เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อ่านออกเสียงNefertiti
เรื่องของ "ขี้"
  • (ต้องของอภัยมา ณ ที่นี้ หากผู้ใดกำลังบันเทิงเริงรมย์ในการรับประทานอาหาร เพราะ ...  เรื่องราวต่อไปนี้ คือ เรื่องราวเกี่ยวกับ อุจจาระหรือภาษาเรียกติดปากว่า ขี้ )
    *แต่เนื้อหานี้ไม่มีภาพประกอบที่สะเทือนอารมณ์อย่างแน่นอน*

       จากการได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย จากสำนักพิมพ์มติชน โดย มนฤทัย ไชยวิเศษ หนังสือเล่มนี้เป็นวิทยานิพนธ์เด่นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        เป็นการชวนเปิดมุมมองสังคมไทยใหม่ๆผ่านส้วมและกิจวัตรตามธรรมชาติของมนุษย์คือ การขับถ่าย  จึงอยากมาย่อยในเรื่องของ "ขี้" ที่ปรากฏภายในเล่มและเป็นไกด์แนะนำให้คนที่สนใจ เรื่อง "ขี้" ได้ไปตามอ่านกัน ถือเป็นการเก็บเกร็ดความรู้เชิงประวัติศาสตร์เล็กน้อยผ่านกลไกลธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกตีแตกจนมาเป็นมุมมองการสะท้อนสังคมไทยที่ถูกย้อนไปถึงอดีต


                    "ขี้" ตามราชบัณฑิตยสถาน ความหมายแรกเป็นกริยา หมายถึง การถ่ายกากอาหารออกทางทวารหนัก ความหมายที่สองใช้ประกอบหน้าคำที่แสดงความหมายในทางที่ไม่ดี เช่น ขี้เกียจ ขี้เหนียว 

            ขี้ ยังสะท้อนความคิดความเชื่อบางประการระหว่างชนชั้นในสมัยอยุธยา โดย จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มกษัตริย์และเหล่าราชวงค์ชนชั้นสูง กับ กลุ่มของชาวบ้าน ไพร่ ทาส ทั่วไป 

             ในฐานะความเชื่อของเหล่าเจ้านายชนชั้นสูง ขี้ นั้นเป็นเรื่องอัปมงคลที่ทำให้เสื่อมเกียรติและเป็นเสนียดจัญไร คำว่า ขี้ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกติดปากกันจึงถูกเปลี่ยนเป็นบาลี-สันสกฤตคือคำว่า อุจจาระ คูถ หรือ มูตร เพื่อความลดความอัปมงคลและยกฐานะขึ้นให้มากกว่าการใช้คำว่า ขี้ ดาษๆ ทั่วไป คำว่า ขี้ เลยกลายเป็นคำหยาบไม่ไพเราะในปัจจุบันแต่ไม่ถือว่าเป็นคำที่หยาบคาย ส่วน อุจจาระ กลายเป็นคำสุภาพของคำว่า ขี้ ที่เอาไว้ใช้ในทางการ                     

       การที่จะมีอภิสิทธิ์สร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัยนั้นถูกสงวนไว้แค่กษัตริย์ ดังใน "สาส์นสมเด็จ" กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า "ที่ลงบังคนนั้นเป็นของที่มีได้แต่พระเจ้าแผ่นดิน" ต่อมามีการอนุโลมให้แก่เหล่าขุนนางในภายหลัง จนกระทั่งส่งต่อมายังชาวบ้านหนึ่งชาวบ้านสองอย่างชาวเราในที่สุด ตามการพัฒนาของยุคสมัย คงจะให้ ขี้ กันกลางแจ้งตลอดไปคงมิได้ 

                 นอกจากนี้ชนชั้นกษัตริย์ยังมีความเชื่อ เรื่อง การปฏิบัติกับอุจจาระ ดังตามในตำรา สวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ที่แต่งไว้สำหรับสอนการปฏิบัติตนของลูกเจ้านายในเรื่องต่างๆรวมถึงเรื่องของการขับถ่าย ไว้ว่า

     "อนึ่งนั่งบังคน อย่ายลต่ำ  อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี 

