เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Thanawhai Blog Showcaseomelasgirl
STARTED FROM “NO MORE DREAM”, NOW BTS IS HERE (LIVIN’ IN AMERICAN DREAM)
  • (ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา LT 401 Principles of Literary Criticism ซึ่งสามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ที่ https://letstalkaboutthis.home.blog/2020/05/01/started-from-no-more-dream-now-bts-is-here-livin-in-american-dream/)

    คร่าวๆ
    จากการประมวลภาพความประทับใจของ BTS ผ่าน BANGBANGCON สตีมมิ่งคอนเสิร์ต ทำให้เห็นภาพการขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของวง นำมาซึ่งการตั้งคำถามกับความเป็นปัจเจกบุคคลกับระบบโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็น BTS
    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
    เข้าเรื่อง

    ในช่วงกักตัวนี้วงบอยแบนด์อย่าง BTS ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ ที่มีชื่อว่า “BANGBANGCON (BTS ONLINE CONCERT WEEKEND)” ชนิดที่ว่าจัดขึ้นทั้งวันทั้งคืนจริงๆเพราะเริ่มการสตีมผ่าน YouTube ตั้งแต่ 10 โมงเช้าลากยาวไปจนถึง 3 ทุ่มกว่าๆ ของวันที่ 18-19 เมษายนที่ผ่านมา

    ภาพจาก https://twitter.com/bts_bighit

    ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถพูดได้ว่าเราจะได้ไปคอนเสิร์ตอีกทีเมื่อไหร่ ทันใดนั้นเองก็เหมือนได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อ BTS ประกาศจะสตีมมิ่งคอนเสิร์ตเก่าทั้งหมดตั้งแต่คอนเสิร์ตทัวร์ครั้งแรก อย่าง The Red Bullet Tour ที่จัดขึ้นในปี 2014 (หนึ่งปีให้หลังจาการเดบิวต์ด้วยเพลง No More Dream) ยาวมาจนถึงคอนเสิร์ตล่าสุดอย่าง Love Yourself ที่จบการทัวร์เมื่อปีที่แล้ว (2019) เปรียบเสมือนเป็นการดูพัฒนาการของวงตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันผ่านคอนเสิร์ต

    We are Bulletproof!
    สำหรับใครที่ไม่รู้จัก BTS (ที่เดิมย่อมาจาก Bulletproof Boy Scouts) หรือ บังทันโซยอนดัน วงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลีที่เรียกได้ว่า ทุกวันนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านการสื่อสารผ่านเนื้อเพลงที่อัดแน่นไปด้วยหลากอารมณ์ที่เป็นประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะปัญหาที่ตัวบุคคลเผชิญลำพังและยากที่จะสื่อสาร อย่างการฝ่าฟันในการเติบโตหรือปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น ที่มาจากการที่สังคมกดดัน

    ภาพจาก (BTS (방탄소년단) ‘No More Dream’ ) https://www.youtube.com/watch?v=rBG5L7UsUxA

    เฮ้ย! ความฝันของนายจริงๆแล้ว มันคืออะไรกันแน่?” (ท่อนแรกที่แปลมาจากภาษาเกาหลีในเพลง No More Dream) ที่ตั้งคำถามถึงความสำเร็จที่มาจาการคาดหวังจากสังคม ถือว่าเป็นจุดยืนที่สำคัญของวงที่สามารถพูดถึงปัญหาที่ไม่ได้ถูกพูดออกมาในวงกว้าง ในยุคนั้น (ปี 2013) ซึ่งในอัลบั้มต่อ ๆ มา ก็มีเนื้อเพลงที่คอยพูดถึงการพูดถึงปัญหาในระดับตัวบุคคลมาเรื่อย ๆ ผ่านมุมมองปัจเจกที่(เคย)เป็นตัวแทนเบื้ยล่าง (underdog) ในสังคม ที่พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้กับระบบโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอย่างชัดเจน

    We (are) Beyond The Scene
    โดยปัจจุบัน BTS (ที่เปลี่ยนมาย่อจากคำว่า Beyond The Scene) ก็ได้มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในฐานะวงบอยแบนด์วงหนึ่งไปแล้วตามขนบอเมริกันดรีม (American Dream) ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นวงที่มาจากค่ายเล็ก ๆ คอยยืนแจกโบรชัวร์ให้คนมาดูเปิดหมวกการแสดงของพวกเขา สู่ วงที่สามารถขายบัตรหมดภายในไม่ถึง 10นาที โดยคอนเสิร์ตครั้งนั้นจัดขึ้นที่สนามกีฬาเวมบลีย์ที่มีความจุกว่าเก้าหมื่นที่นั่ง เรียกได้ว่าเป็นฝันที่ไม่กล้าฝันของวงๆนึงได้เลย
    หากเปรียบ BTS เป็นคน ๆ นึง ก็น่าจะเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหนักหนาจนสามารถมายืนในจุดนี้ได้

