เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
US AND THEM จากอัมสเตอร์ดัมถึงบาร์เซโลน่า และบทสนทนาของมหานครSALMONBOOKS
[A] 01: จริตของคนดัม



  • อพาร์ตเมนต์ที่เราพักในอัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่บนปรินส์ เฮนดริกกาเดอ (Prins Hendrikkade) ถนนเลียบอ่าวเอจ์ (IJ) ไม่กี่นาทีจากสถานีเซ็นทรัลและย่านเมืองเก่า

    28 ปีที่แล้ว ไม่ไกลจากอพาร์ตเมนต์เรา บนถนนเส้นเดียวกันนั้น เช็ต เบเกอร์ (Chet Baker) นักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันคนโปรดของฉันและจิรัฏฐ์ พลัดตกลงมาจากหน้าต่างชั้นสองของโรงแรมเสียชีวิต

    โรงแรมที่เบเกอร์พักอยู่ชื่อ Prins Hendrik ใครสักคนนำแผ่นเหล็กประติมากรรมนูนต่ำใบหน้าของนักทรัมเป็ตจารึกข้อความว่า ‘Chet Baker died here on May 13th, 1988’ มาตั้งไว้ตรงบริเวณที่เขาพลัดตกลงมา ส่วนห้องพักหมายเลข 210 สถานที่สุดท้ายที่เขาใช้เสพโคเคนเป็นเรือนตายถูกตั้งชื่อในเวลาต่อมาว่า ‘The Chet Baker Room’

    เบเกอร์ทำให้ฉันคิดถึง เติ้ง ลี่จวิน (Teresa Teng) นักร้องชื่อดังชาวไต้หวัน

    เติ้ง ลี่จวินเดินทางมาพักผ่อนที่เชียงใหม่เป็นประจำ เธอมักจะเลือกพักห้องสวีตห้องเดิมของโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิงในย่านไนต์บาซาร์ แต่ 21 ปีก่อน จู่ๆ เธอก็ประสบอาการหืดหอบขั้นรุนแรงจนถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ปัจจุบันห้องสวีตที่เธอพักประจำกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม นักท่องเที่ยวจีนหลายพันคนต่อปีเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อตามรอยเจ้าของเพลง The Moon Represents My Heart คนนี้

    จริงอยู่ เราสองคนชอบเพลงของเบเกอร์มากๆ (โดยเฉพาะอัลบั้ม Chet Baker Sings นะคุณเอ๊ย ถ้าใครฟังแล้วไม่ง่วงจนเผลอหลับ แปลว่าคุณอาจกำลังตกหลุมรักเสียงร้องของตานี่เข้าแล้วล่ะ) แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราเลือกพักในอพาร์ตเมนต์บนถนนเส้นดังกล่าว แน่ล่ะ เราไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ลุงแกอะไรเบอร์นั้น เบเกอร์เกิดที่ไหน มีภรรยากี่คน หรือมีลูกมั้ย? เราไม่คิดว่านั่นคือสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ และหากว่าตอนเดินกลับอพาร์ตเมนต์ในวันแรกเราไม่เดินหลงทาง ก็คงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเสียชีวิตที่นี่

    เบเกอร์ก็เหมือนเติ้ง ลี่จวิน ความตายของเขาเป็นหนึ่งในเหตุผลให้คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเดินทางมาอัมสเตอร์ดัม แต่นั่นล่ะ ไม่ใช่คนอเมริกันทุกคนที่มาอัมสเตอร์ดัมเพราะตำนานเพลงแจ๊ซเพียงคนเดียว
    แต่อาจเป็นเพราะย่านเรดไลต์ดิสทริกต์ กัญชาเสรี หรืออื่นๆ
  • บ่ายวันแรกที่ฉันกับจิรัฏฐ์เดินลัดคลอง วิ่งหลบจักรยาน ค่อยๆ เดินถอยหลังเพื่อให้กล้องถ่ายรูปเก็บภาพอาคารได้ทั้งเฟรมช่วยยืนยันว่าซาวด์แทร็คการเดินเล่นในอัมสเตอร์ดัม ไม่จำเป็นต้องดังมาจากทรัมเป็ตและเสียงร้องเหงาๆ ของเบเกอร์เสมอไป

    อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวงที่มีขนาดเล็ก หากแต่มีอะไรบางอย่างดึงดูดให้คนตกหลุมรักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    ฉันตกหลุมรักความเนิบช้าของเมืองนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ความเนิบช้าแบบ… เช้าแล้วสินะ (ทำเสียงนุ่มๆ) เราควรอยู่นิ่งๆ ดื่มด่ำแสงแดดอ่อนๆ ที่ลอดผ่านหน้าต่างอาคารเก่าแก่จากศตวรรษที่ 17 มากระทบต้นแคคตัส กำหนดลมหายใจเหยียบย่างพื้นห้องนอนที่ทำจากไม้สักสีเข้ม หยิบเมล็ดกาแฟมาชั่งน้ำหนัก บด และเริ่มดริปไปอย่างอ้อยสร้อยทีละหยด โอ้ เราลืมเปิดแผ่นเสียงของ ราวี ชังการ์ (Ravi Shankar) เลย แต่เดี๋ยว! ขอถ่ายรูปกาแฟตรงหน้าก่อน...

    โอเค คนดัมส่วนหนึ่งก็มีความเนิบช้าที่ปรุงแต่งด้วยรสนิยมข้างต้น (คนเนเธอร์แลนด์ถูกเรียกว่าคนดัตช์ แต่ที่ฉันกำลังจะกล่าวถึงคือคนดัตช์ที่อยู่ในอัมสเตอร์ดัม เลยขอย่นให้เหลือเพียง ‘คนดัม’ ละกัน) แต่ส่วนตัว ฉันหลงรักความเนิบช้าที่เปี่ยมไปด้วยความกระฉับกระเฉง คึกคัก และทันสมัยต่างหาก

    เรื่องนี้อาจต้องลากยาวไปถึงภูมิศาสตร์เบื้องหลังเล็กน้อย

    ความที่แต่เดิม พื้นที่หนึ่งในสามของอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่ราบน้ำท่วมถึง จุดต่ำสุดของเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเกือบเจ็ดเมตร จนช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์มีโครงการพัฒนาอัมสเตอร์ดัมให้กลายเป็นเมืองท่ารองรับการเปิดตลาดการค้ากับหมู่อาณานิคมอินเดียตะวันออกซึ่งกำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น เป็นเหตุให้เกิดเครือข่ายจัดการน้ำระยะยาวขนาดใหญ่เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเป็นเส้นทางให้เรือสินค้าเข้ามาจอด โดยการขุดโครงข่ายคลองจากทิศตะวันตกและใต้ของเมืองเก่าและเมืองท่าในยุคกลาง กลายเป็นคลองโค้งรูปวงแหวนที่คดรอบเมืองถึงสี่ชั้น คั่นสลับด้วยการถมพื้นระหว่างพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นที่ดอนสำหรับสร้างชุมชน

    ระบบคลองนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ The Singelgracht ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนวัตกรรมและมาสเตอร์แพลนในการวางผังเมืองอื่นๆ รอบโลก

    ในปี 2010 เจ้าแนวคิดนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมกับตัวเมืองเก่าด้วยนะเออ

    แล้วมันเกี่ยวอะไรกับความกระฉับกระเฉง คึกคัก และทันสมัย?
  • เอาล่ะ เหตุผลแรกฉันได้บอกไปแล้ว อัมสเตอร์ดัมก็เป็นเช่นเมืองอื่นๆ ในยุโรปที่ในน้ำไม่ได้มีปลา ในนาไม่ได้มีข้าว หนาวก็หนาว น้ำก็ท่วมอยู่บ่อยๆ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คนดัมดั้งเดิมมีเซนส์ความพยายามเอาชนะธรรมชาติอยู่เนืองๆ ผังเมืองที่ฉันกล่าวไปแล้วก็ข้อหนึ่ง กังหันลมไฮดรอลิคสำหรับการระบายน้ำเพื่อการเกษตรก็อีกข้อหนึ่ง ซึ่งถ้าคนดัมแต่เดิมไม่เท่าทันยุคสมัย พวกเขาก็อาจไม่มีชีวิตรอด

    ทีนี้พอเอาชนะเรื่องน้ำท่วมได้แล้ว ผลิตผลที่ตามมาก็คือผังเมืองที่เนืองแน่นไปด้วยตึกแถวหน้าจั่วริมคลองอันคดเคี้ยว และถนนสายแคบที่เชื่อมเมืองเป็นเครือข่ายสลับซับซ้อน ผังเมืองดั้งเดิมเช่นนี้จัดกรอบวิถีชีวิตคนในเมืองหลวงยุคปัจจุบันให้อยู่กับมันอย่างลงตัวด้วยการขี่จักรยาน (ใช่ค่ะ จักรยานนี่ก็ฮิปมากพอแล้ว อย่าให้ต้องขับเรือไปทำงานเลย)