    ผินพักตร์สู่อุดรประจิมดี ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล 

    แล้วสรงน้ำชำระพระนลาฎ จึงผุดผาดผิวพรรณในสัณฐาน" 

      ความเชื่อแบบเทวราชากษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพ ดังนั้น ตั้งแต่ตื่นนอนยันบรรทมย่อมมีพิธีการและการถือฤกษ์ถือยามรวมทั้งแม้กระทั่งยามขับถ่าย สุนทรภู่ได้สอนไว้ในสวัสดิรักษา ว่า เมื่อนั่งขับถ่ายนั้นอย่ามองลงมา เวลาถ่ายให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเชื่อว่าป้องกันคุณไสย จากนั้นก็อาบน้ำรวมถึงชำระหน้าผากเป็นอันว่าสะอาดเรียบร้อย 

             ส่วน ขี้ ในมุมมองของชาวบ้านหรือเหล่าไพร่ทาส ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ทั่วไปย่อมรังเกียจสิ่งที่เป็นของเสียส่งกลิ่นอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านรากหญ้านั้นมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับ ขี้ มากกว่าชนชั้นสูง ด้วยวิถีชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติหาเช้ากินค่ำไม่มีเวลามาพิธีรีตอง ขี้ จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวบ้านในด้านต่างๆ เช่น คำสุภาษิตและคำพังเพยที่สามารถพบคำว่า ขี้ เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ กำขี้ดีกว่ากำตด ชื่อขนมหรืออาหาร ขนมขี้หนู แกงขี้เหล็ก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องความฝันว่า หากฝันว่าได้เหยียบขี้หรือถูกขี้เปื้อนตามร่างกายจะทำนายว่าได้สิ่งของ 

          การขับถ่ายของชาวบ้านนั้นขี้นอยู่กับว่าสะดวกตรงจุดไหน เข้าป่า ไปทุ่ง ไปต้นท่า เมื่อมีการทักทายกันแล้วตอบด้วยคำดังกล่าวจะเป็นอันรู้กันว่าอีกฝ่ายไปทำธุระ แต่ชาวบ้านนั้นไม่ได้ขับถ่ายเปล่า เมื่อถึงเวลาที่จะขับถ่ายในที่แห่งใดก็ตามจะมีการขอขมาคล้ายกับการที่ใช้น้ำแล้วขมาแม่คงคา การไปทุ่งไปป่าก็จะขมาเจ้าป่าเจ้าเขา 

           การขับถ่ายลงน้ำที่เป็นหัวใจหลักในการใช้ชีวิตผู้คน การขับถ่ายนั้นก็จะขับถ่ายกันเป็นเวลาให้สัมพันกับน้ำขึ้นน้ำลงเพราะเมื่อจะต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจะได้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนของ ขี้ เข้าไปข้องเกี่ยวให้แหนงใจว่านี่ ขี้ ใครกันนะ                            การแต่งกายไปขี้ของชาวบ้าน มักจะมีผ้าน้อยชิ้นสีทึบ ถลกผ้าหรือเปิดขึ้นง่ายสะดวกแก่การชำระล้างทำความสะอาด 

      คำว่า ขี้ ยังสามารถพบเจอได้จากการแบ่งชนชั้นของสังคมศักดินาไทย               'ขี้ข้า' คือข้ารับใช้ คนใช้ บ่าว ไพร่  'ขี้ครอก' คือลูกของทาสในเรือนเบี้ยที่เป็นทาสโดยกำเนิด

                 ขี้ ถือเป็นกลไกลของร่างกายมนุษย์ตามธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถควบคุมระบบขับถ่ายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยภูมิปัญญาของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยก็สามารถจัดการเรื่องของ ขี้ ได้อย่างดิบดี วันนี้จึงขอมาชวนอ่านเรื่องของ ขี้ พอหอมปากหอมคอเพียงเท่านี้ หากใครสนใจประวัติศาสตร์ส้วมที่สะท้อนสังคมไทยได้อย่างเจาะลึกก็อย่าลืมไปตามอ่านกันได้ใน ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย 



    ปล.บทความนี้ไม่ได้รับสปอนเซอร์แต่อย่างใด เพียงแค่หยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจมาชวนอ่าน






Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in