วิชาปรัชญาเป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาได้ในคณะต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ตัวอย่างคณะที่มีสาขาปรัชญาก็เช่น ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าวิชาปรัชญาจะเป็นวิชาที่เก่าแก่และโบราณในการศึกษาของโลกตะวันตกแต่การเรียนปรัชญาในไทยกลับเพิ่งมีมาเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา หลายคนจึงอาจจะยังไม่รู้ว่าปรัชญาเรียนอะไร หรือเรียนไปเพื่ออะไร บทความนี้จึงจะพาไปหาคำตอบของคำถามเหล่านี้
ประวัติปรัชญา
ปรัชญา หรือ Philosophy เป็นวิชาที่มีรูปแบบการศึกษาและการทำงานที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากนักคิดในสมัยกรีกโบราณ อย่าง โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติล โดยในภาษากรีก คำว่า Philo แปลว่า ความรัก ในขณะที่ Sophia แปลว่า ความรู้ Philosophy จึงมีความหมายว่ารักในความรู้นั่นเอง ทำให้ปรัชญาเป็นหนึ่งในการศึกษาที่มุ่งเน้นหาความรู้ทางวิชาการเป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ซึ่งในช่วงยุคแรกๆ นักคิดทุกประเภทจะจัดเป็นนักปรัชญาทั้งหมด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังหลงเหลือการมอบตำแหน่ง PH.D. (Doctor of Philosophy) ให้กับผู้ที่เรียนจบปริญญาเอกอยู่ ซึ่งในภายหลังเมื่อวิชาของนักคิดเหล่านั้นเริ่มพัฒนาตนเองจนมีความต่างจากปรัชญา วิชาก็จะแยกออกมาและกลายไปเป็นวิชาใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ก็พัฒนามาจากปรัชญาธรรมชาติที่เน้นการศึกษาโลกธรรมชาติ เป็นตัวอย่าง
คณะปรัชญาเรียนอะไรบ้าง?
ปรัชญาเป็นวิชาที่ศึกษาหลายเรื่องและสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลายอย่าง แต่โดยรวมๆ การศึกษาทางปรัชญาจะสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ ปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์
ปรัชญาบริสุทธิ์
ปรัชญาบริสุทธิ์จะเป็นวิชาที่เฉพาะในตัวของปรัชญาเอง เหมือนกับที่วิทยาศาสตร์สามารถแบ่งออกได้เป็น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ปรัชญาบริสุทธิ์ก็จะแบ่งออกเป็น 4 อย่าง ได้แก่
- อภิปรัชญา (Metaphysics) คำแปลโดยตรงจะแปลได้ว่า Meta = เบื้องหลัง และ Physics = โลกกายภาพ จึงเป็นการศึกษาทำความเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังโลกกายภาพที่มองเห็นได้นั้นทำงานอย่างไร มีอยู่ในลักษณะไหน และหากมีอยู่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ อย่างไร ตัวอย่างของคำถามในวิชานี้ก็คือ ‘โลกนี้มีเพียงสสารที่ครองที่ ครองเวลาอย่าง หิน น้ำ คน เพียงอย่างเดียว หรือว่ามีสิ่งที่ไม่ใช่สสารที่ครองที่ ครองเวลา อย่าง จิต วิญญาณ หรือตัวเลข อยู่ด้วย?’
- ญาณวิทยา (Epistemology) เป็นวิชาศึกษาว่าการเข้าถึงความจริงเป็นไปได้หรือไม่ เงื่อนไขของความรู้มีอะไรบ้าง ต้องพิสูจน์แค่ไหนจึงบอกได้ว่ารู้หรือไม่รู้ ตัวอย่างคำถามในวิชานี้ก็เช่น ‘หากคนหนึ่งพูดว่าหวยงวดหน้าจะออก 123 แล้วหวยงวดหน้าออก 123 จริง จะถือว่าเขารู้ว่าหวยจะออกอะไรหรือไม่ หรือเขาต้องอธิบายให้ฟังได้ด้วยว่าเขารู้เลขหวยเหล่านี้ได้อย่างไรได้ด้วย?’
