เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แปลบทความและบทสัมภาษณ์ญี่ปุ่น by TLSukontha TL
[แปล] บทสัมภาษณ์ PSYCHIC FEVER ใน Rolling Stone Japan
  • PSYCHIC FEVER เล่าถึงเส้นทางสู่การเป็นศิลปินระดับโลก และทักษะการปรับตัวที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในไทย


    สัมภาษณ์โดย Takuro Ueno เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2023 17:30




    PSYCHIC FEVER วงที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 7 คน และเป็นส่วนหนึ่งของ EXILE TRIBE เดบิวต์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และเดินทางไป “มูฉะชูเกียว” ที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นเวลาครึ่งปี สามารถติดตามกิจกรรมในช่วงนั้นได้ที่ รายการเรียลลิตี้ “NEW SCHOOL BREAKIN’” ในรายการนี้ พวกเขาจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินในประเทศไทย และร่วมงานกันเป็นครั้งคราว (เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ปล่อยเพลง To The Top feat. DVI ที่ฟีตกับวงทีป๊อปชื่อ DVI) โดยมี F.HERO (แร็ปเปอร์ชื่อดังของไทยที่มีส่วนร่วมในเพลงของ BABYMETAL) เป็นตัวแทน หลังจากนั้นจึงปล่อย 1st EP “PSYCHIC FILE Ⅰ” ซึ่งมีตั้งแต่ R&B ที่สง่างาม ไปจนถึงแร็ปที่ผสานกลิ่นอายของ EDM เป็นผลงานที่ทำให้รู้สึกถึงความหลากหลายและศักยภาพของ PSYCHIC FEVER ยิ่งขึ้นไปอีก เมมเบอร์ชื่อจิมมี่บอกว่า ผลงานนี้คือ “EP ที่ทำให้พัฒนาการของพวกเราเป็นรูปเป็นร่างได้” และทางพวกเราก็ได้ถามความรู้สึกของเหล่าเมมเบอร์มาด้วย



    ーผมคิดว่า เดบิวต์อัลบั้ม “P.C.F” (2022) มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก ทั้งวิธีการร้องและทำแทร็ก ต่างก็มี “แกนกลาง” ที่ชัดเจน แต่คราวนี้รู้สึกเหมือนได้ก้าวออกมาจากตรงนั้นอีกหนึ่งก้าว ตอนที่ทำ “PSYCHIC FILE Ⅰ” ทุกคนเคยพูดคุยอะไรกันบ้างมั้ยครับ?


    วีสะ: “PSYCHIC FILE Ⅰ” คราวนี้ ตั้งใจจะใส่องค์ประกอบเชิงทดลองที่ชื่อว่า “FILE I” ลงไป และทุกคนก็ช่วยกันคิดตั้งแต่ชื่อเรื่อง หลังจากนั้น ก็ทำเพลงในเชิงทดลอง ทีละเพลง ๆ โดยครุ่นคิดว่าผู้ฟังทุกท่านจะตอบสนองยังไง และพวกเราจะถ่ายทอดอะไรออกไปบ้าง เพราะเมมเบอร์แต่ละคนมีอัตลักษณ์อยู่เต็มเปี่ยม จึงสามารถท้าทายกับแนวเพลงที่หลากหลายได้ครับ


    โคฮัตสึ โคโคโระ: ส่วนเนื้อหาผลงาน ผมคุยกับเมมเบอร์คนอื่น ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งชื่อ และรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าอยากจะเผยสไตล์ใหม่ ๆ โดยใช้ประสบการณ์จากที่ไทยให้เป็นประโยชน์ ผลงานชิ้นนี้ได้กลายเป็น EP ที่ท้ายตัวตนใหม่ของพวกเราแล้ว ดังนั้น ทุกคนจึงน่าจะได้สัมผัสรสชาติของพวกเรา ที่แตกต่างไปจากตอน “P.C.F” นะครับ


