เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SIAM DISCOVERY สยาม มนุษย์ สถิตSALMONBOOKS
02: มนุษย์ดูหนัง



  • หนึ่งในกิจกรรมหลักของชาวสยาม (หมายถึงชาวไทยที่ไปเดินสยาม) คงหนีไม่พ้นการดูหนัง อาจเพราะสยามเป็นสถานที่ที่ถูกล้อมรอบด้วยโรงหนังหลากหลายเครือ หรือบางทีก็เครือเดียวกันนั่นแหละแต่ห่างกันนิดเดียว บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามนุษยชาติกระเหี้ยนกระหือรือในการชมภาพยนตร์ขนาดนั้นเชียวหรือ แต่นั่นแหละเวลาที่เราเดินๆ สยามอยู่แล้วคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร สุดท้ายมันมักจบลงที่การเดินเข้าโรงหนัง

    การดูหนังนี่ จริงๆ ดูที่โรงไหนย่านใดก็ได้ทั้งนั้น แต่ความพิเศษของโรงหนังแถวสยามคือ มีหนังหลากหลายแนวทางหรือหนังที่หาดูไม่ได้จากที่อื่นให้เลือกชม หนังที่ฉายในย่านนี้ (น่าจะ) แบ่งได้สองประเภทคือ ‘หนังแมส’ และ ‘หนังอินดี้’

    ขอพูดถึงหนังแมสก่อนแล้วกัน

    หนังแมสก็หมายถึงหนังกระแสหลักทั่วไป หนังฮอลลีวูด หนังไทย หนังซูเปอร์ฮีโร่ หนังโรแมนติกคอเมดี้ หนังที่ดูแล้วสบายใจ ดูแล้วไม่ต้องคิดอะไรมากนัก เช่น หนังพ่อแง่แม่งอน กัดกันแทบตายสุดท้ายก็ได้กัน หรือหนังกลุ่มวัยรุ่นวิ่งหนีผีไปทั้งเรื่อง โดยเราจะไม่ได้พบเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเปรูจากหนังแนวนี้แน่นอน

    สมัยนี้ถ้าพูดถึงโรงหนังย่านสยามที่ฉายหนังแมสทั่วไป ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงคงเป็นพารากอนซีนีเพล็กซ์ในสยามพารากอน หรือไม่ก็เอสเอฟเวิลด์ในเซ็นทรัลเวิลด์ แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยผมอยู่มัธยม (ประมาณช่วงปลายยุค 90s จนถึงต้น 00s) ยังไม่มีทั้งสองห้างฯ นี้ โรงหนังแมสที่ถือเป็นสถานที่สุดคูลที่เด็กนักเรียนต้องถ่อมาดู (แม้ว่าโรงเรียนมันจะไม่ได้ใกล้สยามเลยก็ตาม) ได้แก่ เอสเอฟฯ มาบุญครอง และแกรนด์อีจีวี สยามดิสฯ

    ในยุคนั้น มาบุญครองถือเป็นห้างฯ ประจำชาติของเด็กมัธยมอย่างผม อาจด้วยบุคลิกของห้างฯ ที่ดูบ้านๆ ค่อนข้างเป็นมิตร ร้านเกม ร้านการ์ตูนเยอะ ดูรกๆ งงๆ เหมือนห้องนอนของเราดี (นี่มึงชมหรือด่าเขา) ในขณะที่สยามดิสฯ มีแต่ร้านแบรนด์เนม ดูสะอาดแสบตา เนี้ยบๆ เงาๆ เดินแล้วแอบเกร็ง

    อย่างไรก็ดี พวกเด็กโรงเรียนดังๆ ไฮโซๆ ก็เลือกไปเดินที่สยามดิสคัฟเวอรี่มากกว่า ประมาณว่าฉันไม่อยากไปปะปนกับพวกสามัญชนแถวมาบุญครองอย่างพวกหล่อนหรอกย่ะ 

