เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เธอ เขา เรา ผม 3 HORSE RIDING IN THE MIDDLE EARTHSALMONBOOKS
คำนำ



  • เราเชื่อว่าหนังสือที่ดี ไม่เฉพาะเพียงต้องมีคำตอบให้กับคนอ่านเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการช่วยตั้งคำถามอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมันมาก่อน

    การตั้งคำถามสำคัญยังไง? เราคิดเสมอว่าถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อยระดับไมโคร หรือกระทั่งใหญ่โตมาโครที่ซับซ้อนยากเกินความเข้าใจ บางทีเราจะมีคำตอบไม่ได้ถ้ายังไม่ได้ตั้งคำถาม

    เล็กน้อยกว่านั้น ความเข้าอกเข้าใจกัน บางครั้งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะว่าเราไม่เคยคิดถึงคำถามง่ายๆ ที่ว่า “ทำไมเราถึงไม่เข้าใจกัน?”

    เมื่อไม่ได้คำถาม ก็ไม่มีทางจะครุ่นคิดถึงคำตอบ
    คำถามก็คือ ทำไมเราถึงไม่ตั้งคำถาม?

    คงจะไม่ต้องพูดถึงอะไรมากนักกับชื่อของ โตมร ศุขปรีชา ชื่อชั้นของเขาถูกจัดขึ้นหิ้งไปแล้วในหมวดบรรณาธิการ นักเขียน นักแปล นักคิด เจ้าของบทความที่หากเปรียบเป็นนักมวยแล้วละก็เขาคงเป็นพวกที่มีอาวุธเป็นหมัดที่แม่นยำ ออกหมัดกี่ครั้งก็เข้าเป้า โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง ชนชั้น ที่ เธอ เขา เรา ผม มัน และคุณกำลังอาศัยอยู่ร่วมกัน โตมรออกหมัดได้แหลมคมระดับนวมคู่แข่งยังไม่ทันเปื้อนอยู่เสมอ

    ก่อนหน้านี้ สำนักพิมพ์แซลมอนเคยตีพิมพ์หนังสือ เธอ เขา เรา ผม และ เธอ เขา เรา ผม 2: Urbanus Collection ซึ่งเป็นการรวมมาจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันนี้จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เช่นเดียวกับเล่มนี้ที่ยังคงเป็นการรวบรวมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ สองเล่มก่อนหน้า เรามักจะคัดเลือกเรื่องที่ ‘กลางๆ’ อย่างเรื่องความเป็นชาวเมือง เรื่องราวของต่างประเทศ
    หรือความคิดปกิณกะสารพัด และมักจะเลี่ยงเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘การเมือง’ ออกเสียเยอะ เพราะนอกจากมันจะต้องใช้มิติของช่วงเวลาและยุคสมัยสำหรับอ้างอิงเยอะเกินไปแล้ว ก็เป็นเราเองต่างหากที่ปอด กลัวจะเกิดความขัดแย้งจากการอ่านของผู้อ่านบางคนที่อาจไม่เห็นพ้องกับบางเรื่องในหนังสือ ถึงจะรู้ว่าในทุกถ้อยคำบนโลก ความเห็นไม่ตรงกันมันย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นประโยคไหน แต่นั่นแหละ เรารู้สึกเกร็งและกลัวที่จะต้องเพิ่มความไม่
    เข้าใจบนสังคมไทยที่ยังอุดมไปด้วยความไม่เข้าใจกันอยู่อย่างนี้

    จนกระทั่งเมื่อได้รับต้นฉบับทั้ง 30 ตอนนี้ เราถึงเริ่มต้นถามตัวเองว่า “ทำไม?”

    ก็เพราะหนังสือที่ดี ไม่เฉพาะเพียงต้องมีคำตอบให้กับคนอ่านเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการช่วยตั้งคำถามอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมันมาก่อน รวมถึงคำตอบดีๆ ที่เราพอใจที่จะลงมือทำมัน

    และหนังสือเล่มนี้คือคำตอบของพวกเรา



  • ผมขี่ม้าไม่เป็น และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการขี่ม้า

    ที่จริงต้องบอกว่า—ผมไม่เคยแม้กระทั่งนั่งอยู่บนหลังม้าด้วยซ้ำ แต่การเปรียบเปรยของ
    เดวิด โบห์ม (David Bohm) นักฟิสิกส์ที่เป็นนักปรัชญาด้วยนั้น ทำให้ผมจินตนาการว่าตัวเอง
    มักจะนั่งอยู่บนหลังม้าเป็นประจำ   

    ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ แต่ทว่ายัง ‘หลับใหล’ อยู่บนหลังม้าด้วย!   

