห่วงเรื่องกินน้ำ นอน ฉี่แต่ที่บ้านไม่มีใครเป็นเด็กเลย ทุกคนเลยวัยเด็กหมดแล้ว เด็กที่สุดที่เราพูดถึงก็คือแม่ผมที่ว่าเป็นเด็กเพราะเขาชอบกินขนมหวานๆ ขนมเด็กๆ เช่น ยูโร่ คัสตาร์ท เค้กเยลลี่นิ่มๆ กลายเป็นเด็กเล็กๆ แล้วก็หลงลืม เรียกผมว่าคุณน้าคะ ถ้าเจอคนแปลกหน้า เจอผู้ชายก็กลัวจะสะกิด ต้องเรียกหาน้องสาวผมมาอยู่ด้วย ตอนที่คุณตาหรือพ่อผมยังไม่เสียเขาก็กลัวว่าตัวเองอยู่กับผู้ชายที่ไหนไม่รู้ ” 

              นี่แหละนะคนเราพอแก่นิสัยก็จะกลับไปเหมือนเด็กอีกครั้ง กลายเป็นคนดื้อ ย้ำคิดย้ำทำ การดูแลก็ยิ่งต้องมากขึ้น เหมือนชีวิตเราเป็นวงกลม เริ่มต้นจากความเป็นเด็กวัยใสที่เมล็ดพันธุ์เพิ่งเริ่มงอก จนกระทั่งได้รับการรดน้ำ พรวนดิน งอกงามเป็นผลดีเวลาล่วงเลยไปจนอายุขัยใกล้หมดสิ้น เราเดินวนกลับมายังจุดเริ่มต้นจุดที่ต้นไม้เหี่ยวเฉา ลำต้นอ่อนลง โค้งงอและเล็กกว่าเดิมจุดที่เรากลับมาใช้ชีวิตคล้ายวัยเยาว์อีกครั้ง
     

              แน่นอนว่าการทำความเข้าใจผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่ออายุเป็นช่องว่างในการเข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณลุง’วัย 65ปีที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการขายโอ่ง ต่อเรืองานมากมายได้สะท้อนว่าไฟในตัวยังคงมีอยู่คนที่เคยเห็นว่าแม่ของตัวเองทำอะไรได้บ้าง เคยทำกับข้าวได้ เคยซักผ้าได้ ต้องมาทำความเข้าใจและเข้าถึงแม่ของตัวเองที่หลงลืมสิ่งต่างๆรอบกายไปหมดสิ้น ไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมได้อีกแล้วก็ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดกันพอสมควร 

               “หลายบ้านมีผู้สูงอายุ เวลาที่มีผู้สูงอายุหลงลืม ตอนแรกใครๆก็เครียด เฮ้ย พ่อเราเคยทำได้ แม่เราเคยทำได้พ่อต้องจำได้สิ ทำไมเรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ เราจะคาดหวังว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเขาไม่ควรหลงลืม ถ้าทำแบบนั้นเราจะอยู่ด้วยความเครียด ตัวผู้สูงอายุเองเขาก็เครียดอยู่แล้ว เรายิ่งไปเพิ่มความเครียดให้เขาอีก กลายเป็นกินไม่ได้นอนไม่หลับกันทั้งคู่ มัวแต่เครียดว่าทำไมถึงจำไม่ได้ แต่จริงๆการดูแลก็คือการทำให้เขากินได้ นอนหลับการทำให้เขารู้สึกอบอุ่นจากคนใกล้ชิด ซึ่งท้ายที่สุดผู้สูงอายุก็ไม่ต่างอะไรกับเด็ก เราจึงดูแลคุณยายวัย 93 คล้ายๆกับเด็กวัย 3 ขวบ  การเปลี่ยนทัศนคติว่าเราไม่ได้ดูแลผู้สูงอายุแต่เรากำลังดูแลคนที่เปราะบางและกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง นั่นคือหัวใจสำคัญ อย่าคิดว่าทั้งเขาและเราแก่ แต่ต้องคิดว่าเรากำลังเติบโตไปพร้อมๆกับเขา”

