เกริ่นก่อนว่าเราไม่ค่อยได้ตาม Arctic Monkeys หรือเป็นแฟนเพลงตัวยงอะไรขนาดนั้น แต่ก็พอฟังมาบ้างและเข้าใจสไตล์ระดับหนึ่ง
อัลบั้มใหม่นี้แตกต่างจากผลงานเดิมและมีกลิ่นอายของ The Last Shadow Puppets เยอะพอสมควร พาร์ทดนตรีจากเดิมที่อัพบีท พันช์หนัก ๆ มีริฟฟ์กีตาร์และจังหวะกลองโดดเด่น แต่อัลบั้มนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงสโลว์บีทที่แน่นด้วยอารมณ์และเนื้อเพลง เลือกหันมาใช้เปียโนกับคีย์บอร์ดเป็นหลัก จนอาจรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้โชว์เทคนิคกีตาร์และกลองเจ๋ง ๆ เหมือนอย่างเคย แต่ก็ยังมีไลน์เบสดี ๆ เข้ามาสนับสนุนให้เพลงมีสีสันขึ้น เปียโนและคีย์บอร์ดที่ดีไซน์มาใช้ก็เหมาะกับเพลงไม่ได้หวือหวาแต่ช่วยให้โทนของเรื่องราวเป็นไปตามธีมอัลบั้ม
มีรายละเอียดน่าสนใจที่สังเกตมาเป็นการเล่นเนื้อเพลงให้สอดคล้องกับพาร์ทดนตรี เช่น เพลง Four out of Five ที่เปลี่ยนคีย์ช่วงท้ายท่อนบริดจ์ไปครึ่งขั้น (semitone) ซึ่งไปพอดีกับเนื้อเพลงที่ร้องว่า "I can lift you up another semitone." ส่วนอีกเพลงคือ She Looks Like Fun เนื้อเพลงมีคำว่า "Key change" ในคอรัสสุดท้ายและดนตรีก็เปลี่ยนคีย์ในท่อนนั้นด้วยเหมือนกัน
เรนจ์เมโลดี้ไม่ได้กว้างมากและส่วนใหญ่พิทช์ใกล้กัน (conjunct) หรือไล่แบบเป็นขั้น (stepwise) แต่ก็จะมีเมโลดี้สคิปบ้างอย่างตอนท้ายประโยค ด้วยความที่พิทช์มันเกาะกลุ่มกัน บางครั้งก็ฟังดูเหมือนพูดเนื้อเพลงออกมาเลยด้วยซ้ำ เหมือนตั้งใจแต่งมาเพื่อไม่ให้คนร้องตามได้ 555 /แซว ส่วนตัวคิดว่าเพลง Four out of Five มีเมโลดี้และทำนองคล้ายเพลง Do I Wanna Know? และคิดว่าคนน่าจะชอบเพลงนี้กันเยอะเพราะมีกลิ่นเดิมของ Arctic Monkeys เยอะที่สุดแล้ว เท็กซ์เจอร์ของเพลงในอัลบั้มเหมือนกับเพลงส่วนมากในท้องตลาดคือเป็นแบบ homophonic คือมีการเล่นประสานหลายทำนองเพื่อเสริมให้แนวทำนองเดียวโดดเด่นขึ้นมา
ไดนามิกเพลงค่อนไปทางเรียบ ๆ ไม่ได้ขึ้นลงมากหรือพยายามระเบิดอารมณ์ออกมาเซอร์ไพรส์คนฟัง เพลงในอัลบั้มจะฟังดูค่อนข้างผ่อนคลายและสงบตามชื่อ tranquility แต่ก็อาจจะทำให้บางคนรู้สึกเบื่อได้เหมือนกัน
สำหรับโครงสร้างของเพลง บางเพลงไม่มีคอรัสเลย อย่างเพลง One Point Perspective เป็น verse-verse-bridge-verse (AABA) ฟังแล้วเลยรู้สึกว่าเพลงมันไปเรื่อย ๆ แล้วก็จบลงแบบงง ๆ เหมือนอารมณ์ยังค้างอยู่ แต่ตรงนี้อาจมีประโยชน์ในการเชื่อมเพลงกับแทร็กต่อไปคือ American Sports ส่วนเพลงอื่น ๆ ก็มีโครงสร้างทั่วไปเป็น verse-prechorus-chorus หรือ verse-chorus จับมาเรียงสลับกันไปแล้วแต่เพลง อัลบั้มมาจบด้วยเพลง Ultracheese ที่มีแต่ verse ล้วน 3 ท่อน (AAA) ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นอารมณ์แต่เป็นการเล่าเรื่องสรุปตอนท้ายอย่างลงตัว
มาถึงเนื้อหา ขอสรุปคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มนี้ว่าเป็น
