เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Communication for Rights 2023nitadecu.exh
แง่มุมในสังคมไทยกับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และแนวคิดเฟมินิสต์
  • เขียน ปุญญาภา ผสมทรัพย์
    ประเภท บทความ

    “สังคมไทยเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว” เป็นคําที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่มาเบื้องหลังความเชื่อของใครหลายคนว่าสังคมไทยได้ก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมทางเพศไปแล้วคืออะไร คือการเห็นว่ากลุ่มคนเพศหลากหลายถูกยอมรับมาก ได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายที่เท่าเทียมจริง ๆ หรือแค่การได้เห็นสื่อหยิบยกความสัมพันธ์ของคนเหล่านั้นออกไปสู่จอโทรทัศน์ก็สามรถทําให้หลายคนเชื่อได้แล้วว่าสังคมไทยเปิดกว้างอย่างแท้จริง

    เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลายอยู่ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ หรือแม้แต่การผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของภาคประชาชน ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจ แต่ความเข้าใจของคนจํานวนมากหนักแน่นมากพอหรือเข้มข้นมากพอหรือยัง สุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ยังคงมีความเข้าใจแบบผิวเผินเพราะไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับชีวิตของตนมากพอหรือเปล่า แล้วสังคมของเราจะหยุดนิ่งอยู่เพียงเท่านี้เองเหรอ ?

    ภาพลักษณ์ของคนเพศหลากหลายในสื่อ

    สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในสื่อมาโดยตลอดคือการสร้างตัวตนแบบเหมารวมของกลุ่มคนขึ้นมา เช่น นางร้ายจะต้องแต่งตัวเรียบร้อยตามค่านิยมของสังคมซึ่งตรงข้ามกับนางเอก คนต่างจังหวัดจะต้องมีรูปลักษณ์ที่ไม่ตรงมาตรฐานความสวยงามและด้อยกว่าคนในเมือง อาจกล่าวได้ว่าการประกอบสร้างที่สื่อผลิตขึ้นมีผลต่อความเข้าใจและการมองโลกของผู้คน เช่นกันในสื่อปัจจุบันที่มักจะหยิบยกเองราวความสัมพันธ์ของกลุ่มคนเพศหลากหลายขึ้นมาเป็นเรื่องราวหลักของซีรีส์จํานวนมาก ซึ่งเรารู้จักในชื่อซีรีส์วายนั่นเอง สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราทุกคนในวันนี้คือบทละครที่พยายามนําเสนอเรื่องราวความรักของตัวละครเพื่อสนองความต้องการของผู้ชมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า ปัจจุบันซีรีส์วายมีตลาดที่ใหญ่มากในประเทศ แต่คําถามคือภาพเหล่านั้นที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์เป็นความจริงแค่ไหน แน่นอนว่าละคไม่จําเป็นจะต้องสร้างจากเรื่องจริงเสมอไป แต่เรากําลังพูดถึงการบอกกับคนดูว่าความรักของกลุ่มคนเพศหลากหลาย (ซึ่งโดยส่วนมากมักเป็นคู่เกย์) จะต้องเป็นแบบไหนและจะต้องเป็นไปในทางเดียวกันด้วย ความน่าเศร้าอย่างแรกที่ปรากฏขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมซีรีส์วายเริ่มต้นคือการสร้างวลีที่ว่า “ผมไม่ได้ชอบผู้ชายทุกคนบนโลก แต่ชอบนายแค่คนเดียว” ไม่ว่าจะมีผู้ชมกี่คนก็ตามที่รู้สึกถึงความโรแมนติกในประโยคนี้ แต่ความจริงก็คือ มันแฝงไปด้วยแนวคิดเหยียดเพศและแสดงให้เห็นว่าค่านิยมของการเป็น “คนตรงเพศ” ยังไม่เคยห่างหายจากสังคมไปไหน

    จริงอยู่ว่าในปัจจุบันคนจํานวนมากในสังคม รวมถึงผู้ชมทั้งหลายจะมีความตระหนักรู้มากขึ้น แต่ปัญหาการผลิตซ้ำแนวคิดเหยียดเพศได้หายไปแล้วจริงไหม เพราะดูเหมือนว่าการผลิตซีรีส์วายแบบเดิม ๆ ยังคงอยู่และดําเนินต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แม้จะมีซีรีส์เรื่องใหม่ที่มีปัญหาขึ้นมาอีก คนพูดถึงกันอีกครั้ง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จะถูกลืมเลือนจนกว่าจะเกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา เป็นธรรมดาในโลกทุนนิยมที่หากมีสิ่งที่ขายได้ก็ต้องถูกผลิตออกมาขายเพื่อให้ได้ผลกําไร ไม่ว่าสิ่งนั้นจะทําร้ายคนกลุ่มที่ถูกหยิบยืมตัวตนมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วเราก็จะได้นักแสดงซึ่งเป็นคนตรงเพศเหมือนเดิม ขายความจิ้นทั้งในจอและนอกจอเพื่อผู้เสพกลุ่มเดิม ๆ แล้วพื้นที่ของกลุ่มคนเพศหลากหลายอยู่ตรงไหนท่ามกลางวงการที่ฉกฉวยอัตลักษณ์ของพวกเขาไปเช่นนี้ แม้แต่ในความคิดของคนที่เสพสื่อเหล่านี้ ได้มีสักส่วนเสี้ยวหนึ่งไหมที่คิดถึงกลุ่มคนที่อยูE่บื้องหลังเรื่องราวนั้นจริง ๆ

