เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE SWIMMING POOLstamp nattanicha
Socioeconomic inequality in health behaviors ผู้ดีกินผัก ผู้ยากกินยา: ความต่างของฐานะกับสุขภาพ
  • เนื้อหาในตอนที่แล้ว เราได้เกริ่นถึงผลของการอยู่ในเขตพื้นที่ที่เศรษฐานะกับสุขภาพกันไปบ้างแล้ว ในตอนนี้เราเลยอยากให้ทุกคนได้เข้าใจถึงผลของระดับเศรษฐานะทางสังคม (Socioeconomic position) กับพฤติกรรมสุขภาพแบบจริงๆจังอีกสักที เพราะเมื่อไม่นานมานี้เราเห็นทวิตที่ได้รับการรีทวิตจำนวนมากพูดถึงผู้ป่วยโรคสุราเรื้อรังที่ไม่ยอมดูแลตัวเองแต่กลับมารักษาพยาบาลเพื่อทุเลา รักษาอาการไปเรื่อยๆจนดูเหมือนจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณการรักษาพยาบาลของรัฐโดยใช่เหตุ ไม่รู้ว่าจะมีคนสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมคนๆหนึ่งที่ยอมให้ตัวเองเจ็บป่วย ถึงจะเป็นโรค/อาการที่การรักษาอยู่ในสิทธิประกันสุขภาพที่รัฐให้การดูแลค่าใช้จ่าย แต่ทำไมคนๆหนึ่งที่ถึงเลือกให้ตัวเองต้องทรมานกับอาการเจ็บป่วยแทนที่จะดูแลตัวเองให้ดี เลิกเหล้า เลิกบุหรี่

    เพราะจริงๆแล้วพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพอย่างการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการมีกิจกรรมทางกายน้อย มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับลักษณะทางระดับเศรษฐานะทางสังคม ไม่ว่าเราจะตรวจประเมินเศรษฐานะทางสังคมด้วยระดับการงานหน้าที่ ระดับการศึกษาหรือระดับรายได้ ต่างก็พบว่าคนที่มีเศรษฐานะทางสังคมต่ำมีอายุสั้นกว่าคนที่มีระดับเศรษฐานะทางสังคมสูง ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีระดับเศรษฐานะทางสังคมต่ำก็ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและโรคอ้วน 

    การศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่ตีพิมพ์ให้วารสาร Preventive Medicine ปัี 2018  ได้รวบรวมข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนจะขอรวบรวมสาเหตุที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพในกลุ่มคนเศรษฐานะระดับล่างเป็นทั้งหมด 3 สาเหตุ

    1. ความสามารถได้การเข้าถึง ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและกำลังทรัพย์  
    อย่างที่เราเห็นแสดงให้เห็นไปแล้วในตอนที่แล้ว ว่าการอยู่ในพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำมักพบว่าจะมีร้านค้าสะดวกซื้อที่เต็มไปด้วยอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารผ่านกระบวนการที่มีพลังงานสูง มากกว่าผักหรือผลไม้ อาหารทางเลือกสุขภาพ มีร้านจำหน่ายบุหรี่หรือสุรามากกว่าพื้นที่ที่มีรายได้สูง แถมยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการออกกำลังกาย และขาดกำลังทรัพย์สำหรับการสมัครฟิตเนสราคาแพง การมีสภาพแวดล้อมเช่นนี้ก็ย่อมลดทอนโอกาสในการรักษาสุขภาพ ในกรณีก็รวมไปถึง การขาดข้อมูลความรู้ที่จะกระตุ้นความตระหนักในการดูแลสุขภาพในคนกลุ่มนี้ด้วย 

    2. ความกดดันของสังคม 
    พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ล้วนเป็นกิจกรรมที่คนมักเลือกทำเพื่อผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดที่เจอในสังคม ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากความยากจนที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นกับคนที่มีระดับเศรษฐานะทางสังคมสูงกว่า เพราะการมีค่านิยมเรื่องลักษณะรูปร่าง ค่านิยมความสวยงาม หรือสัญลักษณ์ต่างๆที่แสดงถึงความเหนือชั้น ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดและการมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหมือนกัน 

    3. แรงจูงใจในการใช้ชีวิต
    ข้อสุดท้ายนี้เป็นข้อที่แสดงให้เห็นผลของความเหลือมล้ำทางสังคมกับการรักษาสุขภาพได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐานะทางสังคมระดับล่างมักขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตให้ดี เพื่อมีอายุยืนยาว การใช้ชีวิตที่ยากลำบากไม่จูงใจให้คนรักษาสุขภาพเพื่อใช้ชีวิตต่อไป คนกลุ่มนี้มักมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับการมีชีวิต จึงยากที่จะตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพ 


    แต่บริบทของแต่ละสังคมประเทศก็แตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องของการเข้าถึงอาหาร ประเทศอิตาลี สเปน กรีซ ที่มีรูปแบบการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยผัก ผลไม้และน้ำมันมะกอกสูง รูปแบบการรับประทานอาหารประจำชาติเช่นนี้ช่วยลดความแตกต่างทางเศรษฐานะทางสังคมในการเข้าถึงอาหาร

    สำหรับประเทศไทย เราเองก็มีการศึกษาว่าด้วยเรื่อง พื้นที่ต่างระดับเศรษฐานะกับอัตราการตาย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal for Equity in Health ปี 2017 เช่นกัน ส่วนหนึ่งของการศึกษานี้บอกเราได้ว่า ในประเทศไทย พื้นที่ยากจนมีอัตราการตายที่สูง เนื่องจากผลของสภาพเศรษฐกิจสังคม ทรัพยากรสุขภาพในพื้นที่ การเข้าถึงบริการและคุณภาพบริการทางการแพทย์ ที่อยู่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีความชุกของการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และระดับคอลเลสเตอรอลสูงกว่าคนในภาคอื่นๆ สำหรับเขตพื้นที่เมืองเมื่อเทียบกับพื้นที่ชนบทก็พบว่าคนในเมืองมีอัตราการตายด้วยโรคเบาหวานและโรคไต อุบัติการณ์เหล่านี้อาจจะเป็นผลมาจากความเครียด ความกดดันทางสังคมที่ต้องพบเจอ ส่วนกลุ่มคนที่มีเศรษฐานะสูงมักพบการตายจากโรคมะเร็งลำไส้สูงซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการมีพฤติกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ มีไขมันสูง แม้ว่าจะมีสภาพสังคมที่แตกต่างกันแต่ไม่ว่าจะที่ระดับเศรษฐานะทางสังคมแบบไหนก็ล้วนพบเจอความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพแต่อาจจะมีรูปแบบ มีระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป

    หวังว่าทุกคนจะได้เห็นว่า การมีระดับเศรษฐานะทางสังคมที่ต่างกัน ต้นทุนทางสังคมที่ต่างกัน มีผลอย่างมากในการมีพฤติกรรมสุขภาพ ดังนั้นปัญหาเรื่องสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องของสุขภาพส่วนบุคคลเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของเศรษฐานะทางสังคม เป็นเรื่องของ เศรษฐศาสตร์ + สังคม ด้วยเช่นกัน





     
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in