เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Green at heartAnotherme
Lives are short, make fashion eco-friendly: แฟชั่นสามารถยั่งยืนได้ยังไงบ้าง
  • แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) คือ การผลิตงานศิลป์ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีมนุษยธรรม เมื่อพูดถึงแฟชั่นที่ยั่งยืน ผู้บริโภคจะมองหาอะไรบ้าง? แน่นอนล่ะ เขาจะสนใจตั้งแต่ต้นทาง สินค้าตัวนี้ ผลิตที่ไหน จากอะไร ใครเป็นผู้ผลิต ใช้แรงงานอย่างกดขี่หรือไม่ อายุการใช้งานยาวนานแค่ไหน จนกระทั่งถึงจุดที่ว่าจุดจบของสินค้าชิ้นนี้หล่ะ จะไปอยู่ที่ไหน? สิ้นสุดที่พื้นที่ฝังกลบของประเทศหรือถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ทำอะไรได้บ้าง ฉะนั้นแฟชั่นที่ยั่งยืนจะไม่ใช่เพียงการมองแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก หรือความงามที่ฉาบฉวยอีกต่อไป


    เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการธุรกิจเสื้อผ้าแต่ผู้คนกลับละเลยที่จะใช้ความสนใจเพราะว่าทุนนิยม กำไร ขาดทุน ยอดขาย มันค้ำคอ แต่เนื่องด้วยตอนนี้สหประชาชาติ (United Nations) ได้ออกมายื่น “ใบแดง” หรือ A red code for humanity ให้กับมนุษยชาติแล้ว พร้อมๆกับวิกฤตการณ์โควิดที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดแบบพลิกฝ่ามือ มันก็คงเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่ ที่นายทุนทั้งหลายควรปรับความคิดเรื่องผลกำไรและให้ความสนใจกับความเป็นไปของโลกใบนี้ โดยผลิตส้นค้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แรงงาน และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

    รู้หรือไม่?

    อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างมลพิษสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองลงมาจากอุสาหกรรมน้ำมัน

    ในการย้อมผ้าและfinishingผ้า (หลังย้อม) ต้องใช้น้ำสะอาดถึง 21 ล้านล้านแกลลอนต่อปี

    การผลิตกางเกงยีนส์หนึ่งตัวใช้น้ำสะอาดถึง 7500 ลิตร นับตั้งแต่กระบวนการปลูกต้นฝ้ายจนกระทั่งสินค้าพร้อมวางขาย

    นี่ยังไม่นับรวมผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ เช่น Nylon Spandex ที่สร้างมลพิษทางน้ำเพราะเศษขุยผ้าเจือปนในน้ำในระหว่างการซักและการสวมใส่และมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการขนส่งสินค้าอีก เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสายป่านที่ยาวยืดจึงเป็นเรื่องง่ายมากหากผู้ผลิตจะปล่อยปะละเลย ฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังสัญญาณเตือนจากวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมนี้คือ เราหวังจะเห็นผู้บริโภคที่จับตาดูการผลิตทุกขั้นตอน และผู้ผลิตที่ใส่ใจในรายละเอียดและเอาจริงเอาจังที่จะถนอมสิ่งแวดล้อมไว้ให้กับคนรุ่นหลัง



    โมเดลธุรกิจแฟชั่นแบบยั่งยืนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

    หลักธุรกิจแฟชั่นหมุนเวียน คือการพูดถึงสินค้าตัวหนึ่งเป็นวัฏจักรแทนที่จะพูดเป็นเส้นตรง ผู้ผลิตจะต้องทำงานหนักขึ้นจากเดิมที่เคยผลักภาระให้กับผู้บริโภคในการจัดการสินค้าหลังเสร็จสิ้นการขาย พวกเขาจะต้องตอบผู้บริโภคได้ว่าอายุการใช้งานของสินค้าชิ้นนี้นานเท่าไหร่ สามารถนำไปหมุนเวียนทำเป็นอะไรได้ และสินค้าชิ้นนี้จะสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างตลอดการใช้งาน ซึ่งหลักการนี้จะเกี่ยวโยงกับ zero-waste management ที่พูดถึงการบริหารจัดการยังไงให้ขยะเป็นศูนย์ ความท้าทายคือเราจะทำยังไงที่จะใช้ประโยชน์จากของที่มีอยู่ได้สูงสุดโดยที่ไม่ต้องผลิตของใหม่


    การ Upcycle Clothing นำสินค้าแฟชั่นที่ไม่ใช้แล้วมาพัฒนาให้เป็นสินค้าใหม่

    หนึ่งในวิธีการพัฒนาสินค้าแฟชั่นให้ยั่งยืน นอกจากการขายเสื้อผ้ามือสองหรือปล่อยให้เช่าแล้วนั้น อีกวิธีที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตคือการ Upcycling ผ้าหรือวัตถุดิบต่างๆที่ไม่ได้ใช้แล้วให้กลายเป็นสินค้าใหม่เพื่อสร้างคุณค่าให้กับมัน โดยที่ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องสั่งผลิตวัตถุดิบหรือย้อมผ้าใหม่ ช่วยลดการสร้างมลภาวะ และยังช่วยหมุนเวียนสิ่งที่อยู่ในระบบให้มีประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งการ Upcycling เองได้รับความสนใจไม่น้อยในหมู่ดีไซน์เนอร์ชาวไทยและนักธุรกิจรายย่อย