- คุณวิทยา Axiology เป็นวิชาที่หันมาสนใจในเรื่องของคุณค่าที่แบ่งหลักๆ ได้สองประเภท คือ หนึ่งจริยศาสตร์ (Ethic) ที่จะศึกษาคุณค่าความดีความชั่วและทำความเข้าใจกฎศีลธรรมต่างๆ กับ สองสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) ที่จะศึกษาคุณค่าความงามและเข้าใจหน้าที่ของความงามในชีวิตมนุษย์
- ตรรกศาสตร์ (Logic) เป็นวิชาที่เรียนสูตรทางความคิดในการหาความจริงจากข้อความต่างๆ ซึ่งจะมีเนื้อหาบางส่วนคาบเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ อย่าง แผนภูมิเวนน์ และมีความคล้ายกับวิชาตรรกะการเขียนโปรแกรมของคอมพิวเตอร์อีกด้วย
วิชาปรัชญาบริสุทธิ์เป็นวิชาขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าจะเรียนปรัชญาที่ไหน ก็จะต้องได้เรียนเนื้อหาเหล่านี้แน่นอน ไม่มากก็น้อย
ปรัชญาประยุกต์
ปรัชญาประยุกต์เป็นวิชาที่จะนำเอาวิธีคิดและประเด็นที่ปรัชญาสนใจมาใช้ตั้งคำถามในวิชาการอื่นๆ ซึ่งวิชาปรัชญาประยุกต์ก็จะมีหลากหลายมาก ตัวอย่างเช่น
- ปรัชญาการเมือง ซึ่งจะสนใจและตั้งคำถามว่ารัฐคืออะไร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับประชาชน และจากความเข้าใจเหล่านั้นรัฐจะมีหน้าที่อะไร
- ปรัชญากฎหมาย เป็นวิชาที่สนใจว่าความยุติธรรมคืออะไร มีอยู่ในธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วกฎหมายเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมมากแค่ไหน หรือกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องมีความยุติธรรมเลย
- ปรัชญาวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่สนใจในวิธีการหาความรู้ของวิทยาศาสตร์ และพยายามตอบคำถามว่าวิธีทางวิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ ในการตามหาความจริงต่างๆ ของโลก
- ปรัชญาศาสนา ตั้งคำถามว่าที่มาของศาสนานั้นมาจากไหน อะไรคือสิ่งที่ทำให้ศาสนาแตกต่างจาก ลัทธิ กลุ่มสังคม หรือกลุ่มทางความคิดอื่นๆ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับศาสนา
- ปรัชญาจิต เป็นวิชาที่ภายหลังพัฒนากลายเป็นจิตวิทยาที่มุ่งหาคำตอบว่าจิตคืออะไร จิตอยู่ในสมองหรือไม่ หรือว่าจิตเป็นสิ่งที่แยกขาดจากร่างกาย รวมไปถึงตั้งคำถามว่าจิตกับกายเชื่อมโยงกันได้อย่างไร
- ปรัชญาการศึกษา เป็นวิชาที่ตั้งคำถามว่าระบบการศึกษามีอยู่เพื่ออะไร สิ่งใดคือความรู้หรือคุณค่าหลักที่สมควรสอน และวิธีการสอนใดที่จะตอบโจทย์กับค่านิยมเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าปรัชญาประยุกต์มีเนื้อหาที่หลากหลายไปในวิชาอื่นๆ ซึ่งปรัชญาประยุกต์จะมีบทบาทสำคัญมากในการศึกษาวิชานั้นๆ ในระดับที่สูงขึ้น เพราะปรัชญาประยุกต์จะทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ใหม่ๆ และทำหน้าที่ในการตรวจสอบวิธีการทำงานของศาสตร์ต่างๆ ว่ายังสามารถทำหน้าที่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่
ตัวอย่างเช่น ทุนนิยมตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มความมั่งคั่งรวม (Commonwealth) แต่ปรัชญาเศรษฐศาสตร์กลับเห็นว่าในระบบทุนนิยมกลับทำให้ความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นเพิ่มขึ้น สื่อได้ว่าความมั่งคั่งอาจจะไปอยู่ในกระเป๋าของแค่คนไม่กี่คนแทนที่ความมั่งคั่งรวมของสังคมแทน ทำให้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือที่ทำตามเป้าหมายของตัวเองไม่ไดดั่งตั้งไว้
วิธีแบ่งปรัชญาแบบอื่นๆ
