เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Green at heartAnotherme
เรื่องของฝนในเมือง: Urban water cycle
  • ในเมืองใหญ่ "ฝน" ตกลงมาแล้วไปไหน?

    คำถามง่ายๆที่จู่ๆเราก็อยากหาคำตอบ เนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ช่วงนี้เราจึงเห็นข่าวน้ำท่วมในหลายประเทศไม่เว้นแต่ละวันเพราะต้องรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว ประเด็นที่ว่ากรุงเทพจะจมบาดาลในอีก 30-50 ปีจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้งในสังคมออนไลน์ 

    บทความนี้จะพูดถึงเส้นทางของน้ำฝนและสิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเองเพื่อช่วยระบบการระบายน้ำในกรุงเทพมหานครให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม) และอาจช่วยถ่วงเวลาให้กรุงเทพจมน้ำช้าไปอีกสัก 1-2 นาที

    ปัญหาซ้ำซากที่มาพร้อมกับฝนตกในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นน้ำท่วม เพราะแทบทุกครั้งที่ฝนตกหนักภาพชินตาในเมืองกรุงแห่งนี้คือประชาชนก่นด่ากันจนติดเทรนทวิต วลีติดปากหลังฝนก็คงไม่พ้น “น้ำท่วมอีกแล้ว” ผู้ใช้รถใช้ถนนก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องขับรถลุยน้ำที่ท่วมขังบนท้องถนนหวิดเครื่องดับแหล่ไม่ดับแหล่ คนเดินถนนก็ไม่แพ้ทั้งน้ำแจ๊ะจากฟุตบาธ ทั้งน้ำขังบนถนน ต้องยกกางเกงหนีน้ำเสี่ยงฮ่องกงฟุตกันร่ำไป 

    ภาพจาก Posttoday

    สรุปฝนตกแล้วไปไหน

    การศึกษาของ Fisrwg 1998 ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของน้ำฝนหลังตกลงมาสู่พื้น 55% จะไหลไปตามพื้นผิว 30% ระเหยเป็นไอน้ำ 10% ซึมลงดินตื้น และ 5% ซึมลงใต้ดินลึก ถ้าเป็นสมัยก่อนที่สังคมเมืองยังไม่ขยับขยายอย่างเช่นทุกวันนี้ พื้นที่สีเขียวยังคงเพียงพอต่อสัดส่วนของประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองกรุง เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะไหลซึมลงดิน กลายเป็นความชื้นในดินชั้นตื้น ถ้าซึมลึกลงไปก็จะถูกเก็บไว้เป็นน้ำใต้ดิน บางส่วนอาจไหลลงหนองน้ำ คูคลอง และไหลออกแม่น้ำตามธรรมชาติ 

    แต่เมื่อพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นถนน ตึกออฟฟิศ คอนโด ที่ทำจากคอนกรีต ปูน ยางมะตอย ซึ่งเป็นวัสดุขวางกั้นการซึมของน้ำ น้ำที่เคยระบายลงดินได้ก็ไร้ที่ไปและเกิดการท่วมขังขึ้นในบริเวณพื้นที่ต่างๆ ฉะนั้นตามถนน ทางด่วน ตึกต่างๆจึงต้องมีท่อระบายน้ำคอยรองรับและระบายน้ำฝนลงสู่ท่อระบายน้ำของกทม.เพื่อไปผ่านการบำบัดและปล่อยลงสู่แม่น้ำหรือคูคลองเป็นน้ำสะอาดต่อไป 

    เนื่องจากพื้นที่ของกรุงเทพอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง นอกจากการระบายน้ำแบบการไหลตามธรรมชาติ (Gravity Flow) อีกวิธีที่หน่วยงานกทม.ทำมาตลอดคือเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

    ภาพจาก National Geographic

    เราสามารถทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    กำจัดขยะ

    สาเหตุที่น้ำท่วมขังหรือการระบายเป็นไปได้อย่างล่าช้าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล้มเหลวในการจัดการขยะอย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่อุดตันทางเดินน้ำนั้นไม่ใช่แค่เพราะน้ำทะเลหนุนหรือกรุงเทพอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่เศษขยะ ไขมันและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่อุดตันอยู่ตามท่อระบายน้ำนั้นขวางกั้นไม่ให้น้ำไหลผ่านได้อย่างที่ควรจะเป็น

    เพราะงั้นสิ่งที่ประชาชนตัวเล็กๆอย่างเราพอจะทำได้คือ แยกขยะและลดการสร้างขยะ บ้านเรือนเวลาสร้างควรต้องติดถังดักไขมันและเศษอาหารเพื่อป้องกันการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆลงสู่ท่อระบายน้ำ ร้านอาหารไม่ควรเทน้ำแกงหรือเศษอาหารต่างๆลงสู่ท่อระบายน้ำของกทม. เศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานสามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ย นำไปเป็นอาหารให้สัตว์จรจัด และสามารถนำไปแปรรูปเป็นสิ่งอื่นๆได้ ซึ่งในบทความต่อไปจะมาพูดถึงเรื่องการจัดการขยะอาหาร (Food Waste Management) อย่างละเอียดอีกครั้ง 

    นอกจากนั้นพื้นฐานเลยคือแล้วควรทิ้งขยะให้ลงถัง ไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด ถ้าในบริเวณบ้านปลูกต้นไม้เยอะเราควรช่วยเก็บกวาดในบริเวณบ้านและทิ้งลงถุงดำให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันขยะไม่ให้ไหลไปอุดปากท่อหรือในท่อเวลาฝนตก

    ภาพจาก twitter

    เพิ่มพื้นที่สีเขียว

    ปัจจุบันกรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวอยู่เพียง 6.99 ตร.ม.ต่อ 1 คน (อัพเดทปี 2020) ซึ่งตามหลักสากลกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เมืองควรมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตร.ม. ต่อ 1 คน ฉะนั้นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยเพิ่มพื้นที่รับน้ำอีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากสวนสาธารณะแล้ว ประชาชนอย่างเราๆสามารถช่วยเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าหน้าบ้าน (ในกรณีที่มีพื้นที่เพียงพอและมีทุนทรัพย์)ให้กลายเป็นสวนเล็กๆเพื่อช่วยรองรับน้ำฝน หรือการสร้างหลังคาเขียว (Green Roof) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับโครงการคอนโดหรือตึกออฟฟิศให้น้ำฝนมีทางซึมลงดินแทนการไหลไปตามถนนและลงท่อระบายน้ำเพียงอย่างเดียว นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มทางไปให้กับน้ำฝนแล้วยังช่วยบรรเทาปัญหาเกาะความร้อนในเมือง(Urban Heat) ควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ในบริเวณนั้นไม่ให้สูงจนเกินไปอีกด้วย


    อ้างอิง:
    http://www.land.arch.chula.ac.th/pdf/greenroof.pdf
    http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/01/blog-post.html
    https://urbancreature.co/bangkok-sewer-rainy/
    https://www.komchadluek.net/news/regional/437876
    https://www.nationalgeographic.org/photo/urban-water-cycle/ https://www.posttoday.com/social/local/227902

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in