    สึรุกิ: ที่ไทย พวกเรามีโอกาสได้ขึ้นแสดงประมาณสัปดาห์ละครั้ง ก่อนจะไปไทย ผมเคยคิดว่าพวกเราต้องรักษาเจตจำนงของตัวเองไว้เป็นอันดับแรก แน่นอนว่าเรื่องนั้นก็สำคัญ แต่เมื่อผ่านการฝึกฝนที่ไทย สิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับการทำกิจกรรมในระดับโลก คือการปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระในแต่ละเวที ถ้าไม่ทำหลาย ๆ รูปแบบ ก็จะเจอกับทางตัน เคยเรียนภาษาไทยอยู่เหมือนกัน แต่ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้คนมาฟังเพลงของพวกเรา คือการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ผมว่านั่นคือจุดแข็งของพวกเราเลยล่ะ พอมาอยู่ไทยก็ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น EP นี้มีแต่เพลงที่พวกเรามั่นใจมาก ๆ จึงคิดว่าน่าจะเป็นผลงานที่ฟังสนุก


    —ผมคิดว่าการสื่อสารสำคัญต่อการแสดง เมื่อไม่สามารถใช้คำพูดสื่อสารกับผู้ชมในไทยได้ พวกคุณคิดว่ามันมีผลมากมั้ยครับ?


    สึรุกิ: มีผลมากครับ อาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนแรกรู้สึกว่าพวกเราไม่สามารถสื่อสิ่งที่ตัวเองอยากจะสื่อออกไปได้ แน่นอนว่าเรียนภาษาขั้นพื้นฐานมาบ้าง แต่ถ้าจะสื่อสารเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์นั้น ๆ ให้ได้ครับ


    —สิ่งที่คิดว่าน่าสนุกคือ การที่พวกคุณได้ไปอัดเพลงที่ไทย และการที่ sound production มีความเป็นสากล แต่เนื้อเพลงกลับเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ติดหูสุด ๆ


    วาตานาเบะ เร็น: สำหรับเนื้อเพลงในรอบนี้ พวกเราได้รับความช่วยเหลือจากคุณ ELIONE ซึ่งมีพระคุณต่อพวกเราเสมอมา ก็เพราะเขารู้จักพวกเรามาตั้งแต่เมื่อก่อน จึงสามารถถ่ายทอดแง่มุมหนึ่งของพวกเราได้เป็นอย่างดี เขาเขียนเนื้อเพลงโดยเดาว่าปกติแล้วพวกเราอยากสื่ออะไรกับคนฟัง ผมว่านั่นแหละที่ทำให้เนื้อเพลงออกมาสดใหม่


    —มีเพลงที่เมมเบอร์ทุกคนมีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อด้วยสินะครับ


    วาตานาเบะ: เพลง “ForEVER” กับ “Nice & Slow” สินะครับ  “ForEVER” คือเพลงสื่อความในใจถึงทุกคนที่เป็นคอยเชียร์พวกเรามาโดยตลอด และทุกคนที่พวกเราจะได้พบเจอต่อจากนี้ เนื้อเพลงมาจากความรู้สึกตอนได้ไปประเทศไทย สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็ได้ทำในครั้งนี้ ความรู้สึกของพวกเราจึงได้รับการยอมรับอีกครั้ง และในเพลงก็สื่อว่า ต่อจากนี้ อยากจะมุ่งสู่จุดสูงสุด ไปพร้อมกับทุกคนที่แสนสำคัญ ในขณะเดียวกัน “Nice & Slow” สื่อว่า ถึงการมุ่งสู่จุดสูงสุดจะสำคัญ แต่ก็อยากดื่มด่ำช่วงเวลาดี ๆ นี้ ไปกับทุกคนที่คอยเชียร์พวกเรา เป็นรสชาติที่แตกต่างออกไปจาก “ForEVER” แต่ก็มีความในใจของพวกเราอยู่เหมือนกัน ถ้ามาฟังกันเยอะ ๆ จะดีใจมากครับ








  • จุดแข็งที่มาจากการ “ใช้ซาวด์น้อย”


    —ในส่วนของซาวด์ อย่างเพลง “Highlights” ก็มีการใช้เสียงโทนต่ำ และดำเนินเพลงอย่างเรียบ ๆ โดยไม่ได้อัดซาวด์ลงไปเต็มเหนี่ยว แต่เลือกจะใช้ช่องว่างให้เป็นประโยชน์ ผมคิดว่าเป็นความเท่แบบเรียบง่าย แล้วพวกคุณล่ะรู้สึกแบบนั้นหรือเปล่า?