นอกเหนือจากการแบ่งปรัชญาเป็นปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์แล้ว ปรัชญายังสามารถถูกแบ่งได้อีกหลายแบบ เช่น
- แบ่งตามแหล่งที่มาหรือแนวทางปฏิบัติของเนื้อหาปรัชญาดังกล่าว เช่น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน ปรัชญาเยอรมัน ปรัชญาพุทธ เป็นต้น
- แบ่งตามวิธีการเขียนบทความทางปรัชญาที่จะมีสไตล์การตั้งและตอบคำถามแตกต่างกันไป เช่น ปรัชญาวิเคราะห์ (Analytics Philosophy) ปรัชญา Continental และปรัชญาตะวันออก เป็นตัวอย่าง
- แบ่งตามยุคสมัย ซึ่งการแบ่งตามยุคสมัยจะยึดจากแนวคิดที่พัฒนาในยุโรปเป็นหลักที่จะเริ่มจาก ปรัชญากรีกโบราณ ปรัชญายุคกลาง ปรัชญา Modern และปรัชญา Contemporary
ลักษณะของการเรียนปรัชญาเป็นอย่างไร? มีการเรียนแบบไหน?
ลักษณะของการเรียนและการศึกษาปรัชญาจะมีอยู่ด้วยกันสามข้อ ได้แก่
- ปรัชญามีลักษณะวิพากษ์ โดยพื้นฐานปรัชญาจะเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มีปัญญาในการไตร่ตรองความเชื่อและความคิดของตนเอง ดังนั้นปรัชญาจึงมีวิธีนำศักยภาพในความคิดของมนุษย์แต่ละคนให้ออกมาผ่านการวิพากษ์ พูดคุย ถกเถียงในประเด็นต่างๆ เพื่อตามหาความรู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ปรัชญาจึงมีลักษณะของการตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ตามด้วยยกข้ออ้างมาสนับสนุนหรือหักล้างคำตอบต่างๆ ต่อคำถามนั้นๆ จนกว่าจะเจอคำตอบที่มีน้ำหนักมากพอให้เชื่อ
- ปัญหาปรัชญาเป็นปัญหาพื้นฐาน ที่หากได้รับคำตอบแล้วจะส่งผลกระทบต่อคำถามที่อยู่เหนือฐานนั้นขึ้นไปอีก เช่นคำถามว่าระหว่างงานกับเพื่อนควรเลือกอะไร ก็จะตั้งอยู่บนคำถามพื้นฐานว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งปรัชญาจะมุ่งเน้นไปยังการตอบปัญหาขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งหากตอบได้ ก็จะช่วยให้การหาคำตอบของปัญหาที่อยู่เหนือฐานถัดๆ ไป ทำได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย
- ปรัชญาแสวงหาโลกทัศน์ ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถวัดได้อย่างเด็ดขาดว่าความคิดใดถูก ความคิดใดผิด ปรัชญาจึงฟังทุกฝั่งของข้อถกเถียงและใช้ตรรกะกำกับการสนทนาระหว่างความคิดที่แตกต่างกันเหล่านี้เพื่อที่จะได้จัดระบบความคิดของเราให้ต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน ทำให้เกิดโลกทัศน์ที่แข็งแรงและชัดเจน สามารถนำทางชีวิตของคนได้อย่างที่มีความรู้สึกขัดแย้งจนทำอะไรไม่ถูกได้น้อยลง
เรียนปรัชญา vs. เรียนศาสนา แตกต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างระหว่างการเรียนปรัชญาและการเรียนศาสนาอาจจะเห็นได้ยาก โดยเฉพาะในบางวิชาที่มีเนื้อหาปรัชญามาจากศาสนา อย่าง ปรัชญาพุทธ ปรัชญาคริสต์ ปรัชญาอิสลาม สิ่งที่ทำให้การเรียนปรัชญาแตกต่างกับการเรียนศาสนาก็คือเป้าหมายในการเรียน
เป้าหมายในการเรียนศาสนานั้นก็เพื่อให้ได้เข้าใจความรู้เหล่านั้น แล้วจะได้วิธีที่จะนำไปปฏิบัติตามหรือประยุกต์ใช้ต่อไป ในขณะที่การเรียนปรัชญานั้นจะมีเป้าหมายในการเรียนเพื่อให้ได้รู้ เข้าใจ และเลือกได้ว่าจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ การศึกษาทางปรัชญาจึงมีความเป็นกลางทางความคิดมากกว่าและเป็นพื้นที่ที่ดีต่อการพูดคุยกันข้ามศาสนา รวมไปถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดเลยมาร่วมสนทนากันได้ โดยใช้การวิพากษ์ทางปรัชญาเป็นเครื่องมือ
เรียนปรัชญาไปเพื่ออะไร? เรียนแล้วทำอะไรได้?