    ลําดับขั้นของการยอมรับ

    เมื่อเราพูดว่ากลุ่มคนเพศหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย ไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหนก็จะถูกยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน จริงไหม ? เมื่อเรายังคงหนีพ้นจากอคติและการเลือกปฏิบัติไม่ได้ เราก็ยังคงหนีจากความไม่เท่าเทียมแม้กระทั่งในการเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลายด้วยกันไม่ได้เช่นกัน เริ่มแรกที่สังคมได้รู้จักรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย กลุ่มที่ได้รับการมองเห็นอย่างชัดเจนคงจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบเพศเดียวกัน หรือ Homosexual ซึ่งตรงข้ามกับ Heterosexual ซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมเรื่อยมา แต่ก็เหมือนกับทุกสิ่งอย่างบนโลกที่ไม่ได้มีเพียงขั้วตรงข้าม ในร่มของความหลากหลายยังมีกลุ่มคนที่เป็น Bisexual อยู่ด้วย แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะถูกมองข้ามไปมากกว่าคนอื่น บ้างก็ถูกเข้าใจว่าเป็นพวกที่สับสนในตัวเองและเลือกไม่ได้ หรือการถูกกล่าวหาว่าไม่มีอยู่จริงและเป็นเพียงความสับสนชั่วครู่เท่านั้น

    ทุกคนล้วนเจ็บปวดจากอคติบางอย่างที่สังคมได้สร้างขึ้น และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ การถูกสังคมพร่ําบอกอยู่ตลอดว่าสิ่งที่เราเป็นไม่อาจยอมรับได้แค่ไหน ยิ่งสร้างความหวาดกลัวต่อการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเองมากเท่านั้น และในบางครั้งคนรอบข้างไม่ได้บอกกับเราตรง ๆ แต่เมื่อมนุษย์เราอยู่ในสังคมที่ปลูกฝังความคิดทั้งชีวิตให้เชื่อในโลกแบบหนึ่ง สิ่งที่แปลกปลอมจากนั้นก็จะถูกมองอย่างมีอคติได้ง่ายดายเสียจนคาดไม่ถึง ชายคนหนึ่ง come out กับแฟนสาวว่าตนเป็น Bisexual ทําให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเศร้าเสียใจขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เชื่อว่าตนเป็นพวกเหยียดเพศแต่อย่างใด อาจมีคําถามว่า แล้วฝ่ายหญิงเศร้าเสียใจไม่ได้เลยเหรอ ? แต่สิ่งที่ควรถามมากกว่าก็คือทําไมจึงเสียใจต่างหาก เศร้าเสียใจเพราะคนรักไม่ได้เป็นอย่างที่ตนคิด เศร้าเสียใจเพราะเชื่อว่าแฟนจะไปชอบผู้ชายทั้ง ๆ ที่ฝ่ายชายบอกว่าตัวเองเป็น Bisexual ซึ่งเป็นการมองข้ามอัตลักษณ์ของ Bisexual อย่างไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า ? แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลแบบไหนก็เป็นเหตุเพียงพอให้กลับไปคิดทบทวนความคิดภายในของตนได้แล้วว่ายังสลัดแนวคิดเหยียดเพศออกไปไม่ได้หรือเปล่า

    เราเชื่อโดยส่วนตัวว่า คนจํานวนมากในสังคมไทยยังคงไม่รู้ตัวเพราะไม่เคยลองสํารวจเข้าไปในความคิดของตัวเองอย่างจริงจัง และมันไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เพียงแต่เราจะไม่สามารถสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงได้เลย หากทุกคนไม่ขุดรากถอนโคนความคิดของตนเองเสียก่อน

    มุมมองในระดับบุคคลและการตรวจสอบความคิดเหยียดเพศในจิตใจ
    และทําไมเราทุกคนจึงควรเป็นเฟมินิสต์

    เมื่อพูดถึงแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาพูดถึง เฟมินิสต์ แนวคิดที่ทางสังคมเข้มข้น ทรงพลัง และถูกเกลียดชังมากกว่าที่ควรได้รับอยู่เสมอ Bell Hooks ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเธอว่า “เฟมินิสต์เกิดจากการสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ตัวตนโดยกําเนิด” แน่นอนว่าในโลกที่ถูกครอบงําด้วยระบอบชายเป็นใหญ่เสมอมา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะมีแนวคิดแบบเฟมินิสต์ติดตัวมาแต่เกิด แต่ความคิดแบบเฟมินิสต์กลับเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ต้องการอย่างถึงที่สุด การทําความเข้าใจเฟมินิสต์ต้องเริ่มจากการหลุดพ้นจากความเชื่อที่บอกว่าเฟมินิสต์เป็นพวกเกลียดผู้ชายเสียก่อน เมื่อเราลดอคติที่เกิดจากภาพจําที่ไม่เป็นจริงได้แล้ว แนวคิดเฟมินิสต์จึงจะสามารถนําเราไปยังการสํารวจจิตใจของตัวเองได้อย่างเปิดกว้างและเป็นธรรมมากพอให้เราเข้าใจว่าทําไมนี่จึงเป็นสิ่งสําคัญ