    ไม่ว่าคุณจะใส่สูท สวมชุดช่าง มินิสเกิร์ต หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ชุดราตรีซึ่งน่าจะรุ่มร่ามเกินไป คนดัมล้วนใช้จักรยานเป็นพาหนะหลัก ซึ่งเขาไม่ได้ขี่กินลมชมวิวกันชิลๆ ด้วยนะคะ หากแต่ขี่กันอย่างจริงจังและรวดเร็ว เช่นเดียวกับที่คนกรุงเทพฯ ขับรถยนต์ หรือคนฮานอยขี่รถมอเตอร์ไซค์ 

    จักรยานในอัมสเตอร์ดัมมีด้วยกันกว่าหนึ่งล้านคัน มากกว่าจำนวนประชากรที่มีราวแปดแสนคน ที่นี่มีเลนจักรยานรวมกันยาวกว่าสี่ร้อยกิโลเมตร อัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบแห่งวัฒนธรรมจักรยานในยุโรป เช่นเดียวกับหลายศตวรรษก่อนที่มันเป็นต้นแบบของการวางผังเมืองและการจัดระบบชลประทาน

    อ้อ ตึกแถวตัวสูงหน้าแคบในย่านเมืองเก่าก็ถือเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมให้กับเมืองท่าเมืองอื่นๆ ในศตวรรษที่ 18-19 ด้วย 

    เห็นมั้ยว่าคนดัมเขานำสมัยแค่ไหน

    ส่วนอะไรอื่นที่ทำให้คนผู้มาเยือนเมืองแปลกหน้าแค่วันแรกยืนยันว่าคนดัมช่างล้ำอีกน่ะหรือ

    เห็นจะเป็นที่ทำเล และการทำธุรกิจของคนดัมนี่แหละ

    อย่างที่บอก ย่านเมืองเก่าในอัมสเตอร์ดัมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่ที่เก๋คือ ในละแวกเดียวกันนี้ ฉันสามารถพบสำนักงานกราฟิกดีไซน์บนชั้นสองของร้านเซ็กซ์ทอย ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากเรดไลต์ดิสทริกต์ไม่กี่ก้าว (ย่านค้าประเวณีถูกกฎหมายอันโด่งดัง เนืองแน่นไปด้วยสาวทรงโตใส่ชุดวาบหวิวยืนรอคุณในตู้กระจก)

    หรือร้านหนังสือเท่ๆ ตั้งอยู่ติดกับร้านขายกัญชาที่มีลูกค้าบุคลิกสะอาดสะอ้านเหมือนเพิ่งไปโบสถ์ในเช้าวันอาทิตย์

    เป็นมรดกโลกที่เต็มไปด้วยบรรยากาศคูลๆ แต่ก็ละลานตาด้วยเนินนมและเคลิ้มกลิ่นควันสมุนไพรอย่างบอกไม่ถูก


  • ฉันชอบความเก่าแก่ที่ไม่ถูกแช่แข็งให้ตายซากของที่นี่ ตึกเก่ายังเป็นตึกเก่าที่บูรณะภายนอกกันไปตามสภาพ แต่ฟังก์ชั่นภายในต่างถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ไหนจะเสรีภาพที่รัฐอำนวยให้กับประชาชน ด้วยเห็นว่าคนของเขามีวิจารณญาณเพียงพอต่อการตัดสินใจใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเสรีกัญชาหรือการค้า
    ประเวณีถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเหตุและผลของที่มา รวมทั้งความเป็นระบบอันนำมาซึ่งระเบียบ เพราะไม่ใช่ว่าเด็กที่ไหนก็ได้จะเดินเข้าไปในคอฟฟี่ช็อป (ชื่อเรียกของร้านที่จำหน่ายกัญชา) แล้วบอกคนขายว่า “เฮ้ยเพ่ ผมขอแบบมวนสำเร็จสองมวน” มีหวังถูกผู้ใหญ่ดัมไล่เตะออกมาแน่ๆ

