คุณต้องบอกผมแน่นอนเลยว่า ฟุตบอลอิตาลีเป็นศาสตร์ของการเล่นเกมรับ และดูน่าเบื่อ เพราะเน้นแต่ผลการแข่งขัน รวมถึงโบราณคร่ำครึ แต่มันยังมีหลายเหตุการณ์ที่บ่งบอกว่าภาพจำของคุณนั้น เป็นเรื่องที่จริงเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
ในช่วงยุคทองของ กัลโช่ ซีเรีย อา ท่ามกลางทีมใหญ่ที่ประกาศศักดาไปทั่วแผ่นดินยุโรปอย่าง ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน รวมไปถึง โรม่า และ ลาซิโอ สองทีมแห่งกรุงโรมที่ถ่ายทอดความเดือดดาลของอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างลงในกีฬาฟุตบอล ยังมี ‘ฟอจจา’ ทีมน้องใหม่จากที่ราบปูเลียอันกว้างใหญ่เพิ่งขึ้นชั้นจาก ซีเรีย บี วาดลวดลายเกมรุกอันดุเดือด สวนทางกับกระแสฟุตบอลที่เน้นเกมรับหวังผลในตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง ภายใต้การนำทัพของ ซเดเน็ก ซีแมน โค้ชสิงห์อมควัน จนสื่อขนานนามให้สไตล์การเล่นของเขาว่าคือ ฟุตบอลรูปแบบ ‘Zemanlandia’ (อ่านว่า เซ-มาน-ลัน-เดีย) ซึ่งทุกคนจะได้อ่านในบทความนี้
กำเนิด ซเดเน็ก ซีแมน
ก่อนไปเจาะลึกเรื่องแทคติก เรามาทำความรู้จักกับผู้คิดค้นแทคติกกันก่อน สำหรับ ซเดเน็ก ซีแมน เป็นโค้ชชาวเชโกสโลวาเกีย หลายชายของ เซสเมียร์ วิปปาเล็ก อดีตโค้ชยูเวนตุสที่พาทีมได้แชมป์ 2 สมัย ในยุค 1970 โดยเขาย้ายตาม เซสเมียร์ผู้เป็นลุงมาอยู่ประเทศอิตาลีแต่วัยรุ่น ทำให้เขาซึบซับฟุตบอลอิตาลี และแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวผ่านผลงานการคุมทีม ฟอจจา ในช่วงยุค 1990 ก่อนย้ายไปคุม ลาซิโอในปี 1994 พาอินทรีฟ้าขาวลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัว โยกไปคุมคู่อริร่วมเมืองอย่าง โรม่า ในปี 1997 ก่อนระหกระเหินไปคุมเฟเนร์บาห์เช่ ที่ตุรกี และกลับมาคุมทีมกลางๆ อย่าง ซาแลร์นิตาน่า, อเวลลิโน่, เลชเช่, เบรสชา, ฟอจจา และเปสคาร่า หลังจากที่เขาโจมตียูเวนตุสเรื่องการโด๊ปยาหลังจบฤดูกาล 1998-99 แม้ว่าตัวเขาทำได้แค่เฉียดคว้าแชมป์ซีเรียอา แต่ต้องบอกว่า แทคติกของเขานั้นยังเป็นที่จดจำของแฟนบอลรุ่นปัจจุบัน (Zonal Marking, 2019, p.140-144)
บทนำ Zemanlandia
“0-0 เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับผม” ซีแมน กล่าว
“ผมยอมแพ้ 5-4 ดีกว่าที่เสมอ 0-0 อย่างน้อยก็มีอะไรให้น่าตื่นเต้นมากกว่า”
คำพูดของเขาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถบ่งบอกถึงแทคติกได้เป็นอย่างดี สำหรับ Zemanlandia แก่นสำคัญของการเล่นคือ ผู้เล่น 11 คน โหมกระหน่ำเกมบุกใส่คู่ต่อสู้ ส่งบอลสั้นไป-มาสั้นๆ แบบ One Touch และเล่นเกมรับแบบคุมโซน ซึ่งแทคติกของเขา ได้พา ฟอจจา เลื่อนชั้นจาก ซีเรีย ซี (ลีกระดับ 3 ของอิตาลี) สู่ซีเรีย อา ในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยสถิติในลีกสูงสุดครั้งแรกพวกเขายิงได้ 58 ประตู เป็นรองแค่แชมป์อย่าง เอซี มิลาน และเสียไป 58 ประตูเป็นรองแค่ อัสโคลี่ ทีมบ๊วยที่เสียถึง 68 ประตูในฤดูกาลนั้น