    วาตานาเบะ: พวกเราได้นักเขียนเพลงจากต่างประเทศมาทำเพลงให้ ต่างชาติจะทำดนตรีแบบดังกระหึ่ม ซาวด์ก็เลยน้อยตามไปด้วยมั้งครับ ถึงพวกเราจะมีของดี แต่บางจุดก็ไม่อยากยัดเยียดจนเกินไป หลายครั้งก็อัดท่อนร้องกับท่อนแร็ปแยกกัน แทนที่จะเอามาทับซ้อนกัน ช่วงนี้ นอกจากเสียงรบกวน (white noise) กับเสียงประสาน (harmony) แล้ว ก็ไม่ค่อยเอาอะไรมาทับซ้อนกันเลย ที่จริงผมก็รู้สึกว่านั่นอาจเป็นสไตล์ของวงเราก็ได้ ตอนแรกคิดว่าดนตรีแน่น ๆ น่าจะดีกว่า แต่แบบนั้นได้ฟังมาหลายรอบแล้ว และหลังจากทำกิจกรรมมาได้ 1-2 ปี ก็คิดว่าควรทำเพลงให้ฟังในมิวสิคสตรีมมิ่งได้ด้วย นั่นก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราใส่ใจครับ




    —อย่างนี้นี่เอง พวกคุณตั้งใจทำเพลงให้ฟังในมิวสิคสตรีมมิ่งด้วยสินะครับ แล้วสภาพแวดล้อมสตูดิโออัดเพลงที่ไทย ต่างจากสตูดิโอที่ญี่ปุ่นมั้ยครับ?


    วาตานาเบะ: ต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยล่ะครับ


    สึรุกิ: นั่นแหละ พวกเราอัด “BAKU BAKU” กันที่สตูดิโอในไทย คุณ ELIONE ก็มาด้วย พวกพวกเราเลยได้รวมตัวกันที่นั่นเพื่อทำเพลง “BAKU BAKU” ส่วนเรื่องเสียง สตูดิโอของไทยเจ๋งกว่ามาก ๆ ครับ




    วาตานาเบะ: ได้ยินว่าที่ไทย ความดันเสียงจะต่างออกไป ดูเหมือนว่าเสียงจะดีจนมีคนตั้งใจเดินทางจากต่างประเทศ เพื่อไปอัดเพลงที่ไทยด้วยครับ


    สึรุกิ: มีสตูดิโอใหญ่ ๆ ที่ใช้อัดเพลงออเคสตราด้วย แต่พวกเราก็ได้อัดเพลงที่นั่นเหมือนกันครับ


    ฮันดะ ริวชิน: ได้อัดเพลงในสตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดในไทย ทั้งไมโครโฟนและหูฟังก็แตกต่าง ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่ใหม่เลยทีเดียว แต่สิ่งเหล่านั้นกลับทำให้งานง่ายขึ้น และบรรยากาศนั้น ก็ถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งเสียงเพลงเช่นกันครับ


    วาตานาเบะ: เรื่องมิกซ์เพลงก็ได้รับความช่วยเหลือจากคุณ D.O.I. ผู้มีพระคุณต่อพวกเราเสมอมา แต่ความรู้สึกก็อาจจะต่างจากที่ผ่านมานะครับ หากมีคนรับรู้ว่า สภาพแวดล้อมในการอัดเพลงที่ต่างกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็จะดีใจมากเลยครับ


    —แล้วเสียงที่ออกมาตอนไลฟ์ต่างกันมั้ยครับ?


    ทุกคน:ต่างนะครับ


    จิมมี่: เพราะปกติที่ไทยจะนิยมดนตรีดังกระหึ่ม ไม่ได้มีสี่ฤดู และมีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างไปจากญี่ปุ่น เพลงคริสมาสต์อย่าง “Snow Candy” เลยสื่ออารมณ์ได้ยาก ด้วยวัฒนธรรมงานเทศกาล ทำให้บัลลาดไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร่ เรื่องเซ็ตลิสต์จึงคิดหนักมาก ๆ ในประเด็นนั้น ผมพิจารณาว่าจะนำเสนอเพลงสนุก ๆ ที่พวกเรามีอยู่ให้กับผู้ชมได้ดีแค่ไหน ผมว่าในเทศกาลก็คงมีคนที่รู้จักพวกเรามาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่จะทำยังไงให้คนที่แค่เดินผ่านมาด้านหลังหยุดดูดีล่ะ ทุกคนในวงเลยช่วยกันคิดเซ็ตลิสต์ โดยเรียวกะเป็นตัวตั้งตัวตีครับ