    ส่วนการค้าประเวณีก็มีการจัดโซนอย่างรัดกุม ใช่ว่าทำให้ถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์จากการเก็บภาษีของรัฐเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงสวัสดิภาพของผู้หญิงในธุรกิจนี้ รวมทั้งสวัสดิภาพของลูกค้าด้วย เพราะแม้ว่าใครจะมองว่าการค้าประเวณีคือการที่ผู้หญิงตกเป็นเพียงวัตถุทางเพศหรือสินค้า แต่การทำให้ถูกกฎหมาย ก็อาจมองได้ว่ารัฐส่งเสริมให้บุคลากรในอาชีพนี้เป็นคนที่ประกอบสัมมาอาชีพสุจริต

    อาจดูเหมือนว่าฉันเป็นนักท่องเที่ยวโลกสวย ที่เห็นอะไรก็ดีงามไปหมดเพียงแค่มาถึงวันแรก แต่ภาพแรกที่ฉันเห็นกับสิ่งที่เมืองเป็น ล้วนได้กระทำความประทับใจให้ฉันก็เท่านั้น 

    แน่นอนว่าไม่มีเมืองไหนสมบูรณ์แบบ เพราะอย่างน้อยๆ ในบ่ายวันแรก ระหว่างที่เราเดินเท้าจากอพาร์ตเมนต์ไปจัตุรัสดัม (Dam Square) ทะลุไปบ้านแอนน์ แฟรงค์ ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่อคิวเข้าชม จิรัฏฐ์ถึงกับบ่นไม่ขาดปากว่าทำไมเมืองนี้ช่างขับเน้นการท่องเที่ยวเหลือเกิน

    อืม...คนรักของฉันคงอยากดื่มด่ำวิถีท้องถิ่นแบบฮิปๆ สโลว์ไลฟ์สินะ

    ฉันเถียงไปว่า ก็นี่มันเมืองท่องเที่ยว เป็นธรรมดาที่บนถนนสายหลักๆ ที่เดินผ่านจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว และเราเองก็เป็นนักท่องเที่ยวด้วยไม่ใช่หรือ

    จิรัฏฐ์ยังคงเถียงข้างๆ คูๆ กลับมาว่า สิ่งที่ฉันพูดก็ถูก แต่เขาหมายความว่าตามถนนสายหลักล้วนเต็มไปด้วยป้ายและใบปลิวโฆษณาแบบเดียวกันหมด ไม่รูปกังหันลมก็เป็นรูปทุ่งดอกทิวลิป หรือตัวอักษร I Amsterdam อะไรทำนองนั้น
  • ขากลับเราเลยเลือกเดินตามซอกซอยย่อยๆ เพื่อไปดูบ้านคนหรือคาเฟ่ของคนท้องถิ่นบ้าง และนั่นทำให้เราเดินหลงมาเจออนุสรณ์สถานของเบเกอร์ หน้าโรงแรมที่เขาพลัดตกลงมา

    นักท่องเที่ยวผมทองสองคนกำลังเซลฟี่กับใบหน้าทองเหลืองของเบเกอร์อยู่

    “เห็นมั้ย ที่ที่เบเกอร์ตาย ยังกลายเป็นแลนด์มาร์กของนักท่องเที่ยวเลย” พูดจบเขานิ่งไปสักพัก ยิ้มที่มุมปากพลางแซะฉันว่า “แกจะถ่ายรูปตรงนี้ด้วยมั้ย เดี๋ยวถ่ายให้”

    ฉันเดาไม่ผิดว่าเขาคิดอะไร

    เราแวะดื่มเบียร์ที่บาร์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอพาร์ตเมนต์ แน่นอนว่าในบาร์เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และเขาก็ยังคงหลุดบ่นพึมพำเหมือนเดิม

    ก่อนถึงห้องพัก เราบังเอิญเดินผ่านร้านแผ่นเสียงเล็กๆ ที่เปิดถึงเที่ยงคืนและมีบาร์อยู่ข้างใน เขาขอแวะไปคุ้ยของสักหน่อย

    ตลกร้ายกว่านั้น ตรงที่เพียงสิบห้านาทีผ่านไป เขาก็เดินอมยิ้มออกมาพร้อมแผ่นเสียงที่อยู่ในมือสองแผ่น

    หนึ่งในนั้นคืออัลบั้ม Chet Baker Sings ของนักร้องที่เขาค่อนขอดเรื่องความตายไปเมื่อครู่

    ยังไม่ทันที่ฉันจะกระแนะกระแหน เขาก็รีบโพล่งออกมาว่าที่นี่ขายแผ่นเสียงถูกดีก็เท่านั้นเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in