    เช่นเดียวกับตัวโรงหนัง ในยุคนั้นเราจะมีความรู้สึก (คิดไปเอง) ว่าโรงหนังเอสเอฟฯ มาบุญครองดูเหมาะกับการไปเฮฮาปาจิงโกะกับเพื่อนๆ ส่วนโรงหนังแกรนด์อีจีวีที่สยามดิสฯ มันหรูเกินไปสำหรับเราตอนนั้น โดยเหตุผลสำคัญก็คือ ราคาค่าตั๋วแกรนด์อีจีวี ตั๋วใบละ 120-140 บาท ส่วนตั๋วเอสเอฟฯ ใบละ 100 บาท ซึ่งสมัยอยู่มัธยม ส่วนต่าง 20-40 บาทก็ถือว่าเยอะมากแล้ว (อ้อ แถมตอนนั้นดูหนังที่เอสเอฟฯ ได้แม็กเน็ตรูปโปสเตอร์หนังมาติดตู้เย็นด้วย แต่ปัจจุบัน เลิกแจกไปแล้ว)

    ดังนั้นภาพที่พบเห็นได้เป็นประจำคือ เหล่าเด็กมัธยมพากันไปถล่มโรงหนังที่มาบุญครอง ห้าคนบ้าง สิบคนบ้าง หรือพีคๆ คือนัดกันมาทั้งห้อง ล่อไปสามสิบคน อารมณ์สนุกสนาน เพื่อนเยอะอบอุ่น แต่บรรดาคนอื่นในโรงจะทำหน้าเครียดตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย คิดในใจว่าซวยแล้วกู เพราะอีแก๊งเด็กเวรพวกนี้ก็ชอบส่งเสียงดัง หัวเราะง่ายผิดปกติ บางทีหัวเราะที่เพื่อนหัวเราะจนกลายเป็นหัวเราะแบบอุปาทานหมู่กันไป หรือเลวร้ายขั้นสุดอย่างการตะโกนแซวเพื่อนข้ามแถวก็มี
  • ความซวยของคนดูทั่วไปอาจเพิ่มดีกรีขึ้นไปอีก หากเป็นกรณีนักเรียนกลุ่มใหญ่สองโรงเรียนมาเจอกัน ตอนประจันหน้ากันหน้าโรงก็เขม่นกันไปทีนึงแล้ว แต่พอเข้าโรงแล้วจะลุกขึ้นมาต่อยตีกันมันก็ดูฮาร์ดคอร์เกินไป เด็กพวกนี้เลยสู้กันด้วยสงครามจิตวิทยาแทน เช่น แข่งกันหัวเราะดังๆ ใครดังกว่าชนะ หรือแข่งหัวเราะล่วงหน้า ประมาณว่าตัวละครยังพูดมุกไม่จบ แต่กูอ่านซับไตเติลเสร็จก่อนใคร พวกกูชิงฮาก่อนเลย เป็นไงล่ะ กูไวกว่ามึง (ส่วนคนดูคนอื่นๆ นี่ฮาแน่นอน)

    ครั้งหนึ่ง ผมก็เคยเป็นมนุษย์ประเภทที่แห่ไปดูหนังกับกลุ่มเพื่อนเหมือนกัน (เด็กชายคันฉัตรก็มีชีวิตวัยเด็กที่ปกติกับเขาอยู่บ้าง) แต่พบว่าปัญหาคือ เราต้องดูหนังตามมติของเสียงส่วนใหญ่ เช่น ตอนนั้น The Lord of the Rings มาแรงมาก เพื่อนๆ พูดถึง โฟรโด้ เลโกลัส แกนดัลฟ์ ภาษาเอลฟ์ห่าเหวอะไรของมันไม่รู้ แถมพากันไปดูตั้งแต่วันแรกที่หนังเข้าโรง ผมก็ตามไปกับเขาด้วย ผลคือ...กูหลับทั้งเรื่อง 

    หรือครั้งหนึ่งที่ยกพวกกันไปมาบุญครอง ผมอยากดู Erin Brockovich เพราะจูเลีย โรเบิร์ตส์ ได้รางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้ แต่พวกเพื่อนก็ทำหน้ายี้ว่าทำไมกูต้องดูอีป้านี่ด้วย ดูเรื่อง Gladiator ดีกว่า ผมก็ยี้บ้างว่า โอ๊ย จะดูทำไมหนังผู้ชายกล้ามๆ สู้กัน แค่คิดก็เหม็นเหงื่อแล้ว เถียงกันอยู่นานสรุปไปลงเอยที่ทางเลือกที่สาม นั่นคือ Komodo โคตรเหี้ยมดึกดำบรรพ์ล้างโลก หนังเกี่ยวกับตะกวดยักษ์แดกมนุษย์ (อืม...)