    ภาพจาก https://www.facebook.com/bangtan.official/

    โดยการพาดูการเติบโตของวงผ่านการสตีม BANGBANGCON ในช่องทางที่เข้าถึงง่ายอย่าง YouTube เปรียบเสมือนการชักชวนแฟนคลับหรือคนทั่วไปที่ไม่รู้จักวงนี้ เข้ามารับชมความมานะอุตสาหะจนมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จของ BTS ร่วมกัน

    แถมระหว่างรับชม ก็ยังมีระบบการเชื่อมต่อการ กระพริบแท่งไฟกับเพลง (ที่ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญของแฟนคลับในการชมคอนเสิร์ต) ผ่าน Application สำหรับสื่อสารระหว่างศิลปินกับแฟนคลับอย่าง Weverse ที่เปรียบเสมือนกับการที่ทั้งฝ่ายศิลปินและแฟนคลับได้สื่อสารร่วมกันผ่านตัวกลางอย่างแท่งไฟ 


    Here We Are Together
    เราในฐานะผู้บริโภคมองว่า การที่ BTS ได้สตีมคอนเสิร์ตในรูปแบบนี้มันยิ่งเน้นย้ำว่า พวกเขาสามารถแทรกซึมทุกมิติการ “อยู่” เป็นเพื่อนกับแฟนคลับ ที่ถึงแม้ว่าคอนเสิร์ตเหล่านั้นจะถูกจัดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่สมาชิกในวงก็มีการมาปรากฏตัวคั่นระหว่างคอนเสิร์ตผ่านวิดีโอถ่ายใหม่ที่พูดถึงฟีดแบคการดูคอนเสิร์ตพวกเขา ระหว่างการอยู่ในช่วงกักตัวนี้ รวมถึงชวนยืดเส้นยืดสายบ้างระหว่างช่วงพัก ทำให้เห็นว่า BANGBANGCON นับว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ศิลปินและแฟนคลับได้ร่วมสนุกกันได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่กับหน้าจอของตัวเอง 

    จาก BANGBANGCON เราจะเห็นได้ว่าวงนี้สามารถหาวิธีทลายความเหงาและสร้าง “ความเป็นเพื่อน” โดยไม่ล่วงเกินพื้นที่ส่วนตัวที่แฟนคลับอยากรักษาไว้ ได้อย่างแนบเนียน ในฐานะแฟนคลับคนหนึ่งที่ได้ให้ BTS เข้ามาในพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวได้เป็นบ้าง ในเวลาที่เราต้องการใครสักคนเพื่อสื่อถึงความทุกข์ที่มี และยิ่งชัดเจนในวันที่เราทุกคนต้องกักตัวกันอยู่บ้านที่ทวีคูณความเหงาไปอีกหลายเท่า


    ภาพจาก https://www.facebook.com/bangtan.official/


    We Are Bulletproof: The Eternal (Individualism)

    เรามองว่าอารมณ์เหงานั้นเป็นอารมณ์แห่งยุคนี้ เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่มีผลกระทบมาจากความเป็นปัจเจกบุคคลที่วงนี้สามารถเข้ามาเติมเต็มในแง่ที่เป็นทั้ง “เพื่อนที่รู้ใจ” ที่เคยผ่านความเหงาและความกดดันมาหนักหนา(อาจจะมากกว่าเราด้วยซ้ำ) จึงอาจตามมาด้วยปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้อีกว่า ถ้าเรามองว่า BTS ประสบความสำเร็จผ่านแนวคิดอเมริกันดรีม หรือเป็นตัวแทนของความเชื่อมั่นว่าบุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อตัวบุคคลนั้นสามารถยึดมั่นในความทุ่มเทอย่างสุดตัวกับงานที่ทำอยู่ ก็จะกลายเป็นว่าก้อนความกดดัน(จากภายในตัวบุคคลและจากสังคม) ก็จะถูกผลักลงมาที่ตัวบุคคลผู้ที่อดทนไม่มากพอที่จะสามารถประสบความสำเร็จ แทนที่จะไปโทษระบบโครงสร้างหรือปัจจัยอื่นๆที่สร้างความเหลื่อมล้ำของชนชั้นและขัดขวางตัวบุคคลที่จะไปยืนอยู่ที่เส้นชัย

    ทำให้เราก็อาจจะหลงลืมไปว่าการมัวแต่จะโฟกัสความสำเร็จสำหรับตัวบุคคลตามแบบขนบสังคมนั้น อาจทำให้ปัญหาทางโครงสร้าง อำนาจรัฐ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของปัจเจกชนนั้น ถูกลดทอนความสำคัญและไม่ได้แก้ปัญหาไปในท้ายที่สุดเมื่อต้นตอของความอยุตธรรมเหล่านี้ถูกมองเป็นเรื่องอุปสรรคที่เป็นธรรมดาในสังคมให้ปุถุชนก้าวข้ามไปแทน


    ภาพจาก https://www.facebook.com/bangtan.official/
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in