แม้ว่าผู้หญิงบางคนอาจอยู่ในบทบาทสมทบอย่างเชียร์ลีดเดอร์ แต่ความจริงแล้วผู้หญิงในวงการฟุตบอลนั้นมีไปจนถึงบทบาทสำคัญๆมากมาย อย่างการเป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์สนาม ผู้ช่วยผู้ตัดสิน(ไลน์แมน) หรือแม้แต่กรรมการบริหารที่จะวางแผนต่างๆให้กับสโมสร ทุกๆบทบาทของผู้หญิงเหล่านี้ได้สอดแทรกอยู่ในวงการนี้จนเราแทบไม่ได้สังเกตแต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องของบทบาททางอาชีพของผู้หญิงในโลกยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้พวกเธอเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นในวงการฟุตบอลที่ครั้งหนึ่งผู้ชายมีบทบาทมากที่สุด
สวัสดีค่ะ กลับมาอีกแล้วหลังจากมหกรรมบอลโลกได้จบลงไป ได้ฝรั่งเศสเป็นแชมป์ไปเรียบร้อย วันนี้เราอยากจะเขียนถึงผู้หญิงคนนึง แต่ไม่ใช่ประธานาธิบดีโคลินด้า กราบาร์ คิตาโรวิชของโครเอเชียที่เป็นที่ฮือฮาในเวลานี้หรอกนะคะ แต่ผู้หญิงอีกคนที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันค่ะ นั่นคือ อิวา โอลิวารี
ถ้าใครได้ดูหรือติดตามทีมชาติโครเอเชีย จะสังเกตเห็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนม้านั่งกับทีมสตาฟและโค้ชซลัตโก้ ดาลิช ผู้หญิงคนนี้เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังของทีมชาติโครเอเชียชุดประวัติศาสตร์ชุดนี้นับเป็นผู้บุกเบิกบทบาทของผู้หญิงในวงการฟุตบอล และเป็นผู้จัดการทีมที่เป็นผู้หญิงคนแรกของทีมชาติโครเอเชียอีกด้วย สำหรับนักเตะในทีมต่างเคารพในตัว อิวา โอลิวารี เปรียบให้เป็นพี่สาวของพวกเขา ถ้าสำหรับนักเตะที่อายุน้อยๆเธอจะกลายเป็นคุณป้าอิวา (Teta Iva) ของหลานๆทันที หน้าที่ของโอลิวารีอย่างคร่าวๆคือบริหารจัดการทีมวางแผนการเดินทางการขนส่ง ไปจนถึงช่วยดูแลบรรดานักเตะ ฯลฯ อย่างข้อความด้านล่างเป็นข้อความจากดานิเยล ซูบาฉิช ผู้รักษาประตูทีมชาติโครเอเชีย กล่าวถึงโอลิวารี
หลังจากเกริ่นมาประมาณนึงแล้ว เราขอเริ่มกล่าวถึงที่มาที่ไปของโอลิวารีเลยละกัน อิวา โอลิวารี ได้เริ่มทำงานให้กับสหพันธ์ฟุตบอลโครเอเชีย (HNS : Hrvatska Nogometna Savez) ตั้งปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงก่อตั้งทีมชาติขึ้นมาใหม่ๆ หลังจากสงครามปิตุภูมิโครเอเชีย (Croatian War of Independence) ในทีแรกโอลิวารีได้ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระหว่างประเทศของสหพันธ์ฟุตบอล แต่ต่อมาหลังจากดา-วอร์ ซูเคอร์ อดีตนักเตะทีมชาติโครเอเชียขึ้นมาเป็นประธานของสหพันธ์ฟุตบอลโครเอเชียในปี 2012 โอลิวารีก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมชาติโครเอเชียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างเมื่อตอนฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล แต่ในเวลานั้นโอลิวารีอยู่บนแสตนด์ไม่ได้อยู่บนม้านั่งสำรองค่ะ (จริงๆแล้ว HNS มีสัดส่วนลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอีกด้วย)
นอกจากจะเป็นผู้จัดการทีมผู้เป็นที่รักของทุกคนในทีม ปูมหลังของโอลิวารีเองก็ยังน่าสนใจ เนื่องจากตอนโอลิวารีอายุ 14 ปี เธอเคยเป็นแชมป์เทนนิสแห่งโครเอเชีย ที่ตอนนั้นโครเอเชียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย เส้นทางอาชีพของโอลิวารีนั้นโดดเด่นมาก อย่างเช่น เอาชนะ สเตฟฟี่ กราฟ นักเทนนิสชาวเยอรมันที่เคยเป็นมือหนึ่งของโลก แต่น่าเสียดายที่โอลิวารีต้องยุติเส้นทางนักเทนนิสเพราะอาการบาดเจ็บที่ข้อมืออย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีผู้คนเคารพและสนับสนุนเธอ แต่โอลิวารีก็ต้องเผชิญกับคำครหา เช่น 'เธอไม่ควรอยู่ตรงนั้น ถ้าเป็นผู้ชายเขาจะทำงานได้ดีกว่าเธอ' หรือ 'เธอไม่รู้เรื่องฟุตบอลหรอก' แต่โอลิวารีก็ไม่ได้ใส่ใจนักเพราะสิ่งที่เธอใส่ใจและให้ความสำคัญมากที่สุดคือการบริหารจัดการทีมและนักเตะของเธอ และยังเน้นย้ำว่าผู้หญิงสามารถทำได้หลายอย่าง เป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลได้แม้ว่าจะไม่เล่นฟุตบอล เช่น ทำหน้าที่บริหารจัดการ ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยผลักดันและพัฒนาวงการฟุตบอลต่อไปได้