    นากานิชิ เรียวกะ: ใช่เลย หลังจากมาไทยก็ได้ตระหนักว่า ถ้าส่งเสียงเต็มที่แบบไม่หยุดพักจะดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า จังหวะเวลาของพิธีกรก็สำคัญ และถ้าไม่ปล่อยให้เงียบ ก็จะดึงความสนใจได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น เปลี่ยนจากการเว้น 4 จังหวะให้เหลือแค่ 2 จังหวะ รีบเชื่อมให้ติดกันและปล่อยพลังออกมา พวกเราทำเซ็ตลิสต์โดยใส่ใจกับสิ่งเหล่านั้นมาก ๆ เลยครับ นอกจากที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็อยากท้าทายแบบนี้ในประเทศอื่น ๆ ด้วยครับ


    วีสะ: เหมือนกับการเปิดแผ่นเสียงของดีเจเลย


    นากานิชิ: แน่นอนว่าที่ไทยก็จะให้อารมณ์ประมาณนั้น


    จิมมี่: ช่วงนั้นก็ค้นคว้าว่า ช่องว่างระหว่างแต่ละเพลง กับ BPM แบบไหนที่ฟังง่ายสำหรับผู้ชมครับ


    —ผู้ชมที่ไทย ไม่ค่อยคุ้นชินกับบัลลาดเหรอครับ?


    วีสะ: นั่นสินะครับ ผมคิดว่าเพราะเป็นเมืองร้อน ทุกคนที่ไทยเลยอินกับดนตรีเมืองร้อนอย่างเร็กเก้มากกว่า แต่เวลาฟ้าเริ่มมืด ก็คั่นด้วยเพลงอย่าง “Hotline” ได้เหมือนกัน




    วาตานาเบะ: บัลลาดแบบละมุน ๆ ก็ใช้ได้


    วีสะ: บัลลาดที่มีความหนักแน่น อาจมีน้อยกว่าเพลงจังหวะเร็วนะครับ


    ฮันดะ: บัลลาดที่ให้อารมณ์ของฤดูทั้งสี่จะสื่ออารมณ์ได้ยาก บางเพลงน่าจะขายได้ ถ้าเนื้อเพลงมีทั้งอารมณ์คึกคักและอ่อนหวาน แต่เพลงคริสต์มาสก็ยังไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่


    นากินิชิ: อีกอย่างหนึ่งคือ วงสตริงกำลังได้รับความนิยม เพราะแม้แต่เพลงบัลลาดหรือฮิปฮอป ก็มีวงสตริงมาโคฟเวอร์อยู่หลายครั้ง


    —อย่างนี้นี่เอง ถึงจะมีภาพลักษณ์ว่า “ถ้าพูดถึง LDH ก็ต้องนึกถึงบัลลาด” แต่เมื่อผ่านการทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ท่าทีที่มีต่อดนตรีก็เปลี่ยนไปด้วย?


    วีสะ: เพราะที่ไทยนั้น พวกเราไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ จึงตั้งใจสื่อสารกับผู้ชมด้วยการแสดง ท่อนที่ติดหู ทุกคนก็ช่วยกันร้อง เลยตั้งใจจัดเซ็ตลิสต์ให้สนุกไปด้วยกันครับ


    โคฮัตสึ โคโคโระ: เพลงที่ไม่ใช่บัลลาด ผู้ชมในไลฟ์จะช่วยกันร้องอย่างสนุกสนาน ส่วนเพลงบัลลาดนั้น ได้ร้องบนเวที “BALLISTIK BOYZ VS PSYCHIC FEVER THE SURVIVAL 2023 THAILAND” เสียงดนตรีที่อ่อนหวานทำให้มีผู้ชมที่ร้องตาม และซาบซึ้งจนเสียน้ำตาด้วย ทำให้ผมได้รู้ซึ้งอีกครั้งว่า ดนตรีคือสิ่งที่สื่อสารข้ามกำแพงภาษา และสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในธีมของ EP นี้ด้วย





  • ทุกคนต่างดูแลสุขภาพจิตของกันและกัน


    — ในเนื้อเพลง “BAKU BAKU” มีท่อนที่ว่า “หัวใจเต้นระรัว” “ใบหน้าในกระจก” น่าจะสื่อความหมายว่า……หัวใจเต้นแรงจากความประหม่า และความหวาดกลัวต่อความล้มเหลวสินะครับ ครึ่งปีที่ได้มามูฉะชูเกียวที่ประเทศไทย พวกคุณข้ามผ่านกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ตรงหน้ายังไงกันบ้างครับ?