"การนำสังคมปัจจุบันมาครอบกรอบด้วยไซไฟและดิสโทเปีย
เพื่อนำเสนอความเป็นจริงผ่านโลกสมมติ"
เราจะเลือกพูดถึงเนื้อหาสำคัญ ๆ ของบางเพลง เริ่มจาก Star Treatment เพลงเปิดที่เกริ่นถึงสิ่งที่จะตามมาด้วยประโยคเปิดเด็ดอย่าง “I just wanted to be one of The Strokes. Now look at the mess youmade me make.” เริ่มแรกมาก็แสดงถึงความผิดหวังและตัดพ้อแล้ว ให้ความรู้สึกว่าเรื่องราวต่อจากนี้คงไม่สดใส เนื้อเพลงยังพูดต่อไปโดยรำลึกถึงความหลัง (ยุค 70, ปี 1984) เปียบเทียบกับปัจจุบัน (2019) ซึ่งทั้งสองช่วงเวลาไม่ใช่เวลาจริง แต่เป็นเวลาเปรียบเทียบ (Arctic Monkeys ไม่ได้อยู่ยุค 70 หรือปี 1984 และปัจจุบันก็เป็นปี 2018) แต่พูดด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องของคนเล่าเอง เขามองย้อนกลับไปว่าอดีตเคยอยากเป็นแบบไหน (หวังว่าจะเป็นแบบ The Strokes) ทำผิดพลาดอะไร (ความรักฉาบฉวย ทำงานหาเงินได้ง่าย ๆ เพื่อแลกพวกของเปลือกนอก) และตอนนี้รู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเราเลย ตัวตนที่ถูกนำเสนอออกไปไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ แต่ตอนนี้จะไปทำอะไรได้ล่ะ ก็มันผ่านมาแล้ว แต่กว่าจะรู้ตัวเอาอีกทีก็ผ่านมาเป็นปีแสง (It took the light forever to get to your eyes.) ท่อนสุดท้ายบอกว่า "And as we gaze skyward, ain't it dark early?" พอลองมองไปบนท้องฟ้าทำไมมันมืดเร็วนักล่ะ ดวงดาวอับแสงรวดเร็ว ตัวตนและชื่อเสียงก็ไม่คงอยู่ตลอดไป นี่แหละคือ Star Treatment หรือการปฏิบัติกับเหล่าคนมีชื่อเสียง เป็นการเซ็ตภาพรวมของอัลบั้มและสิ่งที่จะเล่าในแทร็กต่อไปนั่นก็คือ One Point Perspective
One Point Perspective บอกว่าความฝันตอนเด็กที่เคยมี ความหวังต่าง ๆ ที่เคยคาดหวังต้องมลายลงเพราะความเป็นจริง สุดท้ายเขาก็ต้องยอมจำนนและเล่นไปตามบทบาทสังคม (I fantasize, I call it quits, I swim with the economists. And I get to the bottom of it for good.) แต่พอความจริงเข้าปะทะ อิสระเสรีก็หายไป แทร็กนี้ใช้เวลากับความคิดในหัวคนเล่าและย้อนคิดถึงอดีตเหมือนภาพวาดทัศนียภาพที่ทุกอย่างมุ่งไปยังจุดนำสายตาเพียงจุดเดียว
ขอข้ามมายัง Four Out of Five เพลงนี้เกี่ยวข้องกับชื่ออัลบั้มโดยเฉพาะ เนื่องจาก Tranquility Base เป็นชื่อเฉพาะที่มีอยู่จริง หมายถึงพื้นผิวของดวงจันทร์ที่มนุษย์ไปเหยียบเป็นครั้งแรกในปี 1969 และถ้าพูดตามคอนเซ็ปต์อัลบั้มแล้ว ที่นี่คือสถานที่ตั้งโรงแรมและคาสิโน (Tranquility Base Hotel & Casino) เนื้อหาของแทร็กนี้พูดถึงทุนนิยมบนดวงจันทร์ การโฆษณาเรียกลูกค้าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น มาสิ มาทดลองใช้ฟรี ลองลงเล่นน้ำดูหน่อยมั้ยล่ะ เฮ้! คุณอาจจะได้พบรักกับใครสักคนตอนอุกกาบาตพุ่งชนก็ได้ แค่นี้ง่ายจะตายไป แค่มาปาร์ตี้วันเสาร์ด้วยกัน อ้อ...เรามีร้านขายทาโก้ชื่อ Information Action Ratio บนดาดฟ้าด้วยนะ ได้รีวิว 4 ดาวจาก 5 ดาวแน่ะ!
