เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE HAPPINESS MANUAL พฤติกรรมความสุขSALMONBOOKS
Part I พฤติกรรม


  •           
              ชีวิตที่มีความสุขคืออะไร
              ชีวิตที่มีความสุขคือการได้ทำงานที่เรารัก คือการมีทรัพย์สิน เงินทองล้นกาย คือการมีเพื่อนฝูงและคนที่เรารักรายล้อม คือการมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง หรือการได้หัวเราะร่วนในทุกๆ วัน
              ชีวิตที่มีความสุขคืออะไรกันแน่ แล้วชีวิตที่มีความสุขนั้นเกิดขึ้นจากอะไร
              สำหรับคุณผู้อ่านแล้ว ชีวิตที่มีความสุขคือแบบไหน แล้วมีปัจจัยอะไรเป็นตัวแปรบ้าง
              สำหรับผม ชีวิตที่มีความสุขเกิดขึ้นได้เพราะรถเก่าๆ ยี่ห้อ Austin Maestro คันหนึ่ง
              ถึงจะผ่านมาแล้วเกือบสิบเจ็ดปี แต่ผมยังจำวันนั้นได้ดี
    วันที่ผมต้องตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ไหน 
    ระหว่างวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science หรือ LSE) ที่ลอนดอน หรือมหาวิทยาลัยวอร์ริก ที่เมืองโคเวนทรี ซึ่งผมได้ Unconditional Offer (การตอบรับเข้าเรียนโดยไม่มีเงื่อนไข) จากทั้งสองแห่ง
              ตอนนั้นไม่ว่าผมจะถามความเห็นจากคนไทยคนไหน ทุกคนล้วนบอกให้ไปเรียนที่ LSE ด้วยเหตุผลว่าที่นี่ดังจะตาย แถมยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1895 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลาง
    การสอนและการวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมศาสตร์เกือบทุกสาขา พร้อมทั้งมีศิษย์เก่า
    อาจารย์ที่เคยสอน และกำลังสอนอยู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ มากมายหลายคน รวมไปถึงรางวัล
    โนเบล ในสาขาเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น จอห์น ฮิกส์ (John Hicks) และ อมาตยะ เซน (Amartya Sen)
              พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณอยากจะเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ LSE ถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ
              เอาเข้าจริง ผม—ซึ่งในขณะนั้นมีอายุยี่สิบปีนิดๆ—ก็อยากไปเรียนที่ LSE เพราะหากย้อนกลับไปสมัยยังหาที่เรียนในระดับ ปริญญาตรี ผมก็เคยได้ offer จาก LSE แต่ครั้งนั้นเกรดของผม
    ไม่ถึงจึงต้องไปเรียนที่อื่น อีกอย่างคืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทยขวัญใจของผมและนักเศรษฐศาสตร์ไทย อีกหลายๆ คนก็เรียนจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์มาจาก LSE ยิ่งทำให้ผมคิดว่าถ้าได้เข้าไปเรียนที่นี่ก็คงจะเท่น่าดู
              แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ผมได้ถามโรเบิร์ต เพื่อนสนิทตั้งแต่เด็ก และเป็นคนที่ผมไปขออาศัยอยู่ด้วยในเวลานั้นที่เมืองแรมส์เกต (Ramsgate) เขตเคนต์ (Kent) ประเทศอังกฤษ ว่าควรไปเรียนต่อที่ไหน
              เจ้าตัวตอบกลับมาว่า “ไปเรียนที่วอร์ริกดีกว่า”
    ผมแปลกใจมาก เพราะแทบไม่มีใครแนะนำให้ผมไปเรียนที่วอร์ริกเลย ผมจึงถามเหตุผลของเขา
              คำตอบของโรเบิร์ตกลายเป็นคำตอบที่เปลี่ยนชีวิตของผมไป 
    เพราะนั่นทำให้ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขเป็นคนที่สองของโลก 
    (คนแรกคือ อโลอิส สตุทเซอร์ (Alois Stutzer) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิสที่มหาวิทยาลัยซูริค
    (The University of Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)


  •           เป็นคำตอบที่ทำให้ผมได้มาทำงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ความสุข จนได้เจอและแต่งงานกับผู้หญิงที่ผมรักและเป็นคำตอบที่ทำให้ผมได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ ในฐานะศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
              “นิค” เขาเรียกผมว่านิค “ข้าวของของยูน่ะอยู่ในรถของไอและยูก็ขอให้ไอขับรถไปส่ง รถของไอมันก็เก่ามากแล้วด้วย ยูรู้ไหมว่าลอนดอนรถติดขนาดไหน ถ้าต้องขับแล้วหยุด ขับแล้วหยุดบ่อยๆเกียร์ต้องพังแน่ๆ"
              “ไปเรียนวอร์ริกเหอะ ขับขึ้นทางด่วนไปโคเวนทรีง่ายกว่ากันเยอะเลย”ผมมองโรเบิร์ตแบบ งงๆ พร้อมกับคิดในหัวว่า นี่หรือเหตุผลแต่ก่อนที่ผมจะเถียงเขากลับก็คิดขึ้นได้ว่าที่โรเบิร์ตพูดนั้นก็เป็นความจริง ข้าวของทั้งหมดของผมอยู่ในรถของเขา รถของโรเบิร์ตก็เก่ามากแล้วจริงๆ และผมก็ไม่มีเงินพอที่จะจ้างคนอื่นมาขนของผมถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนจะตอบกลับไปว่า “โอเคๆวอร์ริกก็วอร์ริกวะ”
              ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงจะตั้งคำถามในใจว่า ผมต้องการสื่ออะไรกันแน่ จะสื่อถึงการมีเพื่อนสนิทแบบ งงๆ อย่างโรเบิร์ต หรือจะสื่อถึงการตัดสินใจที่ไม่ค่อยมีเหตุผล แล้วไปเสี่ยงดวงเอาข้างหน้าหรือชีวิตที่ดีคือการมีโอกาส มีทุนการศึกษา ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างนี้น่ะเหรอไม่ใช่นะครับ สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตของเรา ‘อีกชีวิตหนึ่ง’ จะมีหน้าตาเป็นยังไงต่างหาก
              ผมไม่มีทางรู้ได้เลย ว่าถ้าวันนั้นผมไม่ฟังคำตอบของโรเบิร์ตและไปเรียนที่ LSE แทน ชีวิตของผมจะออกมาเป็นยังไงบ้างผมคงจะไม่ได้เจอกับภรรยา คงไม่ได้เรียนจบปริญญาเอก หรือถ้าจบก็อาจจะเป็นทางด้านอื่นๆ ผมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตของผมจะมีความสุขมากหรือน้อยกว่าชีวิตที่ผมกำลังประสบอยู่ในตอนนี้
              ก็แหม ชีวิตคนเราไม่ได้เหมือนในหนัง Sliding Doors1 นี่ครับ ที่จะสามารถมองเห็นอนาคตจากการเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเส้นทางที่เลือก
    ในวันนี้จะนำพาเราไปพบกับชีวิตที่มีความสุขในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเส้นทางที่เคยเลือกมาในอดีต จะเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราในวันนี้ และถ้าเรากลับไปเลือกเส้นทางที่เคยมองข้ามเราจะมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in