    ช่วงนั้นเองที่ผมเริ่มตระหนักได้ว่าผมไม่เหมาะกับการดูหนังเป็นหมู่คณะ ไอ้ครั้นจะดูคนเดียวที่มาบุญครองก็ไม่ได้อีก เพราะเวลาไปเจอกันที่โรงหนัง ถ้าเพื่อนเห็นผมเดินคนเดียว เพื่อนก็จะถามว่า “มาดูคนเดียวเหรอ” ด้วยน้ำเสียงเหมือนเราไปฆ่าใครตายมา ซึ่งมึงก็เห็นกูยืนอยู่คนเดียวใช่มั้ยล่ะ หรือกูมีวิญญาณตามมาด้วย แล้วพอตอบไปว่า “อื้อ มาคนเดียว” เพื่อนจะถามด้วยสีหน้าตกใจว่า “อ้าว ทำไมมาคนเดียวล่ะ!” เอ้า แล้วกูมาคนเดียวไม่ได้เหรอไงวะ บางทีก็อยากจะตอบไปเลยว่า “ก็เพราะกูรำคาญพวกมึงไง!” แต่ก็กลัวจะหักหาญน้ำใจกันเกินไป

    ด้วยเหตุนี้เอง ผมเลยตัดสินใจหนีจากมาบุญครองไปดูที่แกรนด์อีจีวี ซึ่งมีบรรยากาศเงียบสงบกว่า อาจจะด้วยลุคของห้างฯ ที่ดูหรู ราคาตั๋วที่ค่อนข้างสูงทำให้ไม่ค่อยมีเด็กมัธยมเท่าไหร่ (หรือถ้ามีก็พวกโรงเรียนคุณหนู) ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กมหา’ลัย ไม่ก็วัยทำงาน ผมจำได้ว่ายุคนั้น แกรนด์อีจีวีแทบจะเป็นโรงแรกๆ ในกรุงเทพฯที่ราคาตั๋วหนังพุ่งไปถึง 120-140 บาท ซึ่งตัวผมเองก็ยอมจ่ายเพื่อจะได้หลบลี้หนีหน้าจากเพื่อนๆ และไม่ต้องคอยตอบคำถามว่าทำไมถึงมาดูหนังคนเดียว

    โรงหนังแกรนด์อีจีวียังมีนวัตกรรมช็อคโลกอย่างเก้าอี้คู่ฮันนีมูนซีตราคา 600 บาท (เฉลี่ยแล้วก็คนละ 300 บาท) ซึ่งตอนนั้นเป็นอะไรที่ฮือฮามาก ชนิดที่ว่าทางโรงหนังเอาเก้าอี้ตัวอย่างมาตั้งโชว์หน้าโรง เผื่อคนผ่านไปผ่านมา จะเกิดความรู้สึกอยากลองนั่งสักครั้งหนึ่งในชีวิต

    เด็กมัธยมก็ได้แต่มองด้วยสายตาปลงๆ ว่าชาตินี้เราไม่มีทางได้นั่งหรอก ส่วนตัวผม เห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่านี่มันเก้าอี้นวดไฟฟ้าชัดๆ และงงว่าทำไมคนเราจะต้องจ่ายแพงขนาดนั้นเพื่อเก้าอี้นั่งดูหนังด้วยฟะ (แต่ใครจะไปนึกว่า วันหนึ่งเราจะมีเก้าอี้โรงหนังที่ราคาทะลุไปถึงพันกว่าบาทอย่างทุกวันนี้)
  • ถ้าว่ากันเรื่องความแมสกับโรงหนังแถวสยามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คืองานเปิดตัวหนัง หรืออีเวนต์รอบสื่อมวลชนต่างๆ ที่มักจะจัดที่สยามพารากอนไม่ก็เซ็นทรัลเวิลด์ แต่ก่อนผมก็ชอบไปร่วมงานพวกนี้บ่อยๆ ด้วยความรู้สึก (ที่คิดไปเองว่า) โก้เก๋ อุ๊ย ฉันได้ดูหนังก่อนชาวบ้านนะ ได้เจอดาราด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มรำคาญงานพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกว่าจะได้ดูหนังนี่รอเป็นชั่วโมง ต้องผ่านพิธีกรรมมากมาย ทั้งสัมภาษณ์ผู้บริหาร ผู้กำกับ นางเอก พระเอก ตัวประกอบ บลา บลา บลา บางงานมีโชว์เต้นลีลานาฏกรรมบ้าบออะไรไม่รู้ ช่วงหลังเลยเลิกไปงานแบบนี้ กูยอมจ่ายตังค์ดู สบายใจกว่า