    โบห์มเล่าว่า เมื่อเขาขี่ม้าเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ผู้ให้เช่าม้าบอกเขาว่า “คุณต้องคิดให้เร็วกว่าม้า ไม่อย่างนั้นคุณจะได้แต่ไปตามที่ม้าพาไป”    

    โบห์มประทับใจลึกซึ้งกับคำพูดนั้น เขาบอกว่าคำพูดนั้นมีสัจจะสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือกระบวนการใหญ่โต (อย่างเช่น การขึ้นขี่บังคับม้า) นั้น, สามารถถูก ‘บังคับ’ และ ‘สั่งการ’ ได้จากการทำงานของสิ่งที่เล็กกว่า ละเอียดอ่อนกว่า และรวดเร็วกว่า,   

    ในที่นี้ก็คือการดึงสายบังเหียนที่เมื่อเปรียบกับตัวม้าแล้ว—มันช่างเล็กจิ๋วและบอบบางเสียเหลือเกิน   

    โบห์มบอกว่า มนุษย์เรามักดำเนินชีวิตเหมือนการขี่ม้า ไม่ใช่การขี่ม้าธรรมดา แต่เป็นการขี่ม้าที่ ‘หลับใหล’ อยู่บนหลังม้า การบังคับม้านั้นเป็นทักษะเชิงกลไกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราเกิดการเรียนรู้หรือ ‘ขี่เป็น’ ในระดับเบื้องต้นแล้ว เรามีแนวโน้มจะเห็นการขี่ม้าเป็นกระบวนการเชิงกลไกอย่างหนึ่ง เราจะไม่กล้าเปลี่ยนแปลงมัน เราจะขี่ม้าตัวแข็งเหมือนที่ครูสอน    

    นั่นทำให้เรา ‘หลับใหล’ อยู่บนหลังม้า,   
    และนั่นเป็นเรื่องอันตราย!   

    เราไม่อาจสร้างสรรค์วิธีขี่ม้าแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะเราติดกับดักอยู่กับวิธีขี่ม้าที่มีลักษณะเป็นกลไก

    ในชีวิต เราไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องขี่ม้าเท่านั้น แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ทั้งจากพ่อแม่ ครู เพื่อนและสังคมโดยรวม ล้วนหล่อหลอมให้เกิดสภาวะทางจิตบางอย่างที่เราต้องยอมหมอบราบ ลอกเลียน และทำซ้ำแบบกลไก ซึ่งดูเผินๆ มันไร้อันตราย เพราะไม่ไปกระทบกระทั่งกับใคร เราจึงฝังตัวอยู่ในวิธีการแบบกลไกซ้ำเดิมนั้น เหมือนที่เราเห็นได้บ่อยๆ ว่าเด็กๆ ในโรงเรียนที่ต้องท่องอะไรซ้ำๆ เมื่อโตขึ้นก็จะเอ่ยปากพูดแก่นความคิดแบบเดิมออกมาคล้ายกับตัวเองเป็นเพียงเครื่องจักรที่ถูกฝังโปรแกรมเอาไว้   

    ในเวลาเดียวกัน ก็มีคนที่รังเกียจการขี่ม้าเชิงกลไกยิ่งนัก พวกเขาไม่พอใจกับการตกอยู่ในกับดักของวิถีแบบกลไกแบบนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการ ‘เหวี่ยง’ ไปอยู่อีกฟากหนึ่ง แล้วที่สุดก็ไปตกอยู่ใน ‘กับดักของการขบถ’ เพื่อต่อต้านวิธีขี่ม้าเชิงกลไกตามที่ถูกสอนสั่งมา พวกเขาทำตรงข้ามกับทุกสิ่งที่ถูกฝังหัว นำเสนออุดมการณ์ที่เป็นด้านตรงข้าม หรือพยายามอย่างยิ่งที่จะขัดแย้งกับการขี่ม้าแบบเก่า

    น่าเสียดาย ที่มันเป็นการต่อต้านกลไกแบบเก่าโดยการใช้กลไกแบบเก่าที่ไปไม่พ้นกลไกแบบเก่า  
    เราจึงไม่ได้ก้าวไปไหน และที่สุดก็ยังคงหลับใหลอยู่บนหลังม้าอยู่ดี   

    โบห์มบอกว่า มีน้อยคนนักที่หนีจากการทำงานของความคิดที่เป็นเงื่อนไขแบบกลไกทั้งสองนี้ได้ และในน้อยคนที่ว่า ยิ่งมีน้อยคนลงไปอีก ที่สามารถหนีจากความขัดแย้งมหึมาทั้งภายในและภายนอกตัวเองได้จริงๆ 

    ส่วนใหญ่แล้ว เรามักนั่งหลับอยู่บนหลังม้า หรือไม่ก็พยายามกระแทกกระทั้นม้าด้วยอาการละเมอ กระทั่งที่สุดมันก็สลัดเราตกลงมาคลุกฝุ่น ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปสู่ ‘ที่หมาย’ หรือระเบียบโครงสร้างใหม่ๆ ได้อย่างแท้จริง   

    ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเราคุ้นเคยกับการทำอะไรซ้ำๆ เชิงกลไกตามที่ถูกปลูกฝังมาด้วยขนบ—มากเกินกว่าจะมองให้พ้นไปจากคู่ตรงข้ามได้   

    บ่อยครั้ง ม้าก็ปล่อยให้เราหลับ มันวิ่งเหยาะย่างเรียบนิ่งไปเรื่อยๆ ปล่อยให้สายลมพัดพลิ้วปะทะใบหน้าจนเคลิ้ม เพราะมันกลัวว่าหากเราตื่นขึ้นในวันหนึ่ง เราอาจพามันไปในจุดหมายที่มันไม่ต้องการจะไปก็ได้   

    เราอาจไม่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมาเต็มตัวก็ได้ หากนั่นเป็นภารกิจที่ยากเย็นอย่างยิ่ง    

    แค่รู้ตัวว่าหลับอยู่ บางครั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะหากเรารู้ตัวว่าหลับ ย่อมแปลว่าเราได้เริ่มตื่นรู้สึกตัวขึ้นบ้างแล้ว,   

    แม้จะเล็กน้อยอย่างยิ่งก็ตามที!


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in