เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษSALMONBOOKS
คำนำ

  • ปฐมนิเทศ


    มีหลายล้านแห่ง ที่ตลอดชีวิตของเราอาจไม่มีวันได้ไปยืนอยู่

    ไม่ต้องพูดถึงโลกทั้งใบ ในบางจุดบางตำแหน่งที่เราเห็นชินชาคุ้นตา ก็อาจไม่มีโอกาสได้ไปอยู่ตรงนั้น

    เช่น การเป็นอาจารย์


    เราทุกคนเคยเป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นเด็กน้อยที่นั่งคอยการประสิทธิ์ประสาทวิชา หันหน้าหา กระดานดำ พกหนังสือไปเรียนสมุดไปจด ตกเย็นทำการบ้าน สอบและเรียนจนจบเพื่อจะได้พ้นจากชีวิตนักเรียนที่นั่งอยู่แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมนี่เสียที! แต่ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะได้ออกไปสอนวิชานู่นนี่ที่หน้าห้องเหมือนอาจารย์(โอเค อาจมีบางคนที่มีความฝันอยากเป็นครูและมีโอกาสได้เป็นจริงๆอยู่เพียบ แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าเป็นส่วนน้อยอยู่ดี)

    หนึ่งหลักฐานคือ ในร้านหนังสือมีเล่มที่เกี่ยวกับชีวิตนักเรียนมากมาย (อีบ.ก. แซลมอนมันก็เขียนตั้งสองเล่ม (จนป่านนี้ยังขายไม่หมด) อีกสามสี่เล่มในค่ายก็พูดถึงชีวิตช่วงประถม-มัธยม ยังไม่รวมค่ายอื่นที่มีเผยแพร่มาอีกบานเบอะ) แต่ไม่ค่อยเห็นใครเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์สักเท่าไหร่

    อาจเพราะในประเทศไทย อาจารย์ถูกเซ็ตเอาไว้ว่าเป็นสถานะที่สูงส่ง ยกเอาไว้เป็นเบื้องสูง เป็นผู้มีพระคุณที่ลงความรู้ให้กับสมองนิ่มๆ ของพวกเรา ซึ่งเราเองเห็นด้วยอย่างสุดซอย 

    แต่บางทีเราก็อยากจะรู้เรื่องของอาจารย์อยู่บ้าง อยากรู้ว่ารู้สึกยังไงเวลาเจอเด็กกวนตีนใส่ อยากกระโดดถีบไหม รู้สึกอย่างไรเวลาที่เด็กหลับยกห้อง โกรธหรือเปล่าเวลาที่นักศึกษาโดดเรียน แอบกลับบ้านไปร้องไห้รึเปล่าเวลาเด็กก้าวร้าวใส่ ฯลฯ

    หนำซ้ำ ความเคยเป็นนักเรียนของเรานี่เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ที่กลัวว่ากรรมจะตามสนองเด็กๆ กูเหี้_ไว้เยอะ...เราจึงได้เก็บข้อสงสัยในการเป็นอาจารย์เอาไว้เงียบๆ แต่เวลาที่เจอใครแชร์เรื่องเกี่ยวกับอาจารย์เราก็อยากจะไปสอดรู้สอดเห็นทันที

    อย่างเช่นเวลาเห็นสเตตัสเฟซบุ๊คของคันฉัตร

    นอกจากในฐานะนักเขียนบวกนักท่องเที่ยวบวกนักวิจารณ์บวกติ่งเกาหลีบวกชาวอินดี้ที่ดูหนังฟังเพลงจากสารพัดชาติบวกยูสเซอร์ฝีปากคมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก (ตัวจริงก็คมไม่แพ้กัน) เรายังสนอกสนใจเขาในฐานะอาจารย์

