ขึ้นรถเมล์สาย 8 ครั้งแรก
เบ๊น: เวลาอยู่กรุงเทพฯ ลุงเดินทางไปไหนมาไหนยังไง?
เนลสัน: หลายวิธีตอนแรกผมก็ขึ้นรถไฟฟ้าปกตินี่แหละแต่หลังๆ ผมพบว่านั่นไม่ใช่คาแรคเตอร์ที่แท้จริงของการคมนาคมในกรุงเทพฯ
ของแท้มันต้องรถเมล์!
เบ๊น: ลุงชอบอะไรของรถเมล์ไทย
เนลสัน: จริงๆ แล้วรถเมล์ไทยถูกใช้เป็นกุศโลบายสอนคนในประเทศหลายๆ เรื่อง
ที่เห็นได้ชัดก็เรื่องของความอดทนอดอนกลั้น
ถ้าให้จัดอันดับพื้นที่ที่อยู่แล้วทรมาน ผมว่าป้ายรถเมล์เมืองไทยน่าจะติดอันดับต้นๆ ไหนจะร้อนจนเหงื่อไหล โดนแดดส่องจนหน้ามัน มีมลพิษอีกร้อยแปด แล้วยังไม่รู้อีกว่าเมื่อไหร่รถเมล์สายที่เรารอมันจะมาคนที่อยู่รอดจนขึ้นรถเมล์ได้จึงต้องเป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่งมากๆ ซึ่งต่างกับที่อเมริกาพอสมควร ที่นั่นมีตารางการเดินรถที่แน่นอนตายตัว บางทีก็มีให้กดเช็กออนไลน์ได้ว่ารถสายที่เรารอนั้นจะมาถึงหรือยัง ซึ่งเอาเข้าจริงผมว่ามันห่วย มันทำให้ประชาชนอ่อนแอและมัวคิดถึงแต่อนาคต ขณะที่ป้ายรถเมล์ของไทยสอนให้คนอยู่กับปัจจุบันไม่คาดหวังกับอนาคต ไม่จมอยู่กับอดีต ไม่ต้องพะวงว่าต้องรออีกเท่าไหร่ ไม่ต้องสนว่ารอมานานแค่ไหน แค่ตั้งหน้าตั้งตารอต่อไปก็พอ เรียบง่ายและฉลาดกว่าเยอะ
นี่แหละ ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’
เบ๊น: แต่ลุงไม่รู้สึกทรมานบ้างเหรอ กว่ารถจะมาแต่ละคัน
เนลสัน: ทรมานสิ แต่มันคือการสอนใจอีกนั่นแหละ
คุณต้องรู้จักอดกลั้น เพราะรถเมล์สายที่เรารอมักนานเสมอ แถมบางทีก็มีพวกมารผจญอย่างแท็กซี่ผ่านมาทดสอบจิตใจเป็นระยะ ต้องเป็นคนที่หนักแน่นเท่านั้นถึงจะขึ้นไปอยู่บนรถเมล์ไทยได้ ซึ่งใช่ว่าขึ้นไปแล้วเรื่องจะจบ เรายังต้องฝึกความอดทนด้วยการเจออากาศอบอ้าวและการเบียดเสียดข้างบนรถอีก แต่ผมไม่โกรธเลย ผมทึ่งมากกว่า
เบ๊น: หา? ทึ่งเรื่องอะไรครับ
เนลสัน: ก็คุณกระเป๋ารถเมล์น่ะสิ พวกเขาเป็นมนุษย์ที่เท่มาก มีความสามารถหลายเรื่อง ทั้งการทรงตัวยามพาหนะเคลื่อนที่ การจดจำหน้าผู้โดยสาร หรือการจัดสรรที่ว่าง โดยเฉพาะอย่างหลังนี่ผมต้องยกย่องเขาจริงๆ ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมออกแบบตกแต่งภายใน เพราะไม่ว่ารถจะเบียดแค่ไหน กระเป๋ารถเมล์ไทยก็จัดการกับพื้นที่ภายในได้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว แถมยังมีจิตวิทยาเป็นเลิศ ดูได้จากการที่พวกเขาตะโกนกดดันให้เรา “ชิดในหน่อยเพ่!!!” ไปเรื่อยๆ จนเราต้องยอมรีดเค้นศักยภาพเพื่อจะเบียดกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่โค้ชอเมริกันฟุตบอลใช้กับลูกทีม โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Negative Pushing’
เบ๊น: โห ไม่น่าเชื่อว่าพี่กระเป๋ารถเมล์จะน่าทึ่งขนาดนี้
เนลสัน: แน่นอน แล้วคุณเชื่อไหมกระเป๋ารถเมล์บางคนนอกจะจัดการกับเรื่องบนรถแล้วยังต้องจัดการกับเรื่องนอกรถด้วย ยกตัวอย่าง เวลาลุงคนขับเขาจะเปลี่ยนเลน พี่กระเป๋าฯ มักจะอำนวยความสะดวกด้วยการยื่นมือออกไปนอกหน้าต่างเพื่อขอทางกับรถคันหลัง ซึ่งรถคันอื่นก็มักจะยอมให้ด้วยนะ เห็นมั้ยว่ามีประสิทธิภาพยิ่งกว่าไฟเลี้ยวหลายขุมนัก ถือเป็นวิถี Handmade ที่น่าชื่นชม
เบ๊น: อืม...รถเมล์สอนอะไรคุณอีก
เนลสัน: หลักปรัชญาพุทธ คือรถเมล์สอนให้เรารู้จักปลดปลงกับความตายและทำให้เราได้รู้ว่าความตายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ถือเป็นพื้นที่แห่งการมรณานุสติสุดๆ
ผมยังจำตอนที่ขึ้นรถเมล์สาย 8 ครั้งแรกได้ ความรู้สึกนั้นยังตราตรึง เพราะพี่คนขับแกเปลี่ยนเลน ปาดซ้ายแซงขวาด้วยการเหยียบมิดจนเรียกว่าหนัง
The Fast and Furious ของ วิน ดีเซล กลายเป็น
เทเลทับบีส์ ไปเลย
ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงที่อยู่บนนั้นเป็นเวลาที่ผมได้หันกลับไปมองอดีตและทบทวนชีวิตอย่างจริงจังว่าเราใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้วหรือไม่
เบ๊น: โห ไม่คิดว่าจะลึกซึ้งขนาดนั้น
เนลสัน: ยังไม่จบ
นอกจากเรื่องของความอดกลั้นและการปล่อยวางแล้ว รถเมล์ยังสอนให้คุณเป็นคนเข้มแข็งทั้งกายและใจ เพราะนักเรียนช่างกลชอบมาตีกันบนรถเมล์ มันบังคับให้คุณต้องรีดพลังกายพลังใจ ไหวพริบ และสติปัญญาในการเอาตัวรอดออกมาให้ได้
เห็นอย่างนี้แล้ว ผมเลยตั้งขอสันนิษฐานว่า คำว่า ‘เมล์’ นั้น น่าจะมาจาก ‘May the force be with you’
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in