เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Communication for Rights 2023nitadecu.exh
คุกคามทางเพศโรงเรียน ปัญหาเรื้อรังที่ต้องมีทางออก
  • เขียน ธัญชนก เหล่าวิเศษกุล, ณิชมน อินสุข

    ประเภท บทความ


    การคุกคามทางเพศในสถานศึกษา ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมของโรงเรียนไทยเด็กมัธยมจำนวนไม่น้อยต้อง เผชิญกับปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงเพราะเรื่องเพศนั้นยังเป็นเรื่องอ่อนไหวและไม่สามารถพูดได้อย่างโจ่งแจ้ง  การคุกคามทางเพศที่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยบุคลากรหรือครูภายในสถานศึกษา


    จากสถิติการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนระหว่าง พ.ศ.2556-2560 จากศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือ นักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเด็กนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดโดยบุคลากรหรือครูในโรงเรียน พ.ศ 2556 จำนวน 21 ราย พ.ศ 2557 จำนวน 7 ราย พ.ศ 2558 จำนวน 5 ราย พ.ศ 2559 จำนวน 12 ราย และ พ.ศ 2560 จำนวน 8 ราย


    แต่สถิติคงไม่ใช่ทั้งหมดของความจริงที่จะทำให้เด็กซักคนกล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเรื่องนี้ก็ถูก  ‘อำนาจ’ กดเอาไว้ไม่ให้ปริปากและยังมีมิติเพศ ทั้งภาพลักษณ์โรงเรียน กฎระเบียบที่ไม่รัดกุม ความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศที่ต่างเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการคุกคามทั้งสิ้น


    ‘ชเนตตี ทินนาม’ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ มนุษยชนโดยเฉพาะเรื่องเพศ ได้อธิบายว่า เนื่องจากครูมีอำนาจในการที่จะให้เรียนจบ เรียนผ่านไม่ผ่าน ตกสอบตก เราจะพบระบบอำนาจซ้อนทับอยู่มาก โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ที่สะท้อนระบบอำนาจนิยม บ่มเพาะให้ผู้คนใช้อำนาจในนามของการเป็นครูผู้ที่มีความรู้สูงกว่าหรือในนามของผู้อาวุโส โรงเรียนก็ย่อมที่จะมีอำนาจเหนือเด็ก เพราะเป็นระบบคิดแบบอำนาจนิยมอันเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ในระบบการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งระบบอำนาจนั้นผูกโยงกับระบบปิตาธิปไตยอย่างใกล้ชิด และการคุกคามทางเพศของผู้กระทำเป็นผลพวงของโครงสร้างปิตาธิปไตยที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองสามารถที่จะคุกคามทางเพศคนอื่นได้ เพราะผู้ชายมีทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาว่าตนเป็นเพศที่สามารถที่จะใช้ความเป็นชายไปล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ทำให้เวลาที่ผู้หญิงปฏิเสธ ผู้ชายจะไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้น คือเจตนารมณ์ของผู้หญิงที่บอกว่า ‘ฉันไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ’ ซึ่งเป็นวิธีการตีกรอบและสอนเด็กผู้ชายที่ผิดพลาดมาตลอด


    The Hug Project Thailand หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเด็กได้ให้ความคิดเห็นว่า ร่างกายเป็น ของเรา เนื้อตัวร่างกายเรา เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ผู้อื่นมาแตะต้องหลายอย่าง ทว่าในวัฒนธรรมไทยกลับสอนว่าผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าและการละเมิดทางเพศเป็นการสะท้อนความแตกต่างเชิงอำนาจ หากความจริงเด็กมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง แต่เด็กหลายคนไม่สามารถขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง สิ่งที่เขาต้องการก็คือต้องการผู้ใหญ่เข้าไปแทรกแซง


