ถ้าหากจะกล่าวถึงหนังดีๆสักเรื่องที่พูดถึง Personal Belief และให้กำลังใจในการขับเคลื่อนชีวิตได้ดี เราก็อยากจะแนะนำ Life of Pi ให้ทุกคนได้ดู หลายๆคนที่ผ่านมาอาจจะเคยดูไปแล้ว เพราะหนังมันก็ออกมาได้แปดปีแล้ว หนังสือยิ่งนานกว่าหนังแล้วใหญ่เลย แต่คนอย่างเรานั้น คนที่ตัดสินใจว่าจะดูหนังสักเรื่องนึงก็ดูจากโปสเตอร์ และไม่ค่อยชอบที่จะดูหนังแมสด้วยแล้วนั้น เพิ่งจะเคยดู Life of Pi ก็เมื่อวานนี้เนี่ยแหละ ดูจบแล้วก็ขออัญเชิญเข้าสู่ลิสต์หนังดีในดวงใจ ในหมวดหมู่บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิดมาดีมากๆ แล้วไปเลย
ถ้าหากเห็นโปสเตอร์หนังแล้วคิดว่าเป็นหนังผจญภัยทาร์ซาน เมาคลี หรือดอร่าเห็นกระเป๋าชั้นมั้ย อะไรเทือกๆนั้น เราคือเพื่อนกัน แต่พอมาได้ดูจริงๆแล้ว ว้าวมาก มีอะไรให้คิดตามไปตลอดทั้งเรื่องเลย ตอนแรกเรามัวแต่ไปโฟกัสที่เสืออย่างเดียวเพราะเห็นว่าอยู่บนโปสเตอร์โปรโมท ก็คงต้องมีอะไรสำคัญแน่ๆ ก็มีจริงๆนั่นแหละแต่ตีความได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่ว่าเราเชื่อและมองว่ามันคืออะไร
เจ้าเสือในเรื่อง หรือ Richard Parker สำหรับเราแล้ว เราว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความกลัวของมนุษย์หรือง่ายๆก็คือความกลัวภายในจิตใจของเราเอง เราไม่รู้ว่าโลกจะเหวี่ยงอะไรมาให้เราในแต่ละวัน ทุกอย่างมันคาดเดาไม่ได้เลย เหมือนกับในหนังที่ครอบครัวของ Pi ต้องย้ายไปแคนาดา พอระหว่างทางไปเรือก็ล่มเสียอย่างงั้น ชีวิตพลิกผันต้องมาหาทางเอาชีวิตรอดบนเรือน้อยที่มีเสือรอดมาด้วยบนเรือ อาจจะไม่แอดแวนเจอร์ผจญภัยเจอฉลามวาฬขนาดนั้น แต่ในชีวิตเราก็ต้องหาทางเอาชีวิตรอดและเผชิญกับความกลัวต่างๆแอดแวนเจอร์ผจญภัยพอๆกับ Pi บนเรืออยู่ดีนั่นแหละ เสือในชีวิตของเราอาจจะมาในรูปแบบความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ กลัวว่าจะทำไม่ได้ดีในเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือความรัก ฯลฯ แต่สุดท้ายอย่างที่ Pi พูด Above all: don't lose hope ทุกอย่างมันสามารถหาทางไปได้ หาทางcopeกับมันจนได้ เหมือนที่ Pi หาทางเทรน Richard Parker หาทางหาอาหาร กินเนื้อปลาทั้งๆที่เป็นมังสังสวิรัติเพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวันนั่นแหละ
นอกเหนือจากหนังจะให้ความหวังมนุษย์ได้ดีแล้ว อย่างที่กล่าวไปข้างต้นที่ธีมหลักๆของหนังทั้งเรื่องนี้ พูดถึง Personal Belief ตอนเราเลือกที่จะเชื่ออะไรสักอย่างนึง เราก็เลือกที่จะเชื่อสิ่งนั้นเพราะว่ามันมีโลจิคมากพอ มันmake sense กับตัวเรามากพอ
Life of Pi หรือที่ส่วนตัวเราให้ชื่อไทยว่า ชีวิตแห่งความไม่มีเหตุผล จากตัวเรื่อง Pi เป็นเด็กขี้สงสัยและพยามหาคำตอบ อย่างฉากที่ถามบาทหลวงว่าทำไมพระเยซูต้องถูกตรึงกางเขน การที่ผู้แต่งนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้เรื่อง Personal Belief เป็นเส้นเรื่องหลักที่เราสัมผัสได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บาทหลวงบอก Pi ว่าที่พระเยซูลงมาไถ่บาปก็เป็นเพราะความรัก แน่นอนล่ะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อในเรื่องราวตามที่บาทหลวงเล่า หรือเรื่องราวตามพระคัมภีร์ที่ถูกเขียนไว้เกี่ยวกับการลงมาไถ่บาปมนุษย์โลกของพระเยซู เพราะเช่นนั้นการเล่นประเด็นนี้ยิ่งสื่อให้เห็นความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ไม่งั้นโลกเราก็คงจะมีเพียงศาสนาเดียวและเราก็คงนับถือศาสนาเดียวกันทั้งโลกแล้ว