    เฟมินิสต์ คือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อยุติลัทธิเหยียดเพศ
    การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศและการกดขี่ทางเพศ
    -- Bell Hooks

    ขบวนการเฟมินิสต์ไม่ใช่ขบวนการเพื่อผู้หญิงเพียงเท่านั้น และไม่ใช่ขบวนการเพื่อต่อต้านผู้ชายเพียงเท่านั้นด้วยเช่นกัน แต่คือแนวคิดของการแก้ไขระบบโครงสร้างทางสังคมให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นแก่คนทุกเพศและทุกชนชั้น ไม่มีทางไหนเลยที่เฟมินิสต์จะไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะการแบ่งแยกทางชนชั้นเป็นสิ่งสําคัญที่ทําให้เกิดการทับซ้อนของความเป็นคนชายขอบในสังคมมากขึ้นไปอีก เฟมินิสต์ซึ่งเป็นคนผิวขาวไม่เข้าใจว่าเฟมินิสต์ที่เป็นคนผิวดําและคนผิวสีต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงกว่า แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือคนขาวมักจะได้เป็นผู้นําขบวนเสมอ ดังนั้นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้หญิงได้มีทุกอย่างเช่นผู้ชายแท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นผลดีกับขบวนการเฟมินิสต์เท่าไรนัก การพอใจกับเพียงแค่ค่าแรงที่เท่ากันในผู้หญิงและชายในระดับสังคมเดียวกันเป็นความคิดที่เป็นมิตรกับระบอบชายเป็นใหญ่และผู้มีอํานาจมากเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงควรจะเป็นมิตรกับเหล่าผู้ถูกกดขี่ในสังคมเสียมากกว่า

    เฟมินิสต์เป็นของทุกคนและเพื่อทุกคน ดังนั้นจึงมีเพื่อนกลุ่มคนเพศหลากหลายด้วย สิ่งที่ควรจะดําเนินต่อไปคือการหันหน้าเข้าหากันเพื่อแบ่งปันความเจ็บปวด แบ่งปันประสบการณ์แห่งการถูกเลือกปฏิบัติซึ่งพวกเราได้รับทั้ง ๆ ที่ไม่สมควร และการทําเช่นนั้นเองจะทําให้เราช่วยสลายแนวคิดเหยียดเพศที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวตนของเราไปได้ ทุกอย่างอาจฟังดูง่ายดายและสวยงาม แต่หากแนวคิดเฟมินิสต์ยังไม่ถูกเผยแพร่เข้าสู่จิตใจของคนในสังคมมากพอ เราก็จะไม่สามารถสร้างพื้นที่ซึ่งความเท่าเทียมงอกงามออกมาได้เลย ความจริงแล้วเป็นเรื่องยากมากในสังคมจริง ๆ ต่างหาก เพราะเฟมินิสต์จะต้องต่อต้านทั้งลัทธิเหยียดเพศและการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีอํานาจ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยของสังคมหนึ่ง ๆ ด้วย เพราะหากผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนั้นไม่มีสิทธิ์ได้ร่วมกําหนดกฎเกณฑ์ทางสังคม แล้วสังคมนั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่มได้อย่างไร จุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทยคือการผลักดันกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น รากฐานสําคัญที่จะต้องแข็งแรงเพื่อให้ก่อร่างเป็นสังคมที่ดีก็คือพื้นฐานความคิดของคนในสังคมทุกคน แนวคิดเฟมินิสต์อยู่ในทุกที่และสมควรจะอยู่ในจิตใจของคนทุกคน

    ทุกย่างก้าวของขบวนการเคลื่อนไหวที่รณรงค์และสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเป็นประกายแห่งความหวังที่บ่งบอกว่ายังมีความเป็นไปได้ที่สังคมนี้จะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ในหลายครั้งที่ได้มองเห็นการบอกเล่าถ้อยคําที่แอบแฝงไปด้วยการเหยียดเพศทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวของคนพร้อมกับมีผู้สนับสนุนสิ่งนั้นอยู่เป็นจํานวนมาก ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติให้เราว่าสังคมไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่ตรงนี้ อาจยังต้องใช้ความพยายามและเวลาอีกมากเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมในระดับฐานราก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรพยายาม

    รายการอ้างอิง
    Bell Hooks, เฟมินิสม์เป็นของทุกคน การเมืองแห่งความมุ่งมาดปรารถนา (นนทบุรี: สํานักพิมพ์ ภาพพิมพ์, 2566).
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in