    พูดถึงโรงหนังที่ฉายหนังแมสไปแล้ว มาถึงฝั่งหนังอินดี้หรือหนังนอกกระแสบ้าง

    แน่นอนถ้าพูดถึงหนังนอกกระแส ก็ต้องนึกถึงโรงหนังเครือเอเพ็กซ์ (สกาล่า ลิโด้ สยาม—อันหลังปิดไปแล้ว) ที่มักจะฉายหนังญี่ปุ่น หนังอเมริกันอินดี้ทุนต่ำ หนังรางวัลเมืองคานส์ หรือหนังจากประเทศแปลกๆ อย่างอิหร่าน เม็กซิโก โปแลนด์ แต่ในสมัยนั้น แทบไม่มีเด็กมัธยมคนไหนไปดูหนังที่เอเพ็กซ์เลย เพราะเราจะมีภาพในหัวว่าพวกนั้นเป็นโรงหนังเก่าๆ ลึกลับ แถมชอบมีข่าวลือว่าสกปรก มีหนูวิ่งในโรง เราเลยมองโรงหนังพวกนี้เป็นเหมือนบ้านผีสิง ทั้งที่ตัวเองไม่เคยเข้าไปเลยสักครั้ง

    แต่แล้วก็มีเหตุไฟต์บังคับที่ทำให้วันหนึ่งผมต้องไปดูที่โรงหนังลิโด้ ประมาณว่าตอนนั้นอยากดูหนังเรื่อง Moulin Rogue มาก (เป็นหนังเพลงที่เขาร่ำลือกันว่าอลังการสุดขีด) แต่ดันตรงกับช่วงสอบพอดี พอสอบเสร็จ หนังก็ไม่มีรอบฉายที่เอสเอฟฯ และแกรนด์อีจีวีแล้ว เราก็ทำใจว่าน่าจะคงอดดูแน่ๆ แต่บังเอิญผมไปอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ว่ายังมีรอบที่ลิโด้ กว่าจะทำใจไปดูหนังที่ลิโด้ได้นี่ใช้เวลาอยู่สามวัน ก่อนกลับบ้านยังแวะไปด้อมๆ มองๆ ก่อนว่าหน้าตาโรงหนังมันเป็นยังไง ประตูทางเข้าอยู่ตรงไหน ไหนจะต้องกะเวลาเข้าโรงในช่วงที่เพื่อนไม่น่าจะผ่านมาเจอ (เช่น ช่วงห้าโมงกว่าที่เพื่อนเข้าโรงเรียนกวดวิชากันไปแล้ว) ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะเซ้าซี้ถามว่า เฮ้ย ทำไมมาดูหนังที่ลิโด้ นี่ตอนไปซื้อถุงยางทำบอร์ดวิชาสุขศึกษากูยังไม่ตื่นเต้นเท่านี้เลย
  • พอถึงวันจริงก็เจอคัลเจอร์ช็อคหลายอย่าง เช่น บรรยากาศด้านนอกมันดูเรียบๆ ไม่วูบวาบหวือหวา โรงอื่นๆเขาบอกรอบฉายด้วยป้ายไฟหมดแล้ว แต่ที่นี่ยังใช้แผ่นตัวอักษรแบบงานสัมมนาตามต่างจังหวัดอยู่เลย และที่ช็อคจริงจังคือตอนซื้อตั๋ว ช็อคหนึ่งคือ ที่นี่ซื้อตั๋วด้วยการจิ้มที่นั่งจากผังกระดาษ ช็อคสองคือ ราคาตั๋วแค่ 80 บาท เฮ้ย ทำไมถูกจังวะ ส่วนช็อคสามคือ สภาพตั๋วหนังที่เป็นแค่แผ่นกระดาษบางๆ ไม่ใช่กระดาษเคลือบมัน ดูยังไงก็เหมือนตั๋วรับจำนำแถวบ้าน พอพนักงานขายยื่นตั๋วมาให้เรายังแอบระแวงว่าจะใช้ดูหนังได้จริงหรือเปล่า หรือพี่หลอกเอาตั๋วจำนำมาขาย