เจาะลึกแทคติก
Zemanlandia เริ่มต้นด้วยแผนระบบ 4-3-3 ซึ่งการเล่น 4-3-3 ในอิตาลีช่วงยุค 90 ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก ในขณะที่ทีมอื่นเน้นเกมรับอันแข็งแกร่งมาก่อน โดยมีกองหลัง 5 ตัว และใช้ ลิเบอโร่ ตัวรับอิสระคอยซ้อนเซนเตอร์แบ็คสองคนอีกทีหนึ่ง
ซึ่ง 4-3-3 ของซีแมน ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก สเตฟาน โควัคส์ กุนซืออาแจ๊กซ์ โดยแตกต่างจาก โควัคส์ คือ การเปลี่ยนจากปีกสองข้างที่มีความเร็วสูงประกบศูนย์หน้า เป็นศูนย์หน้าทั้งหมด 3 คนในแผงกองหน้า เมื่อทีมอยู่ในฝ่ายบุก กองหน้าทั้ง 3 คน จะอยู่ในบริเวณกรอบเขตโทษ ส่งผลให้แผงกองหลังฝ่ายตรงข้ามต้องเป็นพะวง บีบพื้นที่เพื่อประกบกองหน้าทั้งหมด และปล่อยพื้นที่บริเวณริมเส้นในบริเวณกว้างให้วิงแบ็คโจมตี นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่ให้กองกลางที่อยู่บริเวณแถวสองมีโอกาสได้ส่องไกลอีกด้วย
เอกลักษณ์อีกอย่างที่ไม่พูดไม่ได้ คือ ทฤษฎีสามเหลี่ยม หลายคนอาจฟังแล้วดูงง จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อทีมกำลังอยู่ในสถานการณ์ครองบอล ผู้เล่นจะยืนตำแหน่ง และเคลื่อนที่เป็นรูปแบบสามเหลี่ยม ทำให้ผู้เล่น และเพื่อนร่วมทีมมีทางเลือกในการจ่ายบอล ชิ่งหนึ่ง-สองในรูปแบบ One Touch ทำให้จังหวะของเกมดำเนินได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนของเกมรับ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนัก ส่วนใหญ่เน้นการ Pressing เอาบอลคืนเมื่อเสียบอล โดยกดดันไม่ให้กองหลังฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งรวมทั้งเซนเตอร์แบ็ค และฟูลแบ็ค) สามารถออกบอลได้ ในส่วนของแผงหลังใช้เทคนิคกับดักล้ำหน้า เพื่อไม่ให้กองหน้าฝ่ายตรงข้ามสามารถรับบอลยาวจากฝั่งตัวเองได้
แต่ข้อเสียของ Zemanlandia ก็มีรอยแผลใหญ่ให้เห็นได้ชัด เมื่อทีมเสียบอลบริเวณกลางสนาม ฝ่ายตรงข้ามสามารถใช้ความเร็วโจมตีได้ทันที เนื่องจากการบุกของแผนนี้ทิ้งเซนเตอร์แบ็คที่ดันสูงไว้อยู่หลังสุดเท่านั้น แน่นอนว่าผู้เล่นที่เหลือไม่สามารถลงมาป้องกันได้ในระยะเวลาอันสั้น
สถิติที่น่าสนใจ
ซเดเน็ก ซีแมน เป็นโค้ชที่สุดโต่ง ไร้ซึ่งความยืดหยุ่น ไม่ว่าคุณพยายามหาเหตุผลได้มาหักล้างเขา แน่นอนว่าเขาไม่เปลี่ยนแทคติกของเขาอย่างแน่นอน สังเกตได้จากสถิติการคุมทีมของเขา จากการแข่งขันทั้งหมด 760 นัด ชนะ 272 นัด เสมอ 201 นัด และแพ้ถึง 287 นัด สถิติที่แย่สุดในการคุมทีมของเขา คือ นัดเปิดบ้านต้อนรับ เอซี มิลาน โดยแพ้ไป 8-2