              ด้วยความคิดและทัศนคติที่ดีของคุณลุงเป็นช่องทางในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างดีวิธีหนึ่งการหาทางรับมือกับผู้สูงอายุและผู้ดูแลเองเป็นเรื่องที่สำคัญหากเรามัวแต่ใช้กรอบของตัวเองผ่านที่ตัวผู้สูงอายุ ว่าเขาเป็นคนแก่เป็นคนที่เคยทำอะไรได้ เดินเหินได้ว่องไว เขาก็ควรจะเป็นแบบนั้นตลอดไปหากแต่นั่นคือการที่เรามองเขาผ่านกรอบความคิดของเราคุณลุงไม่ได้มองคุณยายผ่านกรอบของตัวเอง หากแต่มองผ่านกรอบของธรรมชาติชีวิตคุณลุงเข้าใจและปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองได้เป็นอย่างดี

              “ก่อนเราปรับทัศนคติกันได้เราก็ผ่านอะไรมาหนักหนาเหมือนกันเราถึงกับเครียดว่าเขาไม่ยอมนอน ไม่ยอมกิน จนเราให้กินยานอนหลับกลายเป็นว่าหลับยาว หลับนาน น่ากลัว มันเป็นการฝืนธรรมชาติของเขา”

              บนทางเดินที่ตอนแรกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดทำให้คุณลุงและผู้ดูแลคนอื่นๆในบ้าน(น้องสาวและหลานๆ) ต้องหาวิธีรับมือกับคุณยายที่เริ่มป่วนขึ้นเรื่อยๆ การฝืนธรรมชาติไม่ใช่วิธีที่ดีนักหากแต่การไหลไปตามธรรมชาติคือวิธีที่ดีกว่า

              “ตอนคุณยายเริ่มหลงเขาคิดว่าที่ที่อยู่เนี่ยไม่ใช่บ้านเขา เขาจะคลานออกไปนอกประตู จะลงไปข้างล่างเราก็จำเป็นต้องปิดประตู แม่เขาก็กระทืบประตูจนเกือบพังต้องหาวิธีว่าเราจะจัดการกับเขา มันไม่ใช่การพูดว่า แม่ นี่บ้านนะ พูดไปก็ไม่เข้าใจเขาจำไม่ได้ เราก็เริ่ม แล้วแม่เขาต้องการอะไร แม่เขาชอบจัดระเบียบ เราก็รื้อของรื้อหนังสือพิมพ์แล้วบอกว่า แม่ จัดก่อน อย่าเพิ่งกลับ เขาก็เก็บหนังสือ พอรื้อเสื้อผ้า เขาก็เก็บเสื้อผ้า แล้วเขาก็ลืมว่าอยากกลับบ้าน  อีกวิธีก็ให้หลานชายปลอมตัว ใส่แว่นใส่หมวกออกไปนอกบ้าน ทำเป็นคนอื่น เข้ามาบอกว่านี่บ้านยาย ยายอย่าเพิ่งไปนะเราก็ต้องหลอกกันสารพัด เราก็รับมือ เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลกันมาโดยตลอด”

              การปรับเปลี่ยนวิธีรับมือกับคุณยายถูกพัฒนามาใช้ในหลายรูปแบบทั้งหลอกว่าเป็นคนแปลกหน้า หลอกให้จัดบ้านให้เป็นระเบียบโดยทุกๆวิธีล้วนมาจากการดึงเอาธรรมชาติของคุณยายมาใช้ทั้งนั้น เช่นรู้ว่าคุณยายชอบจัดบ้านให้เป็นระเบียบรู้ว่าคุณยายมักจะกลัวคนแปลกหน้าและหลายๆครั้งก็เชื่อเพราะคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจกว่าตัวเอง เมื่อเราศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุเราก็จะรับมือกับเขาได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดๆก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องการกิน

        "แม่แกชอบกินหมาก แต่มีช่วงนึงที่น้ำท่วม หมากไม่มี ก็ซื้อโกโก้ครั้นช์รสช็อกโกแลต แล้วหลอกว่าเป็นหมากให้แกกิน แม่เขาก็กินได้ จนเลิกติดหมากไปเอง"         

