เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขาคือใคร thai versionChaitawat Marc Seephongsai
"จอมพลแปลก"แปลก

  •           ว่าด้วยเรื่องของตำแหน่งจอมพล หลายคนอาจจะรู้สึกแปลก ๆ เพราะไม่ได้ยินคำคำนี้มานานพอควร หากจะมีได้ยินจากที่ไหนสักแห่ง ก็คงไม่พ้นจากตำราเรียน หรือจากข่าวหนังสือพิมพ์ที่บางครั้งบางที ก็หยิบเอาชื่อของจอมพลยุคเก่า ๆ มาเอ่ยถึงสักครั้ง

              เหตุที่คุณผู้อ่านไม่ค่อยได้ยินชื่อตำแหน่งทางทหารอย่าง "จอมพล" บ่อยนัก เป็นผลมาจากการยกเลิกตำแหน่งจอมพล โดยการที่ไม่มีนายทหารคนใดได้รับพระราชทานตำแหน่งจอมพลอีกเลย

              โดยนายทหารผู้ได้รับพระราชทานยศจอมพลคนสุดท้าย คือ จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2515 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ก็ไม่มีการแต่งตั้งยศจอมพลอีกเลย

             วันนี้จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับจอมพลท่านหนึ่ง ที่นอกจากท่านจะชื่อจอมพลแปลก แล้วแนวคิดตอนที่ท่านเป็นนายกฯ ก็แปลกไม่แพ้ชื่อของจอมพลท่านนี้ เช่นกัน

             จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย (ฉายานายพลกระดูกเหล็ก เพราะถูกลอบฆ่าถึง 3 ครั้งแต่ก็ไม่ตาย)

              และเป็นรัฐมนตรรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเปลี่ยนชื่อของ นนทบุรี และบางเขนด้วย

              คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย" และ "ไทยอยู่คู่ฟ้า"

             ชื่อเดิมของจอมพล ป. หรือชื่อก่อนที่ทุกคนจะเรียกแกว่า จอมพล ป. ก็คือ "แปลก ขีตตะสังคะ" เป็นลูกของชาวสวนทุเรียนอยู่เมืองนนทบุรี เหตุที่ชื่อว่าแปลกนั่น น่าจะเป็นผลมาจากการที่ "ใบหูอยู่ต่ำกว่าดวงตา" (ไม่เชื่อดูในรูป) โดยที่คนปกติตากับในหูจะอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่หนีกันไปมากนักเหมือนอย่างนาย แปลก ขีตตะสังขะ (ตำราหมอดู บอกว่าคนหูต่ำกว่าตาเป็นคนมีวาสนา) 


             นอกจากที่มาแปลก ๆ ของชื่อแปลกแล้ว จอมพลแปลก ยังมีอะไรแปลก ๆ ที่ทิ้งเอาไว้ให้คนไทยรุ่นหลังอีกมากมาย เช่น นโยบาย "มาลานำไทย" มาลา ที่แปลว่าหมวกนั่นแหละ โดยนโยบายของจอมพลแปลก ก็ไม่ยากเย็นอะไร ก็แค่ให้คนไทยหันมาใส่หมวก เพื่อทำให้ประเทศชาติดูเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ที่คนในบ้านเมืองของเขานิยมใส่หมวกกันเวลาออกนอกบ้าน


              และนโยบายสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของจอมพลแปลกนั่นก็คือ การห้ามไม่ให้คนจีนถือครองที่ดินในประเทศไทย นโยบายดังกล่าวส่งผลให้คนจีนหลายคนที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยต้องหาเมียไทย เพื่อให้สามารถถือครองที่ดินในชื่อของเมียได้

               นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนชื่อ จากชื่อที่ดูจีน ๆ ต้องเปลี่ยนให้ดูเป็น ไทย ๆ ซะ เพราะท่านผู้นำไม่ชอบ และนโยบายนี้ก็ส่งผลให้เราได้ ห้าง MBK หรือ มาบุญครอง มาในชื่อ "มาบุญครอง" นั่นเอง เพราะพ่อของเจ้าของ MBK มีชื่อจีนว่า "ม้า เลียบ ขึ้น" และการที่จอมพลแปลกสั่งให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นไทย แกก็เลยเปลี่ยนจาก นายม้า มาเป็น "นายมา" นามสกุล บุญคุณ และแต่งเมียคนไทยเพื่อให้ถือครองที่ดินได้ชื่อ บุญครอง ด้วยเหตุนี้ชื่อของ MBK จึงมาจากชื่อของ นายมา + นางบุญครอง = มาบุญครอง ต้องขอขอบคุณจอมพลแปลกที่คิดอะไรแปลก ๆ ได้ขนาดนี้ 


              ยังไม่หมดเรื่องของการเปลี่ยนชื่อไม่ได้ส่งผลแค่คนจีนเท่านั้น กับคนไทยเองก็โดนเหมือนกัน โดยท่านผู้นำมีคำสั่งให้คนไทยต้องใช้ชื่อที่เข้ากับเพศของตัวเอง เพศชาย ชื่อต้องดูสมชาย เพศหญิงชื่อต้องดูสมหญิง ถ้ากลับไปค้นข้อมูลดูในช่วงยุคสมัยนั้น เราจะพบว่า ผู้ชายที่ชื่อดูไม่สมชายต้องเปลี่ยนให้ชื่อสมชายแทบทั้งนั้น เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่อเดิมของจิตร คือ สมจิตร ซึ่งดูไม่ค่อยสมชายเท่าไหร่ คุณจิตรเลยต้องเปลี่ยนชื่อจาก สมจริตร เป็น จิตร เฉย ๆ เพื่อให้ดูสมชาย

               เรื่องราวเกี่ยวกับจองพลแปลกที่ยกมานี่ เป็นเพียงน้ำจิ้ม ๆ เท่านั้น เพราะระหว่างที่จอมพลแปลก ดำรงตำแหน่งนั่นได้ทำอะไรแปลก ๆ ไว้เยอะมาก มากจนเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ เท่าสมุดหน้าเหลืองได้สัก 3-4 เล่ม เพื่อไม่ให้เรื่องของจอมพลแปลกยาวไปกว่านี้ วันนี้ก็พอแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ

    ข้อมูลเรื่อง MBK : มาจากวิชาการเมืองไทย ร.321 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยาย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in