เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
/ อ่านวรรณกรรมผ่านสายตาหลังกรอบแว่น /one8octobear
ข้างหลังภาพ | อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล
  • อกาลิโก

     

                อกาลิโก มีความหมายว่าไม่ประกอบด้วยกาล ไม่มีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง คือแม้จะผ่านไปเนิ่นนานสักเพียงไหน ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตซึ่งที่เกิดขึ้นย่อมจะเป็นของจริงเสมอ และหากจะหาคำใดมาบรรยายวรรณกรรมเรื่อง“ข้างหลังภาพ” ได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็เห็นจะไม่พ้นคำคำนี้ เพราะแม้ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ.2480 แต่คุณค่าของงานเขียนทั้งทางศาสตร์และศิลป์รวมถึงความรักอันลึกล้ำของตัวละครเอกที่แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานก็ยังคงยึดมั่นถือมั่นไม่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาก็ยังคงกินใจผู้อ่านทุกยุคทุกสมัยเสมอมาเหมือนกับคำว่าอกาลิโกคือไม่ขึ้นกับกาลเวลานั่นเอง

    ข้างหลังภาพคือ วรรณกรรมคลาสสิกแห่งยุค ซึ่งประพันธ์โดย ศรีบูรพาหรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักดีในนาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชื่อดังหนึ่งในคณะสุภาพบุรุษและเจ้าของวาทกรรมว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน -- ข้างหลังภาพเผยแพร่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในหนังสือพิมพ์“ประชาชาติ” รายวันโดยลงเป็นตอน ๆ เริ่มในฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2480และภายหลังตีพิมพ์รวมเล่ม จบบริบูรณ์ ในปี 2481 มีการพิมพ์ซ้ำกว่า 40 ครั้งนับจากนั้นเป็นต้นมาและมีวาทะที่โด่งดังมายาวนานนับตั้งแต่หนังสือได้วางแผงที่ว่า

                                                    “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน

    ​                                                แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”

    (ศรีบูรพา. 2554: 158)

    วาทะนี้เองคือบทสรุปและปลายทางของความรักของยึดมั่นถือมั่นไม่ประหวั่นต่อกาลเวลาอันล่วงเลยไปเกือบสิบปีของหม่อมราชวงศ์กีรติที่มีให้ต่อนพพรแต่กว่าบทสรุปของ “ข้างหลังภาพ” จะเดินทางมาถึงจุดนี้ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปในครั้งที่นพพร ชายหนุ่มวัย 22ปีซึ่งกำลังศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น และในฤดูร้อนปีนั้นเขาได้เป็นธุระให้แก่ท่านเจ้าคุณอธิการบดีเพื่อนำท่านท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากท่านได้พาภรรยาใหม่มาพักผ่อนเปิดหูเปิดตา เหตุนี้เองทำให้นพพรได้ประสบพบกับหม่อมราชวงศ์กีรติหรือหญิงสาวที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นภรรยาใหม่ของท่านเจ้าคุณอธิการบดีวัย50 ปี

    เวลาสั้นๆ ในฤดูร้อนครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของต้นรักที่หยั่งรากลงในหัวใจที่ไร้รักมาชั่วชีวิต35 ปีของหม่อมราชวงศ์กีรตินพพรได้รับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์กลาย ๆ ให้แก่สองสามีภรรยาทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างเขากับคุณหญิงกีรติมากขึ้นเรื่อย ๆและแปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด แม้นพพรจะทราบแก่ใจดีว่าไม่ถูกครรลองคลองธรรมแต่เมื่อเวลาเหลือน้อยเต็มทีบวกกับได้ไปท่องเที่ยวกับคุณหญิง ณ มิตาเกะตามลำพังเขาก็ทนเก็บความในใจไม่ไหวอีกต่อไปและแจ้งความในใจให้คุณหญิงทราบในที่สุดแน่นอนว่าคุณหญิงย่อมต้องปฏิเสธเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ ทำให้นพพรแม้จะถามอย่างไรก็ไม่ได้คำตอบว่าตกลงแล้วคุณหญิงรักเขาเฉกเช่นที่เขารักคุณหญิงหรือไม่นอกจากตัวเธอแล้วก็ไม่มีใครทราบว่าขณะนั้นความรักได้ผลิบานในหัวใจเธอแล้ว และความรักอันอยู่เหนือกาลนี้ก็ได้สถิตอยู่ในใจหม่อมราชวงศ์กีรติตราบสิ้นลมหายใจของเธอเหลือเหลือทิ้งไว้เพียงประโยคที่สั่นสะเทือนหัวใจผู้อ่านข้างต้นนั้นเอง