จากที่เราเล่าไปทั้งหมด เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ขนบความเชื่อเดิมๆก็เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่จะมากหรือน้อยก็อาจขึ้นอยู่กับชุดความคิดของผู้คนในสังคมนั้นๆรวมไปถึงสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่อาจส่งผลต่อความคิดของผู้คนไม่มากก็น้อย
เพราะฉะนั้นการเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงที่มีมากมายในวงการฟุตบอล นับเป็นก้าวสำคัญ ทำให้ฟุตบอลเริ่มเข้าใกล้กับคำว่าฟุตบอลเป็นกีฬาของทุกคนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังมีบรรยากาศที่ยังไม่ friendly กับกลุ่ม LGBTIQ อยู่ หรือยังมีกรณีผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฟุตบอลเช่นในอังกฤษมักจะโดนเหยียดเพศอยู่เนืองๆ กับนักข่าวสายกีฬาของบราซิลถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ในที่สุดก็เกิดการเคลื่่อนไหวเป็น #DeixaElaTrabalha หรือ Let her do her job เพื่อตอบโต้แฟนบอลที่มาขัดขวางการทำงานของพวกเธอ
Las periodistas deportivas de #Brasil exigen un alto al acoso y piden #deixaelatrabalhar #dejalastrabajar #Video. Vía @PlayGrounder pic.twitter.com/2HaweRNjd2
— El Grito Más Fuerte (@elgritomas) July 6, 2018
แต่กระนั้นเราก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เวลา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีเพียงชั่วข้ามคืน ขอเพียงแต่พวกเรามีความหวัง ค่อยๆสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกๆคนในโลก แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ถ้าหากมีใครได้ดู ได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ ก็จะช่วย empower ให้กับผู้รับ มากกว่าจะตัดโอกาสผู้หญิงหรือคนอื่นๆออกจากโลกฟุตบอล ด้วยบทความแบบฉาบฉวย ตามเพจดังๆที่ผลิตซ้ำความคิดแบบ gender assignment ที่แบ่งสิ่งที่ผู้หญิงควรทำ ผู้ชายควรทำ เช่น ฟุตบอลมีไว้ให้ผู้ชายดู ส่วนผู้หญิงดูแต่นักบอลเท่านั้น จริงอยู่ที่ใครๆก็ชอบคนสวยคนหล่อ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าชวนคนอื่นๆมาดูโดยสนุกกับแผน สนุกกับฟุตบอลจริงๆ น่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีกว่า เพราะท้ายที่สุดนั้นเพศไม่ใช่ตัวกำหนดว่าคุณจะต้องมีความสุขกับอะไร ทำอะไรได้หรือไม่ได้
อ้างอิง
Harriet Marsden. (2018).A female manager at the World Cup shows how far women in sport have come – and how far is left to go. https://www.independent.co.uk/voices/world-cup-final-croatia-team-manager-female-women-in-football-commentators-jacqui-oatley-vicki-a8448186.html N.p., 16 Jul. 2018.
Croatia week.(2018).Meet Iva Olivari – The First Woman to Sit on the Croatian Team Bench. https://www.croatiaweek.com/meet-iva-olivari-the-first-woman-to-sit-on-the-croatian-team-bench/ N.p., 16 Jul. 2018.
WITW Staff. (2018).'Aunt Iva’ One of the only women on the field at 2018 World Cup says women deserve larger roles in soccer.https://womenintheworld.com/2018/07/10/only-woman-on-the-field-at-2018-world-cup-says-women-deserve-larger-roles-in-soccer/ N.p., 10 Jul. 2018.
Abigail Parra.(2018). Iva Olivari, la Jefa y 'Tía' de Croacia que hizo historia en Rusia 2018.http://www.mediotiempo.com/futbol/2018/07/04/iva-olivari-la-lider-de-croacia-que-ocupa-un-lugar-en-el-banquillo-tecnico N.p., 5 Jul. 2018.
Fifa.com.(2018).The quarter-finalists' unsung heroes.https://www.fifa.com/worldcup/news/the-quarter-finalists-unsung-heroes N.p., 4 Jul. 2018.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in