    อย่างไรก็ดี ผมรอดชีวิตจากการดูหนังที่ลิโด้มาได้ สุดท้ายพบว่า อ้าว จริงๆ โรงหนังเขาก็ดีนี่นา เข้าไปข้างในแล้วก็เหมือนโรงหนังทั่วไปนี่แหละ ที่นั่งอาจแคบหน่อย เบาะอาจไม่ได้นุ่มตูดนัก แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ไม่ได้เจอหนูวิ่งหรือแมลงสาบมาแทะนิ้วโป้ง สำคัญที่สุดคือ เป็นโรงหนังที่พบเห็นคนมาดูหนัง ‘คนเดียว’ เป็นเรื่องปกติมาก มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่แปลกแยกอีกต่อไป นับจากนั้นผมก็ย้ายถิ่นฐานมาดูหนังที่โรงเครือเอเพ็กซ์อย่างเต็มตัว (มนุษย์ตัวคนเดียวจงเจริญ!)

    อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหนังอินดี้ที่สยามคือ การจัดเทศกาลหนัง ที่ขึ้นชื่อสองอันดับแรกก็คือ Bangkok International Film Festival หรือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (ปัจจุบันหายไปอย่างลึกลับด้วยเรื่องอื้อฉาวบางประการ) กับ World Film Festival of Bangkok หรือเวิลด์ฟิล์ม มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เทศกาลพวกนี้กระจายฉายหนังไปตามโรงต่างๆ ทำให้นักดูหนังอินดี้ต้องวิ่งแรลลี่ไปมาตามโรงต่างๆ เช่น เรื่องแรกฉายที่แกรนด์อีวีจี เรื่องที่สองดันไปฉายเอสเอฟเวิลด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เรื่องที่สามต้องย้อนกลับมาพารากอนซีนีเพล็กซ์อีก เรียกได้ว่าชีวิตช่วงนั้นแทบจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในย่านสยามเลยล่ะครับ

    เรื่องน่าแปลกก็คือ พวกที่มาดูหนังในเทศกาลหนังก็มักจะมาคนเดียวอีกนั่นแหละ พอดูไปหลายวันเข้าเริ่มจำหน้ากันได้ เจอกันบ่อยเข้าเลยเริ่มมีการพูดคุยกันบ้าง แต่ถึงจะรู้จักกันแล้ว เวลาดูหนังต่างคนก็ต่างซื้อตั๋ว แยกที่นั่ง เพราะเราต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัว อยากจดจ่อกับหนังอย่างเดียว ออกจากโรงค่อยมาคุยกัน ไปกินข้าวเมาท์มอยกัน ถือเป็นมิตรภาพอันงดงามแบบอินดี้ๆ (คนอ่านอาจจะคิดในใจว่า พร่ำเพ้ออะไรของมึง)

    ปัจจุบัน ผมก็ยังยึดคอนเซ็ปต์ดูหนังคนเดียวอยู่เหมือนเดิม แถมยังพัฒนาสกิลตัวเองจากมนุษย์คนเดียวไปเป็นมนุษย์ฮิคิโคโมริแล้ว เดี๋ยวนี้ผมดูหนังที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งขี้รำคาญ เบื่อพวกแชตในโรงหนัง เบื่อระบบบัตรเงินสดบ้าบอ เบื่ออีพวกที่ใช้เวลาซื้อตั๋วนานเป็นชาติ ทำให้ช่วงหลังมานี้ผมเข้าโรงหนังน้อยลงมาก เสียดายอยู่เหมือนกันที่ไม่ค่อยได้สัมผัสบรรยากาศการดูหนังในโรงแล้ว แต่ก็ยังพยายามเข้าโรงหนังบ้าง เพื่อให้ได้โมเมนต์ของการดูหนังร่วมกับมวลชนคนอื่นๆ

    แต่ถ้าต้องไปเจอเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มนี่ไม่ต้องก็ได้นะ กลัวเวรกรรมที่ทำไว้สมัยก่อนมันจะตามสนอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in