    ร้านเสื้อผ้าขนาดย่อมอย่าง A Kind of Eden (AKOE) ระบุชัดเจนในรายละเอียดสินค้าว่าใช้ผ้า Deadstock ซึ่งหมายถึงสินค้าชินนี้ผลิตจากผ้าค้างสต็อกที่สร้างความพิเศษในแง่ที่ว่า เราจะไม่สามารถหาผ้าลายนี้ได้จากที่ไหนอีกเนื่องจากไม่มีผลิตแล้ว และมีจำนวนจำกัดเท่าที่เหลือค้างในสต็อกเท่านั้น ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วได้อย่างชาญฉลาด ทางร้านได้รับซื้อผ้าค้างสต็อกมาประยุกต์เป็นสินค้าหลากประเภทเช่น เสื้อ กระโปรง ชุดเดรส กระเป๋า และอื่นๆ ซึ่งมีดีไซน์ที่น่ารักทันสมัย

    นอกจากนั้นแล้วยังมีกลุ่มธุรกิจแฟชั่นแบบใหม่น่าสนใจที่คอยให้ความช่วยเหลือครบวงจรเรื่อง Upcycling ที่พร้อมส่งต่อตัดเย็บให้เสร็จถ้าต้องการอย่าง Moreloop โดยที่ในขั้นต้นถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะขนาดย่อมหรือขนาดใหญ่ เราสามารถส่งต่อของคงคลังไปให้ธุรกิจอย่าง Moreloop เพื่อที่เขาจะนำของคงคลังของเรานั้นไปวางขายหรือแปรสภาพให้กลายเป็นสิ่งของมีค่าอื่นๆเพื่อวางขายต่อไป


    ทำ supply chain ให้โปร่งใส

    อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเน้นเสาะหาแหล่งค่าแรงราคาถูกและเน้นใช้ฐานผลิตในประเทศด้อยพัฒนาเพื่อนำสินค้ามาขายเป็น Fast Fashion อย่างฉาบฉวยตามฤดูกาลต่างๆ สายป่านการผลิตแบบนี้ได้แลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและลดทอนชีวิตของผู้คนนับแสนชีวิต มลพิษทางน้ำที่เกิดจากการย้อมผ้าให้ทันตามฤดูกาลและแบรนด์คู่แข่งอื่นๆ มลพิษทางอากาศจากการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ และแรงงานนับหมื่นชีวิตที่ถูกกดค่าแรงและใช้งานอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่นายทุนทั้งหลายเลือกมองข้าม และเป็นเบื้องหลังอันเน่าเฟะของภาพสวยหรูบนรันเวย์แฟชั่นโชว์และความงามฉาบฉวยบนหน้าฟีต Instagram ที่ดึงดูดหลายๆคน

    แบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์เลือกใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งนอกจากเอาไว้ใช้ตรวจสอบว่าสินค้าเป็นของแท้หรือไม่สำหรับแบรนด์ luxury เช่น Louis Vuitton แล้วนั้น เทคโนโลยีนี้ยังช่วยสงเสริมความโปร่งใสของธุรกิจ supply chain อีกด้วยเพราะผู้บริโภคสามารถเข้าตรวจสอบได้ทุกกระบวนขั้นตอนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การเลือกใช้เทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ที่สนับสนุนการทำธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างจริงจังและโปร่งใสและส่งเสริมให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนั้นแล้วการย้ายถิ่นฐานการผลิต หรือแบ่งสัดส่วนฐานการผลิตส่วนหนึ่งกลับมาที่ประเทศต้นทาง และการลดการผลิตสินค้า Collection ตามฤดูกาลก็ถือเป็น Big Move ที่น่าสนใจ ฉะนั้น มันพอจะเป็นไปได้ไหมที่นายทุนจะหันมาใช้ฐานการผลิตในประเทศแทนในสัดส่วนที่พอจะเป็นไปได้ และลดการผลิตเสื้อผ้า fast fashion เพื่อช่วยยืดอายุของโลกใบนี้ มนุษย์คนหนึ่งจำต้องบริโภคเสื้อผ้าซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในชีวิตนึงมากมายสักเท่าไหร่กัน ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่โรคระบาดกำลังรุมเร้าโลกเราอยู่ขณะนี้หมู่มวลมนุษยชาติได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ความสำคัญจริงๆของชีวิตที่ไม่ได้ออกไปไหน สิ่งที่จำเป็นจริงๆต่อการดำรงชีวิตคืออะไร หวังว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดบางอย่างและช่วยลดความหรูหราฟู่ฟ่าอันจอมปลอมของมนุษย์ลงได้บ้าง


    Reference:

    https://edition.cnn.com/style/article/dyeing-pollution-fashion-intl-hnk-dst-sept/index.html
    https://www.commonobjective.co/article/what-is-circular-fashion
    https://adaybulletin.com/know-fashion-matters-the-politics-of-fashion-colonialism-and-sustainability-paradox/47286
    https://wwd.com/fashion-news/designer-luxury/will-coronavirus-reduce-fashion-seasons-collections-1203549445/
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in