                นพพรในครั้งยังเป็นชายหนุ่มนักศึกษามักถามคุณหญิงทุกครั้งที่มีโอกาสว่าคุณหญิงรักผมไหม?ทุก ๆครั้งคำตอบที่ได้ไม่เคยเป็นคำว่ารักสักหนแต่ในวาระสุดท้ายของคุณหญิงกีรติแม้นพพรไม่ได้เอ่ยปากถาม แต่คุณหญิงก็กล่าวคำว่ารักที่เขาเคยอยากได้ยินที่สุดออกมาพร้อมทั้งมอบรูปวาดเหตุการณ์ที่มิตาเกะซึ่งเขาได้สารภาพความในใจออกไปแก่คุณหญิงให้เป็นของขวัญสำหรับงานแต่งงานของนพพรกับคู่หมั้น

                สำหรับผู้อื่นแล้วภาพวาดสีน้ำนี้ย่อมเป็นเพียงภาพวาดธรรมดาๆ ที่สวยงามภาพหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับนพพรแล้วข้างหลังภาพนั้นประกอบไว้ด้วยความงามและความหมายซึ่งได้หลุดพ้นจากเงื่อนไขของเวลาไปแล้วเพราะแม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด แต่ภาพนั้นยังคงมีชีวิตในใจของนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติตราบนานเท่านานและคงไม่มีสิ่งใดจะมาลบเลือนมันไปได้เฉกเช่นในประโยคที่คุณหญิงกีรติกล่าวกับนพพรในฉากที่มอบภาพนี้ให้ว่า

    “ฝีมือไม่ดีดอกนพพรแต่ว่ามีชีวิตและดวงใจอยู่ในภาพนั้น”

    (ศรีบูรพา. 2554: 157)

     

                นอกเหนือจากความรักอันตราตรึงของหม่อมราชวงศ์กีรติที่มีให้ต่อนพพรแล้วศรีบูรพายังได้แทรกภาพสังคมในยุคสมัย 2470 2480ไว้อย่างแนบเนียน

                อาทิ เรื่องการแบ่งชนชั้นศักดินาของเจ้านายกับชาวบ้านศักดินาของหม่อมราชวงศ์กีรติย่อมมิใช่เพียงศักดิ์ที่มีแต่ลอย ๆ เท่านั้นแต่ศักดินานี้ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคุณหญิงแบ่งแยกกับประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจนและกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอถูกกักตัวมิได้แต่งงานในวัยอันควรทำให้เมื่อวัยล่วงเลยมาถึงอายุ 35 ปีจึงค่อยได้แต่งงานกับชายชราอันจะเห็นได้จากบทสนทนาที่คุณหญิงกล่าวกับนพพรต่อไปนี้

    “ ฉันไม่มีโอกาสที่จะร่าเริงบันเทิงใจในวัยรุ่นสาวของฉันดุจเดียวกับ
    สตรีสาวที่เป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป ฉันไม่ได้ตั้งใจจะแยกตัวฉันออก
    จากท่านสุภาพสตรีเหล่านั้นดอก แต่ความจริงฉันได้ถูกแยก ฉันไม่ได้
    เป็นเจ้าแต่ฉันก็เป็นลูกเจ้า ท่านพ่อของฉันท่านเป็นเจ้านายที่แท้จริง
    ในสมัยที่ยังไม่เปลี่ยนการปกครองบ้านเมืองนั้น เธอก็คงจะทราบแล้วว่า
    เจ้านายท่านเป็นเจ้านายกันจริง ๆ “