มันก็เลยทำให้เราเชื่อมไปหาอีกฉากนึง คือฉากบนโต๊ะอาหารที่ครอบครัวมาคุยเรื่องที่ Pi นับถือปฏิบัติตามถึงสามศาสนา เป็นฉากที่ทำให้เรามาคิดถึงตัวเอง เพราะตอนนี้เราก็ไม่ได้คิดว่าจิตวิญญานในด้านนี้ของเราbelongอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ทำไมเราจะนับถือ เชื่อในหลายอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ล่ะ ในเมื่อถ้าเราเจอ missing piece ณ เวลานั้น เราไม่ได้คิดว่าเราเจอมันที่ไหน เราเพียงรู้ว่าเราเจอมันแล้วเพียงเท่านั้น ดังนั้นเราก็ไม่ต้องไปยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้หนิ เพราะแต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อก็มีหลายมุมมองให้เราได้เรียนรู้ ก็เลือกนำส่วนที่มันเมคเซนส์กับตัวเราแล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้นแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ถ้าให้คิดอีกแง่ ไม่ใช่เรื่องของศาสนา ทั่วๆไปเราก็สามารถมองให้เป็นการสนับสนุนให้คนลองออกไปใช้ชีวิตหลายๆด้าน ถ้าหากสงสัยก็จงไปหาคำตอบด้วยการลองทำ พอถึงจุดนึงเราก็จะรู้ว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์คกับตัวเรา แล้วก็ค้นพบว่าอะไรที่มันเมคเซนส์และอยากให้อยู่ในชีวิตของเราต่อไป
You are what you believe
ในส่วนของชื่อตัวเอก "Pi" มาจากชื่อของสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งในปารีสที่ชื่อว่า Piscine Molitor Patel ซึ่งเขาก็ตั้งชื่อตามสระว่ายน้ำ ไม่ได้มีความหมายอะไรมากกว่านั้น เหมือนที่พ่อแม่ตั้งชื่อลูกตามสิ่งที่ชอบ แต่มันดันมามีปัญหาตอนไปโรงเรียนเนี่ยแหละ หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยผ่านยุคที่เพื่อนเรียกชื่อเราเป็นอย่างอื่นแทน ตัว Pi ในเรื่องก็เช่นเดียวกัน จากชื่อว่า Piscine ตามชื่อสระว่ายน้ำเฉยๆดันพ้องเสียงกลายไปเป็น Pissing แทน Pi ไม่อยากให้เพื่อนเรียกชื่อนั้น เลยบอกทุกคนว่ามันมาจาก π ที่เราคุ้นเคยในสูตรหาพื้นที่วงกลมพายอาร์กำลังสองแทน ต่อไปนี้ไม่ต้องเรียกเต็มๆว่า Piscine (Pissing) แล้ว ให้เรียกสั้นๆว่า Pi
เราชอบมากๆที่ผู้แต่งใช้ π มาเล่น เรียกได้ว่าว้าวตั้งแต่ตอนดู จนตอนนี้ดูจบมาหนึ่งวันถ้วนกว่าๆแล้วก็ยังรู้สึกว้าวไม่หาย คิดมาดีแล้วจริงๆ π อย่างที่เรารู้กันว่าเป็น Irrational number จำนวนอตรรกยะในทางคณิตศาสตร์ ย่อเป็นเศษส่วนไม่ได้ และมีทศนิยมยาวไปๆไม่ซ้ำ เราชอบที่เขาเล่นกับคำ Irrational(ity) หรือความไม่มีเหตุผล มันรีเฟล็คตัวละคร Pi ได้ดีมากๆ Piscine ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่ามันคือชื่อสระว่ายน้ำ ถึงบอกไปคนก็ตั้งแง่เพราะมันพิสูจน์ได้ยาก โม้เองหรือเปล่า กลายเป็น Irrational story ที่คนไม่ซื้อ แต่พอเลือกที่จะบอกว่าเป็น π เป็นอะไรที่คนใช้และรู้จักมากกว่าแทน มีที่มาที่ไป เมคเซนส์มากกว่า คนก็เลือกที่จะเชื่อในที่มาของชื่อเวอร์ชั่นนี้
จริงๆถ้าบอกว่าเรื่องราวของ Pi เป็นหนังผจญภัยก็คงจะถูกแหละ แต่บอกว่าเป็นหนังชีวิตก็ได้เช่นกัน ที่ในบางครั้งก็อาจจะเจอลมพายุพัดถาโถมกระหน่ำให้ท้อแท้ใจ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมันก็มีเหตุผล หากเราไม่เจอลมพายุบ้าง เราจะเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดในพายุครั้งต่อไปได้ยังไง จะชื่นชมความสวยงามของมหาสมุทรในยามคลื่นลมสงบได้ยังไง ก็จงอย่ากลัวสิ่งที่เข้ามา อย่ากลัวว่าเราจะเอาชีวิตต่อไปไม่รอดถ้าหากเราเชื่ออยู่ หากเรายังมีความหวังอยู่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in