    นากานิชิ: เมื่ออยู่ไทยเป็นเวลาครึ่งปี เวลาที่ได้ใช้ร่วมกับเมมเบอร์คนอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้น เรื่องการแสดงก็รู้สึกเจ็บปวดเสียดายเป็นบางครั้ง ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัว บางครั้งก็เจอกับอุปสรรค ช่วงนั้นก็จะพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงทันที ว่าคงจะต้องดิ้นรนไปให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของเพื่อนร่วมวงและแฟนเพลง เพราะข้อความให้กำลังใจจากทุกคนที่คอยเชียร์อยู่ที่ญี่ปุ่น และการติดตามผ่านช่องทางต่าง ๆ ในโชเชียล กลายเป็นแรงผลักดันให้กับพวกเราในแต่ละวัน ซึ่งเชื่อมโยงกับเพลง “ForEVER” และ ”Nice & Slow” ในครั้งนี้ด้วย จึงได้ตระหนักว่าพวกเขาสำคัญกับพวกเราแค่ไหนครับ


    วาตานาเบะ: เวลาที่อยู่ร่วมกับเมมเบอร์คนอื่นยาวนานกว่าที่ผ่านมา เมื่อพักอาศัยในที่เดียวกัน ทุกคนจึงนอนและตื่นในเวลาเดียวกัน มันทำให้ผมรู้สึกว่า ในเวลาที่จิตใจไม่มั่นคงหรือโดดเดี่ยว การมีเพื่อนอยู่เคียงข้างนั้นเป็นเรื่องสำคัญ มีสตาฟทุกคนที่ไทยคอยช่วยเหลือพวกเรา ตามท้องถิ่นก็มีแต่คนใจดีที่คอยช่วยเหลือ มันคือครึ่งปีที่ได้ฝึกฝนอะไรหลาย ๆ อย่างเลย เมื่อทำกิจกรรมต่อจากนี้ ก็จะพยายามตอบแทนผู้คนเหล่านั้น แม้จะทำได้เพียงน้อยนิดก็ตาม แน่นอนว่าการแสดงและการขัดเกลาฝีมือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าไม่มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ก็ไม่สามารถข้ามผ่านข้ามความยากลำบากในครึ่งปีนี้ไปได้ แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ผมก็ดีใจที่ทุกคนในวงฝ่าฟันมาได้ เพราะทุกคนที่ไทยและคนที่คอยพวกเราอยู่ที่ญี่ปุ่นนั่นแหละครับ ถึงข้ามผ่านมันมาได้สำเร็จ


    —ได้ฝึกจิตใจเยอะมากเลย


    วาตานาเบะ: ได้ฝึกเยอะมาก ๆ เลยครับ วัฒนธรรมกับอาหารก็แตกต่าง ช่วงแรก ๆ ถึงกับมีเมมเบอร์ที่ล้มป่วยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเลยทีเดียว จากนี้ไปก็จะให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมครับ


    —ก็เพราะมีประสบการณ์อย่างนั้น จึงมั่นใจเวลาปล่อย EP ในครั้งนี้ และขึ้นแสดงในญี่ปุ่นไม่ใช่เหรอครับ?


    วาตานาเบะ: ถ้าอย่าง “BAKU BAKU” ก็ใช่เลย ถ้าไม่ได้ไปไทย เพลงนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และใน MV ก็อาจไม่ได้สื่อถึง “เบื้องหน้าและเบื้องหลัง” ด้วย ช่วงเวลาครึ่งปีนี้ก็เช่นกัน เพราะพอเดบิวต์มา พวกผมก็เจอความยากลำบากอยู่เกือบปี มันน่าจะมีผลต่อการแสดงออกที่แปลกใหม่ด้วยครับ


    จิมมี่: ก็เพราะได้รับประสบการณ์มากมาย จึงได้ท้าทายหลายอย่างใน EP นี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเสียงร้องที่หลากหลาย หรือเทคนิคในการแสดงออก เหมือนได้นำสิ่งที่บ่มเพาะทั้งที่ไทยญี่ปุ่น มาเป็นองค์ประกอบในหลาย ๆ เพลงเลยครับ




    —ได้ร่วมงานกับศิลปินไทยด้วย แล้วรู้สึกว่าศิลปินไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างมั้ยครับ?