    ครูฝึกสอน ‘เอ’ (นามสมมติ) ได้มีโอกาสฝึกสอนโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งได้เล่าเรื่องถึงเหตุการณ์การ  คุกคามทางเพศว่ามีครูวิทยาศาสตร์ที่บังคับให้นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 ช่วยตัวเอง และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแม้มีความพยายามที่ครูท่านอื่น ๆ พยายามยื่นเรื่องเพื่อหาบทลงโทษให้แก่ครูวิทยาศาสตร์ท่านนี้ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องขาดหลักฐานภาพและเสียง รวมถึงครูวิทยาศาสตร์ท่านนี้เป็นครูที่ทำงานในโรงเรียนมานาน มีอำนาจ มีคนหนุนหลัง จึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครสามารถเอาผิดครูท่านนี้ได้


    ครู ‘ไก่’ (นามสมมติ) เคยพบเจอหลักฐานกรณีครูมัธยมชายกับนักเรียนหญิงมีความสัมพันธ์กันแบบกึ่ง  สมยอมหรือหลอกล่อ จากข้อความแชทในโซเชียลมีเดียส่วนตัว ทางครูไก่คิดว่ากรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงเรียน จึงคิดไตร่ตรองและรายงานไปยังฝ่ายบริหารตามขั้นตอน โดยไม่เรื่องเผยแพร่ออกไปเพราะจะไม่เป็นผลดีกับนักเรียน เมื่อเรื่องไปถึงฝ่ายบริหาร บทลงโทษคือการไล่ครูชายผู้นั้นออกเพื่อไม่ให้เป็นเรื่องใหญ่


    ในขณะที่ทางฝั่ง The HUG Project Thailand โดย คุณวีรวรรณ มอสบี้ ผู้อำนวยการโครงการ ได้เล่าถึง ปัญหาในกระบวนการทำงาน เมื่อเหตุเกิดในสถานที่ปิดทำให้ขาดหลักฐานที่มีผลต่อการสู้คดี อีกทั้งโรงเรียนส่วน ใหญ่จะหวงหน้าตาโรงเรียน ภาพลักษณ์ การดำเนินการบางเคสจึงจบที่ไม่สามารถทำอะไรต่อได้เพราะขาดความ ร่วมมือจากหลายฝ่าย


    ‘อันนา’ จากเพจนักเรียนเลว ได้ร่วมพูดคุยถึงวิธีการป้องกันการเกิดเหตุคุกคามทางเพศในสถานศึกษา  จากประสบการณ์ที่ทางนักเรียนเลวได้ให้คำปรึกษาเคสการล่วงละเมิดทางเพศไปยังองค์กรที่สามารถช่วยเหลือได้ อันนาได้แนะแนวทางที่จะสามารถป้องกันปัญหาการคุกคามเหล่านี้ได้ด้วย ‘Child Safeguarding’ หรือ นโยบายคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก คือ มาตรการการคุ้มครองเด็กที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อตัวเด็ก ครอบคลุมหลากปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการคุกคามทางเพศเพียงอย่างเดียว ซึ่งในหลายๆ โรงเรียนนานาชาติในไทยนิยมใช้กัน โดยให้ครูและบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กต้องเซ็นยอมรับนโยบายนี้ ซึ่งอันนามองว่าเป็นนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็ก มีความครอบคลุมไปถึงระบุข้อควรทำและข้อห้ามทำ เช่น การห้ามอยู่กับเด็กตามลำพัง การเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ซึ่งสามารถป้องกันเหตุก่อนที่จะเกิดขึ้นได้จริง


    “เรื่องเด็กไม่ได้มีแค่สิทธิเด็ก 4 ประการที่เคารพแล้วจะพอ” อันนากล่าว เพราะสิทธิเด็กนี้เป็นหลักการที่ โรงเรียนในระบบการศึกษาภาคไทยยังใช้กันอยู่ แต่ยังกว้างและหละหลวมในทางปฏิบัติ การนำนโยบายคุ้มครอง สวัสดิภาพเด็ก จึงตอบโจทย์กว่า ซึ่งการมีโครงการนำร่องในกรุงเทพ ไปบ้างแล้ว 

