เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Communication for Rights 2023nitadecu.exh
เด็ก “เปลี่ยน” โลก สิทธิมนุษยชน เสียงจากเด็กที่ไม่เล็กอย่างตัว
  • เขียน ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา
    ประเภท เรื่องสั้น

    หากจะกล่าวว่ามีเด็กอายุ14 ปีคนหนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญในด้านสิทธิสุขภาพจิตให้แก่เด็กไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสําคัญด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย และสร้างเสริมสังคมแห่งความสุข อาจเป็นเรื่องที่หลายคนยากที่จะเชื่อ แต่นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของ 'ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา' เด็กหญิงผู้ขับเคลื่อนสิทธิให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถพบจิตแพทย์ด้วยตนเองได้

    ใช่ค่ะ ดิฉันกําลังเขียนเรื่องราวการทํางานของตัวดิฉันเอง นี่คงไม่ใช่เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่นี่คือเรื่องราวของต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเด็กทุกคนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

    แต่หากจะเล่าเรื่องราวนี้ คงต้องท้าวความไปตั้งแต่วัย 12 ปี ดิฉันเป็นเด็กคนหนึ่งที่สนใจในปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากพบว่ามีเพื่อนหลายคนที่ต้องเผชิญกับความเศร้า บางคนเลือกที่จะทําร้ายตัวเองเพื่อที่จะค้นหาทางออกของความทุกข์ที่กําลังเผชิญอยู่ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่สามารถพบจิตแพทย์ด้วยตนเองได้ เนื่องจากครอบครัวคือสาเหตุหลักของปัญหาเหล่านั้น และเมื่อตัดสินใจบอกคุณพ่อ คุณแม่เพื่อขอความช่วยเหลือในการพาไปพบ กลับได้ยินคําพูดที่ว่า 'ลูกไม่ได้เป็นบ้า' ถ้าไปหาหมอจิตคนคิดว่าลูกบ้า เขาจะนินทากันทั้งหมู่บ้านน่ะสิ' ทําให้สุดท้ายพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อยู่ดี นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เพื่อน ๆ ผู้โศกเศร้าต้องพบเจอ

    แม่ดิฉันจะเข้าใจว่าผู้ปกครองอาจมีความเชื่อบางอย่างที่ถ่ายถอดกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช แต่ดิฉันยังคงเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนที่มีปัญหาสุขภาพใจนั้นไม่ต่างจากพวกเขาเป็นไข้ หากมีปัญหา รู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว จะมีโอกาสบรรเทาอาการและรักษาให้หายได้ การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ปกครองในชั่วข้ามคืนเพื่อพาเพื่อน ๆ ไปพบจิตแพทย์อาจเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสิ่งนี้ถูกยืนยันจากเพื่อนของดิฉันคนหนึ่งที่ตัดสินใจลงมือทําร้ายตนเองอยู่หลายครั้งจนมีบาดแผลมากมาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีโอกาสได้พบจิตแพทย์แม้แต่ครั้งเดียว เพียงเพราะครอบครัวไม่ยินยอม

    ทว่าการที่เด็กไม่สามารถมีสิทธิในการพบจิตแพทย์ด้วยตนเองได้นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นการกีดกันสิทธิในการเข้าถึงการรักษา และยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กที่มีอาการป่วยทางจิตใจอีกด้วย

    หลังจากนั้นดิฉันตั้งเป้าหมายไว้ประการหนึ่ง หากว่าเราสามารถเปิดประตูบานแรกให้เพื่อน ๆ สามารถปรึกษาจิตแพทย์ และได้พบกับสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่พร้อมจะช่วยเหลือในการสื่อสารกับครอบครัวแทนในสิ่งที่เด็ก ๆ สื่อสารไม่ได้ อาจเป็นเรื่องที่ทําให้เราสามารถช่วยเหลือเพื่อนที่มีความทุกข์ใจได้มากยิ่งขึ้น และอาจสามารถช่วยลดจํานวนของเพื่อน ๆ ที่ต้องสูญเสียไป

    ญาในวัย 12 ปี อาจไม่ได้มั่นใจมากนักว่าเราจะทําสําเร็จแต่สิ่งที่ดิฉันคิดในขณะนั้นง่ายนิดเดียว 'ถ้าไม่ทําตอนนี้ ในอนาคตย้อนกลับมาคงจะเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทํา' หลังจากที่กล่าวประโยคนั้น คงเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนด้านสิทธิทางสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนของดิฉัน

    การขับเคลื่อนนี้ไม่ง่ายเสียเลย เนื่องด้วยปัญหาทางสุขภาพจิตไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเหมือนดั่งสุขภาพกาย ที่เมื่อเวลาเจ็บแล้วจะมีเลือดออก ดังนั้นการขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมและภาคราชการเข้าใจ ถึงปัญหาสุขภาพจิตจึงมีความยากไม่น้อย เพราะบางคนอาจมองว่าโรคทางสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วการมีปัญหาสุขภาพจิตนั้นแทบไม่ต่างจากการมีปัญหาสุขภาพกาย เพราะเกิดความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน ดิฉันจึงต้องศึกษาอย่างมากเกี่ยวกับสุขภาพจิต จิตวิยา และสิทธิการได้รับการรักษาของเด็กในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการประชุมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใหญ่หลากหลายภาคสวนเข้าใจถึงปัญหา และเข้าใจถึงสิทธิในการรักษาที่ต่างประเทศได้เปิดสิทธิให้เด็กสามารถพบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเอง และสามารถลดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กลงได้

    ในระหว่างที่ดิฉันอายุ 14 ปี และกําลังขับเคลื่อนสิทธิอยู่นั้น ดิฉันได้ให้คําปรึกษาและดูแลเคสที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพื่อให้เด็กที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านั้นมีความเครียดที่น้อยลง และช่วยประคับประครองอาการก่อนจะถึงวันที่สามารถพบจิตแพทย์ด้วยตนเองได้ เพราะเคสเหล่านี่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองในการพบจิตแพทย์ แม้ว่าดิฉันอาจช่วยเหลือได้ในหลาย ๆ เคส ประคับประครองจนถึงวันที่ทําการขับเคลื่อนสําเร็จ และในทุกวันนี้เคสเหล่านั้นก็ได้หยุดการรักษา กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่ทว่าก็มีเคสที่ขาดการติดต่อ เคสได้รับความรุนแรงจากคนในครอบครัว และตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงด้วยอาการโรคซึมเศร้า และโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เนื่องจากไม่อาจทนต่อความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางจิตใจได้ นี่ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ญาไม่อาจทนได้ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่เด็กและเยาวชนต้องถูกกีดกันจากการปรึกษาและการรักษาทางสุขภาพจิตเพียงแค่ผู้ปกครองของตนไม่ยินยอมจากค่านิยมเดิม ๆ ที่สังคมไทยมีต่อความเจ็บป่วยและโรคทางจิตเวช

    แม้ว่าญาในวัย 14 ปี จะมีความเสียใจอย่างมากจากการสูญเสียเด็กที่มีอาการป่วยทางจิตในระหว่างที่กําลังมุ่งมั่นขับเคลื่อน และพยายามทําทุกทางให้สิ่งที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตและสิทธิมนุษยชนสําเร็จโดยเร็ววัน แต่ญาได้ให้คํามั่นสัญญาต่อเคสที่สูญเสียไป ว่าจะพยายามขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ต้องเกิดการสูญเสียเด็กและเยาวชน จากเพียงแค่พวกเขาไม่สามารถพบจิตแพทย์เพื่อช่วยเหลืออาการที่ตนเป็นอยู่ได้

    เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกันหลังจากการขับเคลื่อนและการประชุมที่มากจนนับไม่ถ้วน ดิฉันในวัย 14 ย่าง 15 ปี ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กสามารถพบจิตแพทย์ด้วยตนเองสําเร็จ โดยออกเป็น 'แนวทางการปฏิบัติงานของแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพในการให้บริการเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี' ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดยมีใจความสําคัญที่เด็กนั้นสามารถพบและปรึกษาจิตแพทย์ได้ด้วยตนเอง โดยจะได้รับคําปรึกษาและการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ในวินาทีนั้นที่ขับเคลื่อนสําเร็จ ดิฉันและเพื่อนกลั้นไม่อยู่ที่จะหลั่งน้ำตาแห่งความดีใจ แม้เราจะต้องสูญเสียเพื่อนไปบางคนระหว่างการขับเคลื่อนที่รอความสําเร็จ แต่หลังจากวินาทีนี้เป็นต้นไป เด็กทุกคนจะสามารถพบจิตแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือความเครียด ความเศร้า ความทุกข์ที่มีด้วยตนเองได้ และสิ่งที่สําคัญเด็กทุกคนจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตอีกต่อไป

    โดยหลังจากการขับเคลื่อนสําเร็จดิฉันยังคงมีภารกิจในการทํางานเพื่อเด็กและเยาวชนต่อ ผ่านการให้ความรู้และการสร้างความตระหนักถึงสิทธิต่าง ๆ รวมไปถึงสิทธิมนุษยชนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ประเด็นด้านสิทธิกลายเป็นประเด็นที่สําคัญในสังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนและประชาชนต่อไป เพราะดิฉันเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนสามารถใช้เสียงของตนเองในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อร่วมพัฒนาสังคมได้ไม่แตกต่างกัน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in