               "ตอนแรกแม่กินข้าวเองได้ปกติ แต่3-4ปีมานี้ก็ลืม ไม่รู้ตักข้าวยังไง เราต้องป้อน แต่แกไม่ชอบกินข้าวเพราะมันไม่หวาน เลยลองให้แกจับยูโร่ไว้ในมือ บิใส่ปาก แล้วพอแกจะเอายูโร่ในมือเข้าปาก เราก็เอาข้าวใส่ปากแทน เป็นวิธีนึงที่แกได้กินข้าว ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีกันไปให้เข้ากับเขา"

              ความต้องการของผู้ดูแลที่มีต่อผู้สูงอายุคงหนีไม่พ้นการทำให้ผู้สูงอายุกินให้อิ่มนอนให้หลับ และได้รับความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการกินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายๆครอบครับพบเจอปัญหาผู้สูงอายุในบ้านไม่ยอมกินข้าว จะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อไปปรึกษาแพทย์เขาก็แนะนำด้วยวิธีการเช่น ใช้ท่อสอดอาหารผู้สูงอายุก็จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปโดยปริยาย แม้ว่าจะมีวิธีอื่นๆที่นำมาปรับใช้กับผู้สูงอายุได้อย่างที่คุณลุงทำ

              “พอเราดูแลด้วยความเป็นเด็กเวลาคนอื่นมาเยี่ยมเขาก็จะถามว่าดูแลกันได้ยังไง ปกติผู้ป่วยอายุเท่านี้ด้วยอาการป่วยแบบนี้น่าจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่เราก็ใช้วิธีป้อนกันไป หลอกกันไป”
              
    “วิธีดูแลแบบเด็กๆนี้ไม่ได้ช่วยแค่ผู้ป่วยแต่ก็ช่วยผู้ดูแลด้วยเพราะถ้าเราคิดว่าการเป็นเด็กมันช่วยในการใช้ชีวิตได้อย่างไม่เครียดและมีความสุขจริงๆผมอายุ65 แล้วนะครับ ก็ไม่ได้ทำตัวแก่ เราก็หันไปใช้อินเทอร์เน็ต เรียนรู้วิธีทำอาหาร ปลูกดอกไม้ ดูหนัง  ฟังเพลง  ก็รู้สึกว่าเราก็มีความสุขไม่เคร่งเครียดกับชีวิต ไม่ต้องคิดว่าเราแก่แล้วนะวุฒิภาวะไม่ได้อยู่ที่วัยเท่านั้น แต่อยู่กับวิธีการรับมือกับวัยอย่างไร”
              

               เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติชีวิตก็เปลี่ยน ไม่ใช่แค่ชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนหากแต่ชีวิตผู้ดูแลผู้สูงอายุก็เปลี่ยนเช่นกันการดูแลคุณยายในแบบที่คิดว่าคุณยายเป็นเด็กกลับทำให้คุณลุงกลายเป็นเด็กอีกครั้งไม่ว่าจะความคิดหรือการดำเนินชีวิต ก็ล้วนสอดคล้องกับความเป็นเด็กทั้งสิ้นเพื่อลดความเครียดและปรับการดูแลให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ
              

                การดูแลผู้สูงอายุคงไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราคิดอีกต่อไปแล้ว  เพราะคุณลุงวัย 65 ปี ที่ไม่ได้เชื่อว่าวัยจะสำคัญไปกว่าการเข้าใจธรรมชาติของวัยนำทางพวกเราให้ค้นพบวิธีการรับมือกับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้และไม่สามารถจำอะไรได้อย่างคุณยายลำยวน เพื่อต่อสู้กับสังคมอุดมผู้สูงอายุได้อย่างดีเยี่ยม

    ผู้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : จิรภัทร  บุณยะกาญจน นิสิตคณะอักษรศาสตร์ เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2
    ภาพในบทสัมภาษณ์ : จิรภัทร  บุณยะกาญจน 
    ภาพปก https://pixabay.com
    .
    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2560 
    #Interview #ห้องเรียนเขียนเรื่อง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in