ภาพรวมของเพลงนี้บอกว่าสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันในระบบทุนนิยมสูง ใช้วิธีการทางตลาดต่าง ๆ ทำให้รีวิวมีอิทธิพลสำคัญนำมาใช้ดึงดูดผู้บริโภคได้ เราคิดไปถึงการรีวิวอัลบั้มและผลงานต่าง ๆ จากสื่อมวลชน ให้เรตติ้งและคะแนนออกมาเป็นตัวเลขเพื่อตัดสินคุณภาพทั้งที่มันจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ มันอาจเป็นรีวิวที่ถูกจ้างมาก็ได้
คำว่า Information Action Ratio อเล็กซ์เอามาจากหนังสือชื่อ “Amusing Ourselves to Death” เป็นคำที่อธิบายว่าสมัยนี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายแต่เราดันไม่รู้วิธีใช้ประโยชน์จากมัน อเล็กซ์บอกว่ามันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอก ไม่อย่างงั้นก็คงไม่เอามาตั้งชื่อร้านขายทาโก้เฉย ๆ ถ้าตั้งใจจะให้มีความหมายจริงคงจะเขียนเนื้อที่อธิบายถึงมันได้ดีกว่านี้ (และเราก็เห็นด้วยตามนั้น)
มาต่อที่ The World's First Ever Monster Truck Front Flip เพลงชื่อประหลาดนี้เน้นย้ำถึงอุตสาหกรรมและทุนนิยม ส่วนที่เป็นโมทีฟของแทร็กนี้คือประโยค “You push the button and we’ll do the rest.” ที่ร้องย้ำไป 5 รอบ อันนี้ตีความได้หลากหลาย อาจพูดถึงความเกียจคร้าน เอาสะดวกเข้าว่า เหมือนการกดปุ่มบนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแล้วมันก็ประมวลผลให้เราเอง หรือเกี่ยวกับสังคมอุตสาหรรมที่จักรกลเข้ามามีบทบาททำงานแทนมนุษย์ แม้กระทั่งเปรียบมนุษย์เป็นฟันเฟืองในระบบ เพียงได้รับคำสั่งมาก็ต้องทำตามไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักร แต่ไม่ว่าจะพูดถึงอะไรก็สื่อความหมายอย่างเดียวกัน
“Forward thinking model villages. More brain shrinking moving images.”
สังคมก้าวไปข้างหน้า โลกเราพัฒนาขึ้นแต่มนุษย์กลับเสื่อมถอยลง ความคิดถูกลดทอน ขาดการวิเคราะห์ไตร่ตรองเพราะถูกอำนาจของเทคโนโลยีคอยควบคุมและหยุดความคิดเอาไว้ อเล็กซ์เปรียบโลกเราเหมือน monster truck front flip นั่นก็คือรถบิ๊กฟุตที่ม้วนตัวไปข้างหน้าและมันบ้าบอสิ้นดี!
World On a Wire, Rainer Werner Fassbinder
Science Fiction เป็นอีกเพลงที่บอกธีมของอัลบั้ม ใน Star Treatment เองก็มีการอ้างถึงหนังเรื่อง Blade Runner ซึ่งเป็นหนังไซไฟปรัชญาของริดลีย์ สก็อตต์ ส่วนแทร็กนี้ อเล็กซ์ได้ไอเดียมาจาก World On a Wire ของ Rainer Werner Fassbinder ไซไฟที่ไม่ได้เน้นแอ็คชั่นและโฟกัสที่ปรัชญาเหมือนกัน ซีรีส์เยอรมันเรื่องนี้เปรียบว่าโลกที่เราอาศัยอยู่อาจเป็นเพียงแค่โลกจำลองในโลกอีกใบหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว (คล้าย ๆ Westworld ถ้าใครเคยดู) แต่ Fassbinder ไปไกลกว่านั้น สุดท้ายปรากฏว่าเราเองที่เป็น AI ก็ถูกควบคุมโดย AI อีกรอบหนึ่ง เหมือนหุ่นเชิดที่ถูกชักใยด้วยหุ่นเชิดอีกที เป็นโลกจำลองที่ถูกควบคุมโดยโลกจำลองและยังมีโลกแห่งความเป็นจริงข้างนอกนั่นคอยโปรแกรมเราอยู่อีกขั้นนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้อเล็กซ์อยากเขียนเพลงถึงโลกไซไฟเพื่อพูดถึงโลกในปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่