    วีสะ: สิ่งที่ผมรู้สึกชัดเจนที่สุดก็คือ ในไลฟ์ของคุณ F.HERO แม้จะทำงานในฐานะแร็ปเปอร์เดี่ยว แต่ก็มีดีเจ พิธีกรเสริม และกลุ่มนักดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย ทุกคนอยู่ร่วมกัน และขึ้นแสดงแบบสด ๆ เลย แน่นอนว่าแทร็กที่เปิดก็มีคุณภาพสูง แต่ก็ทำขึ้นใหม่ทั้งหมดเพื่อใช้ในไลฟ์ ทุกคนจึงทุ่มเทกับไลฟ์ครั้งนั้นมาก รอบซ้อมเปิดให้เข้าชมได้ แต่ก็ปรับเปลี่ยนเซ็ตลิสต์มาเรื่อย ๆ ถ้ามีเพลงใหม่ก็สอดแทรกเข้าไปในจังหวะที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนั้น พวกเรายังได้พลิกแพลงการใช้แทร็กในไลฟ์ และเรียนรู้ถึงความทุ่มเทในการทำงานอีกด้วย


    —การจัดรูปแบบวงดนตรี ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ


    วีสะ: นั่นสินะครับ ช่วงนี้มีเพลงที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์เยอะก็จริง แต่แค่ใส่บีตของมือกลองลงไปในแทร็ก ดนตรีก็ฟังดูดุดันขึ้นแล้ว ถ้าพวกเราได้นำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ และพัฒนาทักษะไปด้วยก็จะคงจะดี


    —รุ่นพี่ในค่าย LDH ก็จัดรูปแบบวงดนตรีอยู่เหมือนกัน แต่น้อยครั้งที่จะอิสระถึงขั้นเปลี่ยนเซ็ตลิสต์ได้แบบ F.HERO สินะครับ


    ฮันดะ: ปรับให้เข้ากับระยะเวลาด้วย


    นากานิชิ: ปรับใช้เข้ากับคิวการแสดงด้วย 


    นากานิชิ: BPM เร็วขึ้นด้วย สุดยอดไปเลยครับ ทุกอย่างไวไปหมด


    เมมเบอร์: สุดยอด ๆ


    วีสะ: มันทำให้กระตือรือร้นขึ้นมาเลยล่ะ


  • จัดไลฟ์เดี่ยวครั้งแรกที่ญี่ปุ่น


    —ไลฟ์ทัวร์จะเริ่มในเดือนมิถุนายน พวกคุณมีความตั้งใจแบบไหนกันบ้างครับ?


    โคฮัตสึ โคโคโระ พวกเราเองก็ทุ่มเทกับไลฟ์เดี่ยวครั้งแรกมาก ๆ และจะลองผิดลองถูกกับเพื่อนร่วมวงต่อไป เพื่อหาวิธีแบ่งปันความสุขให้กับผู้ชมครับ คราวนี้ พวกเราได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่ากำแพง ตั้งแต่อยู่ในไทยแล้ว จึงอยากมอบบทเพลงที่ข้ามผ่านทั้งกำแพงภาษาและกำแพงของช่วงวัยให้กับทุกคน อยากจะสร้างไลฟ์ที่คงอยู่ในความทรงจำ เพื่อให้ผู้ชมกลับไปพร้อมความพึงพอใจครับ


    วีสะ: ขึ้นชื่อว่าครั้งแรก ย่อมมีหลายสิ่งที่พวกเราไม่รู้ แต่เพราะอย่างนั้นแหละ ที่ทำให้อยากท้าทายกับอะไรหลาย ๆ ในไลฟ์ทัวร์ครั้งนี้ จะพยายามสุดฝีมือ ประหนึ่งว่าทุกการแสดงคือการแสดงใหม่ เพื่อให้ผู้ชมมากมายสนุกสนาน และทำให้ทุกคนหันมาเป็นแฟนคลับของพวกเราครับ


