เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
In my opinionViscariaP
A Monster Calls ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน
  • ว่าด้วย A monster calls

    ความจริงมันไม่นับเป็นรีวิวเท่าไร แต่เป็นการบันทึกความคิดเห็นและมุมมองของเราที่มีต่อหนังและหนังสือเรื่องนี้มากกว่าค่ะ
    ดังนั้นถ้าใครอยากอ่านข้อมูลและเรื่องย่อของหนังและหนังสือแนะนำให้ไปเสิร์จหาจากที่อื่น เพราะเห็นมีคนรวบรวมข้อมูลไว้ครบถ้วนแล้ว

    หมายเหต มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
    อยากให้คนที่ได้อ่านหนังสือหรือดูหนังมาแล้วค่อยเลื่อนลงไปอ่านแล้วมาแสดงความคิดเห็นกันค่ะ


    เรื่องย่อ
           คอเนอร์ โอ มัลเลย์ เด็กชายที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง วันหนึ่งตอน 12.07 ก็ได้มีปีศาจปรากฏตัวขึ้น โดยปีศาจจะมาเล่านิทานให้ฟัง 3 เรื่อง และเมื่อเรื่องราวเรื่องที่สามจบลง คอเนอร์ต้องเล่านิทานเรื่องที่สี่ที่เป็นการตอบแทน

    ตอนแรกเราเห็นหนังสือเรื่องนี้ครั้งแรกในเว็บรีดเดอรี่ด้วยชื่อผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน
    สะดุดตากับชื่อเรื่องและภาพประกอบที่สวยมาก
    แต่เพราะเราตั้งเป้าว่าจะพยายามไม่อ่านหนังสือแปลก็เลยไปตามหาฉบับภาษาอังกฤษที่คิโนะ แล้วก็เริ่มอ่านโดยไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลยนอกจากปกหลัง
    ตอนแรกคิดว่าเป็นแนวแฟนตาซีจ๋าซะด้วยซ้ำ
    พออ่านหนังสือจบก็ร้องไห้ ;v; ชอบมาก เข้าไปดูหนังต่อก็ร้องไห้อีก ;;v;;


    เราว่าตัวหนังสามารถถ่ายทอดได้ดีพอๆกับหนังสือเลย แถมหนังยังดันอารมณ์ให้ไปถึงจุดพีคได้เร็วกว่าด้วย แต่ตอนอ่านหนังสือมันหน่วงๆอึดอัดเหมือนอยากจะร้องไห้แต่ยังร้องไห้ไม่ออกจนกระทั่งถึงจุดพีค

    *ถัดจากนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ *


    เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสูญเสีย
    เราว่านิยามในตอนแรกสุดที่ปีศาจพูดถึงคอเนอร์ในหนังเป็นคำจำกัดความที่ดีมาก
    "(With) a boy, too old to be a kid, too young to be a man."

    คอเนอร์ยังเป็นเด็กอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เขาเผชิญทำให้เขาต้องแบกรับภาระที่หนักหน่วงพอๆกับผู้ใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงมีทัศนคติต่อโลกใบนี้แบบเด็กๆ
    เขายังคงเชื่อว่าโลกใบนี้เหมือนนิทานที่ต้องมีพระเอกและผู้ร้าย เป็นสีขาวและสีดำ
    ปีศาจจึงใช้เรื่องราวเรื่องที่หนึ่งชี้ให้เห็นว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่สีขาวดำ แต่ทุกอย่างเป็นสีเทา คนที่ดีสามารถทำเรื่องที่ผิดได้เช่นเดียวกับคนที่นิสัยไม่ดี บางครั้งก็อาจจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดเสมอไป

    เรื่องราวเรื่องที่สองเป็นเรื่องของความเชื่อ โดยส่วนตัวเรายังไม่ขอพูดถึงเพราะรู้สึกว่าเรายังขบประเด็นนี้ได้ไม่แตกหมด 555

    เรื่องราวเรื่องที่สาม เรื่องของมนุษย์ล่องหน เราว่าตัวหนังและหนังสือมันค่อนข้างสื่อได้ชัดเจนอยู่แล้ว
    การที่ทุกคนรู้ว่าแม่ของคอเนอร์ป่วย สำหรับเด็กบางกลุ่มนั่นทำให้เขากลายเป็นเป้าของความกลั่นแกล้ง เป็นที่แปลกประหลาด
    สำหรับอาจารย์ ทำให้อาจารย์ทั้งหลายปฏิบัติกับเขาด้วยความสงสารเห็นใจเป็นพิเศษ แต่การที่ถูกปฏิบัติแตกต่างกับนักเรียนคนอื่น ยิ่งเป็นเหมือนการตอกย้ำสถานการณ์ที่ผิดปกติของคอเนอร์ อย่างเช่น การที่คอเนอร์เอาเพลงขึ้นมาฟังในห้อง แต่อาจารย์ก็ไม่ตักเตือน ทำผิดอาจารย์ก็ไม่ลงโทษ ในมุมมองผู้ใหญ่อาจคิดว่าทั้งหมดนั่นทำด้วยความเห็นใจ แต่สำหรับคอเนอร์ มันทำให้เขารู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน ไม่ได้รับการใส่ใจ

