รู้หรือไม่ว่าชีวิตคนเมือง นอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนเรามีสุขภาพดีแล้ว สภาพแวดล้อมรอบๆตัวก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการอยู่ในสถานการณ์จราจรติดขัดหลายชั่วโมง มีเสียงบีบแตรต่อว่ากัน มีคนขับรถเบียดแทรก มันทำให้เราหัวเสียมากแค่ไหน สำหรับใครที่นั่งรถเมล์พัดลม หรือต้องรอรถข้างถนนก็แย่หนักเข้าไปอีกทีต้องสูดดมมลพิษเข้าไปด้วย วันนี้เราเลยอยากจะมาพูดถึงเรื่องลักษณะทางผังเมืองกับภาวะสุขภาพให้ทุกคนได้ตระหนัก เห็นข้อมูลทางวิชาการเพิ่มอีกสักหน่อย
โดยบทความนี้จะเป็นการอ้างอิงจากงานทบทวนวรรณกรรมของ
Canterbury District Health Board ปี 2016 ผู้อ่านที่สนใจสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ ส่วนตัวผู้เขียนก็หวังว่าจะได้นำการศึกษาดีๆใหม่ที่น่าสนใจมาเผยแพร่ในบทต่อๆไปเช่นกัน
เริ่มกันที่ปัจจัยเสี่ยง เช่นภาวะอ้วน โรคอ้วนหลักๆแล้วมาจากการบริโภคอาหารที่มากเกินไปร่วมกับการมีกิจกรรมทางกายน้อย แล้วผังเมืองเกี่ยวอะไรด้วย เกี่ยวเต็มๆเลยล่ะค่ะถ้าเรามองว่าแหล่งอาหารที่เรามีมันตีกรอบให้เรากินแต่อาหารบางจำพวก ไม่ได้กินอีกจำพวก และก็ใช่ว่าทุกคนจะมีเครื่องออกกำลังกาย หรือ กำลังทรัพย์สำหรับศูนย์ฟิตเนส ถ้าหากไม่มีสถานที่เปิดที่ปลอดภัยให้ไปเดินออกกำลังกาย การใช้ชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆก็อาจจะส่งผลให้เราตกอยู่ในภาวะอ้วนไม่รู้ตัว ซึ่งการศึกษาพบว่า ลักษณะเมืองที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นเมืองแคบๆไม่ต้องเดินทางมากก็ถึงที่หมาย เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะอ้วนได้ แถมด้วยปัจจัยตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางรายได้ด้วยอีกว่า เขตพื้นที่ที่มีตำแหน่งเศรษฐานะดีกว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนน้อยกว่า
ต่อกันด้วยภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคยอดฮิตหลายๆโรค นอกจากภาวะเครียดหรือกินอาหารที่มีโซเดียมสูงแล้ว การอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศ ทางเสียง มีการจราจรวุ่นวาย มีอาชญกรรม หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการดูแลใส่ใจก็เป็นเหตุให้ความดันโลหิตขึ้นสูงได้
การสูบบุหรี่ ดื่มสุราก็เช่นกัน พื้นที่ที่มีการขายบุหรี่หรือสุรามากก็ย่อมมีอัตราการสูบบุหรี่ดื่มสุรามากไปด้วย การมีการควบคุม จำกัดเขตพื้นที่การขายจึงเป็นนโยบายที่ช่วยลดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราได้ แต่อีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ เขตพื้นที่ที่ขาดความใกล้ชิด มีการร่วมไม้ร่วมมือกันในชุมชนต่ำ มีผลเชื่อมโยงกับการสูบบุหร่ี่ ดื่มสุราที่มากขึ้นด้วย
แล้วลักษณะผังเมืองแบบไหนที่จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้บ้าง
1. การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว
การศึกษาพบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เขตพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะในระยะ 1 กิโลเมตร มีการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคซึมเศร้าลดลง ยิ่งพื้นที่สีเขียวนั้นมีความหลากหลายของพืชพันธุ์มากก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ สำหรับผู้ทีีมีอาการวิตกกังวลหรือมีความผิดปกติด้านอารมณ์การศึกษาพบด้วยว่าการมีพื้นที่สีเขียวใกล้ตัวจะช่วยให้มีจำนวนครั้งที่จำเป็นต้องไปรักษาน้อยลง
2.การอยู่ในพื้นที่เดินได้
ทางเท้าคนเมืองที่ถูกยึดไปทำกิจกรรมอื่น เช่น ทางลัดพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือร้านค้าต่างๆ มีผลต่อสุขภาพของเราอยู่เหมือนกัน เพราะพบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถเดินได้ไม่ต้องอาศัยรถยนต์ พี่วิน รถเมล์ที่มาไม่ตรงเวลา มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เป็นเนินเขา ยิ่งเป็นเนินเขาสูงจะสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ถึงร้อยละ 48
3.การอยู่ในจราจรที่ดี
การศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มลพิศทางเสียงจากการจราจรเป็นระยะนานมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่การจราจรที่แน่นหนา(ใกล้ในระยะน้อยกว่า 150 เมตร) ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเช่นกัน
4. ภาวะมลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ค่า PM2.5 PM10 ที่ลอยไร้การควบคุมอยู่ในอากาศล้วนมีผลต่อสุขภาพ เพราะการศึกษาพบความเกี่ยวข้องระหว่างมลพิษทางอากาศกับการเกิดโรคอย่างโรคเบาหวาน ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการโรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด
5. ร้านอาหารรอบข้าง
คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีร้านอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ร้านอาหารฟาส์ตฟู้ดมากก็มีแนวโน้มที่รับประทานอาหารชนิดนั้นๆตามไปด้วย ผลการศึกษาจึงพบว่า การมีร้านอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพดังกล่าวมีผลต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนพื้นที่ที่มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพขายก็มีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สองลดลง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ที่มีอาหารไม่ดีต่อสุขภาพมากกับพื้นที่ที่มีอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพต่ำกว่าพบว่าพื้นที่ที่มีอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพที่ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า โดยกล่าวสรุปว่า การมีร้านอาหารฟาส์ตฟู้ด 1 ร้าน มีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 1 %
6. พื้นที่ตามระดับเศรษฐานะ
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก่อให้เกิดผลทางสุขภาพหลายอย่าง หนึ่งในนั้นอาจเกิดจากพื้นที่ที่อยู่อาศัย เพราะการศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้น 2 เท่าตัว อีกทั้งยังมีผลสัมพันธ์กับการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย และสำหรับผู้หญิงก็พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น 20 % อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าลักษณะผังเมืองมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพหลายประการ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนไม่ได้มีความตั้งใจให้เกิดความตระหนกตกใจ ย้ายบ้านหนี การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาถึงความสัมพันธ์ การเกิดโรคไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเท่านั้น หวังว่าผู้อ่านจะมีความตระหนัก เกิดการป้องกันตัวเอง การเปลี่ยนแปลงผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบาย แต่ถ้าหากประชาชนมีความรู้ ความเท่าทันแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in