    คันฉัตรสอนหนังสือมานานหลายปีดีดัก ก่อนที่เขาจะเขียนหนังสือ Sorry, Sorry ขอโทษครับ...ผมเป็นติ่ง หรือ แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ฉบับโตเกียวดริฟต์ เสียอีก ความน่าสนใจของอาจารย์คันฉัตรก็คือ เขาแทบไม่มีบุคลิกของความเป็นอาจารย์ ไม่ว่าจะด้วยอายุที่ถือว่ายังน้อยเพียงยี่สิบต้นๆ (ตอนนี้ยี่สิบปลายๆ) และบุคลิกที่ขี้วีนขี้เหวี่ยง (แต่ตรงไปตรงมา) กระทั่งความอินดี้ลับแลของเขาที่ดูเหมือนว่าจะเสพแต่อะไรที่คนอื่นเขาไม่เข้าใจ แต่เขากลับสอนในศาสตร์ที่พยายามทำให้คนอื่นเข้าใจอะไรที่เข้าใจยากๆ อย่างภาพยนตร์ 

    บนสเตตัสของคันฉัตรในช่วงเวลาเปิดเทอมล้วนเต็มไปด้วยสีสัน หากผู้อ่านคนไหนได้กด Follow เอาไว้จะเห็นว่าวีรกรรมของเหล่าลูกศิษย์หรือฉากบู๊ของเขาเวลาต่อกรกับลูกศิษย์มักจะเป็นซีนแอ็กชั่นคอมิดี้ทำให้พวกเรายิ้มได้ตลอด

    เราเห็นว่าปล่อยไปก็คงจะเสียของ ประสบการณ์หน้าห้องเรียนของคันฉัตรช่างเหมาะสมที่จะเอามาให้คนอ่านผู้น่ารักของเราได้หัวเราะคิกๆ ไปด้วยกัน (ที่จริงเราอยากอ่านเองอีกเยอะๆ) พร้อมๆ กับเรื่องราวของ ‘อาจารย์พิเศษ’ ที่น้อยคนนักจะได้รับรู้ ซึ่งเราก็แน่ใจว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าในตัวของมันไม่น้อย

    ภายในเล่มคำศัพท์หรือสำนวนของคันฉัตรอาจจะมีบางคำหรือประโยคที่อาจถูกตีความว่าไม่เหมาะสมกับการเป็นอาจารย์ แต่นี่เองอาจเป็นด่านแรกที่เราควรเรียนรู้ว่าอาจารย์ก็คือคนที่มีหลายด้านหลากมิติ

    แต่หากในบรรทัดไหนหรืออักษรใดที่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจ สำนักพิมพ์ขอน้อมรับเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว 

    ขอจบคำนำสำนักพิมพ์เอาไว้ที่บรรทัดนี้

    ต่อไปเป็นคาบอาจารย์คันฉัตร


    สำนักพิมพ์แซลมอน
  • วัตถุประสงค์การเรียนรู้


    เวลาไปงานรวมญาติคุณคิดว่าอะไรน่าเบื่อที่สุดครับ?

    จำนวนคนที่มากมายจนเวียนหัว เสียงดังอึกทึกแย่งกันพูดชวนปวดประสาท ญาติบางคนที่โม้เรื่องตัวเองไม่หยุด ญาติอีกคนที่พยายามจะขอยืมเงินเรา หรือตอนจบงานที่ต้องแย่งกันจ่ายตังค์ ทั้งที่ลึกๆ แล้วก็รอให้สักคนเลี้ยง 

    แต่ผมว่าสิ่งที่น่าเบื่อที่สุดคือ ‘คำถาม’

    คำถามจากญาติๆ มักเป็นคำถามชุดเดิมซ้ำไปวนมาแทบทุกปีจนบางทีผมอยากจะทำเอกสารแจกแจงชีวิตตัวเองไปแจกในงานให้รู้แล้วรู้รอด

    ตัวอย่างคำถามในงานรวมญาติ เช่น

    “อ้วนขึ้นหรือเปล่าเนี่ย”

    “เมื่อไหร่จะไปเรียนต่อสักทีล่ะ”