    นอกเรื่องนิด แฮรี่ ตัวละครที่เป็นหัวโจกในการกลั่นแกล้งคอเนอร์ ในหนังอาจเห็นไม่ชัด แต่ในหนังสือเรารู้สึกว่าแฮรี่เป็นคนที่ฉลาดมาก
    เขาคอยสังเกตคอเนอร์มาตลอด เขารับรู้ได้ว่าคอเนอร์กำลังรู้สึกผิดกับอะไรบางอย่าง และใช้การกลั่นแกล้งของเขาเป็นเหมือนการลงโทษเพื่อบรรเทาความรู้สึกผิดของตัวเอง ดังนั้นแฮรี่จึงรู้สึกว่าการที่ตัวเองแกล้งคอเนอร์นั้นเป็นการให้ในสิ่งที่คอเนอร์อยากได้
    เขาจึงเลือกจะทำในสิ่งที่คอเนอร์กลัวที่สุด คือการทำเหมือนคอเนอร์ไม่มีตัวตน

    ประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรื่องคือเรื่องเล่าเรื่องที่สี่
    โอเค มันเป็นเรื่องของการสูญเสีย บลาๆ ใครๆก็รู้ แต่เราอยากชี้ให้เห็นประเด็นนึงที่เราชอบที่สุด

    ทำไมการพูดความจริงถึงเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวที่สุด
    มันเป็นเรื่องของความรู้สึกผิด

    คอเนอร์รักแม่มากแต่ใจนึงก็อยากให้เรื่องทั้งหมดจบๆลงไปสักที
    มันไม่ใช่ความรู้สึกแบบอยากให้เรื่องมันจบ แม่จะได้ไม่ทรมานต่อ แต่มันเป็นอยากให้เรื่องมันจบเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องทรมานต่อ

    การรอคอยโดยรู้ว่ามันกำลังจะมีเรื่องร้ายๆเกิดขึ้นแน่ๆ แต่เรื่องร้ายๆนั้นยังไม่เกิด ระหว่างที่รอเราก็จะคิดไปเองจินตนาการถึงสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งช่วงเวลาขณะรอนั้นเป็นอะไรที่แย่กว่าตอนเรื่องร้ายเกิดขึ้นจริงๆซะอีก

    ไม่มีใครอยากเจ็บปวด ทุกคนอยากให้เรื่องร้ายๆนั้นเกิดขึ้นให้จบๆไปซะที ถึงในกรณีของคอเนอร์นั่นหมายถึงความตายของแม่
    มันเป็นความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว คอเนอร์รู้ว่ามันเห็นแก่ตัว
    เขาเลยรู้สึกผิด

    มันเป็นความจริงว่าเราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกได้
    หลายๆครั้งในชีวิตเราจะมีความรู้สึกบางอย่างที่แล่นขึ้นมา ความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน และเรารู้สึกได้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่แย่

    เราอาจจะยกตัวอย่างได้ไม่ชัดเจนเท่าไร เช่น
    ถึงคุณจะรักพ่อแม่มากแค่ไหนแต่เมื่อคุณถูกบ่นในเรื่องเดิมซ้ำๆหรือถูกบ่นในเรื่องที่คุณคิดว่ามันไร้สาระ คุณก็อดที่จะรู้สึกรำคาญไม่ได้
    หรือสมมติคุณเป็นหมอที่เข้าเวรติดต่อกันมา48ชั่วโมงกำลังจะออกจากเวรไปพัก แต่ดันมีคนไข้เข้ามากระทันหัน คุณก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิด

    ความรู้สึกมันวิ่งนำไปก่อนเสมอ บางครั้งความรู้สึกผิดก็จะวิ่งตามมา แต่ในความจริงมันก็ไม่ได้ชัดขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความละเอียดอ่อนของแต่ละคนด้วย
    ส่วนใหญ่ในสถานการณ์ปกติไม่ค่อยมีใครสนใจความรู้สึกผิดจิ๊บจ้อยนั่นหรอก
    แต่ถ้าในวันที่เราอ่อนแอลงแล้วย้อนกลับไปมอง ความรู้สึกผิดนี่แหละที่จะย้อนกลับมากัดกินตัวเอง
    ความรู้สึกผิดที่ทับถมสุดท้ายอาจนำไปสู่ self hatred ได้

    แต่จุดที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อคือ สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระทำ
    คุณอาจจะรำคาญเวลาพ่อแม่บ่น แต่คุณสามารถเลือกที่จะรับฟังโดยไม่โต้เถียงด้วยคำหยาบคาย
    คุณอาจจะหงุดหงิดเวลาที่มีคนไข้มาแทรกเวลาพักของคุณ แต่คุณสามารถเลือกที่จะรักษาเขาให้ดีตามมาตรฐาน

    บางครั้งเราแค่ต้องการใครสักคนมาบอกย้ำว่า มันโอเคถ้าคุณจะคิดอะไรที่มันแย่ ที่คุณรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด เพราะสุดท้ายสิ่งที่จะตัดสินว่าคุณเป็นคนอย่างไรคือการกระทำ
    "Because humans are complicated beasts"

    PandyLin
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in