ปรัชญาเป็นการศึกษาที่เป็นวิชาการเช่นเดียวกับการศึกษาในคณะหรือสาขาอย่าง วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ที่จะได้ประโยชน์อย่างมากหากจบไปทำงานเป็นอาจารย์ หรือนักวิจัย แต่ก็ไม่มีอาชีพรองรับมากเท่าคณะหรือสาขาที่เป็นวิชาชีพอย่าง แพทย์ บัญชี วิศวะ ทำให้อาจจะถามได้ว่าสำหรับคนที่ไม่ได้อยากเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยนั้น หรืออยากได้อะไรมากกว่าแค่ความรู้ จะเรียนปรัชญาไปเพื่ออะไร แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
ประโยชน์ที่จะเกิดจากการเรียนปรัชญาก็จะมีดังนี้
- ปรัชญาช่วยให้มีทักษะในการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ซึ่งทักษะเหล่านี้จะมีประโยชน์ทั้งในคนที่สนใจจะทำงานด้านการวางแผน ออกแบบต่างๆ รวมไปถึงช่วยในการสื่อสารข้อมูลให้มีความชัดเจนมากขึ้น
- ปรัชญาช่วยให้เห็นและเข้าใจในความหลากหลายทางความคิด ทำให้ผู้ที่เรียนสามารถอยู่ในสังคมที่หลากหลายได้อย่างเปิดกว้างและมีปัญหาขัดแย้งน้อยลงได้
- ปรัชญาช่วยหาคำตอบให้กับชีวิตของผู้เรียน อย่างคำตอบว่าความสุขของเราคืออะไร สิ่งใดที่สำคัญต่อเรา ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะช่วยสร้างแผนที่มั่นคงให้กับการใช้ชีวิตของผู้ที่เรียนปรัชญาได้
- ปรัชญาช่วยให้ผู้เรียนปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น เพราะการเรียนปรัชญาเป็นเรื่องปกติมากที่ผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงความคิดเก่าที่เคยมีเมื่อไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและค้นพบว่ามันบกพร่อง คนที่เคยผ่านปรัชญาจึงสามารถมองเห็นความบกพร่องในความคิดตนเองได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
สรุป
ปรัชญาเป็นหนึ่งในวิชาที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในโลกวิชาหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์และการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โลกโบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยธรรมชาติของวิชาปรัชญาที่เน้นเรียนและศึกษาเพื่อหาความรู้ในทุกๆ ด้าน และไตร่ตรองความรู้ของตัวเองว่าถูกต้องจริงหรือเปล่า จึงทำให้ปรัชญามีอะไรจะมอบให้ผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย สามารถนำไปต่อยอดหรือผสมผสานกับวิชาและอาชีพอื่นๆ ได้อีกมากมาย ทำให้เป็นหนึ่งในวิชาที่น่าสนใจที่จะเรียนสำหรับใครที่ชอบการคิด การตั้งคำถาม และการไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ในชีวิตตน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in