ฯพณฯ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม
หนึ่งในคณะของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 นอกจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปรีดี พนมยงค์ และพระยาพหลฯ ที่เป็นตัวแสดงสำคัญที่เป็นที่รู้จักของคนไทย และถูกบรรจุเอาไว้ในแบบเรียน ให้บรรดานักเรียนได้ศึกษาถึงที่มาของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย
นอกจากบุคคลทั้ง 3 ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในแบบเรียนแล้ว กลุ่มของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีความสำคัญกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังมีอยู่อีกหลายท่าน แต่ละท่านมีบทบาทและความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางระบบ ระเบียบ วิธีการดำเนินงาน ที่นำมาพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมนานาอารายะประเทศ
ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอบุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการว่างระบบของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และวางรากฐานของวงการเภสัชกรรมไทย ให้มีความก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาของวงการแพทย์ของไทย บุคคลผู้นั้นคือ ฯพณฯ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม บุคคลที่คนไทยหลายคนไม่รู้จัก แต่ท่านเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีความสำคัญกับประเทศไทย และเป็นบุคคลที่คนไทยควรรู้จัก
ฯพณฯ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ตั้วเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการและทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กรรมการราษฎร รัฐมนตรี
ตั้วเกิดในครอบครัวคนไทยในกรุงเทพมหานคร ได้รับทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกไปศึกษาต่อวิชาสามัญในประเทศเยอรมนี มีความสามารถด้านภาษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส แล้วสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ได้แก่ วิชาเคมี, เภสัชศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก และได้สร้างคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างยิ่ง ซึ่งมีความรุดหน้าอย่างมากในสมัยของตั้ว นอกจากนี้ยังกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจด้านการอ่านเป็นพิเศษโดยจัดตั้งแผนกห้องสมุดในกรมวิทยาศาสตร์ขึ้น และมีการตีพิมพ์วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในชื่อ Siam Science Bulletin ตั้วเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอดีและเป็นมิตรต่อบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหน้างานที่ดี มีนโยบายการใช้คนอย่างดียิ่ง ตั้วทำงานทางวิทยาศาสตร์และราชการจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"
ตั้วมีความสนใจการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะด้านการเกษตร โดยได้วิจัยวัตถุดิบสำคัญของชาติ เช่น การวิจัยเถ้าไม้ไผ่เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา และการสำรวจวิเคราะห์ดิน และตั้วยังเป็นผู้ริเริ่มในกิจการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480
นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจเรื่องของการอ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยปรับปรุงห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า จากมีหนังสือไม่กี่สิบเล่มเพิ่มเป็นจำนวนหมื่นเล่มในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตั้วมีความตั้งใจจะพัฒนาห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์เป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และได้มีการออกวารสารวิทยาศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือวารสาร Siam Science Bulletin อันตีพิมพ์ผลงานวิจัยของไทยเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ ซึ่งท่านรับเป็นบรรณาธิการวารสารดังกล่าวอยู่ 2 ปี เมื่อตั้วได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 อีกครั้งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งควบคู่กับการเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ โดยท่านได้บันทึกข้อคิดทางวิทยาศาสตร์ไว่าว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้"
นับได้ว่า ตั้ว ลพานุกรม เป็นผู้บุกเบิกงานด้านเภสัชกรรมไทยไปอย่างมาก สภาพการศึกษาเภสัชศาสตร์ในระยะก่อนที่ตั้วจะเข้ามาดูแลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากมหาวิทยาลัยและภาครัฐไม่มีกฎหมายในการรองรับสิทธิของเภสัชกรในการบริการร้านยา มีเพียงการรองรับสิทธิการปรุงยาในพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 เท่านั้น จนกระทั่งมีการยกระดับแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2477
ตั้วได้ให้ความใส่ใจแก่การศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยอนุญาตให้ข้าราชการในกองเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์มาเป็นอาจารย์พิเศษ นอกจากนั้นท่านยังกระตุ้นการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นย่างยิ่ง
ตั้วซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งท่านได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นหลักสูตรปริญญา 4 ปีและจัดสร้างอาคารเรียนหลังแรกของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และมีอาจารย์ประจำแผนกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
นอกจากการส่งเสริมการศึกษาเภสัชศาสตร์แล้ว ตั้วยังปรารถนาอย่างยิ่งในการส่งเสริมการผลิตยาขึ้นใช้เองในประเทศ ดังบทความเรื่อง "วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ" ว่า "...ต่อจากอาหารก็ถึงยา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย ยาเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์เกือบเท่าอาหาร และในบางโอกาสเราจะแยกอาหารกับยาออกจากกันไม่ได้..."
ในช่วงที่ตั้วดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มการผลิตยาน้ำมันกระเบาสำหรับรักษาโรคเรื้อนและน้ำยาสกัดรำข้าวที่มีวิตามินบี 1 สูงช่วยรักษาโรคเหน็บชา ซึ่งเป็นจุดริเริ่มในการผลิตยาหลายขนานใช้กันในประเทศ จนกระทั่งมีการจัดตั้งกองเภสัชกรรมขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าสถานที่มีความคับแคบและไม่สะดวกต่อการผลิตยาจึงได้โครงการจัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมขึ้นตามแนวคิดของ ร.อ.หวาน หล่อพินิจ ท่านได้ให้ความสำคัญของงานเภสัชกรรมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเห็นได้จากบทความวารสารทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 ที่ว่า "...รัฐบาลของเรามีความรู้สึกห่วงในเรื่องนี้เป็นอันมาก จึงคิดหาทางวางนโยบายพึ่งตนเองก่อนโดยวางโครงการส่งเสริมขึ้นเป็นต้นว่า ขยายมาตรฐานฐานและปรับปรุงการศึกษาวิชาเภสัชกรรมในมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น เพื่อเพาะผู้มีความรู้จริงในทางนี้ ตั้งกองเภสัชกรรมขึ้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องยาและจะได้สร้างโรงงานทำยาขึ้นในลำดับต่อไป..."
ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่มีส่วนในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ เภสัชกรรม และการวางรากฐานการศึกษาทางด้านเภสีชศาสตร์ของไทย ผู้เขียนหวังว่าคุณผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักกับอีกหนึ่งบุคคล ที่แบบเรียนวิชาสังคมในโรงเรียนไม่ได้ใส่ชื่อของเขาเอาไว้ ว่าเขาคือใคร มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร มีความสำคัญของเมืองไทยอย่างไร และหวังว่าคนไทยคงได้รู้จักเขามากขึ้น ในฐานะของเภสัชกรนักปฏิวัติ
ข้อมูลจาก : http://www.dr-toa.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1198&Itemid=579
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in