เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#DuckOfAllEarsDuck of Words
#8: 10 แนวคิดออกแบบเมืองดีๆ จากหนังสือ


  • 8: 10 สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือ แล้วพบว่าเราสามารถออกแบบเมืองให้มีความสุขได้

    โดยรายการ Readery ของ THE STANDARD

    อัปโหลดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2019

    ภาษา: ไทย

    ความยาว: 53 นาที

    รับชมทางยูทูบ: https://www.youtube.com/watch?v=7JcNsto-bmE&t=0s


    พักผ่อนอย่างกะทันหันไปหนึ่งวันกับเทศกาลฮาโลวีน แต่เป็ดก็กลับมานำเสนอพอดแคสต์ที่น่าสนใจให้ทุกคนได้ฟังกันอีกครั้งค่ะ กลับจากพอดแคสต์เก่าเก็บมาสู่ตอนใหม่ๆ เพิ่งลงสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันก่อนด้วย ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าถึงแม้เป็ดจะฟังพอดแคสต์ในเครือ The Standard หลายรายการมาก แต่ในความเป็นจริงก็คือรายการ Readery ที่หยิบมานำเสนอวันนี้ เป็นหนึ่งในรายการที่เป็ดไม่ได้ติดตามเป็นประจำ (แต่ก็เห็นตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นตอนพอดแคสต์ที่อัปโหลดรวมใน THE STANDARD Podcast ตอนนี้เขาก็มีรายการแยกออกมาให้ค้นเจอบนแพล็ตฟอร์มฟังพอดแคสต์เรียบร้อยแล้ว) การวางผังเมืองเป็นหนึ่งในเรื่องเป็ดกำลังสนใจช่วงนี้ พอๆ กับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางความกงัวลเรื่องสภาพรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิกากาศของโลกค่ะ ได้เปิดฟังระหว่างทำงานแล้วรู้สึกว่าได้ข้อคิดที่น่าสนใจเยอะมากๆ จนอยากจะนำมาแบ่งปัน


    ด้วยความที่เป็ดเป็นคนไม่ค่อยอ่านหนังสือจากหลายๆ เหตุผลที่ยกมาอ้างให้กับตัวเอง อันได้แก่ความขี้เกียจ ความไม่มีเวลา (จึงเบนสายมารับความรู้กับข้อมูลผ่านทางการฟัง เกิดเป็นการเปิดบล็อกเปิดเพจรีวิวพอดแคสต์ในปัจจุบัน 5555) เป็ดจึงไม่ได้ติดตาม Readery เป็นประจำ ด้วยความรู้สึกที่ว่าเนื้อหาที่เขานำเสนอเป็นการแนะนำหนังสือในด้านต่างๆ ตามหัวข้อที่เขาสนใจในแต่ละตอน เป็ดที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเลยคิดว่า อา รายการนี้อาจจะไม่ใช่แนวของคนอย่างเป็ดก็เป็นได้ แต่ด้วยความที่หัวข้อรายการตอนนี้เป็นเรื่องที่เป็ดสนใจ ก็เลยลองสักตั้ง ก็พบว่าพิธีกรทั้งสองท่านก็นำเสนอเนื้อหาสาระได้ดีถูกใจมากเลยค่ะ ถ้าผู้ฟังเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ เชื่อว่าจะต้องถูกใจหลายๆ ตอนของรายการนี้ แต่คนที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออย่างเป็ดเองก็ได้ประโยชน์ค่ะ เพราะพิธีกรทั้งสองท่านไม่เพียงแต่แนะนำหนังสือที่น่าอ่าน (สำหรับตอนนี้ก็จะเป็นพวกหนังสือว่าด้วยการจัดการวางผังเมือง หรือการบริหารสาธารณูปโภคในชุมชนเมือง) เขาก็ยังนำส่วนที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนั้นมาเล่าให้เราฟังด้วย แม้ว่าการวางผังเมืองแท้จริงแล้ว ผู้บริหารระดับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าจะมีส่วนชี้สร้างนโยบายต่างๆ ได้มากที่สุดก็ตาม เป็ดก็ชอบที่เขายังนำเสนอแนวปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวเมืองอย่างเราสามารถทำได้ เพื่อเมืองที่น่าอยู่ขึ้น ตั้งแต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อย่างไม่ต้องรอเทศบาลมาก่อสร้างสวนสาธารณะ ด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงต้นไม้ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องของนักอินโฟกราฟิกที่ใช้ผลงานตัวเองทำให้ชาวบ้านในชุมชนหนึ่งเกิดจิตสำนึกในการช่วยกันสร้างสภาพบ้านเมืองให้น่าอยู่ขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ และแผนการของผู้บริหารที่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กแต่ละเมียดละไมไปถึงการคิดค้นแอพระบุพิกัดอึสุนัข ไปจนถึงโครงการเล่นใหญ่ตั้งเป้าสร้างเมืองปลอดขยะภายในปีที่กำหนดด้วย


    เป็ดยังอยากจะย้ำอีกครั้งว่าเป็ดไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แต่ก็อยากจะเปลี่ยนความคิดตัวเองที่ว่า Readery เป็นรายการที่เหมาะสำหรับเฉพาะผู้ฟังที่เป็นนักอ่านตัวยง เพราะแม้เป็ดจะไม่ได้ใช้เวลาจดจ่อกับการพลิกหน้าหนังสือดูดซับสาระมานานแล้ว เป็ดก็ยังได้ความรู้จากพิธีกรทั้งสองท่านมากเหลือเกิน (และเชื่อว่าจะมากยิ่งขึ้น หากเป็ดเริ่มสร้างนิสัยใหม่ ตามไปหาหนังสือที่ทั้งสองท่านแนะนำมาอ่านด้วยตนเองบ้าง! 55555) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการผังเมือง เป็ดเชื่อว่า นอกจากจะทำให้ชาวเมืองมีความสุขได้มากขึ้นแล้ว การจัดการเมืองที่ดียังมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยชะลอภัยที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนได้ เป็นสาขาการเรียนที่เป็ดคิดว่าน่าสนใจมากสำหรับคนรุ่นใหม่ และเป็นสาระความรู้ที่เป็ดก็ได้แต่หวังว่า ไม่ใช่เพียงพวกเราชาวเมืองตัวเล็กๆ จะได้ฟัง แต่ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจระดับสูงในการปกครองเมืองทั้งส่วนกลางและภูมิภาคจะได้ฟัง เพื่อนำไปริเริ่มคิดการจัดการที่จะทำให้บ้านเมืองของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in