    (ศรีบูรพา. 2554: 73)

                จากคำพูดของหม่อมราชวงศ์กีรติข้างต้นนี้ทำให้เราทราบภาพของสังคมยุคนั้นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผนวกเข้ากับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในปีพ.ศ. 2475 ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมถึงชนชั้นศักดินาขึ้นแม้จะไม่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันแต่ในคนรุ่นถัด ๆมาก็ไม่ถูกตีกรอบทางความคิดอย่างเคร่งครัดเท่าในยุคสมัยก่อนหน้าแล้วเห็นได้จากความคิดของผู้เขียนที่ถ่ายทอดผ่านตัวตนของหม่อมราชวงศ์กีรติที่มีความต้องการจะออกไปเที่ยวเล่นอย่างหญิงสาวธรรมดาสามัญและไม่ได้พอใจในกรงทองนี้เลย

    นอกจากนี้บางช่วงบางตอนของเรื่องยังพูดการยอมรับในฐานะของตนในฉากที่คุณหญิงได้ออกไปล่องเรือกับนพพรและบังเอิญได้ยินหญิงสาวชาวญี่ปุ่นร้องเพลงก็ได้เอ่ยขอให้นพพรแปลเพลงนั้นให้ฟัง เพลงนั้นมีความว่า

    แม้นเรามิได้เกิดเห็นดอกซากุระก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุปผาพรรณอื่นเลย

    ขอแต่ให้เป็นดอกที่งามที่สุดในพรรณของเรา

    ภูเขาฟูจีมีอยู่ลูกเดียว แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่

    แม้นมิได้เป็นซามูไร ก็จงเป็นลูกสมุนของซามูไรเถิด

    เราจะเป็นกัปตันหมดทุกคนไม่ได้ ด้วยว่าถ้าปราศจากลูกเรือแล้วเราจะไปกันได้อย่างไร

    แม้เรามิอาจเป็นถนน ขอจงเป็นบาทวิถี

    ในโลกนี้ มีตำแหน่งและงานสำหรับเราทุกคน งานใหญ่บ้างเล็กบ้าง

    แต่เราย่อมจะมีตำแหน่งและงานทำเป็นแน่ละ

    แม้เป็นดวงอาทิตย์ไม่ได้ จงเป็นดวงดาวเถิด

    แม้มิได้เกิดเป็นชาย ก็อย่าน้อยใจที่เกิดมาเป็นหญิง

    จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง

    จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นอย่างดีที่สุดไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

    (ศรีบูรพา. 2554: 39)

                จากเนื้อความข้างต้นคล้ายต้องการจะสื่อว่าทุกหน้าที่ ฐานะล้วนแล้วแต่มีความเท่าเทียมและผลักดันกันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งไม่มีใครสูงส่งไปกว่าใคร ความคิดในข้อนี้ก็สอดคล้องกับในเวลาต่อมาศรีบูรพาหรือกุหลาบได้เขียนบทความวิจารณ์จอมพฃ ป. พิบูลสงครามผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นที่จะฟื้นฟูระบบศักดินาขึ้นมาใหม่ แม้จะแทรกอยู่ในเนื้อหาแต่เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เรามองเห็นทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อสังคมได้อย่างชัดแจ้ง

                อีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตลอดทั้งเรื่องก็คือสังคมชายเป็นใหญ่และผู้หญิงถูกตีกรอบให้ต้องเรียบร้อยอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน ต้องประพฤติตนดีไม่ผิดแผกจากขนบ เช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์กีรติที่โดนขีดจำกัดให้ต้องเป็นหญิงสาวตามแบบแผนและห้ามออกไปคบค้าสมาคมกับผู้คนภายนอกหรือชายใด เป็นเหตุให้เวลาล่วงเลยไปถึง 35 ปีคุณหญิงก็ยังไม่เคยได้สัมผัสรสรักมาก่อนและกว่าจะรู้ตัวเวลาของความเยาว์วัยก็ได้ล่ำลาไปเสียแล้ว นี่ก็คือผลอันมาจากการถูกตีกรอบโดยความหวังดีของผู้เป็นบิดาและคำว่าจารีตประเพณีซึ่งสั่งสอนและหล่อเลี้ยงความคิดของหญิงสาวตลอดมาเห็นได้จากประโยคที่คุณหญิงกล่าวต่อไปนี้