    (อ่านต่อ https://prachatai.com/journal/2022/11/101498)


    นอกจากนี้นโยบายคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในไทยยังไม่แข็งแรงนัก เป็นเพราะทางกระทรวงก็เข้าใจว่า ตัวเองต้องมีนโยบายแต่ผู้บริหารกระทรวงไม่เข้าใจความสำคัญของนโยบายคุ้มครองเด็กทำให้ถึงแม้จะนำแนวคิดมาจากต่างประเทศแต่ไม่มีการปรับบริบทให้เข้ากับประเทศหรือกฎหมายไทย เมื่อยังไม่เข้าใจคำว่านโยบายคุ้มครองเด็กคืออะไร และนโยบายต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง ขาดการอบรมและศึกษา จึงขาดบุคลากรที่จะเข้ามาพัฒนาและปรับใช้นโยบาย


    “เนื่องจากเรื่องอำนาจนิยมภายในสถานศึกษาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมามาตรฐานของโรงเรียนหรือ มาตรฐานของครู ปกติจะไม่ค่อยมีใครเข้าไปตรวจสอบครูมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเวลาที่นักเรียนและจะรายงานเรื่องโดนคุกคามทางเพศ มักจะถูกครูกดเกรด ถูกการโบ้ยความผิด หรือว่าอาจจะถูกกลั่นแกล้งซ้ำ ๆ ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่กล้าแจ้ง” วีรวรรณกล่าว


    นอกจากนี้ วีรวรรณได้เล่าถึงความยากในการจัดการกับกรณีการคุกคามทางเพศในโรงเรียน โดยเฉพาะ ทัศนคติเหยื่อ “เวลาเราเห็นในสื่อโซเชียล เสียงจะแตกถูกไหม? เวลาเด็กคนหนึ่งลุกขึ้นออกมาบอกว่าเขาเป็นผู้เสียหาย เราจะได้ยินข้อความต่อมาต่อว่าคู่แตกออกเป็นสองฝ่าย ก็คือฝ่ายที่เข้าข้างผู้กระทำความผิดกับฝ่ายที่เข้าข้างนักเรียน” กลายเป็นเรื่องที่เมื่อต้องทำงานกับทัศนคติ โดยเฉพาะการคุกคามอนาจารทางเพศที่มักเกิดในสถานที่ที่มันมีแค่เพียงคนสองคนเท่านั้น เมื่อบุคคลที่ 3 บวกกับความสนิทสนม ทำให้ทัศนคติ ความเชื่อ เอนเอียง ไปทางผู้ก่อเหตุ ด้วยความเชื่อว่าเขาคนนั้นเป็นคนดี มีส่วนทำให้ผู้ใหญ่หรือครูไม่ได้ฟังเสียงเด็กที่ตกเป็นเหยื่อไปโดยปริยาย” 

    วีรวรรณย้ำความสำคัญที่กระทรวงต้องจัดสรรงบประมาณ จ้างเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกที่มีระดับมาตรฐาน ซึ่งควรครอบคลุมในระดับจังหวัด รวมถึงมีการจัดอบรมทั่วไปพร้อมกับให้ผู้ปกครอง เนื่องจากการออกแบบนโยบายแต่ละโรงเรียนมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน” อีกทั้งยังควรมีอบรม Child-forensic Interview หรือ การสัมภาษณ์เด็กในเชิงคดี เป็นการอบรมว่าคำถามไหนควรถามไม่ควรถาม วิธีการถามใดที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากผู้เสียหายเป็นผู้ที่ว่าได้รับผลกระทบเขาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นผู้เสียหายสิ่งแรกที่จะพบก็คือ การหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทำให้ในบางครั้งทำให้ต้องเล่าเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ ให้กับเจ้าหน้าที่และพบคำถามที่จะรุนแรงต่อจิตใจ ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้คำถามอาจจะต้องนุ่มนวลมากขึ้น จึงจำเป็นที่ในระดับโรงเรียนต้องมีครูแนะแนวหรือเพิ่มช่องทางการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา

    ชเนตตีเสนอแนวทางเพิ่มเติมถึงทางออกว่า สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นการแก้ไขทัศนคติของผู้กระทำผิด เนื่องจากการลงโทษไม่มีความยั่งยืนเพราะเมื่อคนเหล่านี้ลงโทษเสร็จ ผู้กระทำอาจกลับมาทำผิดอีกได้ แต่การศึกษาสามารถให้ความเข้าใจกับเขา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ตระหนักถึงคุณค่าของร่างกายของคนอื่นที่จะต้องให้ความเคารพในแง่ศักดิ์ศรี หากจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ระบบการศึกษาในไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมดโดยนำแนวคิดเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ปลูกฝังแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ ระบบการศึกษาต้องมีหลักสูตรเป็นการสอนที่สร้างการเปลี่ยนแปลง แล้วต้องมีผู้สอนที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้จริง ๆ ไม่ใช่สอนจากการแบบท่องจำผิด ๆ ถูก ๆ โดยกระทรวงต้องสร้างระบบการศึกษาแบบบูรณาการทั้งผู้เรียนผู้สอนและตำราต่าง ๆ เทคนิควิธีการสอนที่ดี ดังนั้นในเชิงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการควรจะออกนโยบายเคร่งครัดให้ทุกสถานศึกษามีนโยบายปลอดความรุนแรงทางเพศ มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ป้องกันแก้ไขและเสริมพลัง กรณีที่มีเหตุการณ์คุกคามทางเพศเกิดขึ้นและมาตรการตรงนี้ก็ต้องถูกนำไปใช้ได้จริง

    ยังมีอีกหลายช่องทางที่เมื่อเกิดเหตุการคุกคามทางเพศสามารถแจ้งเหตุเพื่อรับความช่วยเหลือในขั้นถัด ๆ ไปได้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พัฒนาระบบการแจ้งเหตุความ ใช้ชื่อว่า “MOE  Safety Center” เป็นแอพพลิชันแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยหรือหน่วยงานอิสระ เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิเพื่อนหญิง, มูลนิธิสายเด็ก รวมไปถึง The HUG Project  Thailand ที่มีเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลืออยู่

    แม้เรื่องการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่เต็มไปด้วยรูรั่วมากมายที่ต้องอุดรูรั่วแต่เมื่อความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตระหนักมากขึ้น การร่วมมือช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งการปรับแนวคิดจากต้นเหตุและการเตรียมการรับมือที่ดี และในตอนนี้ก็มีทั้งองค์กรณ์อิสระ มูลนิธิ ที่จะมาเป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหา รวมถึงการนำร่องนโยบายหรือหากมีบุคคลใกล้ชิดเรารู้เกิดเหตุการณ์คุกคามในสถานศึกษาก็สามารถติดต่อไปยังองค์กรที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศ ทำให้พื้นที่สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อนักเรียนอย่างแท้จริง

    วีรวรรณ กล่าวปิดท้าย “หลายอย่างในวัฒนธรรมไทย ที่สอนว่าผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่า แล้วกลายเป็นว่า การละเมิดทางเพศคือความแตกต่างเชิงอำนาจ บางคนอาจถือว่าฉันอายุเยอะกว่า ฉันเป็นครูเธอฉันมีอำนาจ เพราะฉะนั้นเด็กควรมีสิทธิในการที่จะปกป้องตัวเองคือเป็นเรื่องหลัก เด็กหลายคนไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่เขาต้องการก็คือต้องการผู้ใหญ่ช่วย ฉะนั้นการมีนโยบายคุ้มครองเด็กที่ดีที่เข้มแข็งของโรงเรียนมันก็จะช่วยปกป้องเด็กได้” 

    อ้างอิง 

    https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=46956 https://ops.moe.go.th/safeสถานศึกษาปลอดภัย-4-ภัยคว/ 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in