    “มีแฟนหรือยังจ๊ะ หา...ยังไม่มีอีกเหรอ”

    “วางแผนเรื่องแต่งงานหรือยัง ใกล้จะสามสิบแล้วไม่ใช่เหรอ”

    และ

    “ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่”

    สำหรับคนที่ทำงานประจำเป็นหลักเป็นแหล่ง คงตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผมที่เป็นฟรีแลนซ์ รับงานหลายอย่างมั่วไปเรื่อย บางครั้งก็สับสนเหมือนกันว่ากูจะนิยามอาชีพตัวเองว่าอะไรดีวะ จะตอบว่าฟรีแลนซ์ก็คงต้องอธิบายอีกยืดยาว เลยตอบว่าเป็นนักเขียนแล้วกัน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น...

    ญาติ 1: “นักเขียน!? แล้วเงินมันพอกินเหรอลูก”

    ญาติ 2: “นั่นสิ แล้วเขียนแบบไหน ขายดีแบบนิ้ว__อะไรนั่นหรือเปล่า”

    ผม: “เอ่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นแนววิจารณ์หนังอะครับ”

    ญาติ 1: “วิจารณ์หนัง!? แล้วมันมีคนอ่านเหรอ ได้เงินเท่าไหร่เนี่ย บลา บลา บลา”

    ญาติ 2: “เรียนเศรษฐศาสตร์มาไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่ทำงานด้านนั้นละ บลา บลา บลา”

    (ญาติ 1 + 2 แท็กทีมกันปาฐกถาความยาวราว 30 นาที)


    แต่หลังจากเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์อยู่หลายปี ผมก็ได้จับพลัดจับผลูไปเป็นอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ในมหา’ลัย (ทำอีท่าไหน ท่านจะได้ทราบจากหนังสือเล่มนี้แหละจ้ะ) พอกลับไปงานรวมญาติ บรรยากาศก็เปลี่ยนไปทันที

    ญาติ 1: “ตอนนี้ทำอะไรอยู่จ๊ะ”

    ผม: “ก็สอนหนังสือครับ สอนตามมหา’ลัย”

    ญาติ 1: “ว้าย เหรอจ๊ะ ดีจัง อายุก็ยังไม่เยอะเนอะ ได้เป็นอาจารย์แล้ว”

    ญาติ 2:  “ใช่ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องภูมิใจแน่ๆ”

    (แล้วญาติ 1+2 ก็จากไป หันไปสอบสวนญาติคนอื่นๆ ต่อแทน)

    เห็นได้ชัดเลยครับว่าหลังจากนิยามอาชีพตัวเองว่าเป็นอาจารย์ ปฏิกิริยาของญาติก็เปลี่ยนไปทันที หรือมีอีกตัวอย่าง คือตอนไปเปิดบัญชีกับธนาคาร ผมจะลองเปรียบเทียบตอนที่เป็นนักเขียนกับตอนเป็นอาจารย์ให้ดูนะครับ

    สถานการณ์ 1 (ยังเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์อย่างเดียว)

    ผม: “เปิดบัญชีครับ”

    พนักงาน: “ค่ะ สักครู่นะคะ” (นางก็พิมพ์อะไรใส่คอมพ์ไปเรื่อย) “ไม่ทราบว่าทำอาชีพอะไรคะ”

    ผม: “ฟรีแลนซ์ครับ” 

    พนักงาน: “เอ่อ...ในระบบไม่มีให้เลือกค่ะ ระบุหน่อยได้มั้ยคะ”

    ผม: “งั้นใส่ว่านักเขียนแล้วกันครับ” 

    พนักงาน: “ค่ะ...เอ่อ...นักเขียนก็ไม่มีให้เลือกค่ะ รบกวนใส่เป็นรับจ้างได้มั้ยคะ”

    ผม: “ได้ครับ”

    พนักงาน: “ค่ะ สักครู่นะคะ” (นางก็พิมพ์อะไรใส่คอมพ์ต่อ) “ว่าแต่เป็นฟรีแลนซ์เนี่ย สนใจเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิตมั้ยคะ ตอนนี้ทางธนาคารเรามีแคมเปญรับสมัครทำประกันชีวิต บลา บลา บลา และบลา บลา บลา”

    ผม: “.........”