    “ในเวลานั้นดูเหมือนฉันไม่เคยตั้งปัญหาถามตัวเองว่า
    เป็นการถูกต้องหรือที่เราจะปกป้องกำบังความเป็นสาวสดชื่อ
    ของเราไว้เสียจากนัยน์ตาของคนภายนอก? ชีวิตได้กำไรที่ตรงไหนเล่า
    ในการกระทำเช่นนั้น? เป็นการฉลาดหรือที่ไม่เปิดเผยวัยงามที่สุดของเรา
    ฉันไม่ใคร่จะได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิดเรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบ ๆ
    ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”

    (ศรีบูรพา. 2554: 74)

                ไม่เพียงแต่ศรีบูรพาจะตั้งคำถามกับขนบเก่าแก่เช่นนี้ว่าที่แท้แล้วเป็นการอบรมให้เด็กเดินทางตามของตนไม่มีสิทธิ์เลือกทางของตัวเองหรือไม่แต่เขายังกล้าตั้งคำถามกับสังคมแบ่งเพศที่ชายเป็นใหญ่นี้อีกด้วย จากการที่คุณหญิงมักพูดถึงการดูแลตัวเองเพื่อให้ยังงดงามอยู่เสมอและในตอนหนึ่งคุณหญิงได้กล่าวถึงเหตุผลไว้ว่า

    “เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลกประโลมโลก และเพื่อ
    ที่จะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุดต้องบำรุงรักษารูปโฉมของเราให้ทรงคุณค่าไว้”

    (ศรีบูรพา. 2554: 75 - 76)

                จะเห็นได้จากข้อความข้างต้นว่าเป็นถ้อยคำที่คุณหญิงพูดอย่างจริงใจแต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลกร้ายสำหรับผู้อ่านเพราะเมื่อมองย้อนกลับไปก็อดจะเห็นใจตัวละครนี้ไม่ได้เนื่องด้วยสังคมที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้ต้องเป็นผู้อ่อนแอรอรับการดูแลจากฝ่ายชายเท่านั้นบีบให้ผู้หญิงจำเป็นต้องทนยอมและถูกลดคุณค่าลง

                ในท้ายที่สุดแล้วภาพสังคมต่าง ๆเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้เท่านั้น สิ่งที่วรรณกรรมเรื่อง“ข้างหลังภาพ” ได้สะท้อนออกมาอย่างงดงามที่สุดก็คือความรักซึ่งเป็นภาพอุดมคติทั้งความรักที่ชักนำความดีงามสู่หัวใจ ความรักที่ขาดสติความรักที่เปี่ยมไปด้วยความหวังดี ความรักอย่างกัลยาณมิตรและความรักอันลึกล้ำไม่แปรผันของหม่อมราชวงศ์กีรติที่มั่นคงในรักมอบให้แต่ความปราถดีและสิ่งดี ๆ แก่นพพรโดยบริสุทธิ์ใจจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตสิ่งนี้เองที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาหลายยุคหลายสมัยอย่างไม่เสื่อมคลายเพราะข้างหลังภาพนี้ได้มีเรื่องราวความรักและชีวิตจิตใจซ่อนเอาไว้อยู่โดยที่กาลเวลาไม่อาจพรากมันจากไปได้

     

    บรรณานุกรม

    ศรีบูรพา. (2554).  ข้างหลังภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 45กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.

    การปฏิวัติสยามพ.ศ. 2475.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561

    จาก https://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475

    กุหลาบสายประดิษฐ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2561

     จาก https://th.wikipedia.org/wiki/กุหลาบ_สายประดิษฐ์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in