สำหรับเรื่องราวอื่นๆ ของหนังที่เราสนใจก็คือคอสตูมของ Mary Poppins Returns
ผู้ออกแบบคอสตูมสำหรับหนังแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ในครั้งนี้ก็คือ Sandy Powell นักออกแบบเสื้อผ้าที่ได้รับรางวัลออสการ์มาแล้ว เป็นผู้ออกแบบให้ เธอบอกว่าเธอต้องการให้แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ เวอร์ชั่นเอมิลี่ บลันต์ แตกต่างจากเวอร์ชั่นของจูลี่ แอนดรูวส์ เธออยากให้แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ปี 2018 นี้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะโบว์ไทด์ที่จะต้องมีตลอดเวลา และชุดว่ายน้ำที่แมรี่ ป๊อปปิ้นส์สวมนั้นเป็นชุดว่ายน้ำในสมัยวิกตอเรีย ยังคงมีโบว์ไทด์ แต่แตกต่างออกไป (เรียบและชิคกว่า)
ส่วนภาพแรกของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ (ในหนัง) Powell อยากให้ชุดของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ สะท้อนจากภาคแรก ก็เลยใช้หมวกที่เป็นทรงใกล้เคียงกับภาคเดิม แต่ว่าเป็นหมวกยุค 1930 แทน เพราะว่าภาคแรกเป็นหมวกทรงตัด อันที่จริงก็เป็นการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและยุคสมัยนะ เพราะว่าภาคแรก เซตติ้งอยู่ในปี 1910 แล้วพวกคอสตูมยุค 1960 ก็ยังโผล่มาให้เห็นบ้าง สำหรับภาคนี้ Powell ก็บอกว่าอยากจะให้เอาดอกไม้ให้อยู่ห่างจากหมวกของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ เพราะภาคแรก หมวกของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ มีดอกเดซี่เสียบอยู่ ภาคนี้เธอก็เลยเอานกไปไว้แทนดอกไม้ (ถ้าจำภาคแรกได้ นกโรบิ้นที่แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ร้องเพลง A Spoonful of Sugar นี่แหละ) ส่วนฉากใต้น้ำ หมวกของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ก็จะเป็นปลา สำหรับฉากที่หลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ Powell บอกว่าอยากจะให้ตัวละครดูเหมือนอยู่ในโลกเดียวกัน เธอก็เลยเพ้นต์แบบ 2D ลงบนชุด ให้เหมือนอยู่ในโลกเดียวกันไปเลย นอกจากนั้น ชุดของแจ็ก คนจุดไฟ ก็ถูกออกแบบให้ต่างจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงจุดไฟในหนัง (แหงล่ะ เพราะเขาก็เป็นตัวเด่นนี่นา)
© 2017 Disney Enterprises
นอกจากคอสตูมแล้ว ฉากต่างๆ ในหนังก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ผู้ที่มาออกแบบงานโปรดักชั่นต่างๆ ก็คือ John Myhre ที่มาเนรมิตเกาะอังกฤษในยุคแห่งความโศกเศร้าให้เป็นจริงขึ้นมาสำหรับหนัง Mary Poppins Returns เซตติ้งของหนังเป็นกลางๆ ของยุค 30 ตรงตามที่หนังสือของ P. L. Travers วางเอาไว้ ไม่ใช่ Edwardian ประมาณยุค 1910 อย่างหนังภาคแรก Rob Marshall ผู้กำกับบอกว่าเขาอยากให้มันแตกต่างจากลอนดอนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโลเคชั่นที่พวกเขาใช้ถ่าย และการผจญภัยที่แมรี่ ป๊อปปิ้นส์พาเด็กๆ เดินทางไป เรื่องราวของภาคนี้เล่าถึงยุคที่เศรษฐกิจในอังกฤษฝืดเคือง พวกเขาอยากให้มีความรู้สึกดิ้นรนในด้านต่างๆ และเมื่อแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ มาถึงพร้อมกับการผจญภัยในสีสันสดใส นั่นคือสิ่งที่ตัดกัน Rob บอกว่าเขาหวังจะให้มันจบแบบแฟนตาซีและความจริงสามารถเดินทางไปด้วยกัน อารมณ์ต่างๆ ที่สดใสสุดแฟนตาซีนั้นคุณสามารถพามันมาสู่ชีวิตจริงได้ ฉากที่ค่อนข้างยากที่สุดคือฉากของบิ๊กเบน ที่พวกเขาต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ในกอง ใช้เวลารีเสิร์ชหนัก ทีมออกแบบต้องใช้เวลาศึกษาและเข้าไปอยู่ด้านหลังของบิ๊กเบน มันมหัศจรรย์มากๆ มันเหมือนส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความจริงและเวทย์มนตร์ในหนัง
ส่วนฉากของถนนต้นเชอร์รี่ พวกเขาไปถ่ายกันที่ Shepperton Studios ได้ Gordon Sim มาออกแบบภายในให้ บ้านของตระกูลแบงค์สเป็นบ้านแบบ Georgian เมื่อถ่ายในสตูดิโอ เขาจึงต้องออกแบบและสร้างขึ้นมาใหม่ โดยคงรูปแบบเดิมเอาไว้และใช้เวลาในการก่อสร้าง 18 สัปดาห์ Gordon Sim บอกว่าโมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิตเขาก็คือตอนที่ Rob (ผู้กำกับ) พา Dick Van Dyke (ที่เคยรับบทเป็น Bert ในภาคแรก) เข้ามาในบ้านหลังนี้ เขายิ้มแล้วก็บอกว่านี่ไม่ใช่ถนนต้นเชอร์รี่ของพวกเรานะ แต่นี่มันคือถนนต้นเชอร์รี่จริงๆ
จากทั้งหมด 50 ฉาก พวกเขาสร้างใน Shepperton Studios ไปทั้งหมด 8 ฉาก หนึ่งในนั้นก็คือการออกแบบและสร้างบ้านของท๊อปซี่ ญาติของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ที่ Upside-down ภายในมีข้าวของเครื่องใช้เต็มไปหมด และมันต้องห้อยหัวด้วย Gordon Sim บอกว่าพวกเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนเลย ทีมพร๊อพมีเวลา 6 เดือนในการทำมันให้เสร็จ John Myhre บอกว่าไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพเขียน ไปจนถึงแกรนด์เปียโน พวกเขาต้องทำให้พวกมันห้อยหัวลงมา พวกเขาคุยกันเยอะมากจนทำให้เป็นบ้ากันเลย การทำให้ด้านบนเป็นด้านล่าง พื้นเป็นเพดานเนี่ย
โปรดิวเซอร์ Marc Platt บอกว่าฉากแอนิเมชั่นต่างๆ คือวาดด้วมมือทั้งนั้น แม้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยมากมาย อย่างฉากในเพลง Can You Imagine That? พวกเขาก็เอามา re-introduces ใหม่
© 2017 Disney Enterprises
รับรองได้เลยว่าใครที่ไปดู Mary Poppins Returns จะต้องประทับใจอย่างแน่นอน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in