เนื้อเพลงกล่าวถึง “The rise of the machines” อีกครั้ง ย้ำถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อาจดูเหมือนว่าเรามีความหวังในตอนแรก แต่พอนานไป เทคโนโลยีเหล่านั้นกลับย้อนมาทำลายเรา จากนั้นพูดต่อไปถึงสังคมที่แปลกตาในหน้าจอ สัตว์ประหลาดที่โหยหาความสัมพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยเงิน โลกนี้เชื่อมต่อด้วยสายระโยงระยาง (ตามชื่อหนัง world on a wire) และทั้งหมดนี้อยู่บนหน้าจอมือถือที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น “ฉันก็อยากจะอยู่กับเธอนะ ที่รัก เหมือนเรื่องไซไฟพวกนั้น”
สุดท้ายแล้ว เขาแค่อยากพูดถึงสันติภาพและความรักในแบบที่เย้ายวนแต่ไม่ชัดเจนจนเกินไป (I want to make a simple point about peace and love. But in a sexy way where it’s not obvious.) เขาก็เลยแต่งเพลงรักนี้ขึ้นมา แต่เกรงว่าทั้งหมดนี้จะฉลาดเกินไปเหมือนหนังไซไฟพวกนั้น ซึ่งเป็นนัยน์ถึงเนื้อเพลงและความหมายของอัลบั้มนี้ (So I tried to write a song to make you blush. But I’ve a feeling that the whole thing may well just end up too clever for its own good. The way some science fiction does.)
ต่อเนื่องด้วยแทร็ก She Looks Like Fun ที่พูดถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ก่อนเราเคยปาร์ตี้กันบนท้องถนน ตามผับ ตามบาร์ แต่เดี๋ยวนี้สถานที่พวกนั้นกลับว่างเปล่าเพราะทุกอย่างไปอยู่ในโลกออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต สถานที่ที่เราจะทำอะไรก็ได้ ด่าว่าคนอื่น ทะเลาะกันโดยไม่เกรงใจ ที่ ๆ ทำอะไรก็ถูกจ้องจับผิด หากล้มแม้แต่นิด คนก็พร้อมจะรุมคุณได้เสมอ เพราะโลกออนไลน์มันง่ายดายนัก ไม่มีตัวตนจริงของเรา เขาสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่ยอมอยู่กันอย่างสันติล่ะ “Key changes - Re-thinking - New order” นอกจากจะเล่นคำกับดนตรีโดยการเปลี่ยนคีย์แล้ว ยังเป็นการสรุปที่บอกว่า ระบบของโลกเรามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดในระเบียบวิธีใหม่นี้ เราต้องปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับมัน
อัลบั้มมาสรุปที่ Ultracheese เพลงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ โหยหาความหลัง นึกถึงสิ่งที่ทำผิดพลาดไปและมันยังหนักอึ้งอยู่ในใจ พูดถึงคน ๆ หนึ่ง ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ได้เป็นเพื่อนกันแล้ว (หรือบางทีเราอาจจะไม่เคยเป็นเพื่อนกันเลยด้วยซ้ำ) ตอนนี้คุณก็เดินไปตามทางของคุณ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่เคยหยุดรักคุณเลย
ส่วนตัวเราฟังครั้งแรกก็ยังไม่อินเท่าไร แต่พอฟังหลายรอบเข้า (นี่ก็เกือบ 10 รอบแล้ว) เลยเริ่มอินขึ้น เป็นอัลบั้มที่ควรฟังตามแทร็กเพื่อให้เกิดความต่อเรื่องของเนื้อเรื่องและอารมณ์ โดยรวมแล้วชอบนะ คอนเซ็ปต์น่าสนใจ ลึกซึ้ง แต่เพลงอาจราบเรียบไปนิด เป็นอัลบั้มที่ท้าทายและทำออกมาได้ดี เพียงแต่มันไม่ใช่เพลงที่เราจะหยิบขึ้นมาฟังตอนนึกขึ้นได้เท่านั้นเอง อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมและความชอบของแต่ละคน แต่เวลาปกติเราชอบเพลงตรงไปตรงมา ง่าย ๆ ไม่ต้องใส่รายละเอียดอะไรมากก็ได้ อันนี้ไว้ฟังตอนอยากจมดิ่งกับบรรยากาศละกัน
อ้างอิง
แต่พอมาปี 2021 กลับมาฟังอีกที แม่งโครตใช่ กับ เหตุการณ์ยุคนี้เลย
ฟังทุกวัน Star Treatment ลอยอยู่ในหัวตลอดเลย
เเต่ชอบนะ