ภาคผนวก
จากที่เล่าไปข้างบน ซีแมน แจ้งเกิดจากการคุม ฟอจจา โดยใช้ระยะเวลา 5 ปี ขึ้นมาสู่ลีกสูงสุด และคุมทีมลาซิโอ โรม่า เฟเนร์บาห์เช่ รวมถึงทีมระดับกลางๆในอิตาลีอีกมากมาย ทำให้มีนักเตะชื่อดังหลายคนได้ร่วมงานกับเขา
ฟอจจา 1991-1992 ซึ่งมีกองหน้าตัวเก่งอย่าง จูเซ็ปเป้ ซินญอรี่ และ อิกอร์ โคลาวานอฟ
Zemanlandia ใน Football Manager
หลังจากที่เราได้ซึบซับปรัชญาเกมรุกของ ซีแมน มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให่ตัวผมเองได้ลองหาข้อมูลจากเว็บบอร์ด และคลิปไกด์ของ YouTuber หลายๆคนจนออกมาเป็นแผนนี้ครับ
จากรูปผมได้เซ็ทแผนการเล่นเป็น 4-3-3 โดย เซนเตอร์แบ็คสองคน ตั้งให้เป็น Ball Playing Defender (Defend) และ Central Defender (Cover) เพื่อให้มีคน Cover กองหลังอีกคนเมื่อป้องกัน รวมถึงให้ Ball Playing Defender ออกบอลให้กับผู้เล่นด้านข้างเหมือนกับการเล่นของจริง พร้อมกับปรับแบคทั้งสองข้างแบบ Wing-Back (Support) คอยสนับสนุนเกมรุก หลังจากนั้นมอบหมายให้ กองกลางสามคนเป็นกองกลางตัวรับ ซึ่งจากที่ผมเห็นไกด์ของหลายท่านเขาได้อธิบายว่า กองกลางสองข้างจะมีหน้าที่คอยซัพพอร์ตเกมรุกล้วงบอลจากข้างล่าง และเคลื่อนที่ไป แต่ไม่เข้ากรอบเขตโทษเหมือน Box to Box และยืนอยู่บริเวณแถวสองรอยิงซะส่วนใหญ่ จึงทำให้ผมตั้งเป็น Segundo Volante (Support) และกองกลางตัวรับที่อยู่ตรงกลางเป็น Anchor Man คอยเก็บตกบอลก่อนถึงกองกลัง (หากจะปรับเป็น Defensive Midfielder ก็ไม่ติดขัดครับ) ส่วนของแนวรุก ให้ปีกสองตัวเป็น Inside Forward (Attack) หุบเข้าในเวลาบุกเปรียบเสมือนมีกองหน้า 3 คนในกรอบเขตโทษ และปิดท้ายด้วยการใช้หน้าเป้าแบบ Complete Forward
ในสถานการณ์ครองบอล เราจะให้ทีมเล่นแบบถ่างกว้างออกมา พร้อมตั้งให้จ่ายบอลโดยเริ่มจากกองหลัง และจ่ายสู่ผู้เล่นริมเส้น แบบจ่ายบอลสั้น พร้อมกับ Pass into Space เพื่อให้นักเตะของเราจ่ายบอลเข้าสู่ที่ว่าง ปิดท้ายด้วยการให้แบ็คทั้งสองข้างเปิดบอลแบบ Early Cross หรือจ่ายให้กองกลางส่องไกล
ในส่วนของ Transistion และสถานการณ์เมื่อไม่มีบอล เราจะใช้การ Pressing เพื่อเอาบอลคืนมา โดยกดดันกองหลังฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้สามารถออกบอลได้ รวมถึงการดันแผงหลังขึ้นสูง และใช้กับดักล้ำหน้า
นี่คือไกด์ที่ผมนำมาปรับใช้ครับ (ของผมไม่เป๊ะเหมือนเขา 100% นะ)
ผมเชื่อว่าทุกคนจะได้รับความรู้แทคติกสไตล์ Zemanlandia รวมถึงได้นำแผนนี้ไปปรับใช้กับเกม Football Manager ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ ยังไงก็ขอลากันไปก่อน ยังไงก็อย่าลืมติดตามบทความอื่นๆด้วยนะครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in