    (การเปิดบัญชีที่ควรจะเสร็จภายใน 15 นาที กลายเป็น 30 นาที)

    สถานการณ์ 2 (เป็นอาจารย์แล้ว)

    ผม: “เปิดบัญชีครับ”

    พนักงาน: “ค่ะ สักครู่นะคะ” (นางก็พิมพ์อะไรใส่คอมพ์ไปเรื่อย) “ไม่ทราบว่าทำอาชีพอะไรคะ”

    ผม: “อาจารย์ครับ”

    พนักงาน: “ค่ะ โอเค เรียบร้อยค่ะ ค่าเปิดบัญชี XXX บาทนะคะ”

    (ยื่นเงินให้ ได้สมุดบัญชีมา จบ)

    จากสองตัวอย่างที่ยกมา คงพอสรุปได้นะครับว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่ดูมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในสังคมไทย หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้ผมรอดตัวจากมรสุมคำถามในงานรวมญาติมาได้

    แต่...หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จะมาขายตรงชวนให้ไปเป็นอาจารย์กันครับ เพราะสิ่งที่ผมเขียน (แกมระบาย) ไว้ในเล่มคือความบ้าบอคอแตก เจ็บปวดรวดร้าว ตลก (ร้าย) หายนะ จิตหลุด โลกดับสลาย (ชักจะไปกันใหญ่ละ) ของการเป็นอาจารย์ ซึ่งผมจะไม่สปอยล์ตรงนี้แล้วกัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ใน 20 บทของหนังสือเล่มนี้แล้วครับ

    อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะฝากไว้เล็กน้อยก่อนจะเปิดไปยังหน้าถัดไปคือ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าทำไมชีวิตอาจารย์มันช่างบัดซบเหลือเกิน ผมก็อยากจะย้ำว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีหลายด้านครับ ไม่มีอะไรเป็นสีดำหรือสีขาวชัดเจน 

    ชีวิตอาจารย์ของผมก็คงคล้ายกับชื่อนิยาย The Perks of Being a Wallflower (ซึ่งผมแปลไทยเอง / ไม่ได้จะโฆษณาแต่อย่างใด / เหรอ?) ตัวเอกในเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ดอกไม้ในซอกหลืบ (wallflower) ที่หลายคนไม่เห็นคุณค่า แต่หนังสือก็พยายามชี้ให้เราเห็นข้อดี (perk) ของการเป็นดอกไม้ประเภทนั้น 

    ดังนั้นชีวิตของผมในฐานะ อ.คันฉัตร ก็เป็น The Perks of Being a Teacher ครับ มันอาจจะมีความวินาศสันตะโรมากมาย แต่ก็ยังมีแง่งามอยู่

    ส่วนคุณผู้อ่านจะได้แง่อะไรจากหนังสือเล่มนี้ (จะสองแง่สองง่ามก็ยังได้) ก็ขอเชิญลองอ่านและค้นหากันเลยครับ

    อ่านให้สนุกนะครับ :)

    คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
    มีนาคม 2557



    ป.ล. หนังสือเล่มนี้มีการใช้คำหยาบคายรุนแรง หรือแทนลูกศิษย์ด้วยสรรพนามดิบเถื่อน (แก เอ็ง มึง) อาจดูขัดกับภาพลักษณ์อาจารย์ที่ควรจะเป็น แต่ทั้งหมดเป็นการใช้เพื่ออรรถรสในการอ่านเท่านั้นนะจ๊ะ ไม่ได้มีจิตใจอาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด (ทำไมมองอย่างนั้นล่ะ เชื่อหน่อยเถอะ)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in