FOREWARD
• ที่จริงเราไม่ต้องเขียนคำนำเป็นรูปแบบบูลเล็ตอย่างนี้ก็ได้
• แต่เห็นว่าผู้เขียนใช้ทั้งเล่มแล้วก็เลยเอาสักหน่อย
• เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามสิ...
• ตามหลักของคำนำสำนักพิมพ์ ควรจะต้องเล่าที่มาที่ไปอันเป็นการนำพาให้ผู้อ่านได้รู้จักและสามารถอ่านหนังสือที่กำลังถืออยู่ในมือ
• แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องแนะนำอะไรอีก ในเมื่อ เบ๊น—ธนชาติ ศิริภัทราชัย น่าจะเป็นที่รู้จักสำหรับผู้อ่านอยู่แล้ว ในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่มีสไตล์การเขียนเป็นเอกลักษณ์คือความกวน ช่างเสียดสี และในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความขบขัน
• เช่นในหนังสือเล่มแรก ซึ่งเป็นเล่มที่สร้างชื่อให้กับเขาอย่างมาก คือ NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ...
• รวมถึงเล่มต่อๆ มา อย่าง THE REAL ALASKA และ ONCE UBON A TIME อุบลเป็นเมืองชิคๆ ที่ก็ยืนยันได้อีกอย่างว่าสิ่งที่เขาโดดเด่นไม่ใช่แค่เรื่องการเขียน แต่ยังเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ
• ก็แหงสิ เขาเป็นช่างภาพมืออาชีพ ไปเรียนด้านศิลปะที่สหรัฐฯ เคยทำงานให้กับ National Geographic
• แน่นอน งานวิดีโอเองเขาก็โปรฯ และยังมีลายเซ็นชัดเจน หลักฐานก็คือ ‘ลุงเนลสัน’ นั่นยังไงล่ะ
• ค่อนข้างชัวร์แล้วว่า รกรากของเขาในไม่ช้าก็ไม่น่าจะใช่ในเมืองไทย
• น่าจะติดคุกที่ประเทศไหนสักแห่ง
• ถุย น่าจะทำงานอยู่ที่สหรัฐฯ มากกว่าที่บ้านเกิดสิ
• อย่าดราม่า ไม่ใช่ว่าเมืองไทยไม่ดี เราจะบอกว่าในระดับสากล ฝีมือของเขาเป็นที่ยอมรับต่างหาก
• เข้าเรื่อง
• หนังสือเล่มนี้ ยังคงยี่ห้อของความเป็นเบ๊นได้ดี คือยังกล่าวถึงบ้านเมือง วัฒนธรรม และยังเป็นสหรัฐฯ ดินแดนใหม่ที่เขา—ชาวไทยผู้ซึ่งเต็มไปด้วยแววตาขี้สงสัย ตั้งคำถาม และลุยออกไปหาคำตอบเหมือนกับผลงานสองเล่มก่อนหน้านี้
• ‘พอร์ตแลนด์’ รัฐที่เต็มไปด้วยความฮิปส์ เป็นต้นแบบและต้นธารของวัฒนธรรมป๊อปหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ระดับโลกมากมายเกิดขึ้นที่นี่ รวมถึงในปัจจุบัน กระแสที่อยู่รอบๆ ตัวเราอย่างความเป็น ‘ฮิปสเตอร์’ ก็เกิดขึ้นที่นี่นี่แหละ
• และเบ๊นก็ไปแซะเอาไว้เสียพรุน...
• เดิมทีเขาเดินทางไปถึงที่นั่นก็เพราะอยากไปลองของ ไปดูสิว่ามันจะฮิปส์สักแค่ไหน คินฟ้งคินโฟล์ก คราฟต์บงคราฟต์เบียร์ ฯลฯ ไหนๆ มาเลย สายตาแบบไทยๆ ไปเจอกับความเกินๆ ล้นๆ ที่เราไม่เคยชิน ถ้าเอาความคิดและความเห็นที่ไปเห็นจริงๆ มาผสมกัน เราอดใจรอแทบไม่ไหวว่าเบ๊นจะเจออะไรบ้าง
• แต่...
• “เมืองมันดีเกินไปว่ะ” สุดท้ายเบ๊นพิมพ์ข้อความมาหาเราแบบนี้ เมืองต้นแบบของฮิปสเตอร์ของแท้ช่างแตกต่างจากที่เราเข้าใจ การไหลของวัฒนธรรมทำให้อัตราส่วนบางอย่างจางลงไป จนอาจทำให้เหลือเพียงความประดักประเดิด ผิดที่ผิดทางอย่างที่เราเห็นในเมืองอื่น รวมถึงเมืองไทยที่เราอยู่
• เมื่อทุกอย่างมันอยู่ในที่ที่ถูกต้อง และเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติ ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะดีและเหมาะสมในแบบของมัน และบางครั้งก็อาจจะดีเกินไปอย่างที่เบ๊นว่า
• แต่จะดีเกินไปแค่ไหน
• เชิญทัศนาในหนังสือแนว ‘ภูมิทด’ เล่มนี้
• อย่างงสิ... คิดคำขึ้นมาเอง ก็มีรูปแนวภูมิ-ทัศน์ กับบันทึกสั้นๆ แบบทดๆ ไง
• ไม่เก็ตเหรอ
• ว้า
SALMONBOOKS
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in