เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
TALK with Mr. NelsonBenz Thanachart
07: เข้าโรงหนังไทยครั้งแรก
  • First Time in Thai Theater เข้าโรงหนังไทยครั้งแรก


    เบ๊น: เวลาอยู่เมืองไทย เสาร์-อาทิตย์ลุงทำอะไรบ้าง?
    เนลสัน:
    ส่วนมากผมจะไปนั่งอ่านหนังสือตามสวนสาธารณะ แต่บางทีก็ไปดูหนัง

    เบ๊น: ลุงชอบหนังไทยเหรอ?
    เนลสัน:
    ชอบนะ ผมมีหนังไทยในดวงใจหลายเรื่องเลย ทั้ง ศึกมหายันต์ยิงกันสนั่นจอ, หอแต๋วแตก, วัยเป้งง นักเลงขาสั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นหนังแนวเซอร์เรียล แต่สิ่งที่ถูกใจผมยิ่งกว่าหนังก็คือโรงหนังที่เมืองไทย

    เบ๊น: ยังไง?
    เนลสัน:
    โรงหนังเมืองไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สุดยอด และมีหลายอย่างเซอร์เรียลไม่แพ้ตัวหนัง

    ความเซอร์เรียลเริ่มตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าโรง โรงหนังหลายแห่งคิวยาวมาก เพราะมีคนอยากดูหนังเยอะ แต่มีช่องขายตั๋วไม่กี่ช่อง หลายช่องถูกยุบเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ต้องใช้การ์ดในการซื้อ ซึ่งปัญหาคือเจ้าการ์ดนี้มันไม่ค่อยมีใครใช้ คนก็เลยไปอออยู่ที่ช่องที่เป็นคนขายเหมือนเดิม แล้ว ทางออกของเรื่องนี้ก็เท่มาก ตรงที่จะมีพนักงานมาคอยบิลด์ว่าถ้าอยากเร็วก็จงไปสมัครซื้อการ์ดพิเศษของทางโรงสิ!

    ผมว่ามันเป็นการตลาดที่เจ๋งมาก คือ สร้าง Problem เพื่อขาย Solution เปรียบไปแล้วมันก็เหมือนการที่คุณถีบคนตกน้ำแล้วตะโกนขายห่วงยางชัดๆ

    เบ๊น: โอ้โห
    เนลสัน:
    ตอนเลือกที่นั่งก็เท่ไม่แพ้กัน ที่นั่งเมืองไทยมีหลายแบบทั้ง Honeymoon, Emperor, Supreme, Premium, Privilege เรียกว่างัดเอา Adjective ทั้งดิกชันนารีมาตั้งเป็นชื่อเก้าอี้ได้หมดเลย ซึ่งผมสงสัยมากว่ามาดูหนังแค่สองชั่วโมงจะสบายไปไหน บางทีนี่ไม่รู้แล้วว่ามานอนหรือมาดูหนัง มีการกั้นเป็นคอกส่วนตัวมองไกลๆ อย่างกับฮวงซุ้ย

    ความเท่อีกอย่างของเก้าอี้โรงหนังไทยคือ แถวไกลจอจะแพง แถวใกล้จอจะถูก ขณะที่อเมริกา ราคาจะเท่ากันทั้งโรง

    ผมเคยลองถามเล่นๆ ว่าทำไมนั่งไกลๆ ถึงแพง พนักงานบอกว่าเป็นเก้าอี้ Premium ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็เหมือนกันทุกประการ แค่ไกลกว่าเท่านั้นเอง พอรู้แบบนี้ผมถึงอยากเสนอว่าเปลี่ยนชื่อที่นั่งเถอะ จะเสียเวลาตั้งชื่อ Premium ให้เพราะไปทำไม ตั้งไปเลยว่า ‘เก้าอี้ที่มึงนั่งแล้วสบายคอ ยอมเสียเงินเพิ่มซะดีๆ’ ส่วนเก้าอี้แถวหน้าก็ตั้งว่า ‘เก้าอี้ช่างแม่งสุขภาพคอ กูไม่อยากเสียเงินเพิ่มยี่สิบบาท’

    เบ๊น: นี่ขนาดยังไม่เข้าโรงลุงก็เจอความเท่ขนาดนี้แล้วเหรอ...
    เนลสัน:
    ใช่ แล้วยังไม่จบเท่านี้นะ ยังมีเคาน์เตอร์ขายน้ำและป๊อปคอร์น ซึ่งผมว่ามันเป็นการจำลองสภาวะเงินเฟ้ออย่างแท้จริง ไม่ว่าสินค้าชิ้นนั้นจะธรรมดาสามัญแค่ไหน พอเข้าไปอยู่ในเคาน์เตอร์นี้ราคาของทุกอย่างจะสูงขึ้นมาก

    เคาน์เตอร์ป๊อปคอร์น คือ สถานที่ชุบตัวของเหล่าบรรดาสินค้าอย่างแท้จริง ดูไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการชุบตัวของเด็กไทยเวลาเดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองนอ...

    เบ๊น: เอาล่ะครับ เรามีเวลาไม่มาก ขอตัดเข้ามาในโรงเลยแล้วกัน สรุปว่าลุงเข้าไปดูหนังทันมั้ย เพราะเห็นว่าต้องต่อแถวซื้อตั๋วยาวย้วยหรือชื่นชมเคาน์เตอร์ป๊อปคอร์นเยอะแยะไปหมด
    เนลสัน:
    ทันสิ เพราะโรงหนังไทยเขาตระหนักในเรื่องนี้ดี เลยยัดโฆษณาเข้ามาเต็มที่ เข้าโรงช้าแค่ไหนก็ได้ เรียกว่าซื้อตั๋วแล้วไปนวดแผนไทย ตัด สระ ซอยผม หรือซื้อกองทุน LTF ก่อนแล้วค่อยเข้าโรงก็ยังทัน

    ผมว่าโรงหนังไทยอาจมีโฆษณาเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นความฉลาด เพราะตามหลักแล้วมนุษย์เข้าโรงหนังเพื่อต้องการ Escape จากโลกแห่งความจริง ทางโรงหนังก็เป็นห่วงว่าคนไทยจะหลงอยู่กับโลกสมมติบนแผ่นฟิล์มมากเกินไป เลยใส่ความเรียลอย่างโฆษณาน้ำยาดับกลิ่นปาก ผ้าอนามัย หรือประกันชีวิตเข้ามา

    และต่อให้หนังเริ่มไปแล้วความเรียลก็ยังไม่หนีไปไหน เพื่อนร่วมโรงของคุณจะมีอะไรเรียลๆ มาแชร์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนเล่นมือถือ เสียงเด็กร้อง เสียงวัยรุ่นคุยกันเป็นกลุ่ม ทำให้ไม่ว่าหนังบนจอจะแฟนตาซีแค่ไหน Hobbit หรือ Narnia ยังไง ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความเรียลของคนไทยเสมอ

    คุยไปคุยมาผมก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงตั้งชื่อเก้าอี้ว่า Supreme หรือ Privilege เหตุผลก็คงเพราะประสบการณ์ดูหนังสุดพิเศษแบบนี้แม่งน่าจะหาได้ที่เมืองไทยเท่านั้น ยิ่งดูผมก็ยิ่งอยากออกไปซื้อป็อปคอร์นแพงๆ ประชดชีวิตพร้อมตะโกนว่า

    “I fucking love Thai theaters!”


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in