    วาตานาเบะ: ที่ผ่านมา พวกเราเป็นฝ่ายดูไลฟ์ของรุ่นพี่ใน LDH มาโดยตลอด และเส้นทางกว่าจะเดบิวต์ก็ยาวนานมาก ๆ พอถึงคราวพวกเราได้ไลฟ์บ้างก็รู้สึกประหลาดอยู่เหมือนกัน อยากให้ไลฟ์นี้ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดดนตรีหรือมุมมองโลกให้กับทุกคน แต่เป็นไลฟ์ที่บอกว่า เห็นแบบนี้ พวกเราก็มอบความกล้าหาญและความหวังให้กับใครต่อใครได้เหมือนกัน อยากแบ่งปันช่วงเวลาที่ดีไปกับทุกคน และทำให้พวกเขาซาบซึ้ง หากไลฟ์นี้เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตให้กับทุกคนได้ก็จะดีใจมากครับ


    จิมมี่: พวกเราปล่อยอัลบั้ม “P.C.F.” เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว และปล่อย “PSYCHIC FILE I” ตั้งแต่ยังไม่ได้ไลฟ์ทัวร์เดี่ยว จึงมีเพลงที่อุบไว้ก่อนเพื่อใช้ในทัวร์คร้งนี้ด้วย รอคอยที่จะได้ขึ้นแสดงเพลงเหล่านั้นครับ การไลฟ์ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนมาเชียร์ด้วยความสนใจ เป็นสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในไทย จึงรอคอยอย่างใจจดใจจ่อครับ แน่นอนว่าเป้าหมายคือเวิลด์ทัวร์ แต่แทนที่จะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากไทยไปใช้ตรง ๆ ผมก็จะหาวิธีสร้างความสนุกให้กับผู้คนที่ญี่ปุ่น และอยากให้ดีใจที่ได้มาดูไลฟ์ของพวกเรา เพราะแฟนเพลงทุกคนที่มารวมตัวกัน ต่างก็ชอบ PSYCHIC FEVER เหมือนกัน หากพวกเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กัน จนเป็นแรงจูงใจให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นก็คงจะดี และหากได้ความรู้สึกดี ๆ จากเสียงดนตรีกลับบ้านไปสักนิด ก็จะดีใจไม่น้อยเลยครับ



    สึรุกิ: วงของพวกผมมักจะใช้คำว่า “ปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ” หรือ “หลากหลายรูปแบบ” อยู่บ่อย ๆ ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่สร้างความสนุกและตื่นเต้นครับ อย่างแรกเลยคือ อยากจะมอบความสนุกผ่านเสียงดนตรีและการแสดง ให้กับทุกคนที่มาดูไลฟ์ มันไม่ใช่ไลฟ์ที่เข้าชมฟรีแต่ต้องจ่ายเงิน จึงอยากให้เป็นไลฟ์ที่พิเศษครับ จะแสดงเพลงที่ปกติได้ฟังในสตรีมมิ่งด้วย แต่สไตล์ก็จะแตกต่างกันในแต่ละวัน เพื่อให้อยากเข้ามาดูอีก ผมจะแสดงด้วยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอันดับแรกครับ


    ฮันดะ: สิ่งที่ได้สัมผัสและเรียนรู้จากไทยในช่วงเวลาครึ่งปีนี้ เราจะมีโอกาสแสดงให้ทุกคนที่มาดูไลฟ์ได้เห็นแล้ว ผมจะพยายามเพื่อให้การแสดงเป็นที่ยอมรับ สำหรับทุกคนที่เริ่มเชียร์ PSYCHIC FEVER ตั้งแต่ยุค “PSYCHIC FILE I” ด้วยครับ


    นากานิชิ: เพราะครั้งนี้คือทัวร์ครั้งแรก ทุกคนจึงทุ่มเทกันมาก ๆ และมีสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จอยู่เต็มไปหมด ผมคิดถ้าพวกเราไม่สนุกกับการแสดง ก็คงไม่สามารถถ่ายทอดความสนุกให้กับผู้ชมทุกคนได้ ก่อนอื่นเมมเบอร์จะต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องแต่งกาย เรื่องเพลง หรือเรื่องการแสดง ในทัวร์นี้ ผมอยากมอบสิ่งที่ดูได้เฉพาะในช่วงเวลานั้น ๆ และสิ่งที่หาดูได้แค่ในไลฟ์ครับ หากพวกคุณตั้งตารอคอยพวกเราอยู่ ก็จะยินดีมากเลยครับ


    ต้นฉบับ:

    https://rollingstonejapan.com